14 ธ.ค. 2021 เวลา 10:23 • การศึกษา
ทายาทพระศาสนา
ปัจจุบัน มนุษย์ส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่า เกิดมาทำไม อะไรคือเป้าหมายที่แท้จริงของชีวิต เมื่อไม่ได้ฟังธรรมของพระพุทธองค์ ชีวิตจึงต้องเวียนวนอยู่ในกระแสแห่งความทุกข์ ระทม เหมือนนาวาที่หลงทิศทางท่ามกลางมหาสมุทร ต่อเมื่อได้ฟังพระสัทธรรม ก็จะเข้าใจความเป็นจริงของชีวิต และมุ่งแสวงหาสาระอันแท้จริง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายสูงสุด คือ พระนิพพานในที่สุด
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน พรหมชาลสูตร ว่า
ทุลฺลภญฺจ มนุสฺสตฺตํ พุทฺธุปฺปาโท จ ทุลฺลโภ
ทุลฺลภา ขณสมฺปตฺติ สทฺธมฺโม ปรมทุลฺลโภ
ทุลฺลภา สทฺธาสมฺปตฺติ ปพฺพชฺชา จ ทุลฺลภา
ความเป็นมนุษย์ หาได้ยาก
ความเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้า หาได้ยาก
ความถึงพร้อมด้วยขณะสมัย ก็หาได้ยาก
พระสัทธรรม หาได้ยากอย่างยิ่ง
ความถึงพร้อมด้วยศรัทธา หาได้ยาก
การบวช ก็หาได้ยาก
การที่พระพุทธองค์ตรัสว่า การได้อัตภาพเป็นมนุษย์นั้นยาก และเพศภาวะของมนุษย์นี้ เหมาะต่อการสร้างบารมี ที่สุด ไม่ว่าจะทำความดีใดก็สามารถทำได้เต็มที่ การได้อัตภาพเป็นมนุษย์ ต้องอาศัยกำลังบุญ บารมีที่สั่งสมไว้ในอดีตชาติ ส่วนการอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์นั้น เป็นการยากยิ่งขึ้นไปอีก เพราะกว่าที่พระองค์จะสั่งสมบุญบารมี จนตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้นั้น ต้องใช้เวลายาวนาน อย่างน้อยถึง ๒๐อสงไขย แสนมหากัป ต้องทุ่มเทชีวิตจิตใจสร้างบารมี ชนิดเอาชีวิตเป็นเดิมพันทีเดียว
ความถึงพร้อมด้วยขณะสมัยที่ว่ายากนั้น เพราะบางยุคบางสมัย ไม่มีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้น หรือยุคที่มนุษย์ไม่มีศีลธรรม เป็นยุคมืด ที่เรียกว่า สุญญกัป คือ กัปที่ว่างเว้นจากพระพุทธศาสนา เพราะพระพุทธเจ้าไม่ได้เสด็จมาอุบัติ พระสัทธรรมอันบริสุทธิ์จึงไม่บังเกิดขึ้น บางยุคโชคดียังมีพระปัจเจกพุทธเจ้ามาตรัสรู้ธรรม ท่านก็ตรัสรู้เฉพาะตน ไม่ยินดีขวนขวายในการสั่งสอนผู้อื่นให้ตรัสรู้ตาม ใครโชคดีมีโอกาสถวายทานกับท่าน ผู้เป็นทักขิไณยบุคคล ถือว่าเป็นบุญลาภอันประเสริฐแล้ว
1
หากเราเกิดในยุคที่มีพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรือง แต่ไม่ได้ยอดกัลยาณมิตร แนะนำให้รู้คุณค่าของพระพุทธศาสนา ให้ซาบซึ้งในคุณของพระรัตนตรัยแล้ว ก็ทำให้พลาดโอกาสที่จะทำความดี หรือพลาดโอกาสฟังธรรมอันประเสริฐ ที่จะช่วยปิดนรก เปิดสวรรค์ และพระนิพพานให้แก่เรา บางทีเมื่อมีศรัทธาแล้ว แต่การที่จะให้ยินดีในพระนิพพาน มีใจน้อมไปในการประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อแสวงหาทางพ้นทุกข์อย่างแท้จริง ก็อาจทำได้ยาก แต่ถ้าใครคิดได้ ถือว่าเป็นผู้มีบุญมากยิ่งนัก
