28 พ.ย. 2021 เวลา 09:40 • ประวัติศาสตร์
“เฮอร์ชีส์ (Hershey’s)” กับความเกี่ยวข้องกับ “สงครามโลกครั้งที่ 2 (World War 2)”
“เฮอร์ชีส์ (Hershey’s)” คือแบรนด์ช็อกโกแลตระดับโลก และผมก็เชื่อว่าหลายคนที่อ่านบทความนี้ ก็น่าจะชื่นชอบและซื้อช็อกโกแลตยี่ห้อนี้ทานบ่อยๆ
ผมเองก็ชื่นชอบรสชาติของเฮอร์ชีส์ และซื้อทานเป็นประจำ
แต่ทราบมั้ยครับว่าเฮอร์ชีส์ก็มีส่วนในประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 2 เหมือนกัน?
เรื่องราวเป็นอย่างไร ไปติดตามกันได้เลยครับ
ต้องเล่าย้อนไปตั้งแต่วันที่ 6 มิถุนายน ค.ศ.1944 (พ.ศ.2487) ซึ่งเป็นวันที่ทหารกว่า 160,000 นาย บุกยังหาดนอร์มังดี ซึ่งเป็นเหตุการณ์ของ “วันดีเดย์ (D-Day)”
แต่สิ่งที่คนไม่ค่อยรู้ก็คือ เหล่าทหารสัมพันธมิตรที่เข้าร่วมในปฏิบัติการนี้ ได้รับพลังงานจากของทานเล่นอย่างหนึ่ง
นั่นก็คือ “ช็อกโกแลตแท่งเฮอร์ชีส์”
ย้อนกลับไปในปีค.ศ.1937 (พ.ศ.2480) กองทัพอเมริกันได้ติดต่อกับบริษัทเฮอร์ชีส์ (Hershey’s) ซึ่งเป็นบริษัทช็อกโกแลตชั้นนำ โดยกองทัพอเมริกันต้องการให้บริษัทผลิตช็อกโกแลตแท่งที่ออกแบบเป็นพิเศษ สำหรับทหารสัมพันธมิตร ไว้ทานในเวลาฉุกเฉิน ไม่มีอาหารทาน
กองทัพอเมริกันได้แจ้งว่าต้องการให้ช็อกโกแลตแท่งนี้เป็นยังไง โดยหลักๆ จะมีสี่ข้อ
1
หนึ่งก็คือ ช็อกโกแลตแท่งนี้ต้องมีน้ำหนักเพียงสี่ออนซ์เท่านั้น สองคือต้องให้พลังงานสูง สามคือต้องทนต่ออุณหภูมิที่สูงได้ สี่ก็คือ ช็อกโกแลตนี้ต้องมีรสชาติ “ดีกว่ามันฝรั่งต้มเล็กน้อย”
สาเหตุที่กองทัพอเมริกันไม่ต้องการให้ช็อกโกแลตแท่งนี้รสชาติดีเกินไป ก็เพื่อป้องกันไม่ให้ทหารหยิบช็อกโกแลตนี้มากินในเวลาที่ไม่จำเป็น ต้องการให้เก็บไว้กินตอนที่ไม่มีอาหารจริงๆ หรือในเวลาฉุกเฉิน
ผลที่ได้ คือผลิตภัณฑ์ที่เรียกว่า “D ration bar”
D ration bar คือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของช็อกโกแลต น้ำตาล เนยโกโก้ นมผงขาดมันเนย และแป้งข้าวโอ๊ต
1
ด้วยส่วนผสมทั้งหมดนี้ ทำให้ผลิตภัณฑ์มีความหนาเกินกว่าจะผ่านเครื่องจักรของเฮอร์ชีส์ ดังนั้น การบรรจุ D ration bar จึงต้องใช้แรงงานคน ค่อยๆ บรรจุทีละแท่ง
ส่วนรสชาติของ D ration bar นั้น ทหารหลายๆ คนบอกว่าไม่ได้เรื่องเลย
ช็อกโกแลตแท่งนี้มีขนาดใหญ่และหนา น้ำตาลที่ใส่ลงไปก็ไม่ได้ช่วยให้ความขมของดาร์กช็อกโกแลตจางลงเลย และด้วยความที่ถูกออกแบบให้ทนต่ออุณหภูมิที่สูง ทำให้แข็งมาก กัดไม่ลง
ทหารต้องใช้มีดหั่นช็อกโกแลตเป็นชิ้น ก่อนจะค่อยๆ เคี้ยว
ด้วยความที่รสชาติไม่ได้เรื่องและกินยาก ทำให้ทหารหลายนายเอาช็อกโกแลตไปทิ้ง และในเวลาต่อมา เฮอร์ชีส์ก็ออกช็อกโกแลตแบบใหม่ เรียกว่า “Tropical bar” ซึ่งสามารถทนทานต่ออุณหภูมิได้มากขึ้น
เมื่อสงครามจบลง เฮอร์ชีส์ก็ได้ผลิตช็อกโกแลตให้กับกองทัพมากกว่า 3,000 ล้านชิ้นแล้ว
อาจจะเรียกได้ว่าเฮอร์ชีส์เป็นของหวานเพียงไม่กี่ชิ้นในถุงเสบียงของทหาร และก็เป็นหนึ่งสิ่งที่ช่วยให้พลังงานแก่ทหารสัมพันธมิตรในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
โฆษณา