1 ธ.ค. 2021 เวลา 10:01 • ยานยนต์
#EP21 การเลือกโช้คอัพให้เหมาะกับการใช้งาน
โช้คอัพเป็นอุปกรณ์สำคัญที่ช่วยรองรับแรงกระแทกและลดแรงสั่นสะเทือนของตัวรถ และยังทำหน้าที่หน่วงการเคลื่อนที่ขึ้นลงของตัวถังรถยนต์เพื่อให้ล้อสัมผัสกับผิวถนนตลอดเวลาขณะที่รถวิ่ง โช้คอัพที่มีคุณภาพสูง จะช่วยลดการเสียดสีและการสึกหรอของยาง ตลอดจนช่วยลดการสึกหรอของอะไหล่ที่เกี่ยวกับช่วงล่างโดยเฉพาะ เช่นลูกหมาก บูชยาง และระบบกันสะเทือนต่างๆ นอกจากนี้โช้คอัพ ยังช่วยให้รถยนต์เกาะถนนได้ดีขณะเข้าโค้งอีกด้วยครับ
โช้คอัพช่วยให้ผู้โดยสารและสินค้าที่บรรทุกไม่บาดเจ็บหรือชำรุดจากแรงสะเทือน, ช่วยให้หน้ารถไม่ทิ่มลงเมื่อเบรกและหน้ารถไม่เงยมากเมื่อออกตัวรถ, ช่วยให้ผิวหน้ายางสัมผัสกับผิวถนนมากที่สุด, เวลาเลี้ยวทางโค้งมากๆรถจะเกาะถนนไม่เอียงมาก ตัวคนขับก็ไม่ต้องเอียงตัวช่วยด้วย การบังคับควบคุมการขับขี่รถทำได้ง่าย
ระบบรองรับของรถยนต์ทุกคันจะต้องมีสปริงทำหน้ารองรับแรงกระแทกจากผิวถนน แรงกระแทกนี้จะดีดกลับขึ้นลงไปเรื่อย ๆ จนกว่าพลังงานนี้จะหมด ฉะนั้นอุปกรณ์ที่จะใช้ในการดูดซับแรงสั่นสะเทือนนี้จะต้องอาศัยของเหลวหรือน้ำมันมาช่วยซึมซับแรงนี้ไป หลักการของโช้คอัพจึงประกอบไปด้วย กระบอกสูบและลูกสูบที่มีของเหลวอยู่ภายใน เมื่อลูกสูบได้รับแรงกระแทกจะเคลื่อนที่ขึ้น-ลง ส่งแรงผ่านของเหลว เมื่อของเหลวเคลื่อนตัวผ่านวาล์วที่แคบก็จะเกิดแรงต้านทานขึ้น ดูดซับแรงสั่นสะเทื่อนให้เหลือน้อยลง
ระบบรองรับของรถมีหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับประเภทของรถนั้นๆ, วัตถุประสงค์การใช้งานและต้นทุ่นการผลิต เป็นต้น เมื่อรูปแบบของอุปกรณ์แตกต่างกัน การติดตั้งและรูปทรงของโช้คก็แตกต่างกันออกไปด้วยเช่นกัน
ประเภทของโช้คอัพ
1. โช้คอัพแบ่งตามโครงสร้าง
• โช้คอัพกระบอกเดี่ยว(Mono Tube)
• โช้คอัพกระบอกคู่(Twin Tube)
2. โช้คอัพแบ่งตามคุณสมบัติ
• โช้คอัพน้ำมัน โช้คอัพชนิดนี้ใช้น้ำมันไฮดรอลิกเป็นตัวทำงานให้เกิดความหนืดเพียงอย่างเดียว ในขณะที่ทำงานน้ำมันไฮดรอลิก จะไหลผ่านวาล์วภายในลูกสูบที่มีสปริงต้านทานไว้จึงทำให้เกิดแรงต้านทานหรือความหน่วงขึ้นภายในกระบอกน้ำมันไฮดรอลิก
• โช้คอัพแก๊ส คือโช้คอัพที่อาศัยการทำงานร่วมกันระหว่างแก๊สไนโตรเจนและน้ำมันไฮดรอลิก โครงสร้างเหมือนกันกับแบบน้ำมัน แตกต่างกันที่มีขนาดใหญ่กว่าสามารถอัดแก็สให้มีแรงดันสูงและมากกว่าแบบน้ำมัน
