9 ธ.ค. 2021 เวลา 02:40 • กีฬา
ดราม่าเดือดดาลในวงการกีฬาสหรัฐฯ เกิดขึ้น เมื่อนักว่ายน้ำแปลงเพศ (Trans Female) ลงแข่งขันร่วมกับผู้หญิงปกติ และคว้าเหรียญทองไปอย่างขาดลอย พร้อมทั้งทำลายสถิติอเมริกา แถมยังว่ายเข้าเส้นชัยก่อนอันดับสองแบบไม่เห็นฝุ่น ห่างกันถึง 38 วินาที
1
แน่นอน เมื่อเกิดเรื่องขึ้น ทางฝั่งนักกีฬาหญิงคนอื่นๆ รวมถึงสังคมออนไลน์ต่างยอมรับไม่ได้ บางคนเปรียบเทียบว่า ถ้ายูเซน โบลต์ เกิดอยากแปลงเพศ เป็นหญิงข้ามเพศ แล้วลงแข่งวิ่ง 100 เมตรหญิงพร้อมทำลายสถิติโลก คือก็จะโอเคกันจริงๆหรือ
2
ก่อนจะไปเริ่มเล่าตั้งแต่จุดเริ่มต้น เราจะไปอธิบายถึง "เพศสภาพ" กันอย่างเร็วๆ โดยในโลกของความหลากหลายทางเพศ LGBT ตัวอักษร T ย่อจากคำว่า Transgender ที่แปลว่าคนข้ามเพศ
การแบ่งกลุ่มย่อยของตัวอักษร T อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ดังนี้
1
1- Cis Male : คนเกิดเป็นชาย และรู้สึกว่าตัวเองคือเพศชาย
2- Cis Female : คนเกิดเป็นหญิง และรู้สึกว่าตัวเองคือเพศหญิง
3- Trans Male : คนที่เกิดเป็นหญิง แต่ข้ามมาเป็นเพศชาย
4- Trans Female : คนที่เกิดเป็นชาย แต่ข้ามมาเป็นเพศหญิง
ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม Cis หรือ Tran ก็มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่ากัน แต่ประเด็นคือเมื่อเข้าสู่โลกของการแข่งกีฬา มันจะมีความซับซ้อนขึ้นทันที โดยเฉพาะกลุ่ม Trans Female
นั่นเพราะต่อให้คุณเป็นชายที่ข้ามเพศมาเป็นหญิงแล้ว แต่โครงสร้างร่างกายต่างๆ ก็ยังมีความเป็นผู้ชายอย่างมาก แล้วมันจะไม่เป็นการเอาเปรียบ ผู้หญิงแต่กำเนิดที่มีสรีระบอบบางกว่าหรอกหรือ
1
ก่อนหน้านี้มีเคสของ อลาน่า แม็คลาฟลิน อดีตนาวิกโยธิน สหรัฐฯ ข้ามเพศมาเป็นหญิง แล้วขึ้นชกมวยกรง MMA ก่อนยำคู่แข่งหญิงจริงยับเยิน จนคนวิจารณ์กันทั้งโลก มาคราวนี้ เกิดประเด็นขึ้นอีกแล้ว และอันนี้ดูจะหนักกว่าเพราะถึงขนาดทำลายสถิติประเทศกันเลย
เรื่องราวเริ่มต้นจาก วิลล์ โทมัส นักว่ายน้ำชายจากมัธยมเวสต์เลคในเท็กซัส นี่คือดาวรุ่งฝีมือดีคนหนึ่งในวงการ ในเดือนสิงหาคม 2017 เขาถูกคัดเลือกติดทีม All-American ถือเป็นเด็กมัธยมที่มีแววจะติดทีมชาติในอนาคต
เมื่อผลงานดีในระดับมัธยม ทำให้เขาได้ทุนนักกีฬาจากมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย (UPenn) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยกลุ่มไอวี่ลีกของสหรัฐอเมริกา โดยอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก็เรียนจบจากมหาวิทยาลัยนี้
