9 ธ.ค. 2021 เวลา 04:18
หนี้สาธารณะ เงินเฟ้อ และ ความเหลื่อมล้ำทางสังคม?
1
ปัจจุบันนี้ประเทศไทยได้เพิ่มเพดานหนี้สาธารณะขึ้นเป็น 70%ของGDP ผ่านสภาเรียบร้อยแล้วตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา เพื่อรองรับการกู้เงินเพิ่มหากมีความจำเป็นในอนาคต ซึ่งยังสามารถกู้ได้อีกประมาณ 1.2 - 1.3 ล้านล้านบาท ซึ่งถ้าเป็นไปตามแผน สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะเปิดเผยว่า ในสิ้นปีงบประมาณ 65 หนี้สาธารณะของไทยจะอยู่ที่ 62.69%
ทีนี้มาดูที่การมีหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นมีความเสี่ยงอะไรได้บ้าง อย่างแรกดอกเบี้ยสีทองเริ่มเห็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐอเมริกาในช่วงเดือนที่ผ่านมา ซึ่งอาจเป็นผลทำให้ไทยเราต้องขึ้นดอกเบี้ยตามไปด้วยเพื่อรักษาเสถียรภาพของค่าเงิน อาจทำให้รัฐมีต้นทุนการกู้เงินสูงขึ้นตามมา
อย่างที่สอง ในช่วงโควิดระบาดตั้งแต่ปีที่แล้วรัฐได้ออกพรบ.เงินกู้ระยะสั้น 1 ล้านล้านบาท ที่จะครบกำหนดในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งหนี้สาธารณะที่สูงขึ้นย่อมมาพร้อมกับวินัยการคลังและการบริหารหนี้สาธารณะที่ยากขึ้นตามมา
กลับมาที่คำว่าหนี้สาธารณะกันก่อน เมื่อรัฐบาลต้องการวางนโยบายการคลังขยายตัว จากการที่มีรายจ่ายมากกว่ารายรับ การก่อหนี้สาธารณะก็คือการยืมเงินในอนาคตมาใช้จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น การรัฐต้องการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ การกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้ประชาชนมีอำนาจซื้อมากขึ้น หลายคนมักเข้าใจว่าต้องไปกู้ยืมเงินมาจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ แต่ที่จริงแล้วหนี้สาธารณะของประเทศไทยเป็นหนี้ในประเทศในสัดส่วนถึง 89% จากหนี้สาธารณะ(ต.ค. 2564)
1
ในทางปฏิบัติ รัฐจะรับบทลูกหนี้โดยการออกตราสารหนี้ ซึ่งจำเป็นต้องจ่ายดอกเบี้ยตอบแทนให้กับเจ้าหนี้ (ผู้ถือตราสาร) โดยให้ค่าตอบแทนที่ต่ำกว่าเจ้าหนี้รายอื่นๆเนื่องจากรัฐถือว่าเป็นผู้มีเครดิตดีมากๆ
การเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะก็คือการเพิ่มขึ้นของสินทรัพย์ในตลาด เนื่องจากการออกตราสารหนี้ภาครัฐจะเพิ่มขึ้นโดยตรง มีงานศึกษามากมายที่สรุปว่าการเพิ่มขึ้นของสินทรัพย์ทำให้เกิดการกระจุกตัวของการถือครองทรัพย์สินและผลตอบแทนจากสินทรัพย์ได้ไม่ต่างจากการถือครองที่ดินหรือทองคำ ซึ่งถือเป็นการสร้างความเหลื่อมล้ำของคนรวยและคนจนมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเมื่อเราเจาะไปที่ผู้ถือครองสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับการถือครองตราสารหนี้ภาครัฐ พบว่าผู้ถือครองส่วนใหญ่จะเป็นสถาบันการเงินถึงร้อยละ 60 รองลงมาคือกองทุนจากต่างประเทศ และ แบงก์ชาติ และ น้อยที่สุดคือภาคครัวเรือนที่ไม่ใช่ธุรกิจ
ซึ่งถ้าเราขุดไปที่สถาบันการเงินที่มีสัดส่วนการถือครองตราสารหนี้ภาครัฐมากที่สุด เราจะพบว่าสถาบันการเงินเหล่านี้ได้รับเงินระดมทุนจากประชาชนทั่วไปผ่านการขายหน่วยลงทุนต่างๆเช่น SSF และ RMF ซึ่งแน่นอนว่าสัดส่วนการซื้อหน่วยลงทุนประเภทนี้สัมพันธ์กับรายได้สุทธิ พูดง่ายๆก็คือคนมีรายได้สูงมักต้องการซื้อหน่วยลงทุนลดหย่อนภาษีมากตามไปด้วย จากตรงนี้เราคงพอมองออกกันแล้วว่า หนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นก่อให้เกิดปัญหาการกระจุกตัวของสินทรัพย์และความเหลื่อมล้ำมากขึ้นยังไง เราเลยไม่แปลกใจเลยว่าปัญหาโรคระบาดครั้งนี้ทำไมทำให้ความเหลื่อมล้ำรุนแรงมากกว่าที่เป็นอยู่
1
นอกจากปัญหาความเหลื่อมล้ำที่มากขึ้นแล้ว การที่หนี้สาธารณะสูงขึ้นในภาวะที่คาดว่าดอกเบี้ยจะสูงขึ้น ต้นทุนในการกู้ยืมของภาคธุรกิจก็จะสูงขึ้นตาม ส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการสูงขึ้นตามไปด้วย พันธบัตรรัฐบาลเป็นสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำมากอาจเข้ามาเป็นทางเลือกให้กับนักลงทุนแทนที่หุ้นกู้ของภาคเอกชน ทำให้ภาคธุรกิจต้องแบกรับต้นทุนการเงินที่สูงขึ้นเพื่อดำเนินกิจการหรือลงทุนในการขยายตัว หรืออาจลดการลงทุนลงไปเลย (Crowding-out Effect) ล้วนสะท้อนกลับมาที่ผู้บริโภคในด้านราคาสินค้าและบริการที่จะปรับตัวสูงขึ้น
3
แต่ๆ ความเหลื่อมล้ำและราคาสินค้าที่สูงขึ้นอาจไม่ได้มาจากการมีระดับหนี้สาธารณะที่สูงขึ้นเพียงอย่างเดียว ถ้าเราดูตัวอย่างประเทศญี่ปุ่นที่มีหนี้สาธารณะสูงถึง 260% ของ GDP แต่กลับพบว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำต่ำมากๆ เนื่องจากสัดส่วนผู้ถือตราสารที่แตกต่างจากไทย ญี่ปุ่นสามารถจัดการให้ดอกผลจากผลตอบแทนหนี้สาธารณะกลับไปสู่ประชาชนผ่านกองทุนบำเหน็จ บำนาญและสวัสดิการสังคมต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ
1
การก่อหนี้ มีทั้งผลดีและผลเสีย ถ้ารัฐสามารถนำมาใช้ประโยชน์เพื่อการจ้างงาน การกระตุ้นเศรษฐกิจหรือโครงการที่ดอกเบี้ยสีทองชอบมาก เช่น “คนละครึ่ง” แต่ถ้าหนี้ที่ก่อไปแล้วแล้วกำลังมีแผนที่จะก่อเพิ่มไม่สามารถแก้ปัญหาปากท้องได้จริงและยังไปเพิ่มความเหลื่อมล้ำมากขึ้นไปอีกผลกระทบก็คือการพัฒนาคุรภาพชีวิตของประชาชน เพราะอย่างที่ได้ยกตัวอย่างไปแล้วว่าประเทศที่มีหนี้สาธารณะสูงมากๆไม่ได้น่าเป็นห่วงเท่ากับประเทศที่มีประสิทธิภาพและบริหารจัดการหนี้ได้ต่ำ
......รักนะ ดอกเบี้ยสีทอง
โฆษณา