30 พ.ย. 2021 เวลา 11:18 • หุ้น & เศรษฐกิจ
เส้นทาง R12 : ถนนแห่งโอกาส ที่เชื่อมโยงไทย - ลาว - เวียดนาม - จีน
การที่เศรษฐกิจอาเซียน จะเชื่อมโยงกันได้อย่างราบรื่น ถนนเส้นสำคัญอีกเส้นที่เรียกได้ว่าเป็นเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง หรือ GMS Economic Corridors ถือเป็นสิ่งขาดไม่ได้ เส้นทางเศรษฐกิจนี้เองก็มีอยู่หลายทาง แต่อีกหนึ่งสายที่ถูกพูดถึงเป็นอย่างมากเลยคือ เส้นทาง R12 ที่เชื่อมโยงตั้งแต่ไทย - ลาว - เวียดนาม - จีน
เครดิตภาพ : สยามรัฐ
📌 เส้นทาง R12 ผ่านตรงไหนของประเทศใดบ้าง?
เส้นทาง R12 นี้มีนับเป็นเส้นทางที่สั้นที่สุดหากต้องการขนส่งสินค้าจากไทยเข้ามณฑลกว่างซี ประเทศจีน โดยมีจุดเริ่มต้นอยู่ที่จังหวัดนครพนม ประเทศไทย และไปเข้าเขตประเทศลาวที่ท่าแขก แขวงคำม่วน และไปผ่านจังหวัดฮาติง วิงห์ และฮานอย ของประเทศเวียดนาม ก่อนจะไปสิ้นสุดที่มณฑลกว่างซี ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศจีน เป็นระยะทางทั้งหมด 1,499 กม.
เส้นทาง R12 เป็นเส้นทางสำคัญที่จะช่วยกระจายสินค้าไทยไปยังตลาดจีนและตลาดโลก โดยเฉพาะผลไม้ ปศุสัตว์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าอุปโภคบริโภค อีกทั้งยังเป็นจุดเชื่อมต่อกับเส้นทางอื่นๆ ที่สำคัญ เช่น ทางหลวงเอเชียสาย 1 (AH1) ซึ่งเป็นเส้นทางหลักที่เชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจสำคัญๆ ในเอเชีย
เส้นทาง R12 : ไทย - ลาว - เวียดนาม - จีน ประตูเศรษฐกิจภาคอีสาน เชื่อมโยง 4 ประเทศ | Trade Logistics: DITP
📌 โอกาสและอนาคตของเส้นทางเศรษฐกิจสาย R12
แต่เดิมเส้นทางสาย R12 เมื่อหลายปีก่อน สภาพถนนโดยรวมยังเป็นทางลูกรังที่ถนนแคบและลัดเลาะไปตามแนวไหล่เขา แต่เมื่อได้รับเงินอุดหนุนจากธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (Asian Development Bank : ADB) ในการพัฒนาโครงสร้างคมนาคมทางถนน ถนนสาย R12 จึงถูกพัฒนาให้มีสภาพที่ดีขึ้น มีการขยายถนนกว้างขึ้นเพื่อลดความแออัดของรถบรรทุกที่สัญจรในเส้นทางนั้น
เส้นทางสาย R12 จะกลายเป็นถนนที่นำมาซึ่งโอกาสต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านโลจิสติกส์ที่ถูกพัฒนาให้เชื่อมต่อกันระหว่างภูมิภาคได้ง่ายขึ้น อย่างเช่น การขนส่งสินค้าจากประเทศไทยไปยังเวียดนามตอนเหนือ ด้วยเส้นทาง R12 จะได้เปรียบกว่าเส้นทาง R8 ในเรื่องของสภาพถนน แล้วก็สั้นกว่าเส้นทาง R9 จึงใช้เวลาในการขนส่งเพียง 1 - 2 วัน เปรียบเทียบกับการขนส่งทางเรือที่ใช้เวลา 6 - 7 วัน ทำให้เหมาะกับการขนส่งสินค้าที่อาจเน่าเสียได้ง่าย
อีกการเชื่อมต่อที่สำคัญ คือการขนส่งสินค้าระหว่างไทยและเมืองหนานหนิง มณฑลกว่างซี ที่ผ่านมาการขนส่งสินค้าประเภทผลไม้จากไทยไปเมืองหนานหนิง มณฑลกว่างซี จะส่งไปจากท่าเรือแหลมฉบัง และไปต่อที่ฮ่องกง หรือท่าเรือกว่างโจว และค่อยขนส่งด้วยรถบรรทุกหรือรถไฟไปกว่างซี ทั้งหมดนี้ใช้ระยะเวลายาวนานกว่าการขนส่งผ่านเส้นทาง R12 ที่ใช้เวลา 3 - 4 วัน ซึ่งจะสามารถตอบสนองกับความต้องการของผู้บริโภคชาวจีนที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ถึงอย่างนั้น การขนส่งผ่านทางบกก็ยังเสียเปรียบการขนส่งทางเรือในด้านราคาที่แพงกว่าพอสมควร
นอกจากโอกาสทางด้านโลจิสติกส์แล้ว ยังเป็นการเปิดประตูสู่โอกาสในด้านการท่องเที่ยว อย่างใกล้ๆ ที่สุดเลยคือ ระหว่าง นครพนม กับท่าแขก ที่ประชาชนของทั้ง 2 ประเทศนี้สามารถเดินทางข้ามไปหากันได้อย่างสะดวกและไม่ต้องไปเสียเวลาและเสี่ยงกับการนั่งเรือเฟอร์รี่ ซึ่งนี่ก็จะเป็นอีกช่องทางที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดการค้าระหว่างกันอีกด้วย และด้วยความที่เส้นทาง R12 ผ่านบรรยากาศทิวทัศน์ธรรมชาติที่สวยงามหลายแห่ง จึงอาจจะเกิดการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ หรือเชิงวัฒนธรรมได้เนื่องจากเป็นเส้นทางที่ผ่าน ไทย - ลาว - เวียดนาม ได้เพียงแค่วันเดียว
1
นับว่าเส้นทาง R12 เป็นถนนที่นำไปสู่โอกาสต่างๆ มากมาย อย่างไรก็ตาม การพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกระหว่างเส้นทาง เช่น ปั๊มน้ำมัน, จุดตรวจเช็คสภาพรถยนต์, โรงพยาบาล, ร้านอาหาร, โรงแรม น่าจะเป็นประโยชน์อย่างมากหากต้องการจะรองรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางเป็นระยะเวลาหลายวัน เส้นทางนี้จึงจะสามารถตอบสนองวัตถุประสงค์ตั้งต้นแต่แรกได้ทั้งหมดคือ การส่งเสริมการขยายตัวด้านอุตสาหกรรม, เกษตรกรรม, การค้าการลงทุน, การท่องเที่ยวและการบริการ ก่อให้เกิดการจ้างงานในท้องถิ่น ยกระดับคุณภาพชีวิตประชากร มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีร่วมกัน ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของภูมิภาคอาเซียนในเวทีการค้าระดับโลกได้นั่นเอง
#R12 #แม่น้ำโขง #ลาว #เวียดนาม #จีน #อาเซียน #เศรษฐกิจอาเซียน #ASEAN_Corridor
#Bnomics #Economics #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
ผู้เขียน: ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :
โฆษณา