30 พ.ย. 2021 เวลา 00:07 • หุ้น & เศรษฐกิจ
Supply Chain ทั่วโลกยังไม่กลับมาปกติ แม้ว่าจะเริ่มดีขึ้นในสหรัฐอเมริกา
📌 สหรัฐอเมริกา
ปัญหาการขาดแคลนสินค้าส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อหลายอุตสาหกรรมและเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจากการระบาดใหญ่ของเชื้อไวรัสโควิด-19 ปัญหาคอขวดในห่วงโซ่อุปทานของสหรัฐฯ มีส่วนทำให้อัตราเงินเฟ้อในประเทศปรับเพิ่มขึ้นเป็น 6.2% ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบกว่า 30 ปี
2
จากข้อมูลของ Bloomberg ตัวชี้วัดอุปทานขาดแคลนในสหรัฐฯ เริ่มปรับลดลงในเดือนตุลาคม แต่ยังคงอยู่ในระดับใกล้เคียงจุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งชี้ให้เห็นว่าสถานการณ์การขาดแคลนอุปทานเริ่มคลี่คลายลงบ้างแล้ว โดยตัวชี้วัดดังกล่าวนำเอาข้อมูลสถิติต่าง ๆ เช่น จำนวนสินค้าคงคลัง และยอดซื้อคงค้าง มาใช้ในการคำนวณ หากตัวเลขเป็นบวกบ่งชี้ว่าสินค้าขาดตลาด ในขณะที่ตัวเลขเป็นลบชี้ให้เห็นว่าสินค้าอาจมีมากเกินความต้องการของตลาด
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน กล่าวว่าปัญหาคอขวดในสหรัฐฯ เริ่มคลี่คลายลง เป็นผลมาจากความพยายามของรัฐบาล ในการเพิ่มความคล่องตัวในการขนส่งสินค้าจากท่าเรือ โดยนายไบเดนได้ให้คำมั่นว่าชาวอเมริกันจะไม่ประสบปัญหาในการซื้ออาหารหรือของขวัญในช่วงวันหยุดคริสต์มาสที่จะถึงนี้ ผู้ค้าปลีกรายใหญ่อย่าง Walmart และ Target ก็ออกมารับประกันเช่นกันว่า สินค้าจะมีเพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า และทางบริษัทได้เตรียมรถบรรทุกไว้เพียงพอสำหรับการขนส่งสินค้าอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ดี ด้านอุปทานภาคบริการในสหรัฐฯ ยังคงลดลงและปัญหาการขาดแคลนแรงงานยังไม่สามารถแก้ไขได้ ส่งผลให้ในระยะถัดไปตัวชี้วัดด้านอุปทานขาดแคลนอาจมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นได้อีกครั้งหนึ่ง
รูปที่ 1: ตัวชี้วัดด้านอุปทานขาดแคลนในสหรัฐฯ อยู่ในระดับที่สูงแต่เริ่มปรับลดลงบ้างแล้ว
📌 ยุโรป
ในยุโรป ข้อมูลของ Bloomberg แสดงให้เห็นว่าสถานการณ์อุปทานขาดแคลนยังคงมีความรุนแรงอยู่ โดยข้อจำกัดด้านอุปทานผลักดันให้อัตราเงินเฟ้อของทวีปยุโรปขึ้นไปสูงถึง 4.1% ในเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดในรอบ 13 ปี และสูงกว่าเกือบสองเท่า หากเทียบกับประมาณการที่ธนาคารกลางยุโรปที่ประเมินไว้เพียง 2.2% ซึ่งเป็นผลมาจากราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น โดยคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 23% ของอัตราการเติบโต คณะกรรมาธิการยุโรปคาดการณ์ว่าค่าใช้จ่ายด้านพลังงานจะยังคงอยู่ในระดับที่สูงเช่นนี้ไปจนถึงเดือนมีนาคมหรือเมษายนปีหน้า ซึ่งเป็นช่วงที่ภูมิภาคจะเข้าสู่ฤดูร้อนและการใช้ไฟฟ้าเพื่อให้ความอบอุ่นในบ้านลดลง
สำหรับในตอนนี้ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกที่สี่กำลังส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจในยุโรปที่เปราะบางอยู่ก่อนแล้ว ด้วยความจำเป็นที่จะต้องใช้มาตรการด้านสาธารณสุขที่เข้มงวดขึ้นเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค ส่งผลทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยในประเทศออสเตรีย มีการใช้มาตรการรับมือที่เข้มงวดที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค เช่น การบังคับฉีดวัคซีนกับทุกคนไปจนถึงการปิดประเทศ ในขณะที่ประเทศเบลเยี่ยม รัฐบาลได้ประกาศว่าประชาชนจะต้องทำงานที่บ้านเป็นจำนวนสี่วันต่อสัปดาห์หากไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเดินทางไปในสถานที่ทำงาน
อุปทานตึงตัวมากขึ้นในทวีปยุโรป
📌 สหราชอาณาจักร
