9 ธ.ค. 2021 เวลา 01:00 • ธุรกิจ
ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร ต่างกันอย่างไร ต้องจดอันไหนจึงจะถูก
หลายคนคงเคยได้ยินคำว่าลิขสิทธิ์และสิทธิบัตรกันมาบ้างแล้วใช่ไหมครับ แต่ยังแยกความแตกต่างไม่ออก ไม่รู้ว่าถ้าเรามีงานออกแบบของเราหรืองานประดิษฐ์ของเราแล้วเราจะจดคุ้มครองเป็นลิขสิทธิ์หรือสิทธิบัตรดี วันนี้ผมมีหลักการพิจารณาง่ายๆ เพื่อให้ท่านสามารถตัดสินใจได้ว่าจะจดงานของท่านเป็นสิทธิบัตรหรือลิขสิทธิ์ครับ
อันดับแรกก็ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าลิขสิทธิ์เป็นกฎหมายที่มีไว้คุ้มครองงานสร้างสรรค์ที่มีลักษณะเป็นงานศิลปกรรม วรรณกรรม งานถ่ายภาพ งานแพร่ภาพกระจายเสียง หรืองานทางด้านศิลปะอื่นๆ ซึ่งมีระบุไว้ในพรบ.ลิขสิทธิ์ ดังต่อไปนี้ ครับ
1. งานวรรณกรรม (รวมไปถึงโปรแกรมคอมพิวเตอร์)
2. งานการแสดง
3. งานวิจิตรศิลป์ ศิลปกรรม ได้แก่ ภาพวาด ประติมากรรม งานพิมพ์ งานตกแต่งสถาปัตย์ ภาพถ่าย ภาพวาดเขียน แผนที่ ภาพร่าง งานประยุกตศิลป์ (งานประยุกตศิลป์ได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ 25 ปีหลังจากวันจัดสร้าง)
4. งานดนตรี
5. งานสิ่งบันทึกเสียง (เทป ซีดี)
6. งานโสตทัศนวัสดุ (วีซีดี ดีวีดี ที่มีภาพหรือมีทั้งภาพและเสียง)
7. งานภาพยนตร์
8. งานแพร่เสียงแพร่ภาพ
9. งานอื่นใดในแผนกวรรณคดี วิทยาศาสตร์ หรือศิลปะ
สำหรับสิทธิบัตรนั้นมีไว้เพื่อคุ้มครองงานประดิษฐ์ งานออกแบบผลิตภัณฑ์ หรืองานวิจัย ซึ่งจะต้องมีประโยชน์ในเชิงพาณิชย์และสามารถผลิตได้ในระบบอุตสาหกรรมด้วย
เพื่อให้ชัดเจนขึ้นผมขอยกตัวอย่างดังต่อไปนี้ครับ
หนังสือและงานประพันธ์ต่างๆ ถือเป็นงานลิขสิทธิ์
หากเราแต่งหนังสือขึ้นมาสักเล่มหนึ่ง แล้วต้องการจดทะเบียนไม่ให้มีใคร copy เนื้อหา หรือทำซ้ำลอกเลียนหนังสือของเรา อันนี้จะถือเป็นงานลิขสิทธิ์และต้องจดเป็นลิขสิทธิ์ครับเพราะถือเป็นงานวรรณกรรม งานประพันธ์
  • 1.
    หนังสือและงานประพันธ์ต่างๆ ถือเป็นงานลิขสิทธิ์ หากเราแต่งหนังสือขึ้นมาสักเล่มหนึ่ง แล้วต้องการจดทะเบียนไม่ให้มีใคร copy เนื้อหา หรือทำซ้ำลอกเลียนหนังสือของเรา อันนี้จะถือเป็นงานลิขสิทธิ์และต้องจดเป็นลิขสิทธิ์ครับเพราะถือเป็นงานวรรณกรรม งานประพันธ์
  • 2.
    งานประดิษฐ์และงานวิจัยต่างๆ ถือเป็นงานสิทธิบัตร หากต้องการคุ้มครองงานวิจัยหรือสิ่งประดิษฐ์ที่ได้คิดค้นขึ้น เช่น สูตรสารเคมี, กรรมวิธีการผลิต, กรรมวิธีการเก็บรักษา, ตลอดจนกลไก หรือองค์ประกอบทางวิศวกรรม สามารถขอรับความคุ้มครองเป็นสิทธิบัตรการประดิษฐ์หรืออนุสิทธิบัตรได้ แต่ยังมีสิทธิบัตรอีกประเภทเรียกว่า สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ ที่ให้ความคุ้มครองเฉพาะรูปร่างรูปทรง สีสัน ลวดลายภายนอกของผลิตภัณฑ์เท่านั้น โดยขอบเขตความคุ้มครองไม่รวมถึงกลไกการทำงานภายในแบบผลิตภัณฑ์นั้นๆ
3. โลโก้ต้องจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้า
ทีนี้หลายคนก็จะเกิดความสงสัยว่าแล้วถ้าออกแบบโลโก้ ออกแบบแบรนด์ขึ้นมาแล้วเราจะสามารถจดเป็นสิทธิบัตรหรือลิขสิทธิ์ดีก็ต้องขอบอกไว้ตรงนี้เลยว่าโลโก้หรือแบรนด์ที่ต้องการที่จะจดทะเบียนเพื่อใช้เป็นเครื่องหมายการค้านั้นจะไม่สามารถจดลิขสิทธิ์หรือสิทธิบัตรได้ครับเพราะจะได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าแยกต่างหาก เพราะถึงแม้ว่าโลโก้นั้นจะเป็นภาพวาดหรือลายกราฟิกซึ่งน่าจะได้รับการคุ้มครองตาม พรบ. ลิขสิทธิ์ แต่วัตถุประสงค์นั้นมีไว้เพื่อใช้เป็นเครื่องหมายการค้า ดังนั้นก็ต้องจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าจึงจะได้รับความคุ้มครองครับ
สรุปง่ายๆ ก็คือถ้าต้องการออกแบบโลโก้และใช้เป็นเครื่องหมายการค้าหรือใช้เป็นแบรนด์ของเราแบบนี้ก็ต้องจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไปเลยครับ แต่ถ้าเราประดิษฐ์อะไรขึ้นมาได้ มีงานวิจัยหรืองานออกแบบผลิตภัณฑ์ให้จดสิทธิบัตรไปเลยครับ แต่ถ้าเกิดว่าเรามีงานประพันธ์ วรรณกรรม ภาพวาด ภาพถ่าย งานแต่งเพลง หรืองานศิลปะอื่นๆ ก็ให้จดลิขสิทธิ์ไปเลยครับ
อย่างไรก็ตามลิขสิทธิ์นั้นแตกต่างกับเรื่องสิทธิบัตรหรือเครื่องหมายการค้าอยู่เล็กน้อยตรงที่งานลิขสิทธิ์จะได้รับความคุ้มครองทันทีเมื่อมีการสร้างขึ้นมา ซึ่งจริงๆ แล้วไม่จำเป็นต้องไปจดทะเบียนก็ได้ครับแต่ถ้าเกิดว่าเราต้องการหลักฐานว่าเราเป็นผู้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้นมาจริงเพื่อเอาไปใช้เป็นหลักฐานก็สามารถทำได้โดยการไปจดแจ้งลิขสิทธิ์กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ครับ ส่วนเครื่องหมายการค้ากับสิทธิบัตรนั้นจะต้องจดทะเบียนก่อนจึงจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย โดยยึดหลักที่ว่าใครจดทะเบียนก่อนก็ได้มีสิทธิ์ก่อน คนที่มาทีหลังก็จะไม่สามารถจดทะเบียนซ้ำเดิมกับที่เราจดไปแล้วได้ครับ
มาถึงตรงนี้ทุกท่านก็คงเข้าใจมากขึ้นแล้วว่าจะจดคุ้มครองงานของตัวเองเป็นอะไรดีระหว่างลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร หรือเครื่องหมายการค้า แล้วอย่าลืมรีบจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาของทุกท่านกันนะครับจะได้ไม่ต้องมาปวดหัวเวลาถูกละเมิด
โฆษณา