แต่คุณเคยสงสัยหรือไม่ ว่าเพลงที่เรามักได้ยินเป็น background music ประกอบไปกับคลิปและละครเหล่านั้นคือเพลงอะไร มาจากไหน ทำไมต้องเป็นเพลงนี้ วันนี้ Modernist พาทุกคนไปหาคำตอบให้กับเพลงปริศนาดังกล่าว ซึ่งโด่งดังและได้รับความนิยมที่สุด ในจักรวาลละครคุณธรรมและช่องสปอยล์หนัง “Bad Style – Time Back”
จุดเริ่มต้นเพลง Time Back ที่เป็นทำนองคุ้นหูในคลิปต่างๆนั้น มีที่มาจริงๆจากคู่นักร้องดูโอ้ชาวรัสเซียชื่อ Bad Style โดยในเพลงต้นฉบับแบบมีเนื้อร้อง ถูกปล่อยออกมาในปี 2012 ในชื่ออัลบั้มเดียวกัน และกลายเป็นเพลงที่ดังที่สุดของพวกเขาตั้งแต่วันนั้น จนถึงปัจจุบัน
ต่อมาในปี 2013 เพลงดังกล่าว ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากในรัสเซีย ได้รับการขับร้องเป็นเวอร์ชันใหม่โดย Monty แรปเปอร์ชื่อดังชาวรัสเซีย โดยในเวอร์ชันดังกล่าวยังคงใช้ทำนองเพลงจากต้นฉบับ แต่เปลี่ยนเนื้อร้องเป็นการแรปทั้งหมด เพื่อประกอบภาพยนตร์เรื่อง “ОКОЛОФУТБОЛА” หรือชื่อภาษาอังกฤษ คือ Kicking Off ภาพยนตร์ว่าด้วยเรื่องของแฟนฟุตบอลที่ใช้ความรุนแรง ซึ่งสร้างมาจากเค้าโครงเรื่องจริง โดยได้ผู้กำกับดัง (ในรัสเซีย) อย่าง Anton Bormatov มาถ่ายทอดเรื่องราวทั้งหมด ภายใต้ใจความสำคัญคือ ‘เมื่อเริ่มแล้ว จะไม่มีทางหันหลังกลับ’ เพราะใจความสำคัญนี้ทำให้ เนื้อหาในเพลง Time Back เวอร์ชัน Monty มีความเข้ากับตัวภาพยนตร์ดังกล่าวอย่างมาก
จุดเปลี่ยนของเพลง Time Back ที่เราใช้กันมาจนถึงปัจจุบันเริ่มต้นในปี 2015 เมื่อช่องยูทูปชื่อ MoAli55 ได้ชุบชีวิตเพลง Time Back กลับมาใหม่ในรูปแบบของทำนองโดยไม่มีเนื้อร้อง เพราะตัวเมโลดี้จากเปียโนและไวโอลินที่ติดหู ทำให้ Time Back instrumental version กลายเป็นเพลงที่ไวรัลและเป็นตำนานต่อผู้คนมากมายตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และอาจเพราะเพลงดังกล่าว เคยเป็นเพลงประกอบภาพยนตร์เกี่ยวกับฟุตบอลมาก่อน ทำให้ Time Back ถูกใช้ประกอบคลิปไฮท์ไลต์การแข่งขันฟุตบอลมากมาย โดยหนึ่งคลิปที่เด่นมากๆและใช้เพลง Time Back ประกอบ คือ Real Madrid Counter Attack Mourinho!! ซึ่งถูกปล่อยออกมาในปี 2016 หลังเวอร์ชันดังกล่าวออกได้ 1 ปี
หลังจากปี 2016 เพลงดังกล่าวถูกใช้ประกอบเป็น background music ในคลิปกีฬามากมาย จนกระทั่งลามไปถึงคลิปประเภทอื่น ที่ต้องการดนตรีจำง่าย และสร้างความตื่นเต้นให้กับผู้ชม Time Back มักจะเป็นทางเลือกแรกๆเสมอ แม้กระทั่งช่องสปอยล์หนังของประเทศอินโดนีเซีย หากคุณมีโอกาสอ่านคอมเมนต์ใต้เพลงดังกล่าว คุณจะพบประโยค ‘Di mata orang lain, ini hanyalah sekotak susu’ ซึ่งเป็นภาษาอินโดนีเซียแปลไทยได้ว่า ‘ในสายตาของคนอื่นมันเป็นเพียงกล่องนมเท่านั้น’ ประโยคดังกล่าวคือประโยคเด็ดที่กล่าวถึงฉากหนึ่งในภาพยนตร์เรื่อง Escape Plan และหากคุณนำประโยคข้างต้นไปค้นหาในยูทูป คุณก็จะพบช่องสปอยล์หนังที่ใช้เพลง Time Back ประกอบการเล่าเรื่อง ซึ่งช่องนี้ได้รับความนิยมมากในประเทศอินโดนีเซีย จนมีผู้คนมากมายตามหาเพลงนั่นเอง
ในประเทศไทย Bad Style – Time Back กลายเป็น background music ประกอบช่องสปอยล์หนังในเฟสบุ๊คมากมาย เสียงเพลงดังกล่าวถูกใช้เพื่อกลบเสียงในการคุยกันของตัวละคร เพื่อเลี่ยงการตรวจจับลิขสิทธิ์ หรือบางครั้งก็ใช้เพลงเคล้าไปกับเสียงการอ่านบทบรรยายแบบไร้อารมณ์ของ Siri หรือ Google Translate เพื่อเพิ่มอรรถรสในการชมคลิปให้มากยิ่งขึ้น ต่อมาเพลงดังกล่าวได้รับความนิยมอย่างมากในติ๊กต่อกและโต่วอินของจีน จนคนมากมายใช้เพื่อประกอบคอนเทนต์ ตั้งแต่แต่งหน้าไปจนถึงใช้เพื่อประกอบละครคุณธรรมต้นฉบับในแดนมังกร ก่อนจะเป็นแม่แบบมาสู่ละครคุณธรรมไทย เช่น ละครพลอย ชิดจันทร์ ไปจนถึงจักรวาลละครสั่นดรีมบาร์โค้ดที่ทำออกมาเป็นแนว Parody ละครคุณธรรมอีกที แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลและสูตรสำเร็จที่สื่อต่างประเทศมีผลอย่างมากต่อสื่อในไทย