1 ธ.ค. 2021 เวลา 01:08 • ความคิดเห็น
Trolley Dilemma: เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการตัดสินใจทางจริยธรรม
มีผู้คนจำนวนมากวิจารณ์ว่า เศรษฐศาสตร์เป็นศาสตร์ที่ไร้หัวใจ และไม่ตอบโจทย์ปัญหาทางด้านศีลธรรม เนื่องจากในมุมมองของพวกเขา การตัดสินใจทางเศรษฐศาสตร์จำนวนมากคำนึงถึงแต่ผลลัพธ์เป็นสำคัญ จนละเลยมุมมองทางด้านศีลธรรมไป
Trolley Dilemma
หนึ่งในงานศึกษาที่ถูกนำมาใช้ เพื่อตอกย้ำความไร้หัวใจของนักเศรษฐศาสตร์ เกิดขึ้นในช่วงปี 1967 โดยนักจิตวิทยาชาวอังกฤษ “Philippa Foot” และได้ถูกพัฒนาต่อเนื่องโดยนักปรัชญาชาวอเมริกา “Judith Jarvis Thomson”
งานศึกษาชื่อดังนี้ มีชื่อเรียกว่า “The Trolley Problem หรือ ปริศนารถราง”
📌 คุณจะสละหนึ่งชีวิตเพื่อช่วยห้าชีวิตไหม?
The Trolley Problem หรือปริศนารถราง เป็นสถานการณ์สมมติที่ให้คุณจินตนาการว่า คุณกำลังยืนอยู่ที่ข้างทางรถไฟแห่งหนึ่ง ทันใดนั้น ก็มีรถไฟกำลังวิ่งเข้ามา
คุณหันไปมองปลายทางที่รถรางจะวิ่งไป เห็นเป็นคนห้าคนกำลังถูกผูกติดอยู่กับราง ตัวคุณมีทางเลือกที่สามารถจะสับสวิตช์ เพื่อให้รถรางเบี่ยงไปอีกหนึ่งเส้นทาง
แต่ทว่า ประเด็นสำคัญของเรื่องอยู่ตรงนี้ เนื่องจากว่า ในอีกหนึ่งเส้นทางที่คุณสามารถสับรางรถไฟไปได้นั้น มีคนงานกำลังทำงานอยู่ แปลว่า หากคุณเลือกที่จะสับรางรถไฟ รถไฟที่วิ่งเข้ามา ก็จะไปชนกับคนงานคนนี้แทนคนห้าคนที่คุณเลือกจะช่วยไว้
ถ้าคุณเลือกที่จะสับทางรถไฟไปชนกับคนงานหนึ่งคน คุณคือ คนส่วนใหญ่ในสังคมครับ (90% ของคนที่ตอบคำถาม เลือกจะสับทางรถไฟ)
ซึ่งการตัดสินใจเพื่อก่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อส่วนรวมมากที่สุดในลักษณะแบบนี้ มีความคล้ายคลึงกับแนวคิดพื้นฐานทางเศรษฐศาสตร์ที่สำคัญแนวคิดหนึ่ง นั่นก็คือ “Utilitarianism หรือ แนวคิดประโยชน์นิยม”
📌 ผลลัพธ์ต่อส่วนรวมที่สูงที่สุด คือ เป้าหมายของแนวคิดประโยชน์นิยม
แนวคิด Utilitarianism หรือ ประโยชน์นิยม มีรากฐานมาจากนักเศรษฐศาสตร์ยุคคลาสสิกสองคน นามว่า Jeremy Bentham และ John Stuart Mill มีหลักคิดสำคัญ คือ การตัดสินใจทำสิ่งต่างๆ จะเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ก็ต่อเมื่อ “การกระทำเหล่านั้นสร้างความสุขให้กับผู้คน”
ที่เป็นแบบนี้ ก็เพราะพวกเขามองว่า สิ่งที่ใช้วัดคุณค่าที่แท้จริงของสรรพสิ่งได้ มีอยู่แค่อย่างเดียวเท่านั้น คือ “ความสุข” ดังนั้น การตัดสินใจจะทำสิ่งใด ก็ควรจะพิจารณาดูว่า ทำแล้วจะทำให้คนมีความสุขแค่ไหน และมีคนที่มีความสุขจำนวนมากเท่าใด ยิ่งมากก็จะยิ่งดี
ซึ่งถ้าเรานำแนวคิดนี้ มาจับกับปริศนารถรางข้างบน คำตอบมันก็ชัดเจนว่า การเลือกช่วยชีวิตคนห้าคนย่อมจะดีกว่า เพราะมันสร้างความสุขให้กับคนหมู่มากกว่า ซึ่งสถานการณ์นี้มันก็ตรงกับทางเลือกของคนส่วนใหญ่
1
อันที่จริง ต่อให้เป็นสถานการณ์อื่น ถ้าใช้หลักคิดของแนวคิดประโยชน์นิยม การเลือกช่วยชีวิตคนห้าคน แล้วเสียสละคนหนึ่งคน ก็ควรจะเป็นสิ่งที่ควรทำเสมอ (โดยที่เราไม่ได้พิจารณาการลงโทษทางกฎหมาย)
แต่ทว่า สำหรับคนทั่วไปแล้ว ไม่ใช่ทุกสถานการณ์ที่พวกเขาจะเลือกสละชีวิตคนหนึ่งคนเพื่อช่วยอีกห้าคนเสมอไป ซึ่งประเด็นนี้แหละ ที่เขายกมาบอกกันว่า นักเศรษฐศาสตร์ช่างเป็นคนที่ไร้หัวใจเสียจริง
📌 การฆ่า กับ การปล่อยให้ตาย เหมือนกันไหม?
