4 ธ.ค. 2021 เวลา 03:17 • ประวัติศาสตร์
“อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein)” กับ “ความล้มเหลว”
1
หลายคนน่าจะต้องรู้จัก “อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein)” เป็นอย่างดี
เขาเป็นนักฟิสิกส์ชื่อดังและเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของอัจฉริยะ เมื่อพูดถึงไอน์สไตน์ สิ่งแรกที่หลายคนนึกถึงน่าจะเป็นความฉลาดเหนือคนทั่วไป
แต่หากได้ศึกษาประวัติของเขา ก็พบว่าเขานั้นเคยผ่านความล้มเหลวมาเกือบทั้งชีวิต
เราลองมาดูเรื่องราวของเขากันดีกว่าครับ
1
อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein)
ในปีค.ศ.1901 (พ.ศ.2444) “เฮอร์แมนน์ ไอน์สไตน์ (Hermann Einstein)” ได้เขียนจดหมายถึงนักเคมีรายหนึ่ง ขอฝากงานให้แก่อัลเบิร์ต ผู้เป็นลูกชาย
“ลูกชายของผมนั้นเป็นทุกข์อย่างสาหัส ด้วยสถานะของเขาในตอนนี้ที่ยังคงว่างงาน และทุกๆ วัน ความคิดที่ว่าตัวเขานั้น “ล้มเหลว” ก็ฝังแน่นอยู่ในห้วงความคิดของเขา”
นี่คือเนื้อความประโยคหนึ่งในจดหมายที่เฮอร์แมนน์เขียน
เฮอร์แมนน์ ไอน์สไตน์ (Hermann Einstein)
สมัยเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัย อัลเบิร์ตก็มีความเป็นตัวของตัวเองชัดเจน แสดงออกว่าไม่เอาในสิ่งที่ตนไม่สนใจ โดยมักจะโดดเรียนเสมอเพื่อไปทำในสิ่งที่ตนสนใจ
เมื่อเป็นอย่างนี้ หลังจากสำเร็จการศึกษา เพื่อนๆ ของอัลเบิร์ตแทบทุกคนต่างหางานได้อย่างไม่ยากเย็น ตรงข้ามกับอัลเบิร์ต ที่หางานไม่ได้เลย ยังคงตกงาน
และเนื่องจากศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยปฏิเสธที่จะเขียนจดหมายแนะนำให้อัลเบิร์ตไปใช้สมัครงาน ทำให้อัลเบิร์ตต้องเตะฝุ่นอยู่นานกว่าสองปี และไม่สามารถหางานสอนตามที่ตั้งใจไว้ได้
แต่ถึงจะไม่ประสบความสำเร็จในการหางาน แต่อัลเบิร์ตก็ไม่ยอมแพ้ และได้อุทิศตน ทุ่มเทให้กับการค้นคว้าในสิ่งที่เขาคิดว่าจะเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงโลก ทฤษฎีใหม่ที่ไม่เคยมีใครคิด
แต่เมื่องานค้นคว้าแรกของอัลเบิร์ตได้รับการตีพิมพ์ อัลเบิร์ตก็ต้องพบว่าไม่มีใครสนใจงานของเขาเลย
อัลเบิร์ตไม่เข้าใจว่าทำไมงานที่ตนเองทุ่มเททำลงไปจึงไม่ได้รับความสำคัญ เขาจึงได้ค้นคว้า ปรับปรุงงานของตน และตีพิมพ์งานชิ้นใหม่ หากแต่ก็ไม่มีใครสนใจ
ต่อมา เฮอร์แมนน์ล้มป่วยด้วยโรคหัวใจ และเขาก็ได้เขียนจดหมายถึงนักวิทยาศาสตร์หลายราย ขอร้องให้รับอัลเบิร์ตเป็นผู้ช่วย โดยเฮอร์แมนน์ได้แนบงานของอัลเบิร์ตที่ได้รับการตีพิมพ์ไปด้วย และหวังว่าในขณะที่ตนยังมีชีวิตอยู่ คงมีโอกาสได้เห็นลูกชายประสบความสำเร็จบ้าง
