6 ธ.ค. 2021 เวลา 11:00 • ประวัติศาสตร์
มีอยู่สองอย่างที่เราบอกลาได้เลยเมื่อเข้าหน้าหนาว นั่นคือ แอร์กับพัดลม
1
คือถ้าจำเป็นต้องเปิดจริงๆ เปิดแอร์ก็ต้องตั้งอุณหภูมิไว้สูงหน่อย หรือเปิดพัดลมก็ต้องตั้งไว้ให้ห่างจมูก จมูกจะได้ไม่เย็น จะได้ไม่ต้องเช็ดน้ำมูกกันให้เหนื่อย แต่สุดท้ายแล้วนี่มันหน้าหนาว ยังไงน้ำมูกก็ยังจะมาอยู่ดี
น่าสนใจที่ทำไมอากาศเย็นถึงทำให้เรามีน้ำมูก?
1
WDYMean จะเล่าให้ฟังครับ
1
น้ำมูก หรือที่เรียกว่า mucus คือของเหลวชนิดหนึ่งที่ร่างกายสร้างขึ้นมาจากเยื่อเมือกที่อยู่ภายในโพรงจมูก
ซึ่งถ้าถามว่าในน้ำมูกมีอะไร คำตอบก็คือ น้ำ เกลือ แอนติบอดี และมูซิน(Mucin) และถ้าถามต่อว่าเยื่อเมือกนี้มีที่โพรงจมูกที่เดียวหรือเปล่า แน่นอนว่าคำตอบคือไม่ใช่
เพราะลึกเข้าไปในโพรงจมูก ผ่านไปที่คอหอย หลอดอาหาร หลอดลม จนไปถึงถุงลมที่อยู่ในปอด อวัยวะทั้งหมดนี้ต่างก็มีเยื่อเมือกที่คอยสร้างของเหลวมาเคลือบไว้ที่ผิวเหมือนกันหมด
ซึ่งจุดที่น่าสังเกตคือ ร่างกายเราแทบจะไม่ปล่อยให้พื้นที่เหล่านี้แห้งหรือขาดความชุ่มชื้นเลย จะต้องทำให้อุ่นและเปียกชื้นอยู่ตลอด และเจ้าอากาศที่เย็นก็เหมือนเป็นคันเร่ง ไปเร่งให้ต้องเปียกมากขึ้นไปอีก(เช่นมีน้ำมูก) น่าสนใจว่าถ้ามันไม่เปียกหรือ “แห้งผาก” ไปเลย จะเกิดอะไรขึ้น?
ทางเดินหายใจ
จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราปล่อยให้ผิวด้านในตั้งแต่โพรงจมูกจนถึงถุงลมในปอดเราแห้งสนิท? ผลคือมีสองอย่างครับ ที่ผมว่าเราน่าจะได้เห็นกัน
อย่างที่หนึ่งคือ ผิวทางเดินหายใจด้านในของเราจะเริ่มแตกระแหง คล้ายกับผิวของคนที่โดนลมหนาวแต่ไม่ทาโลชั่น
2
และอย่างที่สองคือ เราน่าจะได้เห็นแผลที่เกิดจากการแตกระแหง ที่จะมีเลือดออกซิบๆ คล้ายกับริมฝีปากเราที่แตกตอนอากาศเย็น
1
ลองมาคิดดูเล่นๆว่าถ้าผิวด้านในของเราที่แห้งผาก เกิดแผลเล็กแผลน้อยเพราะขาดความชุ่มชื้น ต้องมาเจอกับอากาศที่มีเชื้อโรค เชื้อรา และแบคทีเรียที่ลอยฟุ้งเต็มไปหมด จะเกิดอะไรขึ้น? ใช่ครับ ติดเชื้อยังไงล่ะ
4
ถ้าเชื้อโรคในอากาศเกิดหลุดเข้าไปในทางเดินหายใจที่มีแต่แผลเล็กแผลน้อย ไม่นานมันก็จะมุดเข้าสู่กระแสเลือด ทีนี้ปราการที่จะป้องกันเราก็จะเหลือแค่เพียงทางเดียว นั่นคือภูมิคุ้มกัน ซึ่งถามว่าภูมิคุ้มกันช่วยได้แค่ไหน ก็ต้องตอบว่าช่วยได้เยอะ แต่อย่างที่เรารู้กันว่าเชื้อโรคเช่นแบคทีเรีย แบ่งเซลล์ไวยิ่งกว่าบิ๊กไบค์ฝ่าไฟแดง ภูมิเราเอาทั้งหมดไม่อยู่แน่นอน ทางที่ดีคือต้องหากันให้ได้ก่อนเชื้อจะเข้าสู่กระแสเลือด คำถามคือ แล้วจะกันยังไง?
