29 พ.ย. 2021 เวลา 07:27 • สุขภาพ
น้ำในหูไม่เท่ากันใช้สมุนไพรน้ำนมราชสีห์ดีหรือไม่
บทความโดย สถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
ในปี 2561 มีกระแสมาแรงเกี่ยวกับสมุนไพรตัวหนึ่ง ที่สามารถรักษาโรคน้ำในหูไม่เท่ากันได้ นั่นก็คือ ต้นน้ำนมราชสีห์ มีการเผยแพร่ในอินเตอร์เน็ตอย่างแพร่หลายว่า สามารถรักษาให้หายได้ โดยใช้ต้นน้ำนมราชสีห์ทั้งตั้น ตากแดดให้แห้ง คั่วไฟจนเหลือง ใช้จำนวน 1 หยิบมือ ใส่น้ำร้อนดื่มต่างน้ำ(1) มีผู้คนมาแสดงความคิดเห็นพร้อมกับต้องการทราบถึงข้อเท็จจริงของการใช้ แต่ก่อนที่จะมาดูว่าสามารถรักษาได้หรือไม่ เรามารู้จักโรคน้ำในหูไม่เท่ากันและต้นน้ำนมราชสีห์ให้มากขึ้นกันก่อนดีกว่า
โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน หรือโรคมีเนีย (Meniere’s disease) เป็นโรคที่มีความผิดปกติของหูชั้นใน เกิดจากความผิดปกติของการไหลเวียนของน้ำในหู ทำให้มีน้ำในหูชั้นในมากผิดปกติ ซึ่งส่งผลให้การทำงานของเซลล์ประสาทที่ควบคุมการทรงตัวและการได้ยินทำงานผิดปกติ ผู้ป่วยจะมีอาการประสาทหูเสื่อม หูอื้อ มีอาการปวดหู หรือปวดศีรษะข้างที่เป็น มีเสียงดังในหู มีอาการเวียนศีรษะหรือบ้านหมุนเป็นๆ หายๆ ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ บางครั้งอาจมีคลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อออกร่วมด้วย เมื่อมีอาการเวียนศีรษะ มักมีอาการทางหู เช่น หูอื้อ เสียงดังในหูร่วมด้วย
ถึงแม้โรคน้ำในหูไม่เท่ากันจะไม่มีวิธีรักษาที่ทำให้โรคหายขาด แต่อาการของผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถควบคุมได้ด้วยยาและการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง เมื่อมีอาการเวียนศีรษะ ควรหยุดเดิน หยุดขับรถ และนั่งพัก ถ้าเวียนศรีษะมากให้นอนพัก เพราะการนอนพักมักทำให้อาการดีขึ้น พยายามอย่ารับประทานหรือดื่มน้ำมาก จะทำให้อาเจียนน้อยลง หากมียาบรรเทาอาการเวียนศรีษะหรือคลื่นไส้ อาเจียน ให้รับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง หลีกเลี่ยง ชา กาแฟ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ และความเครียด(2)
น้ำนมราชสีห์ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Euphorbia Hirta L. จัดอยู่ในวงศ์ Euphorbiaceae มีชื่อภาษาอังกฤษว่า snake wood ชื่ออื่น ผักโขมแดง หญ้าน้ำหมึก หญ้าหลังอึ่ง เป็นไม้ล้มลุกขนาดเล็ก สูง 15 – 20 เซนติเมตร ลำต้นมีขนละเอียดสีน้ำตาลอ่อน ใบเดี่ยว เรียงตรงกันข้าม รูปขอบขนาน ผิวใบมีขนทั้งสองด้าน ดอกช่อ ออกที่ซอกใบ ดอกแยกเพศ ไม่มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอก ใบประดับเป็นรูปด้วยสีเขียว ผลแห้ง แตกได้ มี 3 พู เมื่อสุกมีสีเหลืองอ่อน(3)
