27 พ.ย. 2021 เวลา 12:19 • ประวัติศาสตร์
มาทำความรู้จัก “Robber Baron” เหล่าเจ้าพ่อธุรกิจผูกขาด ผู้มีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ
กระแสข่าวการควบรวมกิจการที่เราได้เห็นเพิ่มมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ได้สร้างความกังวลให้คนอยู่จำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในฝั่งผู้บริโภคที่ย่อมรู้สึกหนักใจเป็นธรรมดาว่าการควบรวมกิจการจะทำให้การแข่งขันในตลาดลดลง จนท้ายที่สุด ทำให้ผู้บริโภคและประเทศโดยรวมเสียประโยชน์
เหตุการณ์ในลักษณะนี้ก็ได้ชวนให้เรามองย้อนประวัติศาสตร์เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับธุรกิจผูกขาดในอดีต โดยช่วงเวลาที่เราจะพามองย้อนกลับไปในวันนี้ก็คือ สหรัฐอเมริกาในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีบรรดาธุรกิจที่ผูกขาดมากที่สุดในประวัติศาสตร์กำลังโลดแล่นอยู่ ซึ่งเจ้าพ่อธุรกิจผูกขาดเหล่านี้ก็ถูกขนานนามในเชิงลบว่าเป็น Robber Baron หรือพวกโจรผู้ดี นั่นเอง
Robber Baron
📌 เจ้าพ่ออาณาจักรน้ำมันผูกขาด — John D. Rockefeller
หากจะพูดถึงบุคคลที่เป็นเจ้าพ่อด้านธุรกิจผูกขาดก็คงไม่สามารถหลีกเลี่ยงการพูดถึงเจ้าพ่ออาณาจักรน้ำมัน Standard Oil อย่าง John D. Rockefeller ไปได้
Rockefeller ได้สร้างธุรกิจของตัวเองครั้งแรกในช่วงสมัยสงครามกลางเมือง
สหรัฐฯ (American Civil War) โดยเป็นธุรกิจค้าขายเสบียงอาหาร ต่อมา เขาก็ได้มองเห็นโอกาสทางธุรกิจใหม่ นั่นก็คือการเข้าไปทำธุรกิจการกลั่นน้ำมัน ซึ่งกำลังมาแรงมากในขณะนั้น
Rockefeller
เขาและหุ้นส่วนจึงได้ผันตัวจากการทำธุรกิจเสบียงอาหารมาเป็นการทำธุรกิจกลั่นน้ำมันก๊าดแทน อีกทั้งยังใช้กรรมวิธีการผลิตที่มีประสิทธิภาพกว่าคู่แข่งคนอื่นๆ ในตลาดอีกด้วย
ต่อมา ภายหลังจากที่สงครามกลางเมืองสิ้นสุดลง ธุรกิจของ Rockefeller ก็ได้เติบโตขึ้นไปอีกอย่างมาก ได้มีการขยายกิจการเพิ่ม ลงทุนสร้างบรรดาโรงกลั่นน้ำมันเพื่อเพิ่มกำลังการผลิต และเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ทำให้นำไปสู่การสร้างอาณาจักรน้ำมันอันยิ่งใหญ่อย่าง Standard Oil ในภายหลัง
อาณาจักร Standard Oil ของ Rockefeller ได้เติบโตขึ้นมาเรื่อยๆ ทั้งผ่านการลงทุนสร้างโรงกลั่นน้ำมันเพิ่มเอง และการเข้าซื้อบรรดาโรงกลั่นน้ำมันของคู่แข่งทั้งวิธีที่สะอาดและสกปรก
โดยหลักคิดเบื้องหลังการเข้าซื้อกิจการของคู่แข่งก็คือว่า สิ่งที่เขาทำไม่ได้ขัดต่อศีลธรรมแต่อย่างใด หากแต่เป็นการช่วยอุตสาหกรรมน้ำมันในภาพรวมต่างหาก โดยการกำจัดบรรดาผู้ผลิตที่ไร้ประสิทธิภาพออกไป และทำให้เหลือแต่คนที่แข็งแกร่ง ที่จะทำให้อุตสาหกรรมไปได้ไกลยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ท้ายที่สุด Standard Oil