เมื่อเวลาผ่านไป อัลเบิร์ตก็เริ่มที่จะสงสัยว่าทำไมวงการวิทยาศาสตร์ถึงได้เพิกเฉยในงานของเขา เนื่องจากเขาก็มั่นใจในงานของตน แต่ก็ไม่มีใครสนใจจะอ่านเลย
1
หลายปีต่อมา ได้มีนักวิทยาศาสตร์แสดงความเห็นต่องานค้นคว้าของอัลเบิร์ต ความว่า
“เป็นการประมาณการที่แย่มาก และเต็มไปด้วยข้อผิดพลาด”
1
ภายหลัง อัลเบิร์ตก็ได้ออกมายอมรับว่างานของตนนั้นแย่จริงๆ และเรียกงานแรกๆ นี้ว่าเป็น “งานที่ไร้ค่าสองชิ้นแรก”
ในปีค.ศ.1902 (พ.ศ.2445) เฮอร์แมนน์ได้เสียชีวิต เขาเสียชีวิตก่อนที่จะเห็นความสำเร็จของอัลเบิร์ต
ในที่สุด อัลเบิร์ตก็ได้งานทำในสำนักงานสิทธิบัตรแห่งสวิตเซอร์แลนด์ โดยงานต่างๆ ที่อัลเบิร์ตต้องตรวจสอบก่อนพิจารณาให้สิทธิบัตรนั้น ก็ล้วนแต่เป็นงานประดิษฐ์ที่ธรรมดา ไม่น่าตื่นเต้น อีกทั้งงานก็น่าเบื่อ
ในปีค.ศ.1903 (พ.ศ.2446) ผลการประเมินการทำงานของอัลเบิร์ตก็ออกมาเป็นลบ และทำให้อัลเบิร์ตไม่ได้เลื่อนตำแหน่ง
ในช่วงเวลาที่ตกต่ำนี้เอง อัลเบิร์ตก็เริ่มกลับมาคิดถึงคำถามที่เคยคิดมาตั้งแต่ยังเด็ก
“จะเกิดอะไรขึ้น หากเราเดินทางแข่งกับความเร็วแสง?”
อัลเบิร์ตตัดสินใจที่จะละทิ้งความล้มเหลวที่ผ่านมา และทุ่มเทเวลาไปกับการคิด โดยทุกวัน หลังจากเลิกงานและกลับถึงบ้าน อัลเบิร์ตจะนั่งอยู่ข้างเตาผิง และใช้เวลาตลอดช่วงเย็นไปกับการคิด
1
ในปีค.ศ.1905 (พ.ศ.2448) งานค้นคว้าของอัลเบิร์ตได้รับการตีพิมพ์ถึงห้าฉบับ ก่อนจะตามมาด้วยงานตีพิมพ์อีกมากมาย และเริ่มจะได้รับความสนใจ
จากนั้น ก็อย่างที่หลายคนทราบ งานของอัลเบิร์ตได้รับความสนใจและโด่งดัง ทฤษฎีของอัลเบิร์ตได้รับความสนใจและเป็นที่ถกเถียงในหมู่นักวิทยาศาสตร์
ภายในยุค 20 (พ.ศ.2463-2472) อัลเบิร์ตก็เปลี่ยนจากผู้ตรวจสอบสิทธิบัตรธรรมดาๆ ไม่มีใครสนใจ กลายเป็นหนึ่งในนักคิดและนักฟิสิกส์ที่โด่งดังที่สุดในโลก
เรื่องราวของอัลเบิร์ต สะท้อนได้ว่าผู้ที่ประสบความสำเร็จทุกคน ล้วนต้องเคยผ่านความล้มเหลวมาก่อน และความล้มเหลว ก็ไม่ใช่เรื่องที่แย่เสมอไป
1
หากงานชิ้นแรกของอัลเบิร์ตที่ตีพิมพ์นั้นประสบความสำเร็จ บางที เขาอาจจะเป็นเพียงศาสตราจารย์ที่มีความสามารถธรรมดาๆ คนหนึ่ง อาจจะไม่ได้ขึ้นเป็นนักฟิสิกส์ที่โด่งดังที่สุดในโลก
1
ที่ผ่านมา อัลเบิร์ตล้มเหลวมาตลอด หากแต่เขานำประสบการณ์ความล้มเหลวนั้นมาคิด วิเคราะห์ และพัฒนาไม่ให้งานต่อไปของตนเป็นเหมือนงานก่อน
อัลเบิร์ตคือตัวอย่างที่ดีของอัจฉริยะที่ต้องประสบกับความล้มเหลวมาเกือบครึ่งชีวิต จึงจะค้นพบกับความสำเร็จ
โฆษณา