4 ธ.ค. 2021 เวลา 02:19 • ปรัชญา
“ทำอย่างไรให้ภาวนาต่อได้ หลังออกจากคอร์สปฏิบัติธรรม”
“ …​ คือลืมตามันก็รู้ลมได้
แต่ก็อย่างที่ท่านบอก มันก็จะไปสนใจภาพที่เห็น
ดังนั้นหลักการที่เค้าใช้กัน
สังเกตมั้ยว่าพระพุทธรูปเราจะเห็นว่าท่านหรี่ตาลงข้างล่าง
เวลาเขาปั้นพระพุทธรูป ตาท่านจะเหลือบลงที่พื้น
แล้วก็หรี่ตาลงไปครึ่งนึง
ก็ใช้หลักการนั้น
คือถ้าเราออกไปกระทบผัสสะร้อยเปอร์เซ็นต์
ก็แน่นอนล่ะ มันจะหลุดเข้าไปสัญชาตญานเดิม
คือมันก็จะไปสนใจทันที
ทีนี้ ทำยังไงเพื่อให้มันไม่ตกร่อง
เข้าใจมั้ยว่า สมมติว่าท่านมาฝึก
ท่านก็รู้สึกว่าท่านก็มีสติดีพอสมควรล่ะ
แต่พอออกไปแล้วเนี่ย ทำไมทำไม่ได้เลย
เพราะมันไปตกร่องเก่าไง มันไปตกร่องเก่า
ก็คือพอสมมติว่าขึ้นรถตู้ปั๊บ
มันจากเหยียบขึ้นรถตู้จนถึงบ้านไม่รู้ตัวอีกเลย
ผ่านเซเว่น ผ่านเข้าไปจนซื้อกิน จนไปถึงบ้าน
สติไม่เตือนอะไรแม้แต่นิดเดียวเลยอย่างนี้
คือมันตกเข้าร่องเก่า ท่านนึกออกมั้ย
น้ำ มันไหลวูบ แล้วมันลงร่องแล้วมันไปเลย
เพราะฉะนั้น สติหรือการฝึก
ที่มันจะออกมาจากวิถีที่เราเคยชิน เคยคุ้นเนี่ย
คือท่านมาอยู่อย่างนี้ ท่านไม่เคยชิน ไม่เคยคุ้น
หนึ่งก็คือสถานที่
สองการที่จะต้องมีวิถีชีวิต มันก็เลยเหมือนกับขัด ๆ วิถีเดิม
ปกติท่านต้องหยิบมือถือมานั่งดู
แต่นี่ทำไม่ได้ ต้องนั่งฟังธรรม ต้องนั่งสมาธิ
อันนี้ที่มันเป็นเครื่องขัดเกลากิเลส
คือกิเลสก็คือความเคยชินเดิมนั่นแหละ
เพราะฉะนั้นทำยังไง เราถึงจะไม่ตกเข้าไปในร่องเดิม
ไม่ตกเข้าไปในร่องเดิม
ที่ผมพูดแล้วพูดอีก พูดบ่อย ๆ ก็คือ
อย่างอุบายของผมเอง
ทุกครั้งที่ผมจะขึ้นบันได ไม่ว่าจะที่ไหน ผมจะหยุด
เพราะไม่งั้นเราก็จะตกเข้าร่องเดิม
แล้วก็เดินขึ้นบันได ขึ้นลิฟต์ ขึ้นอะไรไปตามปกตินั่นแหละ
แต่ทีนี้ทำยังไงมันถึงจะหยุด เพื่อให้สติกลับมา
เพื่อให้สติกลับมา ให้สติเข้ามาขวางอยู่ในร่องน้ำเดิมให้ได้
มันต้องเซตอะไรขึ้นมาอย่างนึง
ผมก็เริ่มจากบันไดนี่แหละ
วัน ๆ เราก็ต้องขึ้นบันไดทุกวัน
ไม่ว่าที่ไหน ๆ
เพราะฉะนั้น ก็บอกตัวเองว่า
ที่ไหนเจอบันไดให้หยุด แล้วกลับมามีสติ
แล้วค่อยเดินขึ้น
ทำอย่างนี้ ผมก็ทำอย่างนี้อยู่เป็นปี เป็นปีๆ เลย
จนกระทั่งผมรู้สึกว่า ไม่มีบันไดไหนในโลกที่ผมไม่มีสติ
หลังจากนั้นบันไดก็เริ่มไม่ท้าทายละ
ก็เริ่มเปลี่ยนเป็นลูกบิดประตูเพิ่มเข้าไปอีก
เพิ่มเข้าไปอีกเรื่อย ๆ
อย่างสมมติคุณแม่ยินดี ตอนนั้นที่ผมบวชอยู่
แล้วผมแนะนำกรรมฐานให้ท่าน
ผมก็แนะนำว่า ให้ทำความรู้สึกที่ใต้ฝ่าเท้า
ตอนนั้นคุยโทรศัพท์กันว่า แม่ยืนขึ้น รู้สึกที่ใต้ฝ่าเท้าไว้
รู้ ขยับ ๆ รู้สึกมั้ย รู้
ลองเดิน รู้สึกที่ใต้ฝ่าเท้ามั้ย รู้
รู้สึกมั้ยว่าน้ำหนักมันถ่ายเทไป ถ่ายเทมา ใช่
ลองนั่งทำงาน แล้วเอาเท้าลง รู้สึกมั้ยใต้ฝ่าเท้า รู้
แม่ก็บอกว่า หลังจากวันนั้น
พอเท้ามันถูกพื้น สวิตช์มันติดเลย สติมาเลย
ถ้าเมื่อไหร่เท้าถูกพื้นเนี่ย เหมือนกับ เหมือนสวิตช์มันอยู่ที่เท้าเลย
พอเหยียบปั๊บ ความรู้สึกตัวกลับมาเลย อย่างนี้
มันต้องหาอะไรอย่างหนึ่ง ที่ต้องช่วยตัวเอง
มันไม่มีใครตามไปคอยสะกิด ๆ
ต่อให้ผมไปเดินอยู่ข้าง ๆ ท่านแล้วคอยสะกิด
“มีสติไว้นะ มีสติไว้นะ” ท่านจะรำคาญมาก
จนสุดท้ายตัวตนมันก็จะขึ้น
“พอเหอะ ๆ” อย่างนี้
เพราะฉะนั้น ต้องเตือนตน
ไม่มีใครเตือนเราได้หรอก นอกจากตัวเอง
ใครเตือนเราเมื่อไหร่น่ะ มีเรื่อง
เพราะฉะนั้นตัวเองนี่แหละที่จะเตือนตน … “
.
จากการบรรยาย คอร์สภาวนา
ตอน ผู้ภาวนาต้องมีปัญญา เลือกใช้อุบายตามสถานการณ์
โดย อ.ประเสริฐ อุทัยเฉลิม
๒๔ ตุลาคม ๒๕๖๓
ณ สวนยินดีทะเล อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา