8 ธ.ค. 2021 เวลา 07:31 • ประวัติศาสตร์
ความลับของภาพวาดฝาผนังในเซนโต
ผ้าม่านสัญลักษณ์โรงอาบน้ำ credit : otokonokakurega
ลมหนาวพัดมาพร้อมความแห้งที่ทำให้ผิวพรรณเริ่มหยาบกร้าน จะมีอะไรดีไปกว่าการเดินไปอาบน้ำและแช่น้ำร้อนที่เซนโต(銭湯) โรงอาบน้ำสาธารณะใกล้ ๆ บ้าน หากใครอาศัยอยู่หรือเคยเดินทางมาที่ญี่ปุ่นอาจจะเคยเห็นสัญลักษณ์ ♨ นั่นก็คือบ่อน้ำร้อนหรือโรงอาบน้ำนั่นเอง
7
โรงอาบน้ำสาธารณะก็คือสถานที่ ๆ คนทั่วไปใช้ชำระล้างร่างกาย รวมไปถึงการแช่น้ำร้อนในบ่อน้ำร้อนขนาดใหญ่รวมกัน!!! แต่...ไม่ต้องตกใจค่ะ เพราะส่วนใหญก็จะแยกเป็นฝั่งผู้ชายและผู้หญิง แม้ว่าจะมีแต่เพศสภาพแบบเดียวกัน แต่คนไทยเราก็ไม่คุ้นเคยกับการต้องอาบน้ำร่วมกับใคร หลายคนจึงรู้สึกกระอักกระอ่วนกับการต้องเข้าเซนโต(銭湯) หรืออนเซ็น(温泉)
4
แล้วทำไมคนญี่ปุ่นเขาถึงอาบน้ำรวมกัน?
ธรรมเนียมการแช่น้ำร้อนนั้นมีมาตั้งแต่ยุคโบราณเป็นพันปี โดยในระยะแรกการแช่น้ำร้อนกระทำเพื่อปัดเป่าโรคภัยตามความเชื่อทางศาสนา และมีการใส่สมุนไพรชนิดต่าง ๆ ลงไปในบ่อน้ำร้อนด้วย จนกระทั่งถึงยุคเอโดะ ผู้คนทั่วไปเริ่มนิยมใช้บริการโรงอาบน้ำสาธารณะมากขึ้น ไม่เพียงแค่จุดประสงค์เพื่อชำระล้างร่างกาย แต่ยังใช้เป็นสถานที่พบปะเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารซึ่งกันและกัน สิ่งที่ตามมาก็คือเกิดบริการต่าง ๆ ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการแสดง เล่นดนตรี สครับผิว หรือแม้แต่การทำผม โรงอาบน้ำสาธารณะจึงค่อย ๆ กลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตชาวญี่ปุ่นเรื่อยมา
3
บรรยากาศโรงอาบน้ำยุคเอโดะ (ค.ศ.1600-1868) credit : Japaaan magazine
ยุคเฟื่องฟูของโรงอาบน้ำสาธารณะอยู่ในช่วงปีโชวะที่ 43 (ค.ศ. 1968) ขณะนั้นมีโรงอาบน้ำทั่วประเทศถึง 18,000 แห่ง แต่เมื่อมีการพัฒนาของระบบแก๊สและห้องอาบน้ำในครัวเรือน ความนิยมในการออกจากบ้านเพื่อไปอาบน้ำจึงค่อย ๆ ลดลง จากผลสำรวจในปี ค.ศ. 2018 พบว่าทั่วประเทศมีการให้บริการโรงอาบน้ำสาธารณะเหลือเพียงแค่ 4,000 แห่งเท่านั้น!
3
และเมื่อพูดถึงเซนโต-โรงอาบน้ำสาธารณะ ทุกคนนึกถึงอะไรกันบ้าง? บางคนอาจนึกถึงบ่อน้ำร้อนหลากหลายแบบ(湯船) ห้องเซาวน่า(岩盤浴) โรงอาบน้ำขนาดใหญ่ที่เรียกว่า ซุปเปอร์เซนโต(スーパー銭湯) จะมีห้องอ่านหนังสือและโต๊ะปิงปองด้วย อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันนั่นก็คือ ภาพวาดฝาผนังในโถงอาบน้ำซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นภาพของภูเขาไฟฟูจิ!
4
ภาพวาดภูเขาไฟฟูจิในเซนโตที่เมืองโคะกาเนะอิ, โตเกียว credit : THE GATE
ทราบหรือไม่ว่า...ทำไมต้องเป็นภาพภูเขาไฟฟูจิ?
ว่ากันว่าการเริ่มวาดผนังในโรงอาบน้ำสาธารณะเริ่มขึ้นในปีไทโชที่ 1 (大正元年、ค.ศ. 1912) ในโรงอาบน้ำคิไคยุ(キカイ湯) ซึ่งเปิดให้บริการมาตั้งแต่ปีเมจิที่ 17 (ค.ศ. 1884-1971) ในเขตชิโยดะ กรุงโตเกียว โดยมีความตั้งใจที่จะสร้างความเพลิดเพลินให้กับบรรดาเด็ก ๆ ที่พ่อแม่พามาอาบน้ำ จิตกรผู้ซึ่งได้รับมอบหมายหน้าที่ในขณะนั้นคือ คุณคาวะโกเอะ โคชิโร่ (川越広四郎) ซึ่งเป็นคนจังหวัดชิสุโอกะ ตัดสินใจวาดภาพภูเขาไฟฟูจิสัญลักษณ์ประจำบ้านเกิดที่มีลักษณะสวยงามตามอุดมคติลักษณะภูเขาของผู้คนในยุคนั้น รวมทั้งภูเขาไฟฟูจิยังเป็นสัญลักษณ์แห่งความโชคดีอีกด้วย
3
การวาดรูปภูเขาไฟฟูจิในเวลานั้นของคุณคาวะโกเอะทำให้โรงอาบน้ำคิไคยุได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ด้วยเหตุนี้โรงอาบน้ำตามสถานที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะในแถบภูมิภาคคันโตจึงนิยมวาดผนังเป็นรูปภูเขาไฟฟูจินั่นเอง
3
โฆษณา