วิลล์ โทมัส สังกัด "ทีมว่ายน้ำชาย" ของ UPenn มา 3 ปี ตั้งแต่ปี 2017-2019 จากนั้นในปี 2020 เขาไม่ได้ลงแข่ง เนื่องจากการแข่งไอวี่ลีกถูกหยุดพักจากวิกฤติโควิด ซึ่งในช่วงนี้เอง ที่เขาตัดสินใจ Coming Out หรือเปิดเผยตัวตนว่าจริงๆ แล้ว เขาเป็นชายหัวใจหญิง และตัดสินใจเปลี่ยนเพศ กลายเป็นหญิงข้ามเพศในที่สุด พร้อมตั้งชื่อใหม่ให้ตัวเองเป็น ลีอา โทมัส
ลีอา โทมัส กล่าวว่า "การเป็นคนข้ามเพศไม่ได้ส่งอิทธิพลต่อตัวฉันที่จะเล่นกีฬา" ความหมายของเธอคือ เธอจะว่ายน้ำต่อไปแน่นอน แต่ก็นำมาสู่คำถามว่า แล้วเธอจะว่ายให้ทีมชาติหรือทีมหญิง? ในเมื่ออวัยวะเพศก็ตัดไปแล้ว จะให้รวมแข่งกับผู้ชายก็ไม่รู้จะถูกต้องไหม แต่โครงสร้างร่างกายของเธอก็ยังแข็งแรงกำยำอยู่ จะให้ไปแข่งรวมกับผู้หญิง ก็ไม่รู้จะถูกหรือเปล่าเหมือนกัน
แต่โทมัสก็โชคดี เมื่อในเดือนเมษายน 2021 คณะกรรมการกีฬามหาวิทยาลัยสหรัฐฯ (NCAA) ประกาศว่า นับจากนี้ไป กลุ่ม Trans Female จะสามารถเข้าร่วมการแข่งขันกับผู้หญิงจริงได้
โดย NCAA อธิบายเหตุผลว่า ไม่ต้องการปิดโอกาสทางการกีฬาของนักศึกษาที่เป็นกลุ่ม Trans แต่มีเงื่อนไขคือ Trans Female ต้องข้ามเพศมาแล้วอย่างน้อย 1 ปี และมีหลักฐานการใช้ยาลดฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนอย่างต่อเนื่องด้วย
เมื่อ NCAA ประกาศอนุญาตให้ หญิงข้ามเพศ แข่งได้ในฝั่งหญิงได้ พอลีอา โทมัส ข้ามเพศได้ครบ 1 ปี เธอจึงย้ายมาอยู่ทีมว่ายน้ำหญิงของมหาวิทยาลัยในที่สุด
ในสมัยเป็นผู้ชาย โทมัสว่ายเร็วขนาดได้รองแชมป์ไอวี่ลีกมาแล้ว จริงอยู่ การใช้ยาลดเทสโทสเทอโรน ทำให้เธอมีสถิติความเร็วที่ลดลงจากเดิม แต่ถ้าหากเทียบกับผู้หญิงล่ะก็ มันคนละเรื่อง ผู้หญิงคนอื่นๆ ไม่มีใครสามารถต้านทานเธอได้เลย
วันอาทิตย์ที่ 6 ธันวาคม การแข่งขัน Zippy Invitational รายการเก็บคะแนนระดับมหาวิทยาลัย ที่รัฐโอไฮโอ ลีอา โทมัส ลงแข่งขัน 3 รายการ คือฟรีสไตล์ 200 เมตร, ฟรีสไตล์ 500 เมตร และ ฟรีสไตล์ 1650 เมตร
1
ผลปรากฎคือเธอชนะทุกรายการที่ลงแข่ง ในฟรีสไตล์ 200 เมตร เธอทำลายสถิติ US Record กลายเป็นนักว่ายน้ำหญิงที่เร็วที่สุดในสหรัฐฯ จากนั้นในฟรีสไตล์ 500 เมตร เธอทำลายสถิติไอวี่ลีก และทิ้งห่างอันดับ 2 ถึง 14 วินาที
ส่วนฟรีสไตล์ 1,650 เมตร ยิ่งแล้วใหญ่ เธอเข้าเส้นชัยด้วยเวลา 15.59.71 นาที เอาชนะอันดับ 2 ที่ชื่อ แอนนา โซเฟีย ขาดลอยถึง 38 วินาที คือน็อกต์รอบ เอาต์คลาสแบบสู้กันไม่ได้
1
พอผลมันออกมาแบบนี้ จึงกลายเป็นดีเบทที่สำคัญทันทีว่า การจับเอาคนที่เคยเป็นผู้ชายมาก่อน ที่แม้จะไม่มีอวัยวะเพศแล้วแต่โครงสร้างร่างกายก็ยังแข็งแกร่งบึกบึน มาลงแข่งร่วมกับผู้หญิง มันยุติธรรมจริงๆ หรือ