ต้นน้ำนมราชสีห์มีการนำไปใช้ทางการแพทย์พื้นบ้านในหลายประเทศ ตำราแพทย์แผนไทยใช้ต้นสด เป็นยาแก้บิด ยาบำรุงกำลัง ขับปัสสาวะ แก้ไอหืด แก้อาเจียน ขับน้ำนม แก้ไขมาลาเรีย แก้หืดหอบ แก้แพ้อากาศ แก้กษัย ไตพิการ รักษาโรคผิวหนัง ผื่นคัน ปัสสาวะเป็นเลือด ฝีในปอด ฝีที่เต้านม รักษาหูดตาปลา ถ่ายพยาธิ ทั้งต้น ใช้ต้มน้ำดื่มระงับอาการชัก แก้ไอ แก้หืด หรือผสม น้ำตาลอ้อยต้มน้ำดื่มรักษาบิด มูกเลือด ผสมกับรากทับทิม รากส่องฟ้าดง และดอกไก่ป่ ฝนน้ำกินและทา แก้ไขทำมะลา (อาการไข้หมดสติ และตายโดยไม่ทราบสาเหตุ)(4)
1
แพทย์แผนจีนใช้น้ำนมราชสีห์แก้อาการท้องเสีย แก้ไอ แก้ไข้พิษ เพิ่มน้ำนม(5) สำหรับทางการแพทย์อายุรเวทอินเดียในเรื่องการรักษาโรคทางระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะอาการไอ หลอดลมอักเสบ หอบหืด และมีฤทธิ์ขับพยาธิ แก้บิด ดีซ่าน เป็นต้น(6)
1
จากการค้นคว้างานวิจัยในฐานข้อมูล PUBMED ยังไม่พบงานวิจัยในมนุษย์หรือการทดสอบฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่สนับสนุนเรื่องการบรรเทาอาการของโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน เช่น เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ บ้านหมุน หูอื้อ
2
เมื่อทำการสืบค้นงานวิจัยอื่นๆที่อาจจะเกี่ยวข้อง พบการศึกษาด้านพฤติกรรมของหนูหลังได้รับสารสกัดน้ำนมราชสีห์ในขนาด 100 มิลลิกรัมของต้นแห้ง/กิโลกรัม พบการลดลงของกิจกรรมที่เคลื่อนที่และจำนวนก้าวของหนูในแวดล้อมจำลอง เมื่อเทียบกับกลุ่มทดลอง(7) และพบอีกการศึกษาหนึ่งในหนูทดลองที่กระตุ้นกลุ่มให้เกิดความเครียดแตกต่างกัน 2 แบบ คือ ความเครียดจากการถูกจำกัดการเคลื่อนไหว ความเครียดที่เกิดจากการบังคับให้ว่ายน้ำ แล้วให้สารสกัดของต้นน้ำนมราชสีห์ติดต่อกัน การวิจัยแสดงให้เห็นว่าสารสกัดน้ำนมราชสีห์ช่วยลดความวิตกกังวลในหนูที่ถูกทำให้เครียดจากการจำกัดการเคลื่นไหวมากกว่าหนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดความเครียดจากการบังคุบให้ว่ายน้ำ(8)
นอกจากนี้ยังพบฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาอื่นๆซึ่งเป็นการศึกษาฤทธิ์ของสารสกัดน้ำนมราชสีห์ในหลอดทดลองและหนูทดลอง ได้แก่ ฤทธิ์ขับน้ำนม ขับปัสสาวะ แก้ไอ หลอดลมอักเสบ แก้ท้องเสีย ลดการอักเสบ ขับพยาธิ และลดน้ำตาลในเลือดได้ แต่ยังไม่มีข้อมูลการศึกษาในคนรับรอง(9) ในการศึกษาเรื่องความเป็นพิษเฉียบพลันและกึ่งเฉียบพลันของสารสกัดน้ำนมราชสีห์ด้วยเมทานอลในหนูทดลอง โดยให้สารสกัดทางปากปริมาณ 5000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ในอัตรา 20 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม เพื่อศึกษาพิษเฉียบพลันและให้สารสกัดทางปากปริมาณ 50, 250 และ 1000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม เป็นเวลา 90 วัน เพื่อศึกษาพิษกึ่งเฉียบพลัน ผลการศึกษาคือ ไม่พบความเป็นพิษเฉียบพลันและกึ่งเฉียบพลัน ไม่พบการเปลี่ยนแปลงทางด้านกายภาพและอวัยวะภายในของหนูทดลองเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม(10)
จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นว่า ยังไม่มีข้อมูลมาสนับสนุนการใช้น้ำนมราชสีห์กับโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน หรืออาการวิงเวียนศีรษะ อีกทั้งยังไม่มีข้อมูลงานวิจัยในคน เพราะฉะนั้นหากท่านที่มีอาการเวียนศีรษะ หรือได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนทุกครั้งหากต้องการใช้ยาสมุนไพร
References
1.จิระนันท์ เมฆปัจฉาพิชิต. สุดยอดสมุนไพร "ต้นน้ำนมราชสีห์" สรรพคุณเด็ด รักษาอาการน้ำในหูไม่เท่ากัน วิงเวียนศรีษะบ้านหมุน [อินเทอร์เน็ต]. กรุงเทพฯ:2561 [เข้าถึงเมื่อ 4 ต.ค. 2561]. เข้าถึงได้จาก: https://www.gninternews.com/contents/ax/11068.
2.รศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน. น้ำในหูไม่เท่ากัน...จริงหรือ [อินเทอร์เน็ต]. กรุงเทพฯ: คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล; 2553 [เข้าถึงเมื่อ 8 ต.ค. 2561]. เข้าถึงได้จาก: http://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=757.
3.คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. น้ำนมราชสีห์ [อินเทอร์เน็ต]. กรุงเทพฯ:2553 [เข้าถึงเมื่อ 4 ต.ค. 2561]. เข้าถึงได้จาก: https://www.pharmacy.mahidol.ac.th/siri/index.php?page=search_detail&medicinal_id=293.
4.พรทิพย์ เติมวิเศษ, และคณะ (บรรณาธิการ). ประมวลสรรพคุณสมุนไพรไทย. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ.
5.Linfang H, Shilin C, Meihua Y. Euphorbia hirta (Feiyangcao): A review on its ethnopharmacology, phytochemistry and pharmacology. Journal of Medicinal Plants Research. 2012;6(39):5176-85.
6.Patil SB, Naikwade NS, Magdum CS. Review on phytochemistry and pharmacological aspects of Euphorbia hirta Linn. JPRHC. 2009;1(1):113-33.
7.Lanhers M-C, Fleurentin J, Cabalion P, Rolland A, Dorfman P, Misslin R, et al. Behavioral effects of Euphorbia hirta L.: sedative and anxiolytic properties. J Ethnopharmacol. 1990;29:189-98.
8.Anuradha H, Srikumar BN, Shankaranarayana Rao BS, Lakshmana M. Euphorbia hirta reverses chronic stress-induced anxiety and mediates its action through the GABA(A) receptor benzodiazepine receptor-Cl(-) channel complex. J Neural Transm (Vienna). 2008;115(1):35-42.
9.A.N.M. Mamun-Or-Rashid, Shohel Mahmud, Nayeem Md T, Kumer M. A compendium ethnopharmaceutical review on Euphorbia hirta L. Ayurpharm Int J Ayur Alli Sci. 2013;2(2):14-21.
10.Yuet Ping K, Darah I, Chen Y, Sreeramanan S, Sasidharan S. Acute and subchronic toxicity study of Euphorbia hirta L. methanol extract in rats. Biomed Res Int. 2013;2013:182064.
โฆษณา