ดังนั้น นับเป็นความโชคดีของพวกเรา ที่มีบุญเก่าสั่งสมไว้ดีแล้ว ทำให้มองเห็นความสำคัญ และความยากลำบากของสิ่งที่กล่าวมาข้างต้นนี้ และเพราะเรามีบุญมากจึงได้สิ่งเหล่านี้มาอย่างง่ายดาย ไม่ว่าจะเป็นการได้อัตภาพความเป็นมนุษย์ ไม่พิกลพิการ มีร่างกายเหมาะสำหรับการสร้างบารมี การได้มาอยู่ในยุคสมัยที่พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรือง โดยเฉพาะประเทศไทยของเรา ซึ่งถือว่าเป็นประเทศที่มีพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองที่สุด เป็นยุคที่แสงแห่งธรรมสาดส่องเข้ามาถึงจิตใจ ทำให้เราได้มีโอกาสฟังธรรม และน้อมนำไปประพฤติปฏิบัติได้ผลตามสมควรแก่ธรรม
ทุกท่านล้วนมีศรัทธาในพระพุทธศาสนา ต่างช่วยกันทำนุบำรุงพระภิกษุสงฆ์ผู้เป็นเนื้อนาบุญ ช่วยกันปกป้องพระพุทธศาสนาในยามที่มีภัย และยังได้ส่งบุตรหลานมาบวชเป็นพระ บรรพชาเป็นสามเณร สืบทอดอายุพระพุทธศาสนา สิ่งใดที่ทำได้ยาก พวกเราก็ทำได้โดยไม่ยาก นี่เป็นเพราะว่าเราได้สั่งสมบุญมาอย่างดีแล้วนั่นเอง
โดยเฉพาะความศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างมาก ถึงขั้นอนุญาตให้บุตรหลานได้บวช เจริญรอยตามพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลายนั้น ถือว่าเป็นสิ่งที่น่าอนุโมทนาสาธุการอย่างยิ่ง เพราะเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เนื่องจากคนส่วนใหญ่ มักมีศรัทธาเพียงการให้ทาน รักษาศีล หรือเจริญภาวนาอยู่ที่บ้านเท่านั้น แต่การที่จะให้ออกบวช ดำรงชีวิตในเพศสมณะ มีอาหารเพียง ๒ มื้อ มีผ้าครองกายเพียง ๓ ผืนนั้น มักจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ลำบากอยู่เหมือนกัน
สิ่งใดที่ทำได้ยากลำบาก สิ่งนั้นจะเป็นบุญบารมีที่ยิ่งใหญ่ โดยเฉพาะการบวชนั้น เป็นการยกฐานะจากผู้นับถือพระรัตนตรัย ขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของพระรัตนตรัย เป็นการเข้าไปใกล้ชิดพระพุทธเจ้า อีกทั้งยังได้ชื่อว่าเป็นญาติของพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริงด้วย
ดังเช่น พระเจ้าอโศกมหาราช พระองค์ทอดพระเนตรเห็นกิริยามารยาทที่สงบสำรวม น่าเลื่อมใสของสามเณรนิโครธ และยังได้สดับพระธรรมเทศนา จากสามเณร ทำให้พระองค์เกิดศรัทธา ทรงสร้างมหาวิหาร ๘๔,๐๐๐หลัง เท่ากับจำนวนของพระธรรมคำสั่งสอนของพระบรมศาสดา ๘๔,๐๐๐พระธรรมขันธ์ เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธองค์
พระองค์ได้นำพระบรมสารีริกธาตุทั้งหมด ไปบรรจุไว้ในมหาวิหารทุกหลัง เมื่อการก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ ได้อนุโมทนา และแสดงฤทธิ์ให้พระราชาได้เห็นมหาวิหาร ๘๔,๐๐๐หลังพร้อม ๆ กันทั้งหมด ไม่ว่าจะมองไปทางทิศไหน ทำให้พระราชาปีติโสมนัสมาก พระมหาเถระได้กล่าวว่า "ผู้ถวายไทยธรรม บำเพ็ญกุศลมากที่สุด ไม่มีใครเสมอเหมือนกับพระองค์" ยิ่งทำให้พระราชาเพิ่มพูนความปีติซาบซ่านไปทั่วพระวรกายมากขึ้น