ผู้หญิงธรรมดาที่เป็นกลุ่ม Cis Female ย่อมมีโครงสร้างร่างกายที่เทียบกับ Trans Female ไม่ได้อยู่แล้ว คือถ้าเป็นการแข่งที่ไม่ได้ใช้กำลังอย่างหมากรุก หรือเล่นไพ่โป๊กเกอร์ก็ว่าไปอย่าง อาจจะพอสู้กันได้อย่างเท่าเทียม แต่กีฬาที่ตัดสินกันด้วยพลังกล้ามเนื้อแบบนี้ Cis Female จะเอาอะไรไปสู้
จริงๆ เรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อ 3 ปีก่อน เคยมีนักกีฬาจากมหาวิทยาลัยเซาธ์เทิร์น อิลลินอยส์ ชื่อโนแลน เฟฮีย์ ข้ามเพศมาเป็นหญิงแล้วเปลี่ยนชื่อเป็น นาตาลี เฟฮีย์ แล้วลงแข่งว่ายน้ำเหมือนกัน แต่ในครั้งนั้น NCAA ยังไม่ได้อนุมัติให้กลุ่ม Trans แข่งร่วมกับเพศหญิงได้ ก็เลยไม่มีดราม่าอะไรเท่าไหร่ แต่พอคราวนี้ เมื่อลีอา โทมัส ได้แข่งร่วมกับผู้หญิงและชนะอย่างขาดลอย จึงเกิดการโต้เถียงกันอย่างหนักทันที หลายคนกลัวว่า ถ้ามีลีอา โทมัส คนที่ 2 3 และ 4 จะทำอย่างไร
2
เมื่อเกิดเรื่องขึ้น ในสังคมอเมริกันมีความเห็นแตกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายแรกคือกลุ่มที่สนับสนุน Trans Female ให้ลงแข่งต่อไป โดยในกลุ่มนี้แสดงความเห็นว่า ถ้าไม่จับเขาอยู่ในประเภทหญิง แปลว่าคุณจะตัดโอกาสทางกีฬาจากคนข้ามเพศไปเลยหรืออย่างไร ถ้าค่าฮอร์โมนลดต่ำลงในระดับที่กำหนดก็ควรจะยอมรับได้แล้วนี่
1
ความเห็นหนึ่งจากกลุ่มซัพพอร์ท ทวีตว่า "คนผิวดำก็เกิดมามีร่างกายที่ได้เปรียบในการเล่นกีฬามากกว่าคนผิวขาว แต่สุดท้ายก็ยังให้แข่งรวมกันได้ แล้วทำไมเพศจริง กับข้ามเพศ จะไม่สามารถแข่งรวมกันได้ล่ะ"
ขณะที่อีกความเห็นหนึ่งทวีตว่า "ตอนไมเคิล เฟลส์ ทำลายสถิติว่ายน้ำของประเภทชาย ทำไมคุณไม่วิจารณ์ล่ะ ว่าเขาเกิดมามีแขนยาว และเท้าที่ใหญ่ ผิดปกติกว่านักกีฬาคนอื่น จนทำให้ได้เปรียบ คนเราไม่สามารถเลือกเกิดได้อยู่แล้ว Trans ก็เช่นกัน"
2
กลุ่มคนสนับสนุนมี แต่ต้องยอมรับว่า ถ้าเทียบปริมาณแล้ว กลุ่มคนต่อต้าน ไม่อยากให้ Trans Female ลงแข่งกีฬาร่วมกับผู้หญิง มีเยอะกว่ามาก อย่างที่อ้างเรื่องไมเคิล เฟลส์ คนก็สวนกลับว่า โอเค เฟลส์แขนยาว เท้าใหญ่ แต่เขาก็ลงแข่งขันกับผู้ชายด้วยกัน เฟลส์ไม่ได้ข้ามไปแข่งประเภทหญิงเสียหน่อย คือคุณจะเอาเรื่องสรีระร่างกาย มาเปรียบเทียบกับเรื่องเพศไม่ได้
1
ส่วนเรื่องสีผิว ก็จริงอยู่ที่ บางเผ่าพันธุ์อาจเกิดมามีโครงสร้างร่างกายที่ได้เปรียบกว่า แต่สุดท้ายคนต่างสีผิวหากเป็นเพศเดียวกัน ก็ยังพัฒนาร่างกายขึ้นไปใกล้เคียงกัน และสามารถสู้กันได้อย่างสูสีได้ แต่ถ้าเป็นคนต่างเพศ ต่อให้ฟิตแค่ไหน มันก็มีขีดจำกัดของร่างกายอยู่