• โช้คอัพน้ำมันไฮดรอลิกให้การขับขี่ที่อ่อนนุ่มและนุ่มนวลราบเรียบกว่า
โช้คน้ำมันนั้นมีหลักการทำงานคือก่อนที่น้ำมันจะไหลผ่านวาล์วจะต้องรอให้แก๊สได้รับแรงอัดระดับหนึ่งก่อน การตอบสนองจึงล่าช้ากว่าโช้คแก๊ส โช้คแบบน้ำมันจะมีสปริงวาล์วที่อ่อน น้ำมันสามารถไหลผ่านวาล์วได้ง่ายทำให้โช้คแบบน้ำมันไฮดรอลิกให้ความรู้สึกในการขับขี่ที่นุ่มนวลกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับโช้คแบบอัดแก๊ส ซึ่งโช้คทั้งสองแบบนั้นมีความแข็งแรงที่เท่ากัน แต่ความต้านทานหรือการหน่วงแรงจะเพิ่มขึ้นช้ากว่าในโช้คแบบน้ำมันไฮดรอลิกจึงให้ความรู้สึกนุ่มนวลกว่า
• โช้คอัดแก๊สให้การขับขี่ที่เป็นแบบสปอร์ตยิ่งขึ้น
โช้คอัพแก๊สโดยรวมทั่วไปแล้วโครงสร้างเหมือนกับโช้คอัพน้ำมันทุกอย่าง ยกเว้นขนาดของวาล์วที่มีขนาดใหญ่กว่า โช้คอัพแบบแก๊สจะมีแรงดันแก๊สที่สูงกว่า ซึ่งเป็นผลจากแรงดันแก๊สภายในโช้คที่ไล่อากาศให้แยกตัวออกจากน้ำมัน โช้คแก๊สจะมีสปริงวาล์วที่แข็งทำให้น้ำมันไหลผ่านวาล์วได้ยากกว่า ความรู้สึกการขับขี่จะไม่นุ่มนวลราบเรียบแต่ค่อนข้างจะกระด้างกว่า แต่ผู้ขับขี่สามารถควบคุมตัวรถได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่า
• โช้คอัพกระบอกคู่ (Twin Tube)จะมีกระบอกสองชั้น มีลูกสูบที่เคลื่อนที่อยู่ภายในเมื่อได้รับแรงกระแทกจากผิวถนน(Compression)ลูกสูบนี้จะเคลื่อนที่ลงมาอัดน้ำมันในห้องล่างให้ไหลขึ้นด้านบนลูกสูบผ่านวาล์วที่อยู่ที่ลูกสูบตัวเคลื่อนที่ ส่วนลูกสูบตัวที่สองจะอยู่ด้านล่างไม่สามารถเคลื่อนที่ได้ที่ตัวลูกสูบจะมีวาล์วให้น้ำมันไหลผ่านออกไปสู่ห้องที่สามหรือห้องสำรองในกระบอกชั้นนอก ขณะเดียวกันนี้ที่ห้องสำรองจะมีแก็สอัดบรรจุอยู่ จึงเกิดแรงต้านทานจากแก็สต้านการไหลของน้ำมันไว้
ถ้าเราจะเปรียบไปแล้วแก็สนี้ทำหน้าที่เป็นถุงลมนั้นเองทำหน้าที่รับแรงกระแทกหนักๆไว้ แก็สนี้มีโอกาสรวมตัวเข้าไปในน้ำมันได้เพราะสัมผัสกันโดยตรง การรวมตัวนี้จะเกิดขึ้นมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับแรงดันของแก็สว่ามีมากไหม, ความร้อนที่เกิดจากการใช้งานและคุณสมบัติของน้ำมันที่ใช้ครับ เมื่อรถวิ่งผ่านอุปสรรคไปแล้วลูกสูบจะเคลื่อนตัวกลับตำแหน่งเดิมเราเรียกการไหลกลับของน้ำมันนี้ว่าการ Rebound นั่นเอง
• โช้คอัพกระบอกเดี่ยว (Mono Tube) จะมีกระบอกชั้นเดียว มีลูกสูบสองตัว ตัวบนจะติดกับก้านสูบเหมือนโช้คอัพแบบ Twin Tube ส่วนลูกสูบตัวล่างจะเคลื่อนไหวได้อิสระไม่มีวาล์วหรือรูน้ำมันอยู่ที่ลูกสูบ ลูกสูบนี้ทำหน้าที่แยกน้ำมันที่อยู่ด้านบนกับแก็สที่อยู่ด้านล่างออกจากกันอย่างสิ้นเชิง ฉะนั้นโช้คอัพแบบนี้สามารถอัดแก็สให้มีแรงดันมากๆได้ดีกว่าแบบแรก การระบายความร้อนทำได้ดีกว่า
โช้คอัพแบบ Mono Tube ให้ประสิทธิภาพการทำงานที่ดีกว่าทุกช่วงอุณหภูมิ จุน้ำมันและแรงดันแก็สได้มากกว่าให้การตอบสนองที่รวดเร็วฉับไว เหมาะกับการขับขี่ที่ต้องการความหมั่นใจในการควบคุม หนึบกว่า อาจจะไม่นิ่มนวลมากนัก
โช้คอัพแบบ Twin Tube การตอบสนองการไหลของน้ำมันผ่านวาล์วไม่ฉับไวมาก เนื่องจากแก็สมีแรงดันไม่มากต้องรอให้แรงกระทำมีมากพอน้ำมันจึงจะเริ่มไหลผ่านวาล์ว แรงที่กระแทกแรกๆจะอัดให้แก็สแทรกตัวเข้าไปในน้ำมันก่อน ไม่เหมือนโช้คแบบ Mono Tube จะอัดแก็สไว้มากกว่า และตัวแก็สเองก็ไม่สัมผัสกับน้ำมันเลยจึงตอบสนองได้เร็วกว่าโช้คแบบ Twin Tube จากแรงดันแก็สน้อยของโช้คแบบ Twin Tube นี้เองจึงทำให้การขับขี่นุ่มสบายกว่า แต่รถจะไม่ค่อยเกาะถนนมากนัก เวลาเข้าโค้งแรงๆ รถจะเอียงมากครับ
เพื่อตอบสนองลักษณะการขับขี่ที่หลากหลายรูปแบบ เช่น ขับขี่ทางเรียบ, ยึดเกาะถนนดี เข้าโค้งมั่นใจ แบบนี้ต้องการโช้คที่หนืด หนึบดีหน่อย แต่ถ้าจะเอาไปวิ่งในเส้นทางไม่เรียบ ทุรกันดารหน่อย คงต้องการใช้โช้คที่ให้ความนุ่มนวลกว่า แล้วเราจะต้องคอยเปลี่ยนโช้คทุกครั้งที่จะเปลี่ยนเส้นทางเรอครับ คงไม่ใช่ทางเลือกที่ดีใช่ไหมครับ ปัจจุบันเรามีโช้ครุ่นใหม่ที่สามารถปรับเปลี่ยนความแข็ง-อ่อนของโช้คได้แล้วครับ ตอนนี้ผลิตโช้คค่ายต่างๆแข่งขันกันที่จำนวนการปรับระดับ(Step)ความแข็งของโช้คที่สามารถปรับได้ บริษัทของคนไทยเราเองก็มีหลายยี่ห้อเหมือนกันครับที่มีจำนวนระดับมากถึง 24 และ 32 ระดับแล้วมากกว่าค่ายต่างประเทศด้วยซ้ำ ส่วนค่ายเยอรมันมีระบบควบคุมที่สามารถปรับระดับความแข็งของโช้คผ่าน app ในมือถือได้แล้วครับ
ตัวอย่างโช้คของค่ายญี่ปุ่นที่สามารถปรับระดับความแข็งโช้คให้เหมาะสมกับการใช้งานในแต่ละรูปแบบ เช่น ถ้าปรับให้อ่อนมากจะนั่งนุ่มสบาย(Smooth and Comfortable) ปรับให้แข็งปานกลาง จะให้ความรู้สึกมั่นใจ ควบคุมการขับขี่ได้ดี(Firm and Stable) และถ้าปรับแข็งมากนั้น เพื่อการขับขี่แบบสปอร์ต(Fast and Brisk Handling)
โช้คสามารถที่จะชำรุดสึกหรอได้ บริเวณกระบอกสูบ ซีลยาง มีโอกาสสึกหรอได้มาก เป็นสาเหตุการรั่วไหลของน้ำมันโดยไม่ผ่านวาล์วลูกสูบ ความหนึบก็จะลดลงได้ นอกจากนี้ที่ก้านสูบก็มีการสึกหรอได้ ลูกยางหูโช้คเจอสึกบ่อยๆครับ
อาการของโช้คอัพที่เสีย (CURSED)
C – Car veering or sliding in side winds? รถสไลด์หรือเบี่ยงไปทางด้านข้าง ผู้ขับสามารถรู้สึกถึงตัวรถที่พร้อมจะเซไปในทิศทางซ้ายขวาได้ตลอดเวลา โช้คอัพที่เสียจะทำให้การขับไม่มั่นคงและอันตราย
U – Uneven wear appearing on your tires การสึกหรอที่ไม่สม่ำเสมอบนยางทำให้ล้อไม่เกาะถนนโช้คอัพที่ชำรุดจะทำให้ล้อรถเต้นขึ้น-ลงนานและไม่เกาะถนน ซึ่งทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า Hydroplaning หรืออาการเหินน้ำเวลาขับบนถนนที่มีน้ำขัง
R – Rocking, rolling and rattling รถสั่น เสียงดังขณะขับขึ้นเนินลูกระนาด ปกติแล้วโช้คอัพมีหน้าที่ดูดซับแรงสั่นสะเทือนเวลารถขึ้นเนิน หากรถขึ้นเนินแล้วผู้ขับมีความรู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือนประมาณมากกว่าปกติเป็นเวลานาน แปลว่าโช้คอัพอาจจะเสียได้
S – Swerving and dipping when applying your brakes รถเสียการควบคุมขณะเบรก วาล์วหรือลูกสูบในโช้คอัพที่เสียจะทำให้รถควบคุมยากขึ้นขณะเบรก ในกรณีที่โช้คอัพเสีย รถขณะเบรกจะเสียการทรงตัวได้ง่าย เช่น หัวทิ่มไปข้างหน้ามากขึ้น
E – Excessive vibration in your steering wheel รถสั่นไม่จบหลังขับในทางขรุขระ ปกติแล้วการขับรถไปในทางขรุขระจะมีอาการสั่นได้เสมอ แต่เมื่อขับในทางเรียบแล้วยังมีอาการสั่นอีก แปลว่าโช้คอัพอาจจะมีปัญหาได้
D – Delayed or longer stopping distances เบรกนานมากกว่าเดิม
โช้คอัพที่เสียจะให้การเบรกรถแต่ละครั้งใช้เวลาและระยะทางมากกว่าเดิมเมื่อเทียบกับรถยนต์ที่โช้คอัพอยู่ในสภาพดี โช้คอัพที่ดีจะช่วยเรื่องระยะเบรกได้ดีขึ้น 20%
เราสามารถเห็นน้ำมันไหลลงมาตามตัวของโช้คอัพที่เสียได้ การที่น้ำมันหายไปจากโช้คอัพจากวาล์วหรือลูกสูบที่เสีย ทำให้โช้คไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่
มีโช้คอัพแบรนด์นำเข้าตัวไหนให้เลือกบ้าง?
“BILSTEIN” บิลสไตน์เป็นบริษัทสัญชาติเยอรมัน มีประวัติอันยาวนานกว่า 135 ปี ผลิตโช้คอัพให้กับค่ายรถเยอรมัน เช่น Merceds Benz, PORSCHE, BUGATTI Veyron, MITSUBISHI Evolution, LOTUS และ NISSAN GT-R รวมไปถึงสำนักแต่งรถชั้นนำอย่าง CARLSSON, AMG, BRABUS, TECHART ฯลฯ ผลิตโช้คอัพแบบ Mono-tube สามารถใช้งานได้ทั้งในรูปแบบออน-โรด หรือ ออฟ-โรด บางรุ่นสามารถปรับระดับความ ‘แข็ง-อ่อน’ ของโช้คอัพได้ถึง 10 สเต็ป นอกจากนี้ยังสามารถปรับแต่งโช้คอัพผ่าน app บน iPhone ได้อีกด้วย
“KYB (KAYABA)” เมื่อพูดถึงแบรนด์ที่ดีที่สุด เราไม่ควรพลาดแบรนด์ KAYABA ของญี่ปุ่น KAYABA ผลิตและนำเสนอโช้คอัพน้ำมันแบบTwin-tube แบบแก๊สและแบบ Mono-tube ซึ่งแตกต่างจาก BILSTEIN รุ่นยอดนิยม ได้แก่ โช้คอัพน้ำมันแบบ Twin-tube จากซีรีส์ Premium โช้คอัพแก๊ส Twin-tube จากซีรีส์ Excel-G และโช้คอัพ Mono-tube จากซีรีส์ Gas a Just สินค้าของ KAYABA เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในญี่ปุ่นและยุโรป เนื่องจากมีคุณลักษณะที่ดีและค่อนข้างทนทาน
“Monroe” โช้คอัพรถยนต์นำเข้าจากออสเตรเลีย ผลิตอะไหล่แท้ให้กับผู้ผลิตยานยนต์ ชั้นน าของโลก อาทิ ออดี้, บีเอ็มดับเบิลยู, คาดิลแลค, เชฟโรเลต, ไครสเลอร์, ซีตรอง, เฟียต, ฟอร์ด, ฮุนได, อินฟินิตี้, อีซูซุ, แลนด์โรเวอร์, มาสด้า, เมอร์เซเดส เบนซ์, นิสสัน, โอเปิล, เปอโยต์, เรอโนลต์, เซียท, สโกดา, ซูซูกิ, โตโยต้า, วอลโว่, โฟล์คสวาเกน และอื่นๆ ผลิตภัณฑ์รุ่นนี้มี วางจ าหน่ายทั้งแบบไฮดรอลิกและแบบอัดแก๊ส ผลิตและนำเสนอโช้คอัพน้ำมันแบบ Twin-tube และ OE-Spectrum แบบ Mono-tube
ผมยกมาเป็นตัวอย่างด้านบนนี้แค่ 3 ยี่ห้อนะครับ จริงๆแล้วยังมียี่ห้อโช้คอัพมากกว่านี้อีก เช่นยี่ห้อของคนไทยเราผลิตมาเพื่อขายให้กับลูกค้าที่ต้องการ การขับขี่ที่ดีไปกว่าโช้คจากโรงงานเช่น “Profender” เป็นผู้ผลิต ผลิตภัณฑ์ช่วงล่าง โช้คอัพเกรด ของรถกระบะและรถ SUV ยี่ห้อนี้ผลิตออกไปขายต่างประเทศ 40 ประเทศแล้วครับ แต่ถ้าเป็นยี่ห้อ “Ozy” จะผลิตโช้คที่เอาใจผู้ขับขี่แต่ละท่านเลย คือรับปรึกษาและออกแบบโช้คให้เหมาะกับสไตร์การขับขี่ของลูกค้าเลย เห็นบอกว่าสามารถติดตั้งระบบควบคุมด้วยไฟฟ้าให้ผู้ขับขี่ได้เพลิดเพลินกับการปรับแต่งช่วงล่างด้วยปลายนิ้วอีกด้วยครับ
ขอขอบคุณทุกท่านที่ติดตามเพจนะครับ ฝากกด Like กด Share กด Follow ให้ด้วยนะครับ เพื่อเป็นกำลังใจในการสรรหาข้อมูลที่น่าสนใจมานำเสนอต่อไปครับ
มีคำเสนอแนะหรือคำถามสามารถ คอมเม้นด้านล่างมาพูดคุยได้ครับ
โฆษณา