10 ธ.ค. 2021 เวลา 07:26 • การตลาด
“Camera Eat First”
ร้านอาหารต้องปรับเกมอย่างไรเมื่อ “กล้องกินก่อนคน”
ไลฟ์สไตล์การรับประทานอาหารของคนรุ่นใหม่ที่นิยมถ่ายภาพอาหารเพื่อโพสต์ลงในโซเชียลมีเดีย เป็นการบูชา “เทพอินสตาแกม” หรือบูชาพระเจ้าเฟสบุ๊ค นั้น กลายเป็นพฤติกรรมที่ติดตัวคนรุ่นใหม่ไปแล้ว แม้เรื่องนี้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เกิดขึ้น แต่พฤติกรรมในรูปแบบนี้ยังคงมีอยู่ และน่าจะกลายเป็น 1 ในปัจจัยที่เข้ามาเป็นตัวกำหนดกลยุทธ์ในการทำตลาดร้านอาหารในบ้านเราไปแล้ว
1
โดยปัจจัยสำคัญของการทำธุรกิจร้านอาหารในปัจจุบันนี้ก็คือ ต้องเข้าใจ และตามไลฟ์สไตล์ของพวกเขาให้ทัน อย่างไลฟ์สไตล์ในรูปแบบของ Camera Eats First นั้น ได้กลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับคนในยุคนี้ไปแล้ว เพราะฉะนั้น การทำอาหารในยุคนี้ต้องคำนึงถึงการให้กล้องถ่ายรูปที่อยู่ในมือถือได้มีโอกาสกินก่อน นั่นคือทำให้อาหารบนโต๊ะออกมาสวยงาม น่ากิน เพื่อให้พวกเขาถ่ายรูปลงในโซเชียลมีเดียแล้วแชร์มันออกไป การทำหน้าตาของอาหารให้ดูดี จึงเป็นอีกเรื่องสำคัญเพราะมันคือ Wow Factor ของพวกเขา ที่ช่วยทำให้เขาอยากเข้ามาใช้บริการในร้านอาหาร เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ไปแล้วในปัจจุบัน
1
Wikipedia ให้คำจำกัดความของ Camera Eats First ไว้แบบน่าสนใจว่า มันคือพฤติกรรม และเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับคนรุ่นใหม่ทั่วโลกที่ต้องใช้สมาร์ทโฟนของตัวเองถ่ายรูปอาหารก่อนที่จะลงมือกินมัน ซึ่งแน่นอนว่าการทำสีสันของอาหารให้ออกมาดูน่าสนใจ กลายเป็นเรื่องที่ขาดไม่ได้ไปแล้ว
หากมองเข้ามาที่ธุรกิจร้านอาหารในบ้านเราปี 2564 นี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า การระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงมากขึ้น และการประกาศยกระดับของมาตรการส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อ “ธุรกิจร้านอาหาร” ทำให้มูลค่ารวมของธุรกิจร้านอาหารในปี 2564 อาจเหลือเพียง 3.50 แสนล้านบาท ขณะที่ในกรณีเลวร้ายจะลดลงเหลือเพียง 3.35 แสนล้านบาท
ขณะที่มูลค่าการใช้จ่ายในกลุ่มสินค้าอาหารและเครื่องดื่มในประเทศอาจเติบโตราว 0.6% (YoY) และส่งผลให้ภาพรวมทั้งปี 2564 ขยายตัวราว 0.5% เมื่อเทียบกับปี 2563 ที่ขยายตัว 3.3% โดยมีปัจจัยหนุนจากมาตรการกระตุ้น กําลังซื้อของภาครัฐ เช่น มาตรการคนละครึ่ง เฟส 3 และการเข้าถึงวัคซีนของประชาชนเข้าใกล้ระดับ 20 ล้านโดส โดยในจำนวนนั้นเป็นสัดส่วนของร้านอาหารประเภทเชน 25% ส่วนอีก 75% จะเป็นตลาดร้านอาหารสตรีทฟู้ด การแข่งขันที่รุนแรงของตลาด ทำให้เกิดปรากฏการณ์ใหม่ๆ มากมาย ทั้งในเรื่องที่ต้องมีช่องทางการขายที่หลากหลายทั้งการนั่งกินในร้าน และดิลิเวอรี่ การมีแบรนด์ที่หลากหลายเพื่อสามารถตอบโจทย์กระเพาะอาหารของคนตั้งแต่ของทานเล่น มื้อหลัก ไปจนถึงของทานเล่น แน่นอนว่า การดีไซน์อาหารให้ออกมามีสีสัน สวยงาม แปลกตา เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ถูกนำมาใช้แข่งขันเพื่อแย่งชิงลูกค้า
2
ที่สำคัญโจทย์ใหญ่ด้านการตลาดได้เปลี่ยนแปลงไปพร้อมกับการแข่งขัน และพฤติกรรมผู้บริโภค นับตั้งแต่ยุค 1.0 ที่เป็น Product Centric มาถึงยุค 2.0 Customer Centric จากนั้นขยับไปสู่ยุค 3.0 Social Centric และเข้าสู่ยุค 4.0 ที่เป็น Individual ที่ทุกอย่างเชื่อมต่อกันด้วยดิจิทัล