1
ในปี 2019 เบ็ธ สเตลเซอร์ นักยกน้ำหนักหญิงจากมินเนโซต้า ได้ตั้งกลุ่มชื่อ Save woman's sports ขึ้น โดยรณรงค์ให้การแข่งกีฬาควรแยกแยะจากเพศกำเนิด (Sex) ไม่ใช่เพศสภาพ (Gender)
เหตุผลของเธอคือ ถ้าหากไม่แบ่งแยกให้ชัดเจน มันก็จะกลายเป็นมั่วไปหมด
ผู้ชายก็ชนะในการแข่งขันประเภทชาย จากนั้นผู้ชายที่แปลงเพศมาก็ยังมาชนะในการแข่งขันประเภทหญิงอีก แล้วแบบนี้จะเหลืออะไรให้ผู้หญิงลงแข่งอย่างภูมิใจอีก สมมุติว่าสถิติโลกทั้งหลายของฝ่ายหญิง ถูกสร้างขึ้นโดยคนข้ามเพศทั้งหมด มันจะไม่พิลึกพิลั่นไปหน่อยหรือ
กล่าวคือในชีวิตประจำวัน คุณจะเป็น Cis จะเป็น Trans ก็เป็นไป สิทธิในด้านอื่นๆ ก็เท่าเทียมกันปกติ เช่น กินข้าว ดูหนัง ขึ้นเครื่องบิน แต่กับกีฬามันคนละเรื่อง
1
คอมเมนต์หนึ่งในออนไลน์เขียนว่า "นี่มันไม่ยุติธรรมอย่างยิ่งกับผู้หญิงที่พยายามอย่างหนักมาทั้งชีวิต เพื่อจะได้รู้ว่าตัวเองสามารถจบได้สูงสุดแค่อันดับ 2 เท่านั้น"
เรื่องนี้ก็ยังคงเป็นดีเบทกันต่อไป และมีคนพยายามหาทางออกว่า แบบไหนจะสวยที่สุด
ประเด็นว่ายน้ำคราวนี้ หนักกว่าเคสของอลาน่า แม็คลาฟลิน กับมวยกรงคราวที่แล้ว เพราะอันนั้นยังไงก็ชกกัน 2 คน แต่คราวนี้มันต่างกัน เพราะมันคือการแข่งขันในรายการสาธารณะ และถ้ายอมรับบรรทัดฐานนี้กันได้ในวันนี้ อนาคตต่อๆไป Trans Female อาจจะลงแข่งในรายการใหญ่ยิ่งกว่านี้ และทำลายสถิติทุกอย่างกระจุยหมดเลยก็ได้
มีคนเสนอว่า งั้นเอาแบบนี้ดีไหม แบ่งเป็น 4 กลุ่มไปเลย คือประเภทชาย, ประเภทหญิง, Trans Male และ Trans Female เอาให้ชัดๆ กันไปเลย ใครเป็นกลุ่มไหน ก็ลงแข่งของกลุ่มนั้น
แต่ก็มีการประท้วงอีกว่า Trans Female คือคนที่เขาข้ามเพศเป็นผู้หญิงแล้ว แบบนี้เป็นการแบ่งแยก เหมือนกับไล่ให้ Trans ไปอยู่ด้วยกันเองหรือเปล่า กลายเป็นประเด็นทางการเมืองไปอีก
2
เรื่องนี้จึงคาราคาซังอยู่แบบนี้ กับประเด็นว่า "ความเท่าเทียม" ที่แท้จริงคืออะไร
ถ้าไม่ยอมให้ Trans ร่วมแข่งกีฬา ก็กลายเป็นว่า สร้างความไม่เท่าเทียมในฐานะมนุษย์ แต่ถ้ายอมให้ Trans ร่วมแข่งกับผู้หญิง ก็กลายเป็นการไปสร้างความไม่เท่าเทียมในการแข่งขันอีก
2
แน่นอนว่าดราม่ายังคงมีต่อไป ซึ่งก็ไม่ใช่แค่เคสของลีอา โทมัสเท่านั้น แต่ยังมีนักกีฬา Trans อีกหลายคน ที่ไม่รู้จะวางตัวเองอยู่จุดไหนกันแน่
จริงๆ แล้ว ปัจจุบัน โลกเราเปิดกว้างมากเรื่องความหลากหลายทางเพศ แต่มันก็ชัดเจนเช่นเดียวกันว่า มันยากมากจริงๆ ที่จะเอาความหลากหลายนั้นมาใช้กับการแข่งขันกีฬาที่ตัดสินด้วยพละกำลังและสรีระของร่างกาย
#RECORDBREAKER
โฆษณา