5
โชคดีที่บรรพบุรุษของเราเมื่อสมัยยังเป็นปลา(หรือก่อนปลา) เมื่อ 500 กว่าล้านปีก่อนก็เจอปัญหาเดียวกันนี้และแก้ไว้ให้แล้วอย่างเสร็จสรรพ
5
ปลา(บรรพบุรุษเราเมื่อ 500 ล้านปีก่อน)
ราว 500 ล้านปีก่อน สมัยไดโนเสาร์ยังไม่เกิด สัตว์จำพวกปลาที่เป็นบรรพบุรุษของเราก็เจอปัญหาที่ไม่ต่างกัน นั่นคือ ต้องการหายใจเพื่อจะเอาออกซิเจนจากน้ำ แต่ดันได้เชื้ออะไรก็ไม่รู้จากน้ำติดเหงือกมาด้วย
3
ซึ่งเจ้าเชื้อที่ติดมาพวกนี้ ส่วนใหญ่ไม่ได้แค่เกาะและติดไว้เฉยๆ บางตัวเป็นพยาธิ เป็นปรสิต เป็นเชื้อโรคที่พยายามจะหาทางเข้ามาทำมาหากินข้างในผ่านแผลหรือช่องเล็กๆ ที่เปิดอยู่ ซึ่งปลาที่แก้ปัญหานี้ไม่ได้ก็จะติดเชื้อและตายไป ส่วนที่แก้ได้ก็จะได้อยู่ต่อ
3
และถามว่าปลาที่ได้อยู่ต่อแก้ปัญหายังไง คำตอบก็คือ ก็ด้วยการสร้าง "เมือก" ไปเคลือบให้ทั่วที่พื้นผิวของเหงือกตัวเอง
1
โดยจุดเด่นในเมือกที่ปลาใช้นี่ไม่ได้อยู่ที่น้ำหรือเกลือ หรือแอนติบอดีที่เอาไว้ต่อยตีกับเชื้อโรค แต่เป็นไกลโคโปรตีนที่ชื่อ มูซิน(Mucin - เกริ่นไว้ตั้งแต่บนนู้น)
4
มูซินเป็นโปรตีนเหลวข้นคล้ายเจลชนิดหนึ่งที่เคลือบอยู่ที่ผิว เพื่อเอาไว้คอยดักจับสิ่งแปลกปลอมที่จะลอยมา ถ้าให้เปรียบเทียบอารมณ์คงจะประมาณ "มูซินล็อกแขน ให้แอนติบอดีตุ๊ยท้อง" นั่นล่ะครับ
6
ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไป เจ้าเมือกปลาในวันนั้น ก็จะกลายน้ำมูกเราในวันนี้ เพราะปลาก็จะวิวัฒนาการต่อไปเป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ จากครึ่งบกครึ่งน้ำก็ไปต่อเป็นสัตว์เลื้อยคลาน เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ไปต่อเป็นลิง และมาจบที่กลายเป็นเรา
3
และเมือกเหลวๆ ที่ปลาเคยใช้นี่ล่ะ ได้กลายมาเป็นรากฐานสำคัญให้กับ first line of defense ที่เราใช้กันอยู่ ที่มีทั้งน้ำมูก น้ำตา เสมหะ และเมือกเคลือบต่างๆ ทำให้เราใช้ชีวิตร่วมกับเชื้อโรครอบตัวได้ โดยไม่ติดเชื้อง่ายๆ และตายไปเสียก่อน
1
ถึงตรงนี้ จิ๊กซอว์เพื่อจะไปตอบคำถามของเราก็น่าจะครบแล้ว ผมว่าได้เวลาไปประกอบเป็นคำตอบกันแล้วล่ะครับ
1
ทำไมต้องมีน้ำมูกช่วงอากาศเย็น? ที่เรามีน้ำมูกช่วงอากาศเย็น ก็เพราะอากาศเย็นมักจะตามมาด้วยอากาศแห้ง ซึ่งเจ้าอากาศแห้งนี่ล่ะ ตัวการของเรื่องทั้งหมด
