7 ธ.ค. 2021 เวลา 05:11 • หนังสือ
3 คำถามดึงสติก่อนโพสต์ในโลกออนไลน์
1.
เขียนหรือพูดอะไรไว้ในโลกออนไลน์ ต้องคิดให้ยาว ๆ ครับ เพราะเมื่อทำไปแล้วมันอยู่ทน อยู่นาน เราจึงต้องคิดให้ยาว ๆ ใจเย็น ๆ ไว้ อย่าเอาแต่ความคึกคะนองระยะสั้น ระวังจะทุกข์ทรมานระยะยาว ก่อนเขียนหรือพูดอะไรลงไปในโลกออนไลน์ ขอให้คิดให้ดีก่อน
1
ภาพถ่ายโดย Adrienn จาก Pexels
มีอยู่ 3 คำถามที่ผมใช้ตรวจสอบตัวเองก่อนโพสต์ จึงอยากเล่าให้ฟังครับ หากเห็นด้วย ก็ลองนำไปปรับใช้ดู
คำถามที่ 1 : อีก 5 ปีข้างหน้า หากย้อนมามองในสิ่งที่เขียนหรือพูดไว้ ฉันน่าจะสมเพชตัวเองหรือเปล่า?
ไม่ใช่สมเพชเรื่องความเชยนะครับ แต่สมเพชเรื่องคุณธรรมประจำใจ พูดง่าย ๆ ก็คือ เราจะเกลียดในสิ่งที่เขียนหรือพูดไปแบบนั้นหรือเปล่า?
ข้อนี้ยากหน่อย เพราะเมื่อเราเติบโตขึ้น สิ่งที่เชื่อในวันนี้ วันหน้าอาจจะไม่เชื่อแล้วก็ได้ แต่อย่างน้อย ๆ คำถามนี้ก็ช่วยดึงสติเราได้บ้างครับ
คำถามที่ 2 : ถ้าในอนาคต ฉันได้รับเชิญให้เป็นตัวแทนของประเทศ เพียงแต่ต้องสอบประวัติย้อนหลังเสียหน่อย สิ่งที่ฉันเคยเขียนหรือพูดไว้ในโลกออนไลน์วันนี้ จะย้อนมาทำร้ายตัวเองในอนาคตหรือเปล่า?
ผมชอบคำถามนี้ มันน่ากลัวดีครับ เพราะเราไม่รู้เลยว่าอนาคตจะมีโอกาสอะไรเข้ามาหาเราบ้าง หากวันหนึ่งกลายเป็นคนมีชื่อเสียงขึ้นมา จะเริ่มมีคนขุดคุ้ยอดีตของเรา และถ้าอดีตนั้นไม่สวยสักเท่าไหร่...แบบนี้คงเครียดน่าดู
1
คำถามที่ 3 : วันที่ลูกของฉันเติบโตขึ้น ถ้าลูกได้อ่านสิ่งที่ฉันเขียน ฟังสิ่งที่ฉันพูด ฉันจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูกหรือเปล่า?
คำถามนี้ชวนให้เรานึกถึงผลกระทบที่เรามีต่อผู้อื่น ไม่ใช่แค่ชื่อเสียงของเรา แต่หมายถึงบางอย่างที่ส่งต่อให้คนในครอบครัว (ถ้าใครไม่มีลูก ขอให้ลองนึกถึงคนในครอบครัว) คำถามนี้ทำให้เราละเอียดอ่อนขึ้นและตระหนักถึงผลกระทบของสิ่งที่เราทำไว้
ที่เขียนมาทั้งหมด ไม่ได้บอกว่าผมทำได้ยอดเยี่ยมนะครับ บางอดีตผมก็เสียใจ ไม่น่าพูดหรือเขียนอะไรแบบนั้นเลย ผมไม่ได้เป็นคนดีสมบูรณ์แบบขนาดนั้น แค่กำลังพยายามเป็นคนที่ดีขึ้น...ก็เท่านั้นเอง
2
อันนี้แค่เรื่องพูดหรือเขียนในโลกออนไลน์นะครับ ส่วนพฤติกรรมในชีวิตจริง ถ้าใครไปทำไม่ดีไว้...