ก็สามารถครองส่วนแบ่งการกลั่นน้ำมันในสหรัฐฯ ไปได้สูงถึง 90% และยังมีสัดส่วนการกลั่นน้ำมันในโลกสูงถึงราว 90% เช่นเดียวกัน หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือเรียกว่าผูกขาดตลาดเลยก็ว่าได้ ทำให้ผู้ผลิตรายอื่นๆ ไม่พอใจเป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม ในฝั่งของผู้บริโภคเอง การที่ Standard Oil สามารถครองส่วนแบ่งการตลาดได้มาก จนสามารถเพิ่มกำลังการผลิตไปถึงจุดที่ทำให้ประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale)
2
จนทำให้สามารถผลิตน้ำมันราคาถูกให้ผู้บริโภคได้ ทำให้ประชาชนคนทั่วไป อย่างเช่น คนรายได้น้อย และคนชั้นกลางสามารถเข้าถึงน้ำมันก๊าด ซึ่งแต่เดิมเคยเป็นแต่สินค้าราคาแพงที่มีแต่ชนชั้นสูงเท่านั้นที่เข้าถึงได้
3
📌 Andrew Carnegie — เจ้าพ่อธุรกิจอุตสาหกรรมเหล็ก
ในขณะที่ฝั่งของอุตสาหกรรมน้ำมันสหรัฐฯ ในยุคนั้น มีเจ้าพ่อผูกขาดอย่าง Rockefeller ในฟากฝั่งของอุตสาหกรรมเหล็กเอง ก็มีเจ้าพ่ออีกคนอย่าง Andrew Carnegie
สำหรับกรณีของ Carnegie นั้น ก่อนอื่นต้องเล่าเบื้องหลังเล็กน้อยเสียก่อน ก่อนที่เขาจะได้มาทำธุรกิจเกี่ยวกับเหล็กนั้น เขาได้เคยทำงานอยู่ที่บริษัท Pennsylvania Railroad (หนึ่งในบริษัทการรถไฟที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ) มาก่อน ซึ่งก็ทำให้เขามีประสบการณ์ด้านการบริหารและมีคอนเน็คชันกับพวกผู้บริหารของบริษัทการรถไฟเป็นอย่างดี
Carnegie
ทำให้เมื่อเขามาเปิดธุรกิจผลิตและหลอมเหล็กของตัวเอง ก็มีคอนเน็คชันที่ทำให้สามารถดีลข้อตกลงทางธุรกิจต่างๆ ได้โดยง่าย
แต่ความจริงแล้ว ก็ไม่ใช่คอนเน็คชันอย่างเดียวที่ทำให้ธุรกิจของเขารุ่งโรจน์ แต่เพราะว่าเขาได้นำวิธีการผลิตเหล็กแบบใหม่ที่เรียกว่า Bessemer Process มาใช้ ทำให้ผลิตเหล็กในปริมาณมากได้ในต้นทุนที่ถูก ทำให้มีประสิทธิภาพเหนือคู่แข่งในตลาดอย่างมาก
ในขณะเดียวกัน Carnegie ก็ได้ดำเนินการควบรวมกิจการในแนวดิ่งหรือ Vertical Integration กล่าวคือไล่ซื้อบรรดาบริษัทต่างๆ ในอุตสาหกรรมต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ จนสามารถควบคุมวัตถุดิบและกระบวนการผลิตได้ตั้งแต่ต้นจนจบ
และทำให้ในช่วงระยะเวลาต่อมา สหรัฐฯ สามารถผลิตเหล็กได้ปริมาณที่สูงกว่าประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นประเทศที่นำร่องด้านการปฏิวัติอุตสาหกรรมมาได้อีกด้วย
ทั้งนี้ เหล็กราคาถูกที่ผลิตขึ้นโดยบริษัท Carnegie Steel ก็ยังมีส่วนสำคัญในการช่วยให้การวางระบบรางในสหรัฐฯ เป็นไปได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้สหรัฐฯ เปลี่ยนผ่านเข้าสู่เศรษฐกิจอุตสาหกรรมโดยสมบูรณ์
1
