7 ธ.ค. 2021 เวลา 12:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
เก็บตกข้อสงสัย SSF RMF จบในโพสต์เดียว
เมื่อเราต้องการลดหย่อนภาษีในช่วงปลายปี สิ่งแรกที่เรามักนึกถึง คือการลงทุนใน SSF และ RMF เพราะนอกจากที่เราจะได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแล้ว เงินลงทุนก็อาจจะสร้างผลตอบแทนได้มากกว่าการฝากเงินอีกด้วย เรียกได้ว่า ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว
1
แต่ทุกการลงทุนย่อมมีความเสี่ยง เราควรศึกษาให้เข้าใจก่อนว่ากองทุนที่เราซื้อ เค้าเอาเงินไปลงทุนกับอะไร มีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน และมีเงื่อนไขอะไรบ้างที่เราควรรู้ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อ SSF และ RMF ถ้าพร้อมแล้วตามมาดูกันเลย
💬 ย้ำ !! จำนวนเงินลงทุนและจำนวนภาษีที่ประหยัดได้ คือคนละส่วนกัน
หลายคนอาจจะเข้าใจว่าเงินที่ซื้อ SSF หรือ RMF เราซื้อไปเท่าไหร่ ก็สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้เท่านั้นเลย
📢 เฉลยตรงนี้เลยว่า ไม่ใช่ !! แต่ก็ไม่แปลกอะไรที่เราจะเข้าใจผิดนะ เพราะตรงส่วนนี้เป็นเรื่องของการเลือกใช้ภาษา ซึ่งก็ชวนให้เราเข้าใจผิดจริง ๆ
แล้วเราสามารถซื้อ SSF และ RMF ได้สูงสุดเท่าไหร่ล่ะ ?
จำนวนเงินลงทุนทั้งใน SSF และ RMF สามารถนำไปใช้คำนวณลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 30% ของรายได้ที่ต้องเสียภาษีต่อปี แต่เราจะซื้อ SSF ได้สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท ส่วน RMF จะซื้อได้สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท
โดยมีเงื่อนไขเพิ่มเติมคือเมื่อรวมเงินลงทุน SSF และ RMF กับกองทุนเพื่อการเกษียณอื่น ๆ แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท (เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนการออมแห่งชาติ ประกันชีวิตแบบบำนาญ กบข. และกองทุนสงเคราะห์ครู)
🤔 ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ หากเรามีรายได้ปีละ 1,000,000 บาท และไม่มีเงินลงทุนในกองทุนเพื่อการเกษียณอื่น ๆ เลย เราจะสามารถซื้อ SSF ได้สูงสุดคือ 200,000 บาท เพราะถ้าซื้อ 30% ของรายได้จะคิดเป็น 300,000 บาท ซึ่งจะทำให้เราซื้อเกินสิทธิและผิดเงื่อนไข แต่ถ้าซื้อ RMF อย่างเดียว เราจะสามารถซื้อได้ 300,000 บาท ถือว่าไม่ผิดเงื่อนไขเพราะยังไม่เกิน 500,000 บาท
❗ แต่อย่าลืมตรวจสอบอีกทีว่า เรามีเงินลงทุนในกองทุนเพื่อการเกษียณอื่น ๆ รึเปล่า ? เช่น เรามีประกันชีวิตแบบบำนาญ 90,000 บาท และกองทุนการออมแห่งชาติ 10,000 บาท แบบนี้เราก็จะมีสิทธิซื้อ SSF และ RMF รวมกันได้ไม่เกิน 400,000 บาท
ทีนี้ไปดูกันว่า SSF RMF จะช่วยประหยัดภาษีได้จริง ๆ เท่าไหร่ ?
📌 หัวใจหลักตรงนี้คือ “ฐานภาษี” สมมุติว่า ปีนี้เรามีรายได้ 450,000 บาทต่อปี ดังนั้นฐานภาษีสูงสุดที่เราต้องจ่ายจะอยู่ที่ 10% หากเราซื้อ SSF หรือ RMF ก็จะช่วยประหยัดภาษีได้ 10% ของจำนวนเงินที่ซื้อไป เช่น เราซื้อ SSF 50,000 บาท ก็จะประหยัดภาษีได้ถึง 5,000 บาท ทันที
ระยะเวลาการถือหน่วยลงทุน นับยังไง ?
ระยะเวลาการถือทั้ง SSF และ RMF จะนับเป็นแบบเต็มปี (นับวันชนวัน) ต่างจาก LTF ที่นับเป็นแบบปีปฏิทิน อธิบายง่าย ๆ ว่า ถ้าเราเคยซื้อ LTF เอาไว้เมื่อ 12 ธ.ค. 59 พอถึง 2 ม.ค. 65 เราก็สามารถขายได้เลยทันที เนื่องจากเงื่อนไขของ LTF คือต้องถือแค่ 7 ปีปฏิทิน ซึ่งถ้าดูระยะเวลาที่ถือจริง ๆ ก็จะแค่ 5 ปี กับอีกไม่กี่วันเอง
ต่างจาก SSF ที่ต้องถือ 10 ปีเต็ม และ RMF ที่ต้องถือ 5 ปีเต็ม ดังนั้นถ้าเราซื้อ RMF วันที่ 1 ธ.ค. 64 เราจะขาย RMF ได้อีกทีก็เมื่อ 1 ธ.ค. 69 นู้นเลย (RMF จะมีเงื่อนไขเพิ่มเติม คือ เราต้องมีอายุ 55 ปีเต็มด้วยนะ จึงจะขายหน่วยลงทุนแล้วไม่ผิดเงื่อนไข)
SSF และ RMF ต้องซื้อทุกปีไหม ?