พระองค์ได้ตรัสถามพระมหาเถระว่า "ตอนนี้โยมได้เป็นญาติของพระศาสนาแล้วใช่ไหม"
พระมหาเถระทูลตอบว่า "ถวายพระพร มหาบพิตรยังเป็นคนนอกอยู่"
พระเจ้าอโศกเกิดความสงสัย จึงตรัสถามว่า "โยมได้บริจาค ทรัพย์ถึง ๙๖โกฏิเพื่อสร้างมหาวิหารถึง ๘๔,๐๐๐หลัง ยังไม่ถือว่าเป็นญาติกับพระศาสนาอีกหรือ"
พระมหาเถระตอบว่า "ขอถวายพระพร มหาบพิตรได้ชื่อว่าเป็น ปัจจยทายก คือ ผู้เป็นอุปัฏฐากถวายจตุปัจจัย ไทยธรรม เป็นบุญกุศลเฉพาะพระองค์เท่านั้น ส่วนผู้ที่อนุญาตให้พระโอรสและพระธิดาได้บวช จึงจะชื่อว่าเป็นญาติของพระศาสนา"
พระราชาทรงมีพระประสงค์ จะให้พระโอรสและพระธิดาผนวช พระโอรสและพระธิดาซึ่งมีศรัทธาอยู่แล้ว ต่างขออนุญาตออกผนวชด้วยความสมัครใจ ครั้นบวชแล้วก็ตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรม จนได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ตั้งแต่นั้นมา พระเจ้าอโศกทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองอย่างเต็มกำลัง อีกทั้งทรงจัดตั้งทุนนิธิถวายสงฆ์ เพื่อไม่ให้สงฆ์ต้องลำบากในปัจจัย๔ สมัยนั้นพระพุทธศาสนาจึงเป็นยุคที่เจริญรุ่งเรืองมาก
บุคคลใด อยากจะเป็นญาติกับพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง ให้ส่งบุตรหลานมาบวชเป็นพระภิกษุสามเณร แม้จะเป็นการบวชระยะสั้น ๆ เพียงไม่กี่วันก็ตาม แต่หากตั้งใจบวชจริงจังแล้ว ย่อมจะได้บุญใหญ่ เป็นอสงไขยอัปปมาณัง เพราะเราบวชด้วยความศรัทธาในพระรัตนตรัย ตั้งใจมากลั่นจิตกลั่นใจ ให้ใสบริสุทธิ์ในเพศภาวะของสมณะ เป็นเนกขัมมบารมีที่หาได้ยากยิ่ง ทำให้มีโอกาสได้ชำระกาย วาจา ใจ ให้สะอาดบริสุทธิ์ มีโอกาสนั่งธรรมะ อย่างเต็มที่ ทำความบริสุทธิ์ให้เกิดขึ้นกับตัวเอง เพื่อให้เข้าถึงพระรัตนตรัยในตัว อานิสงส์ ใหญ่ย่อมจะบังเกิดขึ้นทั้งกับเรา และหมู่ญาติทั้งหลาย
การบรรพชาอุปสมบท มาเป็นญาติของพระพุทธศาสนานี้ เป็นบุญใหญ่ที่หาได้ยาก เช่นเดียวกับผู้มีบุญ ผู้เป็นนักปราชญ์บัณฑิตทั้งหลายเขาทำกัน ส่วนท่านที่สนับสนุนการบวช ย่อมจะได้บุญใหญ่ในการสนับสนุนผู้ประพฤติธรรม เราจะได้ชื่อว่าเป็นผู้มีส่วนอย่างสำคัญ ในการสนับสนุนงานพระพุทธศาสนา ให้เจริญรุ่งเรืองสถิตสถาพรสืบไป ฉะนั้น ให้ชักชวนกันมาบวชเป็นพระภิกษุสามเณร เพื่อให้เป็นประวัติศาสตร์ชีวิตอันงดงามกันทุกคน
จากหนังสือธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๖ หน้า ๓๙ – ๔๕
อ้างอิง.......พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ (ภาษาไทย)
พระเจ้าอโศกเลื่อมใสนิโครธสามเณร เล่ม ๑ หน้า ๘๒
1
โฆษณา