กิจการของ Carnegie Steel เจริญเติบโตไปได้ดีอย่างมากจนทำให้นายทุนแบงก์อย่าง John Pierpont Morgan หรือ JP Morgan เห็นว่า ถ้าสามารถบูรณาการรวมธุรกิจเหล็กของสหรัฐฯ เข้าด้วยกัน โดยมี Carnegie Steel เป็นหัวเรือจักรสำคัญ จะทำให้อุตสาหกรรมเหล็กของสหรัฐฯ มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นไปอีก ต้นทุนโดยรวมจะต่ำลง ราคาถูกลง ในขณะที่แรงงานก็มีค่าแรงที่สูงขึ้น
JP Morgan
ทำให้ในช่วงต่อมา JP Morgan จึงได้เข้าซื้อบริษัท Carnegie Steel ของ Andrew Carnegie และบริษัทต่างๆ เพื่อควบรวมเป็นบริษัทเดียวภายใต้ชื่อว่า United States Steel Corporation ซึ่งได้กลายเป็นบริษัทแรกในโลกที่มีมูลค่าบริษัทสูงเกินหนึ่งพันล้านเหรียญสหรัฐฯ และยังคงเปิดกิจการมาจนถึงปัจจุบัน
อีกเจ้าพ่อธุรกิจผูกขาดคนสำคัญในช่วงยุคดังกล่าวก็คือ Henry Ford ซึ่งแม้ว่าเขาจะไม่ได้มีการใช้วิธีการสกปรกในการเข้าฮุบคู่แข่งถึงขั้นของ Rockefeller แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเขาเป็นเจ้าพ่อผูกขาดคนสำคัญอีกคน
เนื่องจากในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 นั้น รถยนต์ Ford ของเขาก็แทบจะครองตลาดรถยนต์สหรัฐฯ ทั้งหมด เรียกว่าเป็นผู้ผลิตรายเดียวเลยก็ว่าได้
โดย Henry Ford นั้น ก็ได้ออกแบบและผลิตรถยนต์โดยใช้ต้นทุนที่ต่ำ ผ่านกระบวนการผลิตที่เรียกว่าระบบสายพานการผลิตแบบฟอร์ด (Ford Assembly Line) จึงทำให้สามารถผลิตรถยนต์ปริมาณมากในต้นทุนต่ำ และนำมาขายให้กับผู้บริโภคในราคาถูก ทุกคนทั่วไปจับต้องได้
Ford Assembly Line
อีกทั้งยังได้แรงสนับสนุนจากการที่อาณาจักรน้ำมัน Standard Oil ของ Rockefeller ที่ได้ผูกขาดอุตสาหกรรมน้ำมันไว้ทั้งหมด ตั้งแต่การกลั่นน้ำมัน ไปจนถึงการขนส่ง ทำให้น้ำมันก็มีราคาถูก ซึ่งก็ทำให้คนทั่วไปยิ่งเข้าถึงรถยนต์ได้ง่ายเข้าไปอีก เนื่องจากรถยนต์ก็ราคาถูก น้ำมันไม่แพง เป็นสิ่งช่วยเกื้อกูลกัน จนทำให้สหรัฐฯ ก้าวมาเป็นประเทศชั้นนำด้านพลังงานน้ำมันได้อีกด้วย
3
📌 Robber Baron ผู้ช่วยวางรากฐานให้สหรัฐฯ ก้าวเป็น Industrial Power
บรรดาเจ้าพ่อธุรกิจผูกขาดที่เราได้หยิบยกมาเล่าให้ฟังนั้นได้กลายเป็นส่วนสำคัญอย่างมากที่ทำให้อุตสาหกรรมของสหรัฐฯ ในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 และยาวไปจนถึงปลายศตวรรษที่ 20 เติบโตได้ดีอย่างมาก จนทำให้สหรัฐฯ ก้าวขึ้นมาเป็นประเทศชั้นนำด้านอุตสาหกรรม (Industrial Power) ได้สำเร็จ
ธุรกิจเหล่านี้ แม้จะผูกขาด แต่ก็ได้มีส่วนสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวอเมริกันในช่วงหลังสงครามกลางเมืองอย่างยิ่ง
จากแต่เดิม ที่เต็มไปด้วยโรคภัยไข้เจ็บ การเสียชีวิตก่อนวัย โจรชุกชุม บ้านเมืองตั้งอยู่ห่างกัน จะเดินทางไปไหนก็ต้องใช้ม้า ก็ถูกแทนที่โดยระบบราง และรถยนต์
เกิดกระบวนการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่เศรษฐกิจอุตสาหกรรม (Industrialization) และเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจสหรัฐฯ
อีกทั้ง ยังเป็นบันไดขั้นสำคัญที่ทำให้สหรัฐฯ สามารถก้าวขึ้นไปเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกในเวลาต่อมา
นอกจากนี้ หากไปศึกษาประวัติศาสตร์ของประเทศพัฒนาแล้วประเทศอื่นๆ ก็จะยิ่งได้พบว่าหลายประเทศก็กลับก่อร่างสร้างตัวมาได้เพราะบรรดาธุรกิจผูกขาดพวกนี้อีกด้วย
ยกตัวอย่างเช่น กรณีของเกาหลีใต้ที่มีกลุ่มทุน Chaebol หรือกรณีของประเทศญี่ปุ่นที่ฟื้นตัวจากสงครามโลกมาได้อย่างรวดเร็วก็เพราะกลุ่มเครือข่ายทุนยักษ์ใหญ่อย่าง กลุ่ม Keiretsu เป็นต้น อย่างไรก็ตาม แม้ว่าธุรกิจเหล่านี้จะช่วยให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินค้าราคาถูก และช่วยวางรากฐานให้กับเศรษฐกิจของประเทศได้มาก
แต่ในขณะเดียวกัน ก็ได้สร้างปัญหาไว้พอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เหล่าบรรดาแรงงานในอุตสาหกรรมเหล่านี้ ที่ไม่มีทางเลือกมากนัก ทำให้โดนกดค่าแรง เพื่อให้บริษัทได้กำไรสูงสุด ก่อให้เกิดเป็นความเหลื่อมล้ำในสังคมอย่างมาก
3
อีกทั้ง ยังรวมไปถึง บรรดาคู่แข่งต่างๆ ที่โดนกำจัดออกไปอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งเมื่อการแข่งขันลดลงก็เป็นไปได้ว่าอาจนำไปสู่การประดิษฐ์คิดค้นสินค้าใหม่เพื่อมาขายให้กับผู้บริโภคที่ลดลงอีกด้วย
2
เหมือนเช่น Ford ในช่วงหนึ่ง ที่ผลิตแต่รถยนต์ Ford Model T เป็นเวลาเกือบ 20 ปี จนกระทั่ง สุดท้าย ยอมพัฒนาโมเดลใหม่ขึ้นมา เมื่อยอดขายของ Model T ตกลง จากการที่คู่แข่งคนใหม่อย่าง General Motors ก็แข็งแกร่งขึ้นมาเรื่อยๆ
1
ท้ายที่สุด บริษัทที่เคยผูกขาดเหล่านี้ ส่วนหนึ่งก็ถูกทลายลง อย่างเช่น อาณาจักรน้ำมัน Standard Oil ของ Rockefeller ก็ถูก Theodore Roosevelt ใช้กฎหมาย Sherman Antitrust Act จัดการ จนถูกศาลสูงสหรัฐฯ สั่งให้แยกกิจการในที่สุด
แม้ว่าประวัติศาสตร์จะแสดงให้เห็นว่าธุรกิจผูกขาดเหล่านี้จะมี Primetime เป็นของตัวเอง เคยมีส่วนสำคัญในการสร้างเศรษฐกิจ แต่ท้ายที่สุดแล้ว คำตอบที่แท้จริงที่ดีสุดก็คงจะหนีไม่พ้น การปล่อยให้เกิดการแข่งขันที่ Free & Fair และปล่อยให้ระบบตลาดทำงานให้ได้ดีที่สุดอยู่ดี...
อ่านบทความเพิ่มเติมเกี่ยวกับ 'ทำความรู้จักกับ John D. Rockefeller ผู้ร่ำรวยกว่า Elon Musk'
#John_D_Rockefeller #JPMorgan #Andrew_Carnegie #Monopoly #การควบกิจการ
#Bnomics #All_about_History #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
ผู้เขียน : เอกศิษฎ์ น้าวิไลเจริญ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :
The Rise and Fall of American Growth: The U.S. Standard of Living since the Civil War by Robert J. Gordon

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา