2 ธ.ค. 2021 เวลา 10:57 • หุ้น & เศรษฐกิจ
#Economy ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์โควิด-19 อย่างหนักในหลายด้านอย่างรุนแรงกว่าวิกฤตครั้งไหนๆ การถอดบทเรียนผลกระทบในช่วงที่ผ่านมาจึงเป็นสิ่งจำเป็น ในยุคโควิด-19 นี้ไทยได้รับผลกระทบอะไรบ้างและปี 2565 จะเป็นอย่างไรต่อไป
สำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TU-RAC) โดย ผศ. ดร. สุทธิกร กิ่งเเก้ว ผู้บริหารโครงการวิจัย ได้เผยผลวิจัย ‘ภาวะเศรษฐกิจและสังคมไทยภายใต้สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) และการพัฒนาการผลิตวัคซีนภายในประเทศ’ ระบุว่า
โควิด-19 ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) ในปี 2563 ลดลง 6.1% เมื่อเทียบกับปี 2562 โดยส่งผลกระทบตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2563 เกิดการหดตัวของภาคอุตสาหกรรมและภาคการบริการ โดยเฉพาะสาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร และสาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้าที่หดตัว 36.6% และ 21% ตามลำดับ
นอกจากนี้ยังทำให้ภาคการส่งออกหดตัวลง 19.4% ในปี 2563 และยังพบอีกว่าส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจและสังคมไทยในปี 2563 ใน 8 ด้าน ได้แก่
1) หนี้สาธารณะต่อ GDP เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดถึง 51.83% และคาดว่าเพิ่มต่อเนื่องอีกเป็น 55.59% ในปี 2564 ใกล้ระดับเพดานความยั่งยืนทางการคลังที่กำหนดไว้ไม่เกิน 60%
2) หนี้เอกชน (กู้ยืมเงินจากภาคเอกชนที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน) ทำให้มูลค่าการออกตราสารหนี้ใหม่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 61.90% และคาดการณ์ว่าครึ่งหลังปี 2564 จะมีการออกตราสารหนี้ใหม่อีกกว่า 4 แสนล้านบาท
3) หนี้ครัวเรือน ในไตรมาส 2 ของปี 2563 คนไทยมีหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 13.59 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 51.83% ของ GDP และเพิ่มต่อเนื่องจนไตรมาสที่ 1 ในปี 2564 มีประมาณ 14.13 ล้านล้านบาท
4) การท่องเที่ยว ในปี 2563 รายได้จากการท่องเที่ยวหดตัวลงเหลือเพียง 0.8 ล้านล้านบาท ลดลง 72% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีประมาณ 3 ล้านล้านบาท มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเพียง 6.7 ล้านคน จากปี 2562 มีสูงถึง 40 ล้านคน
5) การว่างงาน มีผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 74.4% หรือเพิ่มจากประมาณ 3 แสนคนเป็นกว่า 7 แสนคนตลอดช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาด
6) ธุรกิจเลิกกิจการ โดยในปี 2563 มีถึง 20,920 ราย ทุนจดทะเบียน 91,859 ล้านบาท โดยธุรกิจที่เลิกกิจการสูงสุดคือ ก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ และร้านอาหาร
7) โรงงานอุตสาหกรรม ในปี 2563 มีโรงงานฯประกอบกิจการใหม่ 2,633 โรงงาน เงินลงทุนรวม 171,054 ล้านบาท คนงาน 86,797 คน ลดลงกว่าปีก่อนที่มีโรงงานฯ ประกอบกิจการใหม่ 3,175 โรงงาน เงินลงทุนรวม 301,418 ล้านบาท คนงาน 96,492 คน และมีโรงงานที่เลิกกิจการมีทั้งหมด 716 โรงงาน
โดยกิจการที่มีการปิดสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลิตภัณฑ์จากพืช ผลิตภัณฑ์โลหะ อุตสาหกรรมอาหาร และผลิตภัณฑ์อโลหะ
8.) การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต การเข้ามาของโรคโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้ประเทศไทยก้าวสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) การทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ การทำธุรกิจผ่านระบบออนไลน์มากยิ่งขึ้น การทำงานที่บ้าน (Work From Home) การดูแลใส่ใจสุขภาพทั้งตัวเองและคนรอบข้าง และการแพทย์ทางไกล
