8 ธ.ค. 2021 เวลา 12:03 • ท่องเที่ยว
นิทรรศการศิลปะเอเชีย @ อาคารมหาสุรสิงหนาท พิพิธภัณฑ์พระนคร
อาคารมหาสุรสิงหนาท .. เป็นอาคารที่สร้างขึ้นเพื่อปรับปรุงขยายงานพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ทรงไทยประยุกต์ 2 ชั้น สร้างพร้อมกัน 2 หลัง อาคารหลังทิศใต้เรียกว่า “อาคารมหาสุรสิงหนาท” ตั้งนามเป็นเฉลิมพระเกียรติยศแด่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท พระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระองค์แรก ผู้สถาปนาพระราชวังบวรสถานมงคลขึ้นเมื่อ พ.ศ.2325 ส่วนอาคารหลังเหนือ เรียกว่า “อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์”
อาคารมหาสุรสิงหนาทปัจจุบันใช้เป็นที่จัดแสดงศิลปะต่างประเทศและศิลปะในดินแดนไทย ก่อน พ.ศ.1800 คือ ศิลปะเอเชีย ศิลปะทวารวดี ศิลปะศรีวิชัย เทวรูปรุ่นเก่า และศิลปะลพบุรี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ.2510 เป็นอาคารซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของหมู่พระวิมาน เป็นอาคารทรงไทยประยุกต์ สร้างเมื่อ พุทธศักราช 2510 เรียกว่า อาคารมหาสุรสิงหนาท
ปัจจุบันอาคารมหาสุรสิงหนาทจัดแสดงศิลปะเอเชีย และหลักฐานทางประวัติศาสตร์ - โบราณคดีที่พบบนผืนแผ่นดินไทยตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์จนถึงสมัยประวัติศาสตร์ก่อนพุทธศักราช ๑๘๐๐ อันเป็นช่วงเวลาที่ดินแดนในประเทศไทยปัจจุบันปรากฏหลักฐานการอยู่อาศัยของมนุษย์ จนถึงยุคที่รับวัฒนธรรมจากภายนอกโดยเฉพาะประเทศอินเดีย ก่อเกิดการพัฒนาจากบ้านสู่รัฐ ได้แก่ ห้องศิลปะเอเชีย ห้องก่อนประวัติศาสตร์ ห้องทวารวดี ห้องลพบุรี และห้องศรีวิชัย
ห้องศิลปะเอเชีย
ห้องศิลปะเอเชีย .. จัดแสดงโบราณวัตถุที่เป็นงานศิลปกรรมในภูมิภาคเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ศิลปะอินเดีย ศิลปะลังกา ศิลปะจีน ศิลปะญี่ปุ่น ศิลปะจาม และศิลปะพุกาม-พม่า โดยเฉพาะพระพุทธรูปสกุลช่างคันธาระ กับ คุปตะ
โบราณวัตถุที่จัดแสดง .. ส่วนมากเป็นประติมากรรมในพุทธศาสนาซึ่งแสดงถึงการแพร่กระจายและความหลากหลายของรูปแบบศิลปกรรมในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งพุทธศิลป์บางประเทศได้เป็นต้นแบบการสร้างพระพุทธรูปในศิลปะไทย อาทิ ศิลปะลังกาที่ส่งอิทธิพลให้กับศิลปะสุโขทัย หรือศิลปะพม่าที่ส่งอิทธิพลให้กับการสร้างพระพุทธรูปในศิลปะล้าน
ห้องศิลปะเอเชีย .. เล่าเรื่องการกำเนิดพระพุทธรูปโดยจัดแสดงชุดเศียรพระพุทธรูปในช่วงราวพุทธศตวรรษที่ 6-8 ซึ่งขุดพบที่เมืองฮัดดา ประเทศอัฟกานิสถาน และพระพุทธรูปในช่วงพุทธศตวรรษที่ 6-11 ซึ่งพบที่เมืองมาลาคันด์ ประเทศปากีสถานโดยพระพักตร์ของพระพุทธรูปคล้ายเทพอพอลโลของกรีก มวยผมหยิกแบบธรรมชาติและยังไม่ขมวดเป็นก้นหอย ส่วนจีวรห่มแบบริ้วผ้าธรรมชาติตามอย่างประติมากรรมโรมัน
.. แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของศิลปะกรีกและโรมันที่สืบเนื่องมาจากการยกทัพแผ่ขยายอิทธิพลของกษัตริย์กรีกโบราณ อเล็กซานเดอร์มหาราช มายังดินแดนเมโสโปเตเมีย จักรวรรดิเปอร์เซีย และอินเดีย โบราณวัตถุเหล่านี้เป็นผลงานของสกุลช่างคันธาระในแคว้นคันธาระของอินเดีย (ปัจจุบันตั้งอยู่บริเวณตอนเหนือของประเทศปากีสถาน) ซึ่งถือเป็นสกุลแรกที่มีการสร้างพระพุทธรูป
ตามคตินิยมของพระพุทธศาสนาแต่เดิมนั้นไม่นิยมสร้างพระพุทธรูปเพื่อบูชา แต่เมื่อกองทัพของอเล็กซานเดอร์มหาราชเข้ายึดครองบริเวณเอเชียแถบนี้จึงได้มีการนำวัฒนธรรมการสร้างเทพเจ้ามาประยุกต์ทำให้พระพุทธรูปและรูปเคารพต่าง ๆ ในศิลปะแบบคันธาระมีลักษณะหน้าตาตามคตินิยมของทางตะวันตกและมีความเสมือนจริงตามหลักกายวิภาค
“งานมาสเตอร์พีซอีกชิ้นคือพระพุทธรูปปางประทานพรแบบศิลปะคุปตะของอินเดีย ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 10-11 โดยสกุลช่างสารนาถซึ่งนักวิชาการกล่าวว่าเป็นยุคทองของศิลปะอินเดียเหมือนกับสมัยสุโขทัยของเรา ...
.. พระพุทธรูปในยุคนี้มีความเป็นมหาบุรุษมากกว่าแบบสกุลคันธาระ เช่น ผมขมวดเป็นก้นหอย กะโหลกศีรษะปูด หูยาว แขนยาวเกือบเสมอหัวเข่า เครื่องเพศเก็บอยู่ในฝักและไม่ได้เปลือยแต่ห่มจีวรบางแนบลำตัวแบบผ้าไหมกาสีของแคว้นกาสี”
ในห้องยังจัดแสดงรูปเคารพในคติความเชื่อของพุทธศาสนาในนิกายต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ... เช่นศิลปะของอินเดีย ลังกา จีน ญี่ปุ่น จาม พุกาม-เมียนมา ที่เกิดจากการเผยแผ่ศาสนาและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมตั้งแต่โบราณก่อนคริสตกาลผ่านการค้าบนเส้นทางสายไหมทั้งทางบกและทางทะเลที่เชื่อมอารยธรรมตะวันตกและตะวันออกเข้าด้วยกัน
“นิกายแบบมหายานของจีน ทิเบต และเนปาลนับถือพระโพธิสัตว์มากกว่าพระพุทธเจ้า เราจึงได้เห็นรูปเคารพแปลก ๆ เช่น รูปยมานตกะ (ภาคดุร้ายของพระโพธิสัตว์มัญชุศรี) และพระเกศาของพระโพธิสัตว์บางองค์ในนิกายมหายานของทิเบตและเมียนมามีการทาสีน้ำเงินด้วยพิกเมนต์ (pigment) ของแร่ลาพิสลาซูลี ซึ่งเป็นสีเหมือนสีของท้องฟ้ายามค่ำคืนในคัมภีร์มหายาน”
นอกจากนี้ยังจัดแสดงพระพุทธรูปไม้แกะสลักองค์ใหญ่หายากแบบนิกายมหายานของเมียนมาที่ทรงเครื่องแสดงภูมิสปรรศมุทรา หรือปางสัมผัสแผ่นดิน ซึ่งก็คือปางมารวิชัยหากเรียกตามแบบนิกายเถรวาท
พระพุทธรูปศิลปะดั้งเดิมของหลายประเทศในเอเซีย
อีกหนึ่งไฮไลต์คือพระพุทธรูป 8 ปางแบบอินเดียปาละในช่วงพุทธศตวรรษที่ 14 แกะสลักจากหิน
.. มีบางคนบอกว่า มี พระพุทธรูป 8 ปางแบบอินเดียปาละในช่วงพุทธศตวรรษที่ 14 แกะสลักจากหินและปิดทองซึ่งขุดได้จากกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ จังหวัดอยุธยา และบริเวณด้านหลังของพระพุทธรูปยังจารึกคาถาเยธัมมาฯ ด้วยตัวอักษรเทวนาครี โดยคาถานี้ถือเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาเพราะกล่าวถึงความเป็นเหตุผลและจุดมุ่งหมายของพระพุทธศาสนาไว้ในคาถาเดียว ...