SSF ไม่จำเป็นต้องซื้อทุกปี เราซื้อปีไหนก็ใช้ลดหย่อนภาษีในปีนั้น ส่วน RMF มีเงื่อนไขที่ต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี แต่เว้นได้ไม่เกิน 1 ปี
มีจำนวนเงินลงทุนขั้นต่ำรึเปล่า ?
ทั้ง SSF และ RMF ไม่มีขั้นต่ำในการซื้อ เราจะซื้อเท่าไหร่ก็ได้ แล้วแต่ความศรัทธา ความต้องการ และกำลังเงินของเรา
ซื้อ-ขาย สับเปลี่ยน กองทุน ได้ไหม ?
ทั้ง SSF และ RMF สามารถสับเปลี่ยนกองทุนได้ แต่ต้องเป็นประเภทเดียวกันเท่านั้นนะ
เช่น เราถือ SSF ที่เน้นลงทุนในหุ้นเทคโนโลยีในจีนเป็นหลัก แต่ด้วยสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ผู้นำจีนออกกฎควบคุมเวลาการเล่นเกมออนไลน์ของเด็กจีน ถ้าเราคิดว่าราคาหุ้นของบริษัทผู้ผลิตเกมในจีนอาจจะปรับตัวลงเร็วและแรงแน่ ๆ เพื่อเลี่ยงกรณีนี้ เราก็สามารถเปลี่ยนไปถือ SSF ที่เน้นลงทุนหุ้นไทยเป็นหลักก็ได้ (ถ้าเราชอบหุ้นไทยนะ) แต่เราไม่สามารถสลับกอง SSF มาเป็น RMF เพราะจะทำให้ผิดเงื่อนไข
ถามตัวเอง เราเหมาะกับ SSF หรือ RMF มากกว่ากัน
ด้วยเงื่อนไขระยะเวลาการถือครองและวัตถุประสงค์ที่ไม่เหมือนกัน จึงทำให้ SSF และ RMF มีความเหมาะสมกับกลุ่มคนที่แตกต่างกันไป
เช่น ถ้าเราเป็นพนักงานบัญชีอายุ 25 ปี แต่จะให้ไปถือ RMF ที่ลงทุนหุ้นไทย จนถึงอายุ 55 ปี ก็คงไม่เหมาะเท่าไหร่ เพราะ RMF ถูกออกแบบมาเพื่อการเกษียณและการลงทุนในหุ้นก็มีความผันผวนสูง
ถ้าวันหนึ่งเราเกิดอยากขาย RMF ก่อนครบอายุ 55 ปี ไม่ว่าจะเพราะมีความจำเป็นต้องใช้เงินเร่งด่วนหรือจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม นั่นก็จะทำให้เราผิดเงื่อนไขและต้องหาเงินมาชำระภาษีที่ได้สิทธิลดหย่อนไปก่อนหน้า
อีกตัวอย่างคือ ถ้าเราอายุใกล้ถึง 50 ปี การลงทุนใน SSF ก็อาจจะไม่ตอบโจทย์เท่าไหร่ เพราะเราต้องถือ SSF ครบ 10 ปีเต็ม ถ้าเริ่มซื้อเมื่อตอนอายุ 48 ปี กว่าจะได้ขายและนำเงินออกมาใช้ก็ต้องรอถึงอายุ 58 ปี ซึ่งจะนานกว่า RMF ที่เมื่อครบอายุ 55 ปี และถือมาเป็นเวลา 5 ปีเต็มแล้ว ก็สามารถขายได้ทันที
สรุปสั้น ๆ ถ้าเราอายุยังน้อยและต้องการลงทุนระยะยาวก็ควรเลือกลงทุนใน SSF แต่ถ้าใครที่อายุมากหน่อย RMF ก็ดูจะเหมาะสมกับการวางแผนเพื่อเกษียณมากกว่าครับ
"เพราะการเงินเป็นเรื่องของทุกคน"
พวกเรากลุ่มคนที่รักเรื่องราวของการเงินการลงทุนเป็นชีวิตจิตใจ จึงก่อตั้งเพจ Dime! (ไดม์!) ขึ้น
Dime! แปลว่าเหรียญ 10 เซ็นต์ (ประมาณ 3 บาท) สื่อถึงความตั้งใจของเราที่จะทำให้การเงินการลงทุนเป็นเรื่องที่คุณเข้าถึงได้ เข้าใจง่าย และนำไปประยุกต์ใช้ต่อได้จริง เหมือนกับเงิน 1 ไดม์ ที่ใคร ๆ ก็สามารถเข้าถึงได้
หากทุกคนมีความรู้ทางการเงินที่แข็งแรง
สังคมของเราก็จะดีขึ้นตามไปด้วย
โฆษณา