5 ม.ค. 2022 เวลา 03:02 • การศึกษา
วิธีการต่างกัน... แต่เป้าหมายเดียวกัน
จิตใจของมนุษย์นั้น โดยปกติมักจะไหลลงต่ำ เหมือนน้ำที่ไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ ใจเช่นเดียวกัน มักถูกกระแสกิเลสครอบงำ ชักนำให้ไปทำบาปอกุศล ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องยกระดับจิตใจให้สูงขึ้น ด้วยการประพฤติปฏิบัติธรรม เป็นประจำสม่ำเสมอ เพราะจิตที่ตั้งมั่น หยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกายฐานที่๗ จะเปลี่ยนแปลงตัวเราไปในทางที่ดีขึ้น จากอ่อนแอเป็นเข้มแข็ง จากหมดแรงจะเต็มเปี่ยมไปด้วยพลัง จากว้าวุ่นมาสงบ จากทุกข์ มาเป็นความสุขอย่างไม่มีขอบเขต และยังสามารถเปลี่ยนแปลงจากปุถุชนให้เป็นพระอริยเจ้าได้
การเจริญภาวนานั้นเป็นบุญ ละเอียด สามารถแก้ไขสิ่งที่ไม่ดีให้ดีขึ้น สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ สิ่งที่ไม่สำเร็จให้สำเร็จ สิ่งที่ยากให้ง่าย สิ่งที่เหลือวิสัยให้อยู่ในวิสัย เพราะใจที่ฝึกดีแล้ว หยุดนิ่งดีแล้ว ย่อมทำอะไรได้เหนือความคาดหมาย กระทั่งสามารถกำจัดกิเลสอาสวะให้หมดสิ้นไปได้
มีพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ใน กิงสุโกปมชาดก ว่า…
 
เอวํ สพฺเพหิ ญาเณหิ เยสํ ธมฺมา อชานิตา
เต เว ธมฺเมสุ กงฺขนฺติ กึสุกสฺมึว ภาตโร
 
บุคคลเหล่าใด ยังไม่รู้ธรรมทั้งหลาย ด้วยญาณทั้งปวง
บุคคลเหล่านั้นแล ย่อมสงสัยในธรรมทั้งปวง
เหมือนพระราชโอรส ๔พระองค์ ทรงสงสัยในต้นทองกวาว ฉะนั้น
ธรรมะ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น มีความละเอียด ลุ่มลึกไปตามลำดับ จากง่ายไปหายาก จากหยาบไปหาละเอียด เป็นลำดับเป็นขั้นเป็นตอน ผู้ที่ได้มาศึกษาแล้ว ย่อมทำให้เกิดดวงปัญญา อันจะนำพาไปสู่การปฏิบัติ เพื่อความหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งมวล ซึ่งปัญญาในทางพระพุทธศาสนา นั้น แบ่งออกเป็น ๓ระดับด้วยกัน คือ
สุตมยปัญญา หรือความรู้จำ เป็นความรู้ที่เกิดจากการได้ยินได้ฟังมา ซึ่งถือว่าเป็นความรู้ระดับพื้นฐานเบื้องต้น
ความรู้ระดับกลาง เรียกว่า จินตมยปัญญา หรือความรู้ที่เกิดจากการคิด คือ ความรู้ที่เกิดจากการไตร่ตรอง พิจารณาหาเหตุหาผล มีการทดลอง เพื่อให้เกิดผลการทดลอง ทำนองเดียวกับพวกตรรกวิทยาที่ตั้งสมมุติฐานกัน
สำหรับความรู้ประการสุดท้าย เรียกว่า ภาวนามยปัญญา หรือความรู้แจ้ง เป็นความรู้ที่เกิดขึ้นจากภายใน อย่างที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ หรืออย่างที่พระอรหันต์ทั้งหลายได้รู้ เป็นความรู้ที่ถูกต้องเที่ยงแท้แน่นอน เพราะเป็นความรู้ที่ไม่ได้เกิดจากการฟัง การคิด แต่เป็นความรู้ที่เกิดจากการรู้แจ้งเห็นจริง เห็นสรรพสิ่งไปตามความเป็นจริง เปรียบเสมือนแม่น้ำลำคลองที่มีน้ำใสแจ๋ว ย่อมสามารถมองเห็นสิ่งที่อยู่ใต้น้ำได้อย่างถูกต้องชัดเจน ความรู้ที่เกิดจากภาวนามยปัญญาก็เช่นกัน
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ด้วยการเจริญสมาธิภาวนา กระทั่งใจรวมหยุดนิ่งสนิท ความสว่างภายในย่อมบังเกิดขึ้นมา เหมือนการส่องแสงสว่างไปในที่มืด จึงทำให้พระองค์รู้เห็นสิ่งต่าง ๆ ไปตามความเป็นจริง
ความรู้ชนิดนี้เป็นความรู้รอบ ไม่ใช่รู้เพียงแค่ด้านใดด้านหนึ่ง หรือมุมใดมุมหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นความรู้ที่ครอบคลุมศาสตร์ทั้งปวง คือ รู้เพียงหนึ่ง แต่จะรู้ได้ทั้งหมด เป็นความรู้ที่บริสุทธิ์ ที่เกิดจากแหล่งแห่งความรู้อันบริสุทธิ์ภายใน ซึ่งสามารถเข้าถึงได้ด้วยการทำใจให้สงบ ให้หยุดให้นิ่ง
ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค ได้กล่าวถึงวิธีการทำใจให้สงบไว้ ๔๐ วิธี ซึ่งทั้งหมดนั้น เราสามารถเลือกปฏิบัติวิธีการใดวิธีการหนึ่ง สองหรือสามวิธีการพร้อมกันก็ได้ ตามแต่จริตอัธยาศัยของแต่ละคน แต่สุดท้ายก็มีเป้าหมายเดียวกัน คือ ต้องการความสงบของใจ เมื่อใจรวมหยุดนิ่ง ก็จะดิ่งเข้าสู่กลางภายในตรงศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ และจะได้ตรัสรู้ธรรมไปตามลำดับ แม้วิธีการเริ่มต้นจะต่างกัน แต่เป้าหมายสุดท้ายนั้นเป็นสิ่งเดียวกัน คือ เพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง
เรื่องที่เกิดขึ้นในสมัยพุทธกาล มีภิกษุ ๔ รูป ไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อทูลขอกัมมัฏฐาน เมื่อได้รับคำแนะนำแล้ว ต่างพากันกลับไปที่พักของตน ภิกษุรูปหนึ่งได้กำหนดผัสสายตนะ ๖ อารมณ์ รูปหนึ่งกำหนดขันธ์ ๕ รูปหนึ่งกำหนดมหาภูต๔ อีกรูปหนึ่งกำหนดธาตุ ๑๘ เมื่อใจสงบ ก็หยุดนิ่งได้ถูกส่วนตรงศูนย์กลางกาย และได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด ภายหลัง ภิกษุทั้ง ๔ รูป ได้กราบทูลคุณวิเศษที่ตนได้บรรลุแด่พระบรมศาสดา
ในบรรดาภิกษุเหล่านั้น รูปหนึ่งเกิดสงสัยว่า แม้กัมมัฏฐานเหล่านั้นมีข้อกำหนดแตกต่างกัน แต่มีพระนิพพานเป็นเป้าหมายอย่างเดียวกัน เป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ยิ่งนัก จึงอยากรู้ว่าทำไมปฏิบัติเริ่มต้นไม่เหมือนกัน แต่ได้บรรลุมรรคผลนิพพานเหมือนกัน
พระบรมศาสดาทรงวิสัชนาว่า "ดูก่อนภิกษุ พวกเธอก็ไม่ต่างกับพี่น้อง ๔ คน ที่เห็นต้นทองกวาวต้นเดียวกัน แต่อธิบายคนละอย่าง" จากนั้น ทรงนำเรื่องในอดีตมาเล่าให้ภิกษุทั้ง ๔ รูป ได้ฟังว่า...
ในอดีตกาล เมื่อครั้งพระเจ้าพรหมทัตครองราชย์ที่กรุงพาราณสี พระองค์มีพระโอรส ๔ พระองค์ วันหนึ่งพระราชโอรสทั้ง ๔ ประสงค์อยากจะไปชมต้นทองกวาว นายสารถีได้นำพระโอรสเสด็จไปทีละองค์ โดยนำพระโอรสองค์โตไปก่อน ครั้นเข้าไปในป่าก็ชี้ให้ดูต้นทองกวาวขณะสลัดใบ
เมื่อกลับถึงพระราชมณเฑียร ได้พาพระโอรสองค์ที่สองไปดูในเวลาที่ต้นทองกวาวกำลังออกใบอ่อน ส่วนองค์ที่สามได้พาเสด็จไปดูขณะต้นกำลังออกดอก และพาพระโอรสองค์สุดท้ายไปดูขณะที่ต้นกำลังออกผล
วันหนึ่ง ขณะที่พระโอรสทั้ง ๔ ประทับนั่งพักผ่อนกันอยู่นั้น มีผู้ไต่ถามว่า "ต้นทองกวาวนั้นมีลักษณะเป็นอย่างไร" พระโอรสองค์แรกตรัสว่าเหมือนตอไม้ที่ถูกไฟไหม้ องค์ที่สองตรัสว่าเหมือนกับต้นไทร ส่วนองค์ที่สามตรัสว่าเหมือนชิ้นเนื้อ และองค์ที่สี่ตรัสว่าเหมือนต้นจามจุรี
เมื่อไม่สามารถหาข้อตกลงกันได้ จึงพากันไปเฝ้าพระราชบิดาเพื่อให้ทรงตัดสินว่า ใครกล่าวได้ถูกต้องที่สุด ด้วยความที่พระองค์เคยเห็นต้นทองกวาวในฤดูกาลทั้ง๔ ทรงรู้ทันทีว่า พระราชโอรสคงได้เห็นต้นทองกวาวในช่วงฤดูกาลที่แตกต่างกัน จึงวิสัชนาให้พระโอรสได้รับรู้ตามความเป็นจริง
พระบรมศาสดาแสดงเหตุนี้แล้ว จึงตรัสว่า "บุคคลเหล่าใด ยังไม่รู้ธรรมได้ทั่วถึงด้วยญาณทั้งปวง บุคคลเหล่านั้นแล ย่อมสงสัยในธรรมทั้งหลาย เหมือนพระราชบุตร ๔พระองค์ ทรงสงสัยในต้นทองกวาว ฉะนั้น"
จากเรื่องนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ชื่อว่าเป็นพระสัพพัญญู คือ รู้ทั่วถึงธรรมที่สากลโลกสากลธรรมไม่มีใครหยั่งรู้ได้ เพราะพระสาวกรู้เฉพาะธรรมบางอย่าง เช่น อย่างน้อยรู้วิธีขจัดกิเลสอาสวะให้หมดสิ้นไป ส่วนธรรมะต่าง ๆ ก็รู้ได้เฉพาะที่เปรียบเสมือนใบไม้ในกำมือ ส่วนพระปัญญาตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เปรียบเสมือนใบไม้ทั้งที่อยู่ในกำมือและในป่า ความรู้ของสาวกทั้งหมดเมื่อมารวมกัน ก็ไม่สามารถเทียบได้กับพระสัพพัญญุตญาณอันประเสริฐของพระพุทธองค์ เพราะสาวกบารมี ญาณไม่อาจเทียบกับอภิสัมโพธิญาณได้
จะเห็นได้ว่า ธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น แม้จะเป็นของละเอียดลึกซึ้ง แต่เข้าถึงได้ด้วยวิธีการที่เหมาะสมของแต่ละคน แม้วิธีการเริ่มต้นเพื่อให้ใจสงบอาจแตกต่างกัน แต่มีเป้าหมายเดียวกัน คือ การกำจัดกิเลสอาสวะให้หมดสิ้นไป เหมือนสายน้ำที่มีต้นกำเนิดที่แตกต่างกัน แต่สุดท้ายก็ไหลรวมลงสู่มหาสมุทรอันกว้างใหญ่...
เช่นเดียวกับธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่จุดเริ่มต้นดูเหมือนแตกต่างกัน แต่สุดท้ายเมื่อทำใจหยุดนิ่งตามหลักมัชฌิมาปฏิปทา ให้ใจตรงต่อหนทางพระนิพพาน ย่อมเข้าถึงธรรมเหมือนกัน และเมื่อเข้าถึงแล้ว ความไม่รู้แจ้งเห็นจริงอันใดที่เคยเกิดขึ้น ก็จะมลายหายสูญไป ภาวนามยปัญญาก็จะเกิดขึ้น โดยอาศัยธรรมจักษุและญาณทัสสนะของพระธรรมกาย ก็จะรู้ได้รอบตัว เห็นได้รอบตัว ไม่ใช่เห็นเพียงด้านใดด้านหนึ่งอีกต่อไป ดังนั้น ให้หมั่นเจริญภาวนาให้เข้าถึงพระธรรมกายกันทุกคน
จากหนังสือธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๖ หน้า ๑๑๐ – ๑๑๘
อ้างอิง.......พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ (ภาษาไทย)
กิงสุโกปมชาดก เล่ม ๕๗ หน้า ๕๑๔
โฆษณา