แม้ความอร่อย สะอาด และบริการที่ดีเยี่ยม จะยังคงบทบาทสำคัญต่อการทำตลาด แต่ผู้บริโภคในยุค 4.0 นี้ มีความต้องการที่เพิ่มขึ้นมากกว่าเบเนฟิตพื้นฐานในเรื่องที่กล่าวมา โดยเฉพาะในมุมของความต้องการ การตอบโจทย์ด้านการมอบประสบการณ์ใหม่ๆทำให้คำว่า EAT ในความหมายเดิมๆ ที่หมายถึงการรับประทานได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว และ EAT ในนิยามใหม่ จะเป็นเรื่องของรสนิยมในการบริโภคที่ประกอบไปด้วย
E – Experience ผู้บริโภคชอบประสบการณ์ใหม่ๆ ที่แบรนด์ร้านอาหารมอบใหม่
A – Art การนำเสนอของร้านอาหาร ต้องผนวกเรื่องของดีไซน์เข้าไปด้วย ทั้งบรรยากาศของร้าน และตัวอาหาร ความต้องการในเรื่องที่ว่านี้ทำให้ฟู้ดสไตลิสต์ เข้ามามีบทบาทค่อนข้างมากในปัจจุบัน
T – Taste & Style การรับประทานอาหารของผู้บริโภคแต่ละครั้งมีเรื่องของสไตล์และรสนิยมเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น
สำหรับการแข่งขันในตลาดเชนร้านอาหาร แม้จะอยู่คนละเซ็กเม้นต์ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าจะต้องแข่งกันทั้งทางตรงและทางอ้อม เพราะพื้นที่กระเพาะของผู้บริโภคมีจำกัด การทำให้แบรนด์เป็นทางเลือกแรกๆ ของผู้บริโภคในการรับประทานอาหารจึงกลายเป็นเป้าหมายสำคัญของผู้ประกอบการแต่ละราย โดยการแข่งขันที่เปลี่ยนไปจะออกมาในรูปแบบ ดังต่อไปนี้
1
1.มุมมองต่อการทำการตลาดเปลี่ยนแปลงไปจากการโฆษณา มาสู่การสร้าง Engagement โดยเครื่องมืออย่าง ดิจิทัลเข้ามามีบทบาทต่อการทำตลาดมากขึ้น
2.การส่งมอบประสบการณ์ใหม่ๆ เป็นหัวใจสำคัญในการทำตลาด จึงไม่แปลกที่เราเห็นเชนร้านอาหาร มีการนำเสนอประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับลูกค้า
3.กลยุทธ์ในเรื่องของ Brand Portfolio ทวีความสำคัญมากขึ้น เพราะผู้บริโภคมีความหลากหลาย จึงต้องมีแบรนด์ที่หลากหลายเพื่อให้สามารถตอบโจทย์ได้
4.การเข้าสู่ยุคที่ต้องมุ่งตอบโจทย์ความเป็น Individual นั้น ผู้บริโภคเลือกเฟ้นมากขึ้น ไม่ได้จ่ายเงินเพียงเพื่อเสพแค่รสชาติอาหารอร่อยเท่านั้น แต่ทุกวันนี้เราจะเห็นภาพคนยืนต่อแถวร้านที่มีคนไปใช้บริการมากมาย และคนยอมจ่ายค่าอาหารราคาแพง เพื่อให้ได้มาซึ่ง “ประสบการณ์” ในการดื่มด่ำกับรสชาติอาหาร– บริการ บรรยากาศของสถานที่ และช่วงเวลาของการอยู่กับครอบครัว หรือคนรู้ใจ
5.ตลาดร้านอาหารของบ้านเราก้าวเข้าสู่ยุคของออมนิชะแนล หรือมัลติ ชะแนล อย่างเต็มรูปแบบ ทำให้ร้านอาหารต้องมีการปรับกลยุทธ์ในเรื่องของช่องทางขายที่ต้องมีเดลิเวอรี่ในแต่ละสาขาแบบ 100% ขณะเดียวกันก็ต้องมองถึงช่องทางขายอื่นๆ อาทิ อีคอมเมิร์ช และช่องทางขายผ่านซูเปอร์มาร์เก็ต เพื่อนำแบรนด์เข้าไปปะทะและรองรับกับลูกค้าในทุกช่องทาง
1
เพราะฉะนั้นแนวทางสร้างการเติบโตในธุรกิจอาหารยุค 4.0 ผู้ประกอบการร้านอาหารต้องสามารถตอบสนอง “จริตผู้บริโภค ครบทั้ง 5 Senses” ทั้งรูป, รส, กลิ่น, เสียง และสัมผัส หรือที่เรียกว่า Sensory Marketing
คำว่า Experience กลายเป็นหัวใจของการทำตลาดร้านอาหารในยุค 4.0 ไปแล้ว ขณะที่มุมมองของการขายอาหาร ถูกเปลี่ยนไปสู่การขายความสุข ซึ่งเป็นการนำเรื่องของ Emotional เข้ามาเป็นตัว Approach ผู้บริโภค ซึ่งเป็นเรื่องที่ขาดไม่ได้ไปแล้วในปัจจุบัน...
#BrandAgeOnline
โฆษณา