จารึก อ่านเป็นภาษาสันสกฤต
เย ธมฺมา เหตุปปฺภวา เหตุ เตสํ ตถาคตา หยาวาดัท เตสญฺ จโย นิโรธา เอวํ วาที มหาสมณา
ความว่า ธรรมทั้งหลาย มีเหตุเป็นแดนเกิด พระตถาคตได้ตรัสถึงเหตุเหล่านั้น เมื่อสิ้นเหตุเหล่านั้น จึงดับทุกข์ได้ พระมหาสมณะมีวาทะตรัสสอนเช่นนี้เสมอ
.. แต่วันที่ไปชม ไม่รู้ว่าจัดแสดงอยู่ที่ไหน หรืออาจจะมองผ่านไม่ทันได้สังเกตก็ได้ค่ะ
การรวบรวมวิธีอธิบายประวัติความเป็นมาของพระพุทธเจ้า องค์พระศาสดาของศาสนาพุทธ ให้กระชับกระทัดรัดเพื่อให้เข้าใจง่าย ...
.. ก่อนหน้านั้น ภาพแกะสลักเพื่อบรรยายชีวิตพระพุทธเจ้านั้นมีมาก่อนแล้ว จากสมัย สุงคะ บราหุต คุชชาน คันทาระ และคุปตะ ทว่าแกะสลักศิลาแยกกันเป็นตอนๆ หลายชิ้น หรือไม่ก็ใหญ่เทอะทะ ด้วยเหตุผลเหล่านี้รูปแบบพระพุทธรูป 8 ปางจึงได้อุบัติขึ้น คือ เป็นชุดประวัติแบบย่อ (Buddha life in Epitome) ของศาสดาผู้ให้กำเนิดพุทธศาสนา ทุกเหตุการณ์แกะสลักอยู่ในชิ้นเดียวกัน และสลักอักขระคาถา เย ธมฺมา ฯลฯ เพื่อผู้คนในอนาคตหากได้พบถาวรวัตถุเหล่านี้ และได้อ่านพระคาถาบทนี้ย่อมจะเข้าใจและรับรู้ได้ว่า เมื่อก่อนโน้นในอดีต ได้เคยมีพระพุทธเจ้าจุติมาเผยแพร่พระธรรมแก่มวลมนุษย์เพื่อแก้เหตุแห่งทุกข์ก่อนแล้ว
.. องค์ขนาดใหญ่มักจะประดิษฐานในอาราม องค์ขนาดเล็กสำหรับพกพา ในขณะเดียวกันเหล่าธรรมทูตฯ ที่ออกไปเผยแพร่ศาสนาพุทธในต่างแดน มักนำพระพุทธรูปศิลา 8 ปางขนาดเล็กติดตัวไปด้วย เพื่อแสดง นำเสนอ และเป็นแม่แบบสำหรับสร้างพระพุทธรูป ในอริยาบทและปางต่างๆตามแบบแผนได้อย่างถูกต้องแก่หมู่ชนในท้องถิ่นเหล่านั้น
.. ดังจะเห็นว่ามีการพบพระพุทธรูป 8 ปาง องค์กระทัดรัดในต่างแดน อาทิ ทิเบต จีน ไทย พม่า ศรีลังกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่างชาวทิเบตนิยมเขียนเป็นภาพสำหรับแขวน (Thibetan Thangka paintings) จารึกคาถา เย ธมฺมาฯ ไว้หลังภาพเขียน ส่วนช่างชาวพม่านิยมสร้างและจำลองในรูปแบบศิลปะพม่าแบบพุกามแกะจากหินอ่อนสีขาว แต่ชาวอาราคัน (พม่าเรียกชาวอาราคันว่ายะไข่) นิยมแกะจากหินดำบาซอลท์เนื้อละเอียดรูปแบบศิลปะปาละเสนะ ซึ่งเป็นที่นิยมในเบงกอลขณะนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องสวมเครื่องประดับ
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปทั่วโลกกับพี่สุ … รวม link บทความที่เขียนในเพจ ..
***เมืองไทย ไดอารี่ by Supawan
***Supawan’s colorful world
***สถานีอร่อย by Supawan
โฆษณา