9 ม.ค. 2022 เวลา 03:11 • การศึกษา
พระปิณโฑลภารทวาชเถระ ตอนที่ ๑
มนุษย์ทั้งหลาย เมื่อปรารถนาสิ่งหนึ่งประการใดแล้ว หากหมั่นประกอบเหตุแห่งความปรารถนานั้นๆ ด้วยการสร้างความดีสั่งสมบุญบารมี มีการให้ทาน รักษาศีลและเจริญภาวนา ปฏิบัติตามหลักธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อยู่เป็นประจำสม่ำเสมอ ความปรารถนานั้นย่อมเป็นผลสำเร็จอย่างแน่นอน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าตั้งความปรารถนาในแหล่งแห่งความสำเร็จ คือ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่๗ ความปรารถนาทั้งมวล ก็จะสำเร็จเป็นอัศจรรย์ ดังนั้น ถ้าเราปรารถนาความสุขความสำเร็จในชีวิต ก็ต้องหมั่นเอาใจมาตั้งไว้ที่ศูนย์กลางกายฐานที่๗
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย ธรรมบท ว่า…
อุฏฺฐานวโต สติมโต สุจิกมฺมสฺส นิสมฺมการิโน
สญฺญตสฺส จ ธมฺมชีวิโน อปฺปมตฺตสฺส ยโสภิวฑฺฒติ
เกียรติยศย่อมเจริญแก่ผู้ขยัน
มีสติ มีการงานสะอาด ใคร่ครวญแล้วจึงทำ
สำรวมแล้ว เป็นอยู่โดยธรรม และไม่ประมาท
เมื่อปรารถนาหรือใฝ่ฝันสิ่งหนึ่งประการใด ก็ต้องขยันหมั่นประกอบเหตุให้บรรลุผลสำเร็จในความปรารถนานั้น ๆ อย่าเพียงแค่คิดเฉยๆ คิดแล้วถ้าไม่ทำก็เสียเวลา แต่ถ้าทำโดยไม่คิดก็เสียหายได้ จะต้องมีสติคอยระมัดระวัง ไม่ประมาทในหน้าที่การงาน พร้อมกันนี้ก็ให้หมั่นสั่งสมบุญบารมี มีการให้ทาน รักษาศีลและเจริญภาวนา ประพฤติตามหลักธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นประจำสม่ำเสมอ ความปรารถนาที่ได้ตั้งไว้ และประกอบเหตุไว้อย่างดีแล้ว สักวันหนึ่งก็จะสัมฤทธิผล วันนี้ไม่สำเร็จ วันต่อไปก็ต้องสำเร็จ หรือวันข้างหน้าหากยังไม่สำเร็จ ก็เป็นปีหน้า หรือภพชาติ ต่อไป สิ่งที่เราปรารถนาไว้ ยังติดแน่นเป็นผังสำเร็จอยู่ในกลางกายนี่แหละ รอวันเวลา ภพชาติที่เหมาะสมในการส่งผลเท่านั้น
เหมือน พระปิณโฑลภารทวาชะ ผู้เป็นยอดแห่งภิกษุ ในการบันลือสีหนาท เป็นเลิศในการประกาศธรรม ท่านเป็นผู้องอาจกล้าหาญ ไม่ครั่นคร้ามต่อที่ประชุมชน ใจของท่านเด็ดเดี่ยวมั่นคง ตั้งอยู่ในแหล่งแห่งความบริสุทธิ์ จรดอยู่กลางกายธรรมพระอรหัตอยู่ตลอดเวลา
ในอดีตของท่านนั้น ท่านเคยเกิดในยุคสมัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่า ปทุมุตตระ พระปิณโฑลภารทวาชะบังเกิดเป็นราชสีห์ อาศัยอยู่ ณ เชิงเขาในป่าใหญ่ ตอนเช้าตรู่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรวจดูสัตวโลกด้วยธรรมจักษุ ทรงทอดพระเนตรเห็นพญาราชสีห์เข้ามาปรากฏในข่ายพระญาณอันบริสุทธิ์ จึงเสด็จไปบิณฑบาต ในพระนครหงสวดี หลังจากที่เสวยภัตตาหาร เสร็จ ก็เสด็จมายังถํ้าของพญาราชสีห์ซึ่งกำลังออกหาอาหาร แล้วทรงประทับ นั่งขัดสมาธิกลางอากาศ เข้านิโรธสมาบัติ รอคอยการกลับมา
1
พญาราชสีห์ได้เหยื่อและกลับมายังถ้ำ เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับนั่งเข้านิโรธสมาบัติอยู่ภายในถ้ำ จึงคิดว่า "ในป่าแห่งนี้ ไม่มีสัตว์อื่นที่มีความสามารถจะมานั่งกลางอากาศในที่อยู่ของเราได้ บุรุษนี้ช่างยิ่งใหญ่จริงหนอ มานั่งขัดสมาธิภายในถ้ำของเรา และมีรัศมีกายสว่างไสวแผ่ไปโดยรอบ เราไม่เคยเห็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์ถึงเพียงนี้ สงสัยบุรุษนี้คงเป็นยอดมหาบุรุษของโลก"
เมื่อคิดดังนั้นแล้ว ก็ออกไปหาดอกไม้ชนิดต่าง ๆ ทั้งที่เกิดในน้ำและที่เกิดบนบก มาปูลาดเป็นอาสนะดอกไม้ ตั้งแต่พื้นดินวางซ้อน ๆ กันขึ้นไป จนถึงที่พระพุทธองค์ประทับนั่งขัดสมาธิ และยืนอารักขาพระพุทธองค์อยู่ตรงนั้น ด้วยจิตเลื่อมใสจนกระทั่งถึงสว่าง
พอรุ่งเช้าวันใหม่ พญาราชสีห์ก็นำดอกไม้เก่าของเมื่อวานออกไปทิ้ง และหาดอกไม้สดมาปูเป็นอาสนะอีก จัดแจงปูลาดอาสนะถวายพระพุทธเจ้า อย่างนี้อยู่ถึง ๗วัน โดยที่ตัวเองก็ไม่ออกไปล่าเหยื่อที่ไหนเหมือนกัน มีความปีติและอิ่มบุญที่ได้อุปัฏฐากพระพุทธเจ้า ในระหว่างที่ทำหน้าที่อารักขาพระพุทธเจ้าอยู่นั้น พญาราชสีห์จะบันลือสีหนาท ๓ เวลา คือ เช้า กลางวันและเย็น เป็นการขับไล่สัตว์ร้ายทั้งหลายไม่ให้มารบกวนพระพุทธองค์ การบันลือสีหนาทด้วยจิตที่เลื่อมใสนี่เอง เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ท่าน หลังจากได้บรรลุอรหัตผลแล้ว มักจะบันลือสีหนาทเป็นประจำ
ครั้นถึงวันที่ ๗ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงออกจากนิโรธสมาบัติ ในขณะที่พระพุทธองค์ทรงประทับยืนอยู่ที่หน้าประตูถ้ำ พญาราชสีห์และเหล่าบริวาร พร้อมด้วยหมู่สัตว์นานาชนิด ก็กระทำประทักษิณด้วยความเคารพอยู่ถึง ๓ รอบ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงดำริว่า "เพราะอาศัยเหตุเพียงเท่านี้ ก็จะเพียงพอที่จะเป็นอุปนิสัยให้แก่พญาราชสีห์ต่อไปในอนาคต" แล้วทรงเหาะกลับไปพระวิหารตามเดิม
พญาราชสีห์เกิดความปีติมาก ที่ได้บูชาพระบรมศาสดา จึงนึกถึงบุญนั้นบ่อย ๆ เมื่อตายจากภพชาตินั้นแล้ว บุญได้หนุนส่งให้ได้ไปบังเกิดเป็นมนุษย์ คือ เกิดในตระกูลของมหาเศรษฐี ในเมืองหงสวดี
ครั้นเจริญวัยแล้ว วันหนึ่งได้มีโอกาสไปวัดพร้อมกับชาวเมืองหงสวดี ได้ฟังพระธรรมเทศนา จากพระพุทธเจ้า ก็ยิ่งบังเกิดความเลื่อมใสหนักขึ้นไปอีก ตอนเป็นพญาราชสีห์นั้น จะทำบุญกุศลอะไรก็ติดๆขัดๆ เพราะอัตภาพของสัตว์เดียรัจฉาน...มันไม่เหมาะต่อการสร้างบารมี ครั้นได้เป็นมนุษย์จึงสั่งสมบุญอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะได้บำเพ็ญมหาทานบารมีอยู่ตลอด ๗วัน จากนั้นก็ได้ทำบุญทุกอย่างจนตลอดชีวิตนั่นแหละ ครั้นละสังขารในภพชาตินั้น ก็เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภูมิของเทวดา และมนุษย์นับชาติไม่ถ้วน
ต่อมาในสมัยพุทธกาล ท่านก็ได้มาบังเกิดอยู่ในตระกูลของพราหมณ์ในกรุงราชคฤห์ มีชื่อว่า ภารทวาชะ เมื่อเติบโตขึ้นได้ศึกษาเล่าเรียนไตรเพทจนแตกฉาน อบรมสั่งสอนมหาชน จนกระทั่งมีลูกศิษย์มากถึง ๕๐๐คน อยู่มาวันหนึ่ง ท่านได้มีโอกาสฟังพระธรรมเทศนา แล้วเกิดดวงปัญญา และมีความศรัทธา เลื่อมใสในพระพุทธองค์ จึงออกบวชบำเพ็ญสมณธรรมจนได้บรรลุเป็นพระอรหันต์
ในเวลาที่ท่านบรรลุกายธรรมอรหัต ท่านเป็นผู้องอาจแกล้วกล้าในธรรมอย่างยิ่ง จึงออกจากวิหารนี้ไปสู่วิหารโน้นและไปตามสถานที่ต่าง ๆ เที่ยวบันลือสีหนาท คำว่า "บันลือสีหนาท" ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงตะโกนเหมือนพญาราชสีห์หรอก แต่กล่าวเสียงดังฟังชัด ก้อง กังวาน เป็นการกล่าวถ้อยคำที่พูดออกมาให้ทุกคนในมหาสมาคมได้ยินทั่วถึง บ่งบอกถึงความเป็นผู้องอาจนั่นเอง แต่ไม่ใช่ลักษณะของคนมีทิฐิมานะหรือหยิ่งยโส ท่านประกาศท่ามกลางมหาสมาคมว่า "ท่านผู้ใดมีความสงสัยในมรรคผล หรือในธรรมอันใด ก็จงถามเราเถิด เราจะช่วยเปิดเผยความกังขาของพวกท่าน"
วันนั้น หมู่ภิกษุสงฆ์ได้สนทนากัน ถึงเรื่องของพระปิณโฑลภารทวาชะที่บันลือสีหนาทในทันทีที่ตนได้บรรลุพระอรหัต แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ทรงทราบ ธรรมดาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ จะทรงตำหนิผู้ที่ควรตำหนิและสรรเสริญผู้ที่ควรสรรเสริญ แต่ในขณะนั้น พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญท่านพระปิณโฑลภารทวาชะว่า...
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะอินทรีย์ทั้งหลายของปิณโฑลภารทวาชะ เจริญแล้ว แก่กล้าแล้ว เธอจึงได้พยากรณ์อรหัตผลที่ได้บรรลุว่า ชาตินี้สิ้นแล้ว เราอยู่จบพรหมจรรย์ สิ่งที่ควรทำเราทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป"
เมื่อพระองค์ตรัสเสร็จ ก็ทรงสถาปนาพระปิณโฑลภารทวาชะ ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ ผู้เป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในด้านการบันลือสีหนาท
จะเห็นได้ว่า บุคคลผู้ทำความดีอย่างเต็มที่ เมื่อความดีที่สั่งสมมานับภพนับชาติไม่ถ้วนเต็มเปี่ยมบริบูรณ์ ความปรารถนาของบุคคลนั้นก็ย่อมสัมฤทธิ์ผล เหมือนอย่างท่านพระปิณโฑลภารทวาชะ
ดังนั้น เราจะต้องหมั่นสั่งสมความดีกันให้เต็มที่ ทำความดีอย่าให้บกพร่องกัน หมั่นทำบ่อย ๆ ทำทุกวัน และทำให้มากยิ่ง ๆ ขึ้นไป ให้เป็นบุญต่อบุญ เพิ่มเติมจนกระทั่งเต็มเปี่ยม เหมือนพระจันทร์เต็มดวงกลางท้องนภากาศ หรือเหมือนดวงอาทิตย์ที่สว่างไสวในนภากาศยามเที่ยงวัน ให้ดวงบุญของเราเป็นดวงบุญที่ใหญ่ครอบฟ้าครอบจักรวาล
ถ้าทำได้อย่างนี้ เราจะได้รับแต่ความสมบูรณ์พร้อมในชีวิต จะได้สมบัติทั้งสาม คือ รูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติและคุณสมบัติ ที่เลิศที่สุด บริบูรณ์ไปด้วยลาภ ยศ สรรเสริญ สุข มรรคผลนิพพาน ดังนั้นสิ่งที่เราปรารถนา ก็อยู่ที่การกระทำของเรา จะทำมากทำน้อยแค่ไหนก็อยู่ที่ตัวของเราเอง ฉะนั้นเมื่อเรามีโอกาสสั่งสมบุญแล้ว ก็พึงทำและทําให้เต็มที่ สุดความสามารถกันทุกคน
จากหนังสือธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๖ หน้า ๑๒๘ – ๑๓๖
อ้างอิง.......พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ (ภาษาไทย)
ปิณโฑลภารทวาชเถราปทาน เล่ม ๗๐ หน้า ๖๓๕
โฆษณา