“ในทั้งหมด 8 ด้านนี้ด้านที่น่าเป็นห่วงที่สุด คือ หนี้ครัวเรือน เพราะสามารถลามไปสู่การเกิดเปนวิกฤตได้ ถ้าเรามีหนี้ครัวเรือนสูงแล้วมันเกิดภาวะถูกบังคับให้ว่างงานขึ้นจะกลายเป็นระเบิดเวลาของประเทศ แม้จะโชคดีที่เรามีระบบประกันสังคมมาช่วยรัฐจ่าย แต่เราก็ควรจะเร่งขยายระบบประกันสังคมให้ใหญ่ขึ้นในระหว่างนี้”
ส่วนงานวิจัยอธิบายว่า จากมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลเพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดและมาตรการทางเศรษฐกิจอย่างคนละครึ่ง เราชนะ ม.33 เรารักกัน ยิ่งใช้ยิ่งได้ ฯลฯ รวมถึงมาตรการในการจัดหาวัคซีนที่เป็นไปตามเป้าหมายจะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยได้ โดยภายในปีนี้รัฐบาลได้เตรียมแผนการจัดหาวัคซีนจาก 3 วัคซีนหลัก คือ แอสตร้าเซนเนก้า ซิโนแวค และไฟเซอร์ รวม 127.1 ล้านโดส และหากรวมวัคซีนทางเลือกจะเท่ากับ 179.1 ล้านโดส
หากสามารถบริหารจัดการวัคซีนเป็นไปตามเป้าหมายการฉีดให้ได้ 100 ล้านโดสภายในสิ้นปี 2564 จะส่งผลให้ผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงเหลือประมาณ 2,500 คนต่อวัน ผู้เสียชีวิตลดลงเหลือประมาณ 40 คนต่อวัน และส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้
งานวิจัยฯ คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศจะเพิ่มเกือบ 3 แสนคน และเกิดการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจในประเทศ กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 10.38% อยู่ที่ระดับ 70.39 สูงสุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ดัชนีการลงทุนของภาคเอกชนเพิ่มขึ้น 6.95% รวมทั้งผู้ว่างงานในระบบประกันสังคมลดลง 32.23% หรือประมาณ 4.5 แสนคน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
นอกจากนั้น หากการระบาดของโรคโควิด-19 ลดลงเกือบเป็นศูนย์ในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2565 จำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศจะปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 1.1 ล้านคน ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2565
ส่วนอัตราการใช้กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 11.26% ดัชนีการลงทุนของภาคเอกชนเพิ่มขึ้น 39.29% ผู้ว่างงานในระบบประกันสังคมลดลงกว่า 70,000 คน เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกับปีก่อน โดยคาดการณ์ไว้ด้วยว่าปี 2565 เศรษฐกิจจะขยายตัว 3.9% ด้วย
ผศ.ดร.สุทธิกร เล่าถึงบทเรียนจาก 2 ปีที่ผ่านมาว่า นโยบายบริหารจัดการโควิด-19 ที่ดีที่สุด คือ การตัดสินใจเป็นฐานการผลิตวัคซีนที่ถือเป็นกุญแจสำคัญในการปลดล็อกวิกฤตการณ์ ส่วนนโยบายที่ดีน้อยที่สุด คือ ไทยไม่สามารถใช้ประโยชน์จากช่วงที่ประเทศมียอดผู้ติดเชื้อต่ำมากๆ ได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากไม่ได้คาดการณ์ว่าจะเกิดการกลายพันธุ์ขึ้น
ส่วนหลังนี้จะต้องเร่งแก้ไขปัญหาด้าน ‘การท่องเที่ยว’ ก่อน ให้สามารถจับคู่กับนักท่องเที่ยวจีนที่เคยมีจำนวนกว่า 12 ล้านคนได้ พร้อมๆ กับเตรียมความพร้อมนโยบายด้านเศรษฐกิจและสังคมให้สมดุล หาจุดตรงกลางที่เหมาะสมและรัฐต้องรับฟังประชาชนว่าจุดไหนคือตรงกลาง
ส่วนในระยะยาว ไทยอาจต้องลดการพึ่งพาการท่องเที่ยวลงและหันไปให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจดิจิทัลมากขึ้น อย่างเช่น Cross Border E-Commerce ให้เท่าทันกับโลกที่กำลังเข้าสู่ยุคเมตาเวิร์ส ให้ระบบเศรษฐกิจสามารถเดินต่อได้ แม้จะเกิดวิกฤตหลังจากนี้
อ่านฉบับเว็บไซต์ : https://workpointtoday.com/tu-paper-ecnomy-2565/
#TODAYBizview
#workpointTODAY
#สาระความรู้เพื่อวันนี้
ติดตาม TODAY Bizview จากทีม workpointTODAY
ไม่พลาดข่าวธุรกิจ การตลาด การเงิน เทคโนโลยี
กับเพจ TODAY Bizview https://bit.ly/3picIeS
ติดตามรายการ TOMORROW เทรนด์สำคัญของโลกเพื่อวันพรุ่งนี้
ทาง YouTube https://bit.ly/3prjBfI
ติดตามรายการของ workpointTODAY
ทาง YouTube https://bit.ly/2YDfyiK
ติดต่อโฆษณาอีเมล advertorial@workpointnews.com
โฆษณา