7 ธ.ค. 2021 เวลา 12:14 • หนังสือ
3 ตัวกรอง ก่อนจองคอร์สเรียน
1.
ยุคนี้มีคอร์สให้เรียนมากมาย ใคร ๆ ก็ออกมาเปิดสอนกันเต็มไปหมด จนกลายเป็นปัญหาของคนอยากเรียนว่าจะเรียนคอร์สไหนดี?
ภาพถ่ายโดย cottonbro จาก Pexels
คุณกำลังประสบปัญหานี้อยู่หรือเปล่า? สมัครเรียนทุกคอร์สก็ไม่มีจะแ-ก เรียนคอร์สแปลก ๆ ก็ไม่รู้จะเรียนทำไม ไม่เรียนก็กลัวจะรู้ไม่ทันเขา แต่พอเรียนแล้วก็ไม่รู้จะเอาไปทำอะไรดี
ถ้าคุณมีอาการแบบนี้...เราพวกเดียวกันครับ ส่วนตัวผมเองทุกวันนี้ก็ยังเรียนรู้อยู่ จึงอยากแชร์ว่าผมใช้เกณฑ์อะไรบ้างในการเลือกว่าจะลงเรียนคอร์สไหนดี หากเห็นด้วย ก็ลองนำไปใช้ดูครับ
ผมเรียกหลักเกณฑ์นี้ว่า "3 ตัวกรองก่อนจองคอร์สเรียน"
2.
เรามาเริ่มกันเลย
ตัวกรองที่ 1 : ดูเนื้อหาที่สอน อันนี้ผมจะดู 2 เรื่อง
เรื่องแรก ดูว่า Outline เรียบเรียงได้เป็นระเบียบหรือไม่? พูดง่าย ๆ ว่าดู Customer Journey ว่าเขาจะพาเราไปเส้นทางไหน หากดูแล้วสับสน ยังไม่เห็นที่มาที่ไป แปลว่าผู้สอนอาจยังเรียบเรียงไม่ดี ยังไม่ตกผลึก เช่น อาจสอนเป็นรุ่นแรก สอนเป็นครั้งแรก ถ้าเป็นอย่างนี้ ผมจะรอให้นิ่งในรุ่น 2-3 ก่อน แล้วจึงค่อยเรียน หรือไม่ก็หาคนที่สอนคล้ายกัน แต่เป็นระบบกว่า (พอดีผมเป็นพวกคิดเป็นภาพครับ)
เรื่องที่สอง ดูว่าเนื้อหาครบถ้วนหรือไม่ เลี้ยงไข้หรือเปล่า? เช่น สอนไม่จบ มีคอร์สต่อไปอยู่นั่นแหละ เรียนไปเรียนมาเดี๋ยวหมดตัว แบบนี้ไม่ไหวครับ อย่างไรก็ตาม ต้องบอกว่าบางคอร์สก็จำเป็นต้องออกแบบให้เป็น step เริ่มจากง่ายไปยาก ถ้าแบบนี้เข้าใจได้ครับ สุดท้ายจึงต้องดูที่เจตนาผู้สอนว่าอยากให้ความรู้ หรือเพียงอยากได้เงิน
ตัวกรองที่ 2 : ดูผู้สอน อันนี้ผมจะดู 2 เรื่อง
เรื่องแรก ดูว่าผู้สอนเป็นใคร เคยทำอะไรมา น่าจะรู้จริงในสิ่งที่สอนหรือไม่ ผมหมายถึง เขาเรียนรู้ในสิ่งที่สอนมาจากไหน? เรียนจากการอ่านตำรา จากการอบรม หรือเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง ซึ่งไม่ว่าจะจากไหนก็ดีทุกข้อครับ...ขอแค่ไม่มั่วเท่านั้นก็พอ
คำถามก็คือแล้วจะเรารู้ได้อย่างไร? คำตอบก็คือต้องใช้หลักกาลามสูตร นั่นคือ อย่าเพิ่งเชื่อเขามาก เชื่อโดยไม่ได้คิด ให้ตรวจสอบข้อมูลจากที่อื่นด้วย จากนั้นให้ดูว่าถ้าเขารู้จริง แล้วเขาทำได้จริงในสิ่งที่สอนหรือไม่ (รวมถึงถ้าทำได้แบบยืนระยะนาน ๆ ได้ก็ยิ่งดี)
ซึ่งตรงจุดนี้ต้องระวังตรรกะวิบัติ เพราะอาจทำให้เราหลงประเด็น เช่น เขาเป็นโค้ชทีมโดดหนังยางมาก่อน นั่นก็ไม่ได้แปลว่าเขาจะเป็นโค้ชธุรกิจได้ หรือการได้รับชนะเพียงหนึ่งครั้ง ก็ไม่ได้แปลว่าเขาคนนั้นจะเข้าใจทั้งหมดแล้วมาสอนใครก็ได้
หรือการพูดเก่ง สอนสนุก ก็ไม่ได้แปลว่าเนื้อหาต้องดี...อันนี้ต้องแยกให้ออก หรือแม้แต่การที่เขาเป็นฝรั่งมังค่า ก็ไม่ได้แปลว่าจะต้องคุณภาพดีระดับอินเตอร์ เพราะฝรั่งก็เป็นเหมือนคนทุกชาติ นั่นคือ มีทั้งคนที่เก่งและไม่เก่ง
เอาเป็นว่าผมจะดูว่าผลลัพธ์ที่ผมอยากได้ เขาซึ่งเป็นผู้สอน ได้รับผลลัพธ์นั้นหรือยัง? เช่น ถ้าผมอยากเปิดร้านกาแฟแล้วประสบความสำเร็จ ผมก็ต้องหาผู้สอนที่เปิดร้านกาแฟแล้วโด่งดัง (และจะดีมาก ถ้าเขายังทำร้านกาแฟอยู่)
หรือหากผมหาผู้สอนแบบนี้ไม่ได้จริง ๆ ก็จะเลือกตัวเลือกรองลงมาว่า แล้วร้านกาแฟที่เปิดร้านแล้วประสบความสำเร็จ เขาไปเรียนกับใครที่ไหน และถ้าหากเป็นไปได้ อาจลองถามคนที่ไปเรียนมาแล้วว่าเขาสอนเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งจะได้ความจริงกว่าการฟัง testimonial ที่ทางผู้สอนทำขึ้นมาเอง เพราะมักเล่าความจริงเพียงบางส่วน (หรือแย่กว่านั้นคือ over claim อันนี้ต้องระวัง)
เรื่องที่สอง ดูว่าผู้สอนมี "จริต" ตรงกับที่เราชอบหรือไม่? หมายถึงเขามีท่าที ทัศนคติ และค่านิยมแบบที่ผมชอบหรือไม่ เพราะคงเป็นเรื่องที่ยากมาก หากเราต้องเรียนกับคนที่ไม่เหมือนเราเลย เช่น เราชอบคนตลก แต่ไปเรียนกับคนซีเรียส เราชอบคนทำตัวธรรมดา ๆ แต่ไปเรียนกับคนเว่อร์วัง แบบนี้คนสอนไม่ได้ผิด ,,,เรานั่นแหละผิดเอง
หากเป็นไปได้ ผมจะลองดูคลิปวิดีโอของเขาก่อน ดูมือไม้ ท่าทาง การวางตัว การพูดจา และความเชื่อที่เขาส่งออกมา และหากเป็นไปได้ ผมจะดูชีวิตส่วนตัวของเขา เพราะมันชัดกว่าในโลกออนไลน์
หากได้ผู้สอนที่แนวเดียวกัน ผมจะสบายใจในการเรียนขึ้นเยอะ และการเรียนครั้งนั้น จะสนุกมากจนอยากเรียนไปเรื่อย ๆ
3.
หลังจากผ่านไป 2 ตัวกรอง คือ ดูเนื้อหาและตัวผู้สอนแล้ว ยังมีอีกหนึ่งตัวกรองที่สำคัญ แต่เรามักมองข้าม นั่นคือ "ตัวเราเอง"
ตัวกรองที่ 3 : ดูตัวเราเอง อันนี้ผมก็จะดู 2 เรื่องครับ
เรื่องแรก ดูว่าถ้าจ่ายเงินแล้ว ฉันจะได้เรียนหรือเปล่า? อันนี้ถ้าเป็นคอร์สสอนสด ไม่น่ามีปัญหา เพราะอย่างไรเสีย เราคงต้องไปเรียนแน่ ๆ แต่ถ้าเป็นคอร์สออนไลน์ หลายครั้งเรามักซื้อมาดองเป็นมะม่วง ด้วยความหวังว่า "คง" ได้เรียนสักวันหนึ่ง
ซึ่งเชื่อเถอะครับว่า ถ้าซื้อคอร์สมาแล้วไม่ได้ดูใน 1 เดือน ให้ตีค่าโอกาสการได้เปิดดูเป็นศูนย์ได้เลย อย่างผมเองสารภาพว่าเคยซื้อคอร์สไปเกือบแสนบาท ทุกวันนี้ยังดูไม่ถึง 20% เลย ...เพราะฉะนั้นต้องระวังการตัดสินใจด้วยอารมณ์ชั่ววูบให้ดี เพราะมันเปลือง
เรื่องที่สอง ดูว่าเรียนแล้วเราจะเอาไปใช้ทำอะไร? ข้อนี้คล้าย ๆ กับข้อก่อนหน้านี้ นั่นคือถ้าเรียนแล้วไม่ได้เอาความรู้ไปใช้ ไม่เกิน 1 เดือน เราจะกลับไปเป็นคนเดิม คนที่ไม่เคยรู้เรื่องนี้มาก่อนเลย หลายคนลงเรียนไว้ก่อน เพื่อให้รู้สึกดีที่ได้เรียน จะได้เหมือนฉลาด แต่ความฉลาดจะไม่มีค่าเลย หากไม่ได้นำเอาความรู้ไปลงมือทำ
เพราะฉะนั้นก่อนเรียน ต้องตั้งวัตถุประสงค์ไว้เลยว่าเรียนแล้วจะเอาไปทำอะไร? อย่าเรียนเผื่อ เรียนไปเรื่อย ...มันเปลืองเงิน เปลืองเวลา เปลืองสมองอีกต่างหาก
หากเห็นด้วย ก็ลองนำไปใช้ดูครับ ส่วนตัวผมเองในฐานะเป็นผู้สอนด้วย (แม้ทุกวันนี้แทบไม่ได้สอนอะไรแล้ว) ก็จะพยายามทำตัวให้ได้แบบที่ว่ามา นั่นคือ เรียบเรียง outline ให้เป็นระบบ ไม่มีคอร์สตัวต่อเนื่องมากมาย สอนเฉพาะสิ่งที่เคยทำมาจริง ๆ ได้ผลลัพธ์ที่จับต้องได้จริง ๆ และยังทำในสิ่งที่สอนอยู่
ตัวจริงของผมกับตอนที่สอน ก็พยายามจะเป็นคนแบบเดียวกัน และจะสอนสิ่งที่คิดว่าใช้ได้นาน ไม่ล้าสมัย (อย่างไรก็ตาม หากผมเคยทำผิดพลาดประการใด ต้องขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วย และหากให้คำแนะนำได้ จะเป็นพระคุณครับ)
"ดูเนื้อหา ดูผู้สอน ดูตัวเอง" ผมเชื่อว่าทั้ง 3 ตัวกรองนี้ จะช่วยให้การเรียนคอร์สต่าง ๆ คุ้มค่าและตรงกับความต้องการของเราครับ.
โฆษณา