ในสหราชอาณาจักร เช่นเดียวกันกับยุโรป ตัวชี้วัดอุปทานขาดแคลนของ Bloomberg ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนตุลาคม ตัวชี้วัดทั้งหมดรวมถึงต้นทุนการผลิต ระดับสินค้าคงคลังและสถานการณ์ตลาดแรงงาน บ่งชี้ว่าปัญหาคอขวดกำลังทวีความรุนแรงเพิ่มมากยิ่งขึ้น โดยปัญหาเกิดจากการขาดแคลนคนขับรถบรรทุกเป็นหลักและมีการคาดการณ์กันไว้ว่าในสหราชอาณาจักรอาจขาดแคลนไวน์และสุราในช่วงวันหยุดเทศกาลคริสต์มาสที่จะถึงนี้ ซึ่งโดยปกติแล้วจำนวนประชากรผู้ใหญ่มากกว่าครึ่งในสหราชอาณาจักรดื่มสุราเป็นประจำ
ปัญหาการขาดแคลนแรงงานส่งผลกระทบต่อการขนส่งสินค้าอย่างมากและทำให้ราคาค่าขนส่งปรับเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ตามจดหมายที่ส่งโดยสมาคมการค้าไวน์และสุราแห่งสหราชอาณาจักร (WTSA) ถึงรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมแห่งสหราชอาณาจักร จดหมายดังกล่าวลงนามโดยบริษัทกว่า 49 แห่งรวมถึงบริษัทผลิตแชมเปญและคอนยัคที่มีชื่อเสียงโด่งดังอย่าง LVMH
ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ประชาชนชาวอังกฤษต่างแย่งกันเติมน้ำมัน เนื่องจากมีความกังวลว่าน้ำมันจะมีไม่เพียงพอ ส่งผลให้ราคาพลังงานและราคาสินค้าอื่น ๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก โดยดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนตุลาคมปรับเพิ่มขึ้นถึง 4.2% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ตัวเลขนี้ถือว่าสูงที่สุดในรอบทศวรรษ และเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญหาเทียบกับอัตราเงินเฟ้อที่ 3.1% ในเดือนกันยายน ในขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ตัวเลขดังกล่าวกันไว้ที่เพียง 3.9%
ด้วยอัตราเงินเฟ้อที่สูงเช่นนี้ ธนาคารแห่งประเทศอังกฤษมีแนวโน้มที่จะปรับต้นทุนการกู้ยืมเพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ และทำให้สหราชอาณาจักรเป็นหนึ่งในธนาคารกลางรายใหญ่แห่งแรก ๆ ที่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยหลังจากวิกฤตการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
ภาวะการขาดแคลนอุปทานในสหราชอาณาจักรยังคงมีความรุนแรง
📌 จีน
วิกฤตอุปทานขาดแคลนยังเกิดขึ้นในประเทศจีนที่เป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลกด้วยเช่นกัน เนื่องจากมาตราการในการป้องกันโควิด-19 ที่เข้มงวดมากของจีน ทำให้การขนส่งล่าช้า
เพื่อป้องกันเชื้อไวรัสไม่ให้แพร่กระจายจีนได้มีการบังคับให้มีการกักตัวเป็นเวลาเจ็ดสัปดาห์สำหรับลูกเรือชาวจีนที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ โดยลูกเรือชาวจีนจะต้องถูกกักตัวเป็นเวลาสามสัปดาห์ก่อนที่จะมาถึงประเทศจีน จากนั้นอีกสองสัปดาห์ที่ท่าเรือขาเข้า และอีกสองสัปดาห์สุดท้ายในมณฑลของพวกเขา ก่อนที่จะสามารถเดินทางไปที่อื่นได้ ซึ่งโดยปกติแล้วข้อจำกัดทางด้านการขนส่งทางเรือมักจะส่งผลเสียต่อห่วงโซ่อุปทานและส่งผลให้เกิดการหยุดชะงักอย่างมีนัยสำคัญ
เงินเฟ้อในประเทศจีนปรับเพิ่มขึ้น 1.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนในเดือนตุลาคม โดยถือว่าปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่าของอัตราเงินเฟ้อในเดือนก่อนหน้า และเป็นอัตราที่มากที่สุดนับตั้งแต่เดือนกันยายนปีที่แล้ว อัตราเงินเฟ้อที่ปรับเพิ่มขึ้นในประเทศจีนที่เปรียบเสมือนกับโรงงานผลิตของโลกนี้ ส่งผลให้เกิดความกังวลว่าราคาสินค้าจะยิ่งปรับขึ้นทั่วโลกในอีกไม่ช้า
ท่าเรือในประเทศจีนมีจำนวนเรือหนาแน่น
#Supply_Chain #Global_Economic_Updates #เศรษฐกิจโลก #Supply_Shortage
#Bnomics #Economics #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
ผู้เขียน :
ธีระภูมิ วุฒิปราโมทย์ Economist, Bnomics
ศศิชา เป่าแตรสังข์ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ :
จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา