9 ธ.ค. 2021 เวลา 10:16 • การศึกษา
ความทุกข์ ในการครองเรือน
ชีวิตที่มีคุณค่าและมีความหมาย คือ ชีวิตที่ผ่านไปพร้อมกับการสั่งสมบุญบารมี พระบรมโพธิสัตว์ทั้งหลาย กว่าจะได้บรรลุวัตถุประสงค์ของชีวิต ท่านก็สั่งสมบุญเรื่อยมา มิได้หยุดพักเลย ทั้งการทำทาน รักษาศีลและเจริญภาวนา เมื่อได้เข้าถึงความเต็มเปี่ยมของชีวิตแล้ว ก็อาศัยปุพเพนิวาสานุสสติญาณ มองย้อนกลับไปดูการสร้างบารมีที่ผ่านมา ก็เห็นแต่ภาพประวัติศาสตร์ชีวิตอันงดงาม นำมาซึ่งความปลื้มปีติและภาคภูมิใจ
 
ชีวิตของพวกเรานักสร้างบารมี ก็เช่นเดียวกัน จะต้องดำเนินตามอย่างพระองค์ท่าน ชีวิตเราจึงจะเป็นชีวิตที่สมบูรณ์ที่ประเสริฐสุด เกิดมาเพื่อสร้างสันติสุขให้บังเกิดขึ้นแก่โลกอย่างแท้จริง
มีวาระพระบาลีที่มาใน วัจฉนขชาดก ความว่า
 
ฆรา นานีหมานสฺส ฆรา นาภณโต มุสา
ฆรา นาทินฺนทณฺฑสฺส ปเรสํ อนิกุพฺพโต
เอวํ ฉิทฺทํ ทุรภิสมฺภวํ โก ฆรํ ปฏิปชฺชติ
บุคคลที่เป็นผู้ครองเรือน ถ้าหากไม่มีมานะพยายามทำการงานก็ดี
ไม่กล่าวคำมุสาก็ดี ไม่ใช้อำนาจลงโทษผู้อื่นก็ดี
การครองเรือนก็เป็นไปโดยยาก
เมื่อเป็นเช่นนี้ ใครเล่าจะครองเรือนโดยไม่ให้บกพร่อง
ให้เกิดความยินดีนั้นยากแสนยาก
ธรรมดาว่าชีวิตของผู้ครองเรือนนั้น ถ้าขาดความพากเพียรพยายามในการทำธุรกิจการงานต่างๆแล้ว การครองเรือนก็เป็นไปได้โดยยาก ชีวิตการครองเรือนเป็นชีวิตที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนกัน เพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินเงินทอง บางครั้งก็ต้องพูดโกหกมดเท็จเพื่อประโยชน์บางอย่าง ถ้าจะไม่ให้กล่าวเท็จเลย ก็จะเสียรู้คนอื่นเขา บางทีก็ต้องมีการแก่งแย่งชิงดีเบียดเบียน รังแกซึ่งกันและกัน บางครั้งถึงกับต้องทำร้ายกันก็มี บางครั้งที่เราไม่ไปเบียดเบียนเขา แต่เขาก็มากลั่นแกล้งเบียดเบียนเรา การที่จะไม่ให้เบียดเบียนกระทบกระทั่งกันนั้น เป็นเรื่องยากสำหรับชีวิตการครองเรือน
การประกอบธุรกิจการงาน บางทีเราไม่ได้ไปต่อสู้กับคนอื่น แต่ก็ต้องรบกับคนร่วมงานเราบ้าง ลูกน้องเราบ้าง เมื่อทำไม่ดีไม่ถูกต้อง ก็ต้องตักเตือนลงโทษกันไป แม้เราจะทำไปด้วยความปรารถนาดีและเพื่อไม่ให้งานเสีย ถึงอย่างนั้นก็อาจจะทำให้เกิดความไม่พอใจขึ้นมาได้ พอไม่พอใจก็เกิดการน้อยอกน้อยใจ บางครั้งก็ถึงกับผูกพยาบาทจองเวรกันก็มี เพราะฉะนั้นการครองงานครองเรือนไม่ใช่ของง่าย พระพุทธองค์จึงตรัสว่า ชีวิตการครองเรือนที่จะให้บริสุทธิ์บริบูรณ์นั้นยาก และเป็นทางมาแห่งธุลีกิเลส ทำให้เป็นทุกข์ ยากที่จะหาความยินดีได้
เพราะเห็นว่า การครองเรือนมีความทุกข์ยากและลำบาก เต็มไปด้วยเครื่องพันธนาการอย่างนี้ บัณฑิตผู้รู้ทั้งหลายจึงหาทางที่จะพ้นจากเครื่องพันธนาการเหล่านั้น เมื่อพิจารณาแล้วก็พบว่า บรรพชาหรือการบวชเป็นทางมาแห่งความบริสุทธิ์ เป็นการหาโอกาสว่างที่จะขจัดกิเลสอาสวะให้หลุดล่อนออกไปจากใจ เมื่อบวชแล้วก็จะได้ทำงานที่แท้จริง ทำงานที่เป็นกรณียกิจ กิจที่ควรทำอย่างยิ่ง คือ การประพฤติปฏิบัติธรรม เพื่อแสวงหาหนทางของพระนิพพาน
แต่ในการบวชนั้น บางครั้งก็ยังไม่เป็นที่เข้าใจของคน ผู้ครองเรือน ผู้ยังมีดวงปัญญา ไม่บริสุทธิ์ ยังคิดว่าชีวิตการครองเรือนนั้นมีความสุขมากกว่า เพราะหลงคิดว่า การได้เพลิดเพลินจากเบญจกามคุณทั้ง๕ เป็นสุขกว่า แต่ยังไม่รู้เลยว่า สุขที่เกิดจากใจหยุดนิ่งเป็นสุขยิ่งกว่านั้นหลายร้อยหลายพันเท่า ซึ่งถ้าหยุดนิ่งได้อย่างสมบูรณ์ ความสุขจะยิ่งพรั่งพรูออกมามากมายไม่มีประมาณ เป็นสุขยิ่งใหญ่ ที่เทียบกันไม่ได้เลยกับสุขเล็กน้อยที่เกิดจากเบญจกามคุณ
แต่เนื่องจาก เขาไม่มีประสบการณ์ในการเข้าถึงความสุขที่แท้จริง บางครั้งก็ไปชักชวนคนอื่นที่บวชแล้ว ให้มาใช้ชีวิตชาวโลกเหมือนกับตัว ด้วยคิดว่าเป็นความปรารถนาดี แต่เป็นความไม่ปรารถนาของผู้ที่ถูกชวน ดังนั้นต้องชี้แจงกันให้เป็นที่เข้าใจ เพราะเรื่องทำนองนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต
ดังเรื่องสหายของ พระอานนท์ ซึ่งเป็นนักมวยปลํ้าชื่อ โรชะ เป็นเพื่อนคนสนิทของพระอานนท์ วันหนึ่ง เขานิมนต์พระเถระมาฉันภัตตาหาร ได้ให้พระเถระบริโภคอาหารที่มีรสเลิศต่าง ๆ แล้วทำการปฏิสันถารกับพระเถระ
เนื่องจากเขาเห็นว่าพระอานนท์ผู้เป็นสหาย ลำบากในการแสวงหาอาหารและต้องลำบากในที่อยู่อาศัยในเพศภาวะของนักบวช ด้วยความปรารถนาดี เขาจึงเชื้อเชิญพระเถระด้วยโภคสมบัติ อันเป็นของคฤหัสถ์ว่า "ข้าแต่พระคุณเจ้าอานนท์ ทรัพย์สมบัติในเรือนนี้มีอยู่มากมาย กระผมจะแบ่งให้ท่านครึ่งหนึ่ง ขอท่านจงลาสิกขา ออกมาเถิด เราทั้งสองจะครอบครองเรือนอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข"
พระเถระเมื่อได้ฟังดังนั้น ก็รู้ว่าเขาเข้าใจผิดที่เห็นว่า การครองเรือนเป็นสิ่งที่ประเสริฐ ท่านจึงแสดงโทษของกามคุณว่า มีความทุกข์และความลำบากอย่างไรบ้าง จากนั้นก็ลุกจากอาสนะแล้วกลับไปยังพระวิหาร เมื่อไปถึงแล้ว พระบรมศาสดาได้ตรัสถามว่า "อานนท์ เธอพบกับโรชะแล้วหรือ"
 
ท่านจึงกราบทูลว่า "พบแล้วพระเจ้าข้า"
"เธอพูดอะไรกับเขา"
พระอานนท์จึงกราบทูลว่า "อุบาสกโรชะ เชื้อเชิญให้ข้าพระองค์อยู่ครองเรือน ข้าพระองค์จึงแสดงถึงโทษในการครองเรือนและในกามคุณแก่เขา พระเจ้าข้า"
พระศาสดาตรัสว่า "ดูก่อนอานนท์ นักมวยปลํ้าชื่อโรชะ มิได้ชักชวนนักบวชให้อยู่ครองเรือนในบัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อนก็ได้ชักชวนแล้วเหมือนกัน"
พระอานนทเถระทูลอาราธนา พระศาสดาจึงนำเรื่องอดีตมาตรัสเล่าให้ฟังว่า...
ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติ อยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์ อุบัติในตระกูลพราหมณ์ ครั้นเจริญวัยก็ออกบวชเป็นฤๅษีอยู่ในหิมวันตประเทศเป็นเวลาช้านาน ต่อมาก็ได้เข้าไปในกรุงพาราณสี เพื่อเสพของเค็มของเปรี้ยว โดยพักอยู่ที่พระราชอุทยาน
รุ่งขึ้น ได้เข้าไปในเมืองพาราณสี ครั้งนั้นเศรษฐีกรุงพาราณสี เลื่อมใสในมารยาทของพระโพธิสัตว์ จึงนำไปสู่เรือนให้บริโภคแล้วขอปวารณา เพื่อให้อยู่ในสวน จะได้อุปัฏฐากปรนนิบัติรับใช้ ชนทั้งสองได้เกิดความรักความใคร่ต่อกันและกัน
อยู่มาวันหนึ่ง เศรษฐีกรุงพาราณสีได้เกิดความคิดอย่างนี้ขึ้น ด้วยความรักและความคุ้นเคยในพระโพธิสัตว์ว่า "ชื่อว่าการบวชเป็นทุกข์ เรายังปริพาชกชื่อว่า วัจฉนขะ ผู้เป็นสหายของเราให้สึก แล้วแบ่งสมบัติทั้งหมดให้แก่ปริพาชกไปครึ่งหนึ่ง เราทั้งสองก็จักอยู่ด้วยความปรองดองกัน"
วันหนึ่ง เศรษฐีได้ถวายภัตตาหาร ในเวลาเสร็จภัตกิจ ได้ทำปฏิสันถารอย่างอ่อนหวานกับวัจฉนขปริพาชก แล้วกล่าวว่า "พระคุณเจ้าวัจฉนขะ ชื่อว่าการบรรพชาเป็นทุกข์ ฆราวาสเป็นสุข มาเถิดท่าน เราทั้งสองมาบริโภคกามกันเถิด ท่านไม่ต้องขวนขวายในการทำการงานก็อยู่ได้อย่างมีความสุข"
1
ลำดับนั้นพระโพธิสัตว์ ฟังเศรษฐีแล้วจึงกล่าวว่า "ดูก่อน มหาเศรษฐี ท่านเป็นผู้ติดอยู่ในกาม กล่าวคุณของฆราวาสและโทษของบรรพชา ก็เพราะความไม่รู้ เราจะกล่าวถึงโทษของฆราวาสแก่ท่าน ท่านจงฟังในบัดนี้เถิด บุคคลผู้เป็นฆราวาสไม่มีมานะทำการงานก็ดี ไม่กล่าวคำมุสาก็ดี ไม่ใช้อำนาจลงโทษผู้อื่นก็ดี การครองเรือนก็ตั้งอยู่ไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ใครเล่าจะครอบครองเรือนไม่ให้บกพร่อง ให้เกิดความยินดีด้วยดีแสนยาก"
เศรษฐีคิดว่า การครอบครองทรัพย์สมบัติเป็นสุข แต่ที่จริงแล้วมันเป็นความทุกข์ ทุกข์เริ่มตั้งแต่จะแสวงหาแล้ว กว่าจะได้มาต้องต่อสู้กันเป็นทุกข์ทีเดียว เมื่อหามาได้แล้วก็เกิดความกังวลในการดูแลรักษา หวาดระแวงและกังวลในการประกอบอาชีพ ให้สมบัตินั้นเพิ่มพูนมากยิ่งขึ้น และมีเรื่องอื่นตามมาอีกมากมาย เมื่อชีวิตไปเกี่ยวข้องกับคนอื่นแล้ว ก็ต้องเกิดการกระทบกระทั่งจองเวรกันไม่มีที่สิ้นสุด เมื่อพระบรมโพธิสัตว์ กล่าวโทษของฆราวาสอย่างนี้แล้ว ได้กลับไปยังอุทยานดังเดิม
พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนา นี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดกว่า เศรษฐีกรุงพาราณสี ในครั้งนั้น ได้มาเป็นนักมวยปลํ้าชื่อโรชะ ในครั้งนี้ ส่วนวัจฉนขปริพาชก คือ เราตถาคตนี้แล
จะเห็นได้ว่าทรัพย์สมบัตินั้น กว่าจะได้มา บางครั้งก็ต้องประกอบไปด้วยทุจริต เป็นสมบัติที่เจือไปด้วยบาปกรรม เพราะฉะนั้น เมื่อได้สมบัติมาแล้ว วิบัติก็มักจะเกิดขึ้นตามมา จะมากจะน้อยอยู่ที่ว่าสมบัติของเรานั้น ได้มาด้วยความบริสุทธิ์มากน้อยเพียงไร ถ้าบริสุทธิ์มากก็มีวิบัติน้อย ถ้าบริสุทธิ์น้อยก็มีวิบัติมาก เพราะฉะนั้น พระบรมศาสดาจึงทรงแนะนำให้ทำแต่อาชีพที่สุจริตไม่มีโทษ การทำงานที่ไม่มีโทษนั้นเป็นมงคลอันสูงสุด
เมื่อรู้ว่า ทรัพย์สมบัติมักจะมีวิบัติติดมาด้วยนี้เอง บัณฑิตผู้รู้ทั้งหลายจึงนำออกด้วยการทำบุญกุศล เมื่อบุญมาก ใจบริสุทธิ์ วิบัติก็ไม่มีเกิดขึ้น กระแสบุญจะขจัดปัดเป่าให้บาปกรรมหายไป ยิ่งเราทำบุญมาก บุญก็จะส่งผลให้เราได้สมบัติมาโดยไม่ยากเย็นอะไร จะทำให้ทรัพย์สมบัติของเรา บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
ดังนั้น เมื่อเกิดทรัพย์สมบัติแล้ว ก็ควรจะหาโอกาสทำบุญกุศลทำความดีอยู่ตลอดเวลา ความเจริญรุ่งเรืองในชีวิตก็จะบังเกิดขึ้นกับเรา และควรหาโอกาสในการบำเพ็ญเนกขัมมบารมี เพื่ออบรมบ่มนิสัยของเรา เมื่อทำอย่างนี้แล้ว พระพุทธศาสนา ก็จะเจริญสถิตสถาพรสืบไป สันติสุขที่แท้จริงจะได้บังเกิดขึ้นในโลกเรา และชาวโลกก็จะได้บุญกันถ้วนหน้า บุญใหญ่จะติดตามตัวเราไปทุกภพทุกชาติทีเดียว ทำให้เราเวียนเกิดอยู่ในสุคติโลกสวรรค์ ถึงเวลาก็ลงมาเกิดเพื่อสร้างบารมีในเมืองมนุษย์กันต่อไป สร้างบารมีเรื่อยไปจนกว่าจะถึงที่สุดแห่งธรรม
เพราะฉะนั้น ให้เร่งรีบสั่งสมบุญกันให้เต็มที่ บุญกุศลจะได้ส่งผลให้เราเข้าถึงความเต็มเปี่ยมของชีวิต เมื่อถึงคราวนั่งธรรมะ บุญจะได้ส่งผลให้เราเข้าถึงความสุขภายใน มีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่ระลึกกันทุกคน
1
จากหนังสือธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๖ หน้า ๑๙ – ๒๙
อ้างอิง.......พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ (ภาษาไทย) วัจฉนขชาดก เล่ม ๕๗ หน้า ๔๔๙
1
โฆษณา