28 พ.ย. 2021 เวลา 07:11
สั่งเปิดเวทีรับฟังความเห็นการเดินรถไฟเข้าหัวลำโพง
กระแสต้านปิดหัวลำโพง ดังกระหึ่ม ! การรถไฟฯ ยืนยันไม่รื้อหัวลำโพง พร้อมเปิดเวทีสาธารณะรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน
เสียงต่อต้านการหยุดเดินรถเข้าสถานีรถไฟกรุงเทพ(หัวลำโพง)ดัง กระหึ่ม ถึงหูพลเอกประยุทธื จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หลังจากนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีนโยบาย ให้การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) หยุดนำขบวนรถไฟเข้าสู่สถานีหัวลำโพง
นับตั้งแต่วันที่23ธันวาคม2564เป็นต้นไป สร้างผลกระทบเป็นวงกว้างให้กับประชาชนผู้คุ้นเคยเคยสัญจรไปมาหาสู่กันในระแวกนั้น โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย
อีกทั้งกระทบต่อหลายอาชีพหลายชีวิต ทั้ง พ่อค้าแม่ค้า รถรับจ้างในย่านนั้น ขณะเดียวกันยังมีแผนแปลงโฉมพื้นที่โดยรอบสถานีหัวลำโพง120ไร่พัฒนาเชิงพาณิยช์ โดยอ้างในวันแถลงข่าวเมื่อไม่นานมานี้ว่าการรถไฟตกอยู่ในภาวะขาดทุนเพิ่มขึ้นกว่า6แสนล้านบาท
ซึ่งหลายฝ่ายทั้งภาคประชาชน นักวิชาการ นักการเมือง นักอนุรักษ์ และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรฟท. มองว่าฟังไม่ขึ้นเพราะยังมีที่ดินอีกมากของการรถไฟที่พร้อมกว่าพื้นที่บริเวณสถานีหัวลำโพงที่มีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่ามายาวนานกว่า 105ปี ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้
ล่าสุด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สั่งการเร่งเปิดเวทีสาธารณะเปิดรับฟังความคิดเห็นประเด็นการเดินรถเข้าสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ย้ำไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน สำหรับการพัฒนาพื้นที่หัวลำโพงนั้น สามารถสร้างรายได้ให้แก่การรถไฟฯ ในอนาคต
นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานและการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) หลังจากที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์และความกังวลถึงเรื่องดังกล่าวว่า
ยืนยันจะไม่มีการทุบหรือรื้อทิ้งสิ่งปลูกสร้างสถานีรถไฟหัวลำโพงหรือปิดให้บริการแต่อย่างใด โดยนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้สั่งการให้การรถไฟฯ ดำเนินการเปิดเวทีสาธารณะรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนตามนโยบายของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีแล้ว
สำหรับแผนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์สถานีรถไฟหัวลำโพงในอนาคตนั้น การรถไฟฯ ได้มีการตั้งบริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด เพื่อบริหารที่ดินของการการรถไฟฯ ทุกแปลง โดยจากการประเมินรายได้จากการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์บริเวณหัวลำโพงในอนาคต ระยะเวลา 30 ปี
พบว่า จะมีรายได้เข้ามารวม 800,000 ล้านบาท โดยในปีแรกจะอยู่ที่ 5,000 ล้านบาท และปีที่ 5 จะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ประมาณ 10,000 ล้านบาท ซึ่งจะเพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาภาระหนี้ของรถไฟที่ขาดทุนสะสมต่อเนื่องที่ประมาณ 150,000 ล้านบาท – 160,000 ล้านบาท
ส่วนปัญหาเรื่องการเดินรถไฟเข้ามาในเขตกรุงเทพชั้นใน รัฐบาลได้เล็งเห็นปัญหานี้มานานแล้วจึงได้พัฒนาโครงการสถานีกลางบางซื่อขึ้นเพื่อให้เป็นศูนย์กลางของระบบคมนาคม โดยเฉพาะระบบราง ซึ่งประกอบไปด้วย รถไฟฟ้าสายสีแดง, รถไฟทางไกล รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน และรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน
รวมถึงรถไฟฟ้าสายสีแดงส่วนต่อขยายในอนาคต เพื่อช่วยในการแก้ไขปัญหาการจราจรแออัดในพื้นที่กรุงเทพมหานครโดยเฉพาะจุดตัดเสมอระดับทางรถไฟ-รถยนต์ และเมื่อการก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อแล้วเสร็จจึงเห็นควรให้มีการปรับการเดินรถเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรอย่างเป็นรูปธรรม
อย่างไรก็ดี ทางรัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคม และ การรถไฟฯ เปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนเพื่อนำมาประกอบการพิจารณาและหาข้อสรุป เพื่อให้สามารถตอบโจทย์การดำเนินงานในทุกมิติได้อย่างแท้จริง และไม่ให้เกิดผลกระทบต่อพี่น้องประชาชน
นอกจากนี้ทางกระทรวงคมนาคมยังได้มีการจัดทำระบบขนส่งมวลชนรอง หรือ ฟีดเดอร์ เช่น รถเมล์ ขสมก. รวมถึงประสานงานกับภาคเอกชนที่มีสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินในการอำนวยความสะดวกและยังเป็นการเพิ่มทางเลือกในการเดินทางให้แก่พี่น้องประชาชนอีกด้วย
โฆษณา