เราเล่าเรื่องปริศานารถรางในเวอร์ชั่นตั้งต้นไปแล้ว แต่หลังจากนั้นก็มีการพัฒนาสถานการณ์สมมตินี้ขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง ซึ่งมันทำให้ คำตอบของผู้คนส่วนใหญ่เปลี่ยนไป โดยที่แทนที่จะเลือกช่วยห้าชีวิตเหมือนในตอนแรก แต่ในสถานการณ์นี้คนส่วนใหญ่ (ประมาณ 90% เช่นกัน) เลือกที่จะช่วยหนึ่งชีวิตแทน
โดยในสถานการณ์นี้ เขาให้เราจิตนาการว่า คุณกำลังยืนอยู่บนสะพาน และเห็นรถรางกำลังวิ่งมาจะชนคนห้าคนที่ขยับไม่ได้ คล้ายกับสถานการณ์แรก บนสะพานที่คุณยืนอยู่นั้น มีผู้ชายตัวใหญ่อยู่ด้วยหนึ่งคน
คุณคาดการณ์แล้วว่า หากคุณผลักชายคนนั้นลงไปจากสะพาน จะสามารถไปกั้นรถรางที่กำลังวิ่งมา ให้ไม่มาชนกับคนห้าคนได้ แต่ชายคนนั้นก็จะต้องเสียชีวิต เป็นคุณจะเลือกผลักชายคนนั้นลงไปไหม?
และอย่างที่เราสปอยไปแล้วนะครับ ในสถานการณ์นี้ คนส่วนมากเลือกที่จะไม่ผลักชายคนนี้ลงไป แต่ปล่อยให้รถรางชนกับคนอีกห้าคนจนเสียชีวิตแทน
คุณ Judith Jarvis Thomson ที่เป็นคนพัฒนาปริศนารถรางได้สรุปไว้ว่า ที่ผลลัพธ์ออกมาแบบนี้ เนื่องจากการตัดสินใจผลักชายตัวโตลงไปสำหรับคนทั่วไปแล้วมันให้ความรู้สึกเหมือนกับว่า ผู้เล่นเกมเป็นคนลงมือฆ่าเขาด้วยตัวเอง ต่างจากการสับรางรถที่แม้ผลของการกระทำจะทำให้คนหนึ่งคนเสียชีวิตเหมือนกัน แต่เหมือนเป็น “การปล่อยให้เขาตาย มากกว่าที่เราเป็นคนลงมือฆ่า”
ข้อสรุปนี้ก็ถูกศึกษาต่อเรื่อยมา และก็พบข้อสังเกตที่น่าสนใจ นั่นคือ เวลาที่ผู้คนต้องตอบคำถามว่า จะผลักชายตัวโตลงมาไหม สมองส่วนของอารมณ์ความรู้สึกจะทำงานหนักกว่าตอนตอบคำถามทางสับสวิตช์รถราง
ซึ่งมันก็ทำให้เห็นว่า ในกระบวนการคิดของคน มันมีต้นทุนทางความรู้สึก และก็มีการตัดสินใจที่ไม่ได้มองแค่ว่าผลลัพธ์ต้องเกิดประโยชน์สูงสุดต่อส่วนรวมอย่างเดียว เหมือนกับทฤษฎีพื้นฐานของเศรษฐศาสตร์คลาสสิก
ท้ายที่สุด บางคนอาจจะมองว่า คำถามเรื่องรถรางเป็นกรณีที่สุดโต่งจนเกินไป แต่ในชีวิตจริงเราคงไม่เจอกับสถานการณ์แบบนี้หรอก
ถ้าอย่างนั้น อยากจะแนะนำให้ลองเข้าไปเล่นแบบทดสอบที่เป็นสถานการณ์ที่ดูจะเกิดขึ้นได้จริงมากกว่าในหัวข้อ “ภาวะกลืนไม่เข้าคลายไม่ออกทางศีลธรรม” ในเว็บไซต์ Buzzfeed แล้วก็ลองมาแชร์กันดูว่า คุณเป็นคนไร้หัวใจเหมือนกับนักเศรษฐศาสตร์หรือเปล่าครับ
#Trolley_Dilemma #Utilitarianism
#Bnomics #Economic_outside_the_Box #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : ชนกานต์ วรสุข Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Website :
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :
เครดิตภาพ : D.John Barnett Princeton University Press

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา