6 ธ.ค. 2021 เวลา 10:32 • ท่องเที่ยว
‘อารยธรรมวิวัฒน์ ลพบุรี-ศรีรามเทพนคร’ .. นิทรรศการ @ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน
พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน เป็นท้องพระโรงที่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นตั้งแต่ เมื่อแรกสร้างวังหน้าในสมัยรัชกาลที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 2325 เพื่อใช้พระที่นั่งท้องพระโรง คือ ใช้เป็นที่ตั้งพระที่นั่งบวรเศวตฉัตรสำหรับ สมเด็จพระมหาอุปราชประทับออกขุนนาง และทรงบำเพ็ญพระราชกุศลต่างๆ อาทิ เทศน์มหาชาติ จึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “พระที่นั่งทรงธรรม” .. เดิมเป็นอาคารโถงไม่มีผนัง สร้างด้วยเครื่องไม้ มีขนาดเล็กกว่าปัจจุบัน
ตั้งแต่รัชกาลที่ 2 เป็นต้นมา พระที่นั่งศิวโมกขพิมานเป็นแต่ที่ทำการพระราชพิธีพิเศษต่างๆ
ถึงสมัยรัชกาลที่ 3 สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ โปรดให้ปฏิสังขรณ์พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน ซึ่งเป็นการรื้อพระที่นั่งองค์เดิมแล้วสร้างใหม่เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนขนาดใหญ่กว่าเดิม ส่วนหลังคา ยังเป็นเครื่องไม้เลียนแบบมาจากพระที่นั่งองค์เดิม คือมีลักษณะลาดต่ำและมีพาไลรอบเพื่อป้องกันแดดและฝน เนื่องจากเป็นอาคารโถง ลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน จึงเป็นแบบอย่างฝีมือช่างครั้งรัชกาลที่ 3
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 ปรากฏหลักฐานเอกสารว่าด้วย “ลักษณะการพระราชพิธีฝ่ายพระราชวังบวรสถานมงคล” ระบุว่า .. สมัยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้ใช้พระที่นั่งศิวโมกขพิมานในการบำเพ็ญพระราชกุศลหลายประการ เช่น นักขัตฤกษ์สงกรานต์ ในวันเถลิงศกใช้เป็นที่พระสงฆ์ฉันและสดัปกรณ์พระบรมอัฐิและพระอัฐิ ถวายพระราชกุศลแก่พระบวรราชวงศ์ การพระราชพิธีวิสาขบูชา ใช้เป็นที่พระสงฆ์สวดมนต์ สดัปกรณ์พระบรมอัฐิและรับถวายสลากภัตร การบวชนาคหลวงเดือน 8 ใช้เป็นที่ทำขวัญนาค และเป็นสถานที่พระสงฆ์สวดมนต์ในการพระราชพิธีสารท เป็นต้น
นับตั้งแต่พุทธศักราช 2400 เมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้อัญเชิญพระเสริมลงมาจากเมืองหนองคาย ประดิษฐานไว้ยังพระแท่นเศวตฉัตรภายในพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน ก็มีการพระราชกุศลเนื่องด้วยพระเสริมเพิ่มเติมขึ้นอีก เช่น ในการพระราชกุศลหล่อเทียนพรรษา
พุทธศักราช 2428 เมื่อกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญเสด็จทิวงคต พระที่นั่งศิวโมกขพิมานเป็นที่ว่างมา
สมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อ พ.ศ. 2430 พระที่นั่งองค์นี้ได้จัดเป็นพิพิธภัณฑสถาน เรียกว่า “มิวเซียมหลวงที่วังหน้า” หรือ “Royal Museum” ครั้งนั้นจึงได้มีการดัดแปลงทำผนังอาคารและเพิ่มเติมมุขลดด้านหน้าขึ้นในครั้งนั้น
 
จากนั้น ในสมัยรัชกาลที่ 7 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชมณเฑียรสถานทั้งหมดในวังหน้า ตั้งขึ้นเป็นหอพระสมุดวชิรญานและพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร จึงพระราชทานพระที่นั่งศิวโมกขพิมานเป็นหอพระสมุดฯ ที่เก็บรวบรวมหนังสือ เอกสารประเภทตัวเขียนและตัวจาร อาทิ ใบลาน สมุดข่อย และศิลาจารึก การต่อเติมหลังคามุข ให้เป็นทรงสอบสูง อย่างในปัจจุบัน และเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดเนื่องในการเฉลิมพระชนมพรรษาในพุทธศักราช 2469
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2510 พระที่นั่งศิวโมกขพิมานได้ถูกใช้เป็นที่จัดแสดงนิทรรศการก่อนประวัติศาสตร์ และที่ทำการกองโบราณคดี กรมศิลปากร
จนกระทั่งถึงพุทธศักราช 2525 จึงได้รับการประกาศจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ประวัติศาสตร์ชาตืไทย โดยมีการดัดแปลงรูปแบบภายในอาคารเป็นห้องจัดแสดงสมัยใหม่ เล่าเรื่องประวัติศาสตร์สมัยต่างๆ ของประเทศไทย เช่น สุโขทัย อยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ มีการใช้สื่อจัดแสดงหลายประเภท เช่น หุ่นจำลอง และสื่อมัลติมีเดียเข้ามาประกอบในการจัดแสดงนิทรรศการ
พุทธศักราช 2558 กรมศิลปากรได้ทำการปรับปรุงการจัดแสดงนิทรรศการภายในพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน อีกครั้ง และปรับปรุงรูปแบบของอาคารให้กลับคือสู่สถาปัตยกรรมดั้งเดิม เพื่อแสดงให้เห็นถึงความงามของพระที่นั่งหลังนี้
.. มีการนำเอาโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุชิ้นเยี่ยมทุกสมัยที่พบในประเทศไทยมาจัดแสดง โดยเรียงลำดับเวลาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ทวารวดี ศรีวิชัย ลพบุรี สุโขทัย อยุธยา ถึงสมัยรัตนโกสินทร์บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ และอารยธรรมอันรุ่งเรืองของประเทศ ผ่านโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ
การปรับปรุงนิทรรศการภายในพระที่นั่งศิวโมกขพิมานในปัจจุบัน มีวัตถุประสงค์เพื่อการคืนความงามให้กับสถาปัตยกรรมไทยโบราณ และส่งเสริมคุณค่าของโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุชิ้นเยี่ยมที่นำมาจัดแสดง โดยเฉพาะบอกเล่าถึงเรื่องราวประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ของชนชาติไทย
นิทรรศการหมุนเวียน ‘อารยธรรมวิวัฒน์ ลพบุรี-ศรีรามเทพนคร’ จัดแสดงในพระที่นั่งศิวโมกขฺพิมาน
“อารยธรรมวิวัฒน์” .. หมายถึง “พัฒนาการทางวัฒนธรรม” ซึ่งการจัดแสดง เน้นพัฒนาการทางวัฒนธรรมที่มี “ศรีรามเทพนคร” (“ศรีรามเทพนคร” ปรากฏอยู่ในศิลาจารึกที่สร้างขึ้นในวัฒนธรรมสุโขทัยอย่างน้อย 2 หลักคือ จารึกวัดศรีชุม จ.สุโขทัย และจารึกวัดเขากบ จ.นครสวรรค์) เป็นศูนย์กลางของเรื่อง
โดยนิทรรศการได้ใช้วิธีเล่าผ่านโบราณวัตถุที่ค้นพบในประเทศไทย ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ของดินแดนตอนกลางลุ่มแม่น้ำลพบุรี ป่าสัก เรื่อยมาถึงช่วงพุทธศตวรรษที่ 16 ซึ่งลพบุรีมีความใกล้ชิดกับเขมร ต่อเนื่องในพุทธศตวรรษที่ 18 ที่เขมรเสื่อมอิทธิพล และเมืองลพบุรีกลับมามีอำนาจด้วยตัวเอง ทำให้ให้เห็นวิวัฒนาการ การเติบโตของอารยธรรมลพบุรี
ความใกล้ชิดกับอาณาจักรกัมพูชาของเขมร บวกด้วยอิทธิพลจากศาสนาพรหมณ์ฮินดู และพุทธมหายานทำให้ลพบุรีมีศิลปะเฉพาะตัวที่น่าสนใจ ทั้งยังมีนวัตกรรมการหล่อโลหะสำริดที่ตกทอดมากว่า 1,000 ปี ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าทางวิทยาการในยุคนั้น
ในนิทรรรศการเน้นเล่าเรื่องรวมทั้งนวัตกรรม ความเชื่อ ที่ค่อยๆ วิวัฒนาการมาเป็นเอกลักษณ์ของอารยธรรมลพบุรี สำหรับใครที่ต้องการรู้จัก อารยธรรมลพบุรีให้มากขึ้น
รัฐลวปุระ หรือ ละโว้ หรือ ลพบุรี เจริญขึ้นในภาคกลางบริเวณแม่น้ำลพบุรี-ป่าสัก ตรงกับพุทธศตวรรษที่ 12-18 ร่วมสมัยเดียวกับรัฐทวารวดี และมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอาณาจักรกัมพูชาของเขมร ผู้คนในรัฐลวปุระนับถือทั้งพราหมนณ์หรือฮินดู ร่วมกับศาสนาพุทธทั้งฝ่ายมหายานและเถรวาท
นิทรรศการในครั้งนี้เลือกที่จะเน้นจัดแสดงโบราณวัตถุที่จัดว่าเกี่ยวข้องกับศิลปะลพบุรีหรือศิลปะเขมรในประเทศไทยเป็นหลัก โดยโบราณวัตถุชิ้นที่สำคัญในการจัดแสดงมีดังนี้
พระโพธิสัตว์สำริดจากบ้านโตนด อ.โนนสูง
พระโพธิสัตว์สำริด แห่งบ้านโตนด อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา มีส่วนอื่นๆ ที่แตกหักออกมานับรวมได้ 7 ชิ้น และเมื่อทำการตรวจสอบจึงสันนิษฐานได้ว่าพระโพธิสัตว์องค์นี้น่าจะมีความสูงอยู่ระหว่าง 310-340 เซนติเมตร นับว่าเป็นประติมากรรมสำริดที่มีขนาดใหญ่และเก่าแก่ที่สุดในเมืองไทย แสดงถึงความรุ่งเรืองของพุทธศาสนามหายานในที่ราบสูงโคราช และวิทยาการการหล่อโลหะที่อยู่คู่กับอารยธรรมลพบุรีมาช้านาน
นิทรรศการ อารยธรรมวิวัฒน์ ลพบุรี – ศรีรามเทพนคร .. นับว่าเป็นครั้งแรกที่จะมีการประกอบองค์พระโพธิสัตว์สำริดเต็มองค์ขึ้นมา ซึ่งถ้าย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2504 พระโพธิสัตว์สำริดองค์นี้ถูกค้นพบด้วยความบังเอิญเมื่อชาวบ้านได้ไถดินและไปโดนเจดีย์เก่าจนพังลงมาจนพบเศียรพระโพธิสัตว์สำริด ซึ่งเห็นเพียงเสี้ยวเดียวที่แตกหักก็สามารถบอกได้ถึงความงดงาม
กรมศิลปากรจึงเก็บชิ้นส่วนเท่าที่พบซึ่งเหลือเพียง 20 % จำนวน 7 ชิ้นขององค์พระโพธิสัตว์ทั้งองค์ จากนั้นได้ส่งเฉพาะส่วนพระเศียรไปอนุรักษ์ที่ประเทศฝรั่งเศส และนำมาจัดแสดงเฉพาะพระพักตร์ ก่อนจะตัดสินใจประกอบองค์เต็มองค์สี่กร เห็นชัดเจนถึงความสูง ความงดงามของศิลปะในกลุ่มประโคนชัย ... เป็นการคืนชีวิตประติมากรรม ที่เราเห็นไม่บ่อยนัก
พระอวโลกิเตศวรเปล่งรัศมี
โบราณวัตถุ ที่แกะจากหินทรายมราพบที่ปราสาทเมืองสิงห์ กาญจนบุรี ก็มีความสวยงามไม่เหมือนที่ไหน
ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ปราสาทกู่สวนแตง
ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ปราสาทกู่สวนแตง จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นทับหลังที่ถูกโจรกรรมไปจากไทยเมื่อปี พ.ศ.2507 และถูกลักลอบขายไปให้กับนักสะสมในสหรัฐอเมริกา และทางสหรัฐอเมริกาโดย นายเอเวลรี บรันเดจ ได้ตัดสินใจส่งคืนทับหลังชิ้นนี้กลับมาให้ไทยในปี พ.ศ. 2513
… เรียกว่าเป็นทับหลังชิ้นแรกที่ทางไทยทวงคืนมาได้จากต่างประเทศ ตามด้วยทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ แห่งปราสาทเขาพนมรุ้ง และทับหลังปราสาทเขาโล้น ทับหลังปราสาทหนองหงส์
.. การจัดวางในระดับสายตา ทำให้เราได้ชมความงามอย่างละเอียด ได้ชื่นชมการแกะสลักหินทรายของช่างโบราณที่ทำได้วิจิตรเหลือเกิน
ทับหลังเทพนพเคราะห์
นับเป็นทับหลังที่อาจจะแปลกตากว่าทับหลังที่เราคุ้นชิน เพราะแกะสลักเป็นรูปเทพนพเคราะห์เรียงเป็นแถวอย่างวิจิตรงดงามโดยไม่มีลวดลายใดๆ มาเป็นส่วนประกอบ สำคัญ
เศียรพระพุทธรูป วัดพระศรีสรรเพชญ์
พระเศียรสำริดขนาดใหญ่ของพระพุทธรูป วัดพระศรีสรรเพชญ์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นหนึ่งในไฮไลท์ของการจัดแสดง .. งานศิลปกรรมสมัยอยุธยาตอนกลางชิ้นนี้ หากมองในระยะใกล้องค์ประกอบเครื่องหน้าของพระพุทธรูปองค์นี้อาจจะดูผิดสัดส่วนไปนิด แต่ทางภัณฑารักษ์บอกว่านี่เป็นสัดส่วนที่ช่างได้คิดมาแล้วว่าเหมาะสำหรับการรับชมในระยะไกล ตามขนาดของพระพุทธรูปที่ค่อนข้างสูงใหญ่
พระพุทธรูปหินทราย หล่อโลหะ และหล่อสำริดต่างๆ
ภาชนะรูปสัตว์
นอกจากสัตว์หิมพานต์แล้ว ในนิทรรศการนี้ยังมีภาชนะดินเผารูปสัตว์รูปร่างแปลกตาซ่อนอยู่ เช่น แท่นฤกษ์รูปเต่าอายุราว 900-1,000 ปี
ไหใบใหญ่รูปนกฮูก หรือ นกแสก
ภาชนะดินเผารูปกระต่ายเคลือบสีน้ำตาลที่มีส่วนผสมของเหล็กออกไซด์ ผลิตจากเตาที่อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งภาชนะรูปสัตว์เหล่านี้ไม่ได้แค่เพื่อความสวยงาม แต่ยังสะท้อนความสมบูรณ์ของพื้นที่อีกด้วย
ไหรูปนกเคลือบสองสี .. เตาพนมดงเร็ก บุรีรัมย์ มีอายุประมาณ 800-900 ปีมาแล้ว ซึ่งนายโยธิน-นางวิวรรณ ธาราหิรัญโชติ เอื้อเฟื้อจัดแสดง รวมทั้งเครื่องปั้นดินเผาอีกหลายชิ้น
สิงห์แห่งลพบุรี
สิงห์นอกจากจะได้รับยกย่องว่าเป็นเจ้าป่าแล้ว ยังเป็นสัญลักษณ์ของวีรบุรุษ พระราชอำนาจ และราชบัลลังก์ ส่วนในวัฒนธรรมทวารวดีสิงโตถือเป็นสัตว์แห่งแสงสว่าง
นอกจากนี้ในศาสนาฮินดูยังมีคติที่ว่าดวงอาทิตย์นั้นกำเนิดจากการที่พระอิศวรนำสิงโต 6 ตัว ห่อด้วยผ้าแดง แล้วพรมน้ำอมฤติ อีกด้วย โดยในนิทรรศการมีประติมากรรมดินเผารูปสิงห์ที่แปลกตา รวมทั้งสิงห์คู่หล่อจากสำริดที่มีรูปทรงเฉพาะของศิลปะลพบุรีและสิงห์ดินเผาที่มีกล้ามแขนกล้ามท้องชัดเจนมาก
ยักษ์โบราณ
ในนิทรรศการมีงานรูปยักษ์ หรือ อสูร อยู่หลายชิ้นมาก เช่น ยักษ์แบบเขมรโบราณมีหน้าตาค่อนข้างต่างจากยักษ์ที่เราคุ้นเคย เช่น ประติมากรรมใบหน้ายักษ์ฝีมือช่างท้องถิ่นที่ได้แรงบันดาลใจมาจากเขมรโบราณซึ่งเปรียบได้กับรูปประติมากรรมอสูรยุดนาคที่หน้าประตูทางทิศใต้เมืองพระนครหลวง หรือ นครธม ของกัมพูชา
นอกจากนี้ยังมียักษ์สังคโลกตาปูดโปนดุร้าย และแผ่นไม้สลักรูปยักษ์ทวารบาลอายุกว่า 300 ปี
ของใช้ที่ทำจากสำริด
สิ่งที่แสดงให้เห็นว่ามนุษย์ที่อยู่อาศัยบนแผ่นดินไทยยุคก่อนประวัติศาสตร์รู้จักการถลุงโลหะก็คือข้าวของเครื่องใช้ที่ทำจาก สำริด หรือ สัมฤทธิ์
นอกจากกลองมโหระทึกทำจากสำริดชิ้นใหญ่แล้ว ในนิทรรศการยังมีของชิ้นเล็กจำพวก หัวธนู และเครื่องประดับจากสำริด แต่ที่อาจจะเห็นได้ไม่บ่อยคือกำไลสำริดที่มาพร้อมกับกระดูกท่อนแขนของผู้สวมใส่ซ่อนอยู่ด้านใน
Ref : ข้อมูลบางส่วนจาก https://www.sarakadeelite.com/arts_and_culture/from-lopburi-to-ayutthaya-periods/
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปทั่วโลกกับพี่สุ … รวม link บทความที่เขียนในเพจ ..
***เมืองไทย ไดอารี่ by Supawan
***Supawan’s colorful world
***สถานีอร่อย by Supawan
โฆษณา