3
อากาศที่แห้ง ด้วยคุณสมบัติของมันเองเป็นอากาศที่มีความชื้นต่ำ หมายความว่าไอน้ำในอากาศจะมีน้อย
เดิมทีตอนไอน้ำในอากาศมีเยอะ เวลาเราหายใจออก ไอน้ำภายนอกก็จะดันไม่ให้ไอน้ำภายในเราออกไปด้วย(หรือออกน้อยเพราะข้างนอกมันเยอะอยู่แล้ว) แต่พอไอน้ำในอากาศมีน้อย ไอน้ำภายในเราก็จะออกได้อย่างอิสระ(เพราะไม่มีข้างนอกมาคอยต้าน)
2
การที่ไอน้ำออกได้อย่างอิสระ หมายถึงเรากำลังสูญเสียน้ำออกจากร่างกาย ซึ่งการสูญเสียน้ำออกไปก็หมายถึงทางเดินหายใจกำลังจะ "แห้งผาก" จำได้ไหมครับว่า แห้งผากตามมาด้วยแตกระแหงเกิดเป็นแผลและเสี่ยงติดเชื้อ ซึ่งร่างกายยอมไม่ได้
2
กลไกที่ใช้กันมานับล้านปีจึงต้องทำงานทันทีเพื่อรักษาความชุ่มชื้น นั่นเป็นเหตุผลให้เราต้องกระพิบตาบ่อยๆ (ไม่ให้ตาแห้ง) จิบน้ำถี่ๆ(ไม่ให้คอแห้ง) และถ้าจมูกเริ่มแห้งและอากาศเริ่มเย็นด้วยละก็ . . .
4
เป็นเหตุผลที่ทำให้เราต้องมี “น้ำมูก” มารักษาความชุ่มชื้นในช่วงหน้าหนาวนั่นเองครับ
2
#WDYMean
ปล. ผมเขียนบทความนี้มาเพื่อตอบคำถามตัวเอง 1 ข้อ
1
คือทุกเช้าช่วงหน้าหนาวผมจะมีน้ำมูกตลอด แล้วทำให้เซ็งมากเพราะหายใจลำบาก ซึ่งเซ็งแต่เช้ามันไม่ดีเลย เลยสงสัยว่าทำไมนะ ทำไมต้องมีน้ำมูกแต่เช้า พอได้รู้สาเหตุผมก็บอกตัวเองใหม่
2
“รู้ไหมน้ำมูกนี่มาจากไหน มาจากตั้งแต่สมัยโลกนี้ยังมีแต่ปลาเลยนะ แล้วรู้ไหมมันเป็นอาวุธที่ดีขนาดไหน มันช่วยดักจับเชื้อโรค ช่วยลดโอกาสที่เราจะเจ็บไข้ได้ป่วย ฉะนั้นอย่าหงุดหงิดไปเลยหน่า แค่ไปสั่งออกแล้วมาดูว่าวันนี้เรามีเป้าหมายจะทำอะไร…”
4
ปรากฎว่าได้ผลครับ เข้าใจตัวเองขึ้นเยอะเลย ผมเลยได้บทเรียนว่า ถ้าเราหา WHY ของสิ่งนั้นเจอจริงๆ เราจะไม่ทุกข์กับสิ่งที่เราไม่ชอบอีกเลย เพราะเราเข้าใจมัน ความคิดแบบ "มีน้ำมูกอีกแล้ว ทำไมวะ" "แต่เช้าเลย อะไรวะเนี่ยวันนี้" นี่หายเกลี้ยง ใช้ชีวิตง่ายขึ้นเยอะเลยครับ
3
หวังว่าแนวคิดนี้จะมีประโยชน์ไม่มากก็น้อยนะครับ
2
ขอบคุณที่สละเวลาอันมีค่ามาอ่านบทความนี้จนจบครับ
1
#อ้างอิงจาก
บทความ Evolutionary conservation of the antimicrobial function of
mucus: a first defence against infection
โฆษณา