รับรองว่ามันจะตามมาหลอกหลอนในโลกออนไลน์แน่นอน
2.
พูดถึงโลกออนไลน์ ผมขอชวนคุยอีกเรื่อง นั่นคือ "ตัวตนและภาพลักษณ์บนโลกออนไลน์" ผมมีความเชื่อว่า "ถ้าเราสร้างผลงานได้สักครึ่งหนึ่งของสิ่งที่เราสร้างภาพไว้...นั่นคงจะดีมาก"
เราบางคนสับสนกับคำว่า "สร้างแบรนด์" สร้างแบรนด์คือ กระบวนการทำสิ่งที่มีอยู่แล้ว เป็นความสามารถของเราอยู่แล้ว เป็นจุดแข็งของเราอยู่แล้ว จากนั้นจึงนำมาทำให้โดดเด่น เห็นชัด จนผู้คนจดจำ
1
การ "สร้างแบรนด์" ต้องไม่เกินความสามารถจริง ต้องไม่สร้างความคาดหวังที่จะทำให้ผิดหวัง
แต่บางคนกลับอุปโลกน์ในสิ่งที่ตัวเองไม่ได้เป็น ยังไม่ได้เป็น...หรือไม่มีวันจะเป็นได้ แล้วขยายให้โดดเด่นเห็นเป็นภาพ ทั้งภาพนิ่งและเคลื่อนไหว...จนผู้คนจดจำได้ และผู้คนจำนวนหนึ่งนั้นก็แปลกเหลือเกิน เชื่อง่าย หลอกง่าย คิดไปเองว่าถ้าภาพออกมาดูดี...แปลว่าผลงานก็ต้องดี ซึ่งมันคนละเรื่องกันเลย
มีอยู่ครั้งนึงผมอยากได้สินค้าชนิดหนึ่ง แต่ยังไม่มีข้อมูล (เพราะยังไม่ได้ค้นหา) ปรากฏว่ามีคนรู้จักกัน แนะนำผมว่า ซื้อยี่ห้อนี้สิ...ดีมาก ได้ยินดังนั้นผมก็เลยถามกลับไปว่า "จริงเหรอ...รู้ได้ไงว่าดี? เคยใช้เหรอ?"
เชื่อหรือไม่ เขาตอบผมว่า "ไม่เคยใช้ เห็นเขาโฆษณาบอกว่าสินค้าดี ก็คงต้องดีแหละ"
...กรรมแท้ ๆ คนอะไรเชื่อง่ายเหลือเกิน
3.
นิสัยเชื่อคนง่ายแบบนี้นี่เองที่เป็นช่องโหว่ให้คนสร้างภาพหลอกลวงกินง่าย ๆ ได้นิ่ม ๆ อิ่มไปเลย ลองคิดแบบตรรกะดูสิครับ เราทุกคนมีเวลาจำกัด คนที่เอาแต่ทุ่มเทเวลาเพื่อการสร้างภาพ เขาคนนั้นจะเอาเวลาที่ไหนไปสร้างผลงาน? แค่นี้ก็น่าจะพอประมวลและประเมินผลได้แล้ว
สร้างภาพ สร้างแบรนด์ไม่ใช่เรื่องไม่ดี เพียงแต่อย่าเอาแต่สร้างภาพ จนลืมสร้างผลงานให้เท่ากับการสร้างภาพ
เรื่องนี้ไม่ใช่แค่เพียงใช้ตรวจสอบผู้อื่น แต่เอาไว้ตรวจสอบตัวเองด้วย ผมเองก็ใช้เตือนตัวเองอยู่ทุกวันครับว่า...
"ถ้าเราสร้างผลงานได้สักครึ่งหนึ่งของสิ่งที่สร้างภาพไว้...นั่นคงจะดีมาก"
โฆษณา