10 ธ.ค. 2021 เวลา 23:52 • ท่องเที่ยว
ห้องศิลปะทวาราวดี พิพิธภัณฑ์ฯพระนคร
ห้องทวารวดี .. จัดแสดง โบราณวัตถุ ศิลปะวัตถุ ในวัฒนธรรมทวาราวดีที่พบในประเทศไทย ซึ่งนับเป็นวัฒนธรรมสมัยประวัติศาสตร์ยุคแรก ราวพุทธศตวรรษที่ 12-16 โดยนำโบราณวัตถุชิ้นสำคัญนำมาจัดแสดง ไม่ว่าจะเป็น ธรรมจักร ขนาดใหญ่ จาก จังหวัดนครปฐม พระพุทธรูปที่พบในเขตจังหวัดสุโขทัย ประติมากรรมปูนปั้นจากเมืองคูบัว จังหวัดราชบุรี ประติมากรรมดินเผาและปูนปั้นประดับสถาปัตยกรรม จารึก สถูปจำลอง เครื่องประดับ และภาชนะดินเผา เป็นต้น
ภูมิหลัง และพัฒนาการวัฒนธรรมทวาราวดี
ในช่วงราวพุทธศตวรรษที่ 7 บริเวณกลางแผ่นดินเอเซียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเสมือนจุดเชื่อมต่อระหว่างวัฒนธรรมจากตะวันตกและตะวันออก ผ่านการติดต่อค้าขายมาตั้งแต่สมัยโบราณ และโดดเด่นขึ้นมาในช้วงพุทธศตวรรษที่ 11-16
ในเวลาดังกล่าว ประเทศไทยได้มีหลักฐานการก่อตั้ง รัฐทวาราวดี โดยเริ่มจากบริเวณลุ่มแม่น้ำในภาคกลางของประเทศไทย ได้พัฒนาตนองเข้าสู่ความเจริญด้านต่างๆ อาทิ การเปิดรับพระพุทธศาสนา การมีรูปแบบการปกครองที่เข้มแข็งขึ้น และการมีตัวอักษรไว้บันทึกเรื่องราวต่างๆ และแผ่ขยายออกไปเป็นวงกว้างมากขึ้น
“ทวารวดี” คำจารึกบนเหรียญเงินซึ่งพบตามชุมชนโบราณหลายแห่งในพื้นที่ภาคกลางของประเทศไทย มีรูปแม่วัวเป็นอักษรปัสสวะ ข้อความภาษาสันสกฤติว่า .. ศรีทวารวดี ศวนปุณยะ .. หมายถึง ผู้มีบุญกุศลของพระผู้เป็นเจ้าแห่งทวาราวดี รวมถึงข้อความอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งแสดงให้เห็นว้าในช่วงเวลาดังกล่าว ชุมชนทวาราวดีมีชนชั้นปกครองเกิดขึ้นแล้ว
นักวิชาการสันนิษฐานว่า คือ อาณาจักร “โตโลโปตี” ที่ปรากฏในเอกสารจีนสมัยราชวงศ์ถัง รวมถึงจดหมายเหตุจากบันทึกการเดินทางของภิกษุจีน 2 รูป คือ ภิกษุเหี้ยนจัง หรือ พระถังซัมจั๋ง และภิกษุอี้จิง ในช่วงประมาณพุทธศตวรรษที่ 12-15
วัฒนธรรมทวารวดีแพร่กระจายไปตามชุมชนโบราณหลายแห่งของประเทศไทย นับตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12 – 16 หรือ 1,000-1,400 ปีมาแล้ว ส่วนใหญ่ได้รับแรงบันดาลใจจากพระพุทธศาสนา โดยพบหลักฐานจำนวนมากในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันตก ส่วนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้มีรูปแบบที่คลี่คลายผสมผสานกับวัฒนธรรมท้องถิ่น โบราณวัตถุสำคัญ เช่น ธรรมจักร วัดเสน่หา (ร้าง) นครปฐม พระพุทธรูปปางแสดงธรรม คูบัว ราชบุรี ฯ
นักโบราณคดีได้พบหลักฐานการตั้งหลักแหล่งของชุมชนสมัยทวาราวดีในบริเวณเขตที่ลุ่มภาคกลางตามลำน้ำเจ้าพระยา และภาคตะวันออก ซึ่งมีทั้งที่ซ้อนทับกับชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ และที่ตั้งอยู่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำที่สำคัญ สามารถติดต่อกับชุมชนอื่นได้สะดวก อาทิ เมืองท่าใกล้ชายฝั่งทะเล และเส้นทางการค้าในสมัยโบราณ
เมืองโบราณในชุมชนทวาราวดีไม่มีแผนผังที่แน่นอน โดยทั่วไป ตัวเมืองด้านหนึ่งจะตั้งอยู่กับลำน้ำ และมีการขุดคูน้ำ คันดินล้อมรอบ ทั้งนี้คงเพื่ออำนวยความสะดวกด้านสาธารณูปโภค การคมนาคม ป้องกันอุทกภัย และอาจจะใช้สำหรับการป้องกันศตรูได้ด้วย ไม่พบหลักฐานที่อยู่อาศัย พบเพียงฐานเจดีย์หรืออาคารที่ก่อสร้างด้วยอิฐ ภายนอกอาคารนิยมประดับตกแต่งด้วยลายปูนปั้น และดินเผา ซึ่งมีทั้งภาพเล่าเรื่อง และลวดลายเลียนแบบธรรมชาติ
ในปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุปว่าวัฒนธรรมทวาราวดี คือกลุ่มใด .. แต่จากการพบจารึกที่เป็นภาษามอญโบราณในพื้นที่สำคัญของแหล่งโบราณคดีสมัยทวาราวดีหลายๆแห่ง ทำให้นักภาษาศาสตร์ สามารถอธิบายได้ว่า กลุ่มภาษามอญ-เขมร ที่เป็นสาขาหนึ่งของตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติค เป็นภาษาเก่าแก่ที่ใช้ในชุมชนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ชนพื้นเมืองทวาราวดี เจ้าของวัฒนธรรมทวาราวดี
กลุ่มคนที่เป็นเจ้าของวัฒนธรรมทวาราวดี อาจจะมีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มชนที่มีถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่เดิมตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ รงมถึงกลุ่มคนที่เคลื่อนย้ายเข้ามาใหม่ และกลุ่มของชาวต่างชาติที่เข้ามาค้าขาย
นอกจากนี้ จากการค้นพบจารึกภาษามอญ ที่มีตัวอักษรเก่าไปถึงราวพุทธศตวรรษที่ 12 ยังเป็นความน่าสนใจว่า กลุ่มชนชาจิมอญน่าจะเป็นกลุ่มชนหนึ่งที่มีความสำคัญในการแผ่ขายวัฒนธรรมอินเดียเข้ามาในบริเวณพื้นที่วัฒนธรรมทวาราวดี
ประติมากรรมปูนปั้นใบหน้าบุคคลสวมเครื่องประดับ พุทธศตวรรษที่ 13-14 ขุดพบที่เมืองโบราณคูบัว จังหวัดราชบุรี
ประติมากรรมปูนปั้นรูปบุคคลยืนพนมมือ พุทธศตวรรษที่ 13-14 ขุดพบที่เมืองโบราณคูบัว จังหวัดราชบุรี
ประติมากรรมปูนปั้นรูปบุคคลผู้หญิงสูงศักดิ์และนางกำนัล พุทธศตวรรษที่ 13-14 ขุดพบที่เจดีย์หมายเลข 10 เมืองโบราณคูบัว จังหวัดราชบุรี
นักดนตรีสตรี 5 คน พุทธศตวรรษที่ 13-14 ขุดพบที่เจดีย์หมายเลข 10 เมืองโบราณคูบัว จังหวัดราชบุรี
ประติมากรรมปูนปั้นรูปบุคคลผู้คุมและนักโทษ และการลงโทษ พุทธศตวรรษที่ 13-14 ขุดพบที่เจดีย์หมายเลข 10 เมืองโบราณคูบัว จังหวัดราชบุรี
รูปแบบศิลปกรรมทวาราวดี ในแต่ละยุคสมัย
ศิลปกรรม .. เป็นภาพสะท้อนของคติความเชื่อ สังคม และวัฒนธรรม
ศิลปกรรมทวาราวดี และสัญลักษณ์ทางศาสนาที่เด่นชัดของยุคนี้คือ “ธรรมจักร”
ห่องทวาราวดี .. ไฮไลต์ของห้องนี้คือ การจัดแสดงธรรมจักรหลายขนาดทั้งแบบหินทรายและศิลาแลงโดยส่วนใหญ่มีประติมากรรมรูปกวางหมอบอยู่ด้านหน้าและลวดลายมีความหลากหลาย เช่น ลายผักกูด ลายขมวดและลายดอกบัวซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะคุปตะของอินเดียที่มีความผสมผสานลวดลายของทางตะวันออกและตะวันตก
“ธรรมจักรคือล้อแห่งธรรม คือหมุนไปที่ไหนก็มีแต่แสงสว่าง ส่วนกวางหมอบเป็นสัญลักษณ์ของการปฐมเทศนาของพระพุทธเจ้าที่ป่ากวาง (ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน)”
ธรรมจักรและกวางหมอบศิลาในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12-13 ซึ่งค้นพบที่วัดเสน่หา (ร้าง) อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม
ศิลปกรรมสมัยทวาราวดีที่หลงเหลืออยู่ส่วนใหญ่ได้แก่ รูปเคารพ ศาสนสถาน และจารึก ทั้งเนื่องในศาสนาพุทธนิการเถรวาท มหายาน และศาสนาพราหมณ์ .. โดยหลักฐานส่วนใหญ่พบว่า สร้างขึ้นในศาสนาพุทธนิการเถรวาทเป็นหลัก อาทิ พระพุทธรูป พระพิมพ์พร้อมจารึกคาถาหัวใจของพระพุทธศาสนา และหลักธรรมต่างๆ ที่เป็นคำภาษาบาลี
อิฐมีจารึกคาถา เยธมมาฯ พุทธศตวรรษที่ 13-15 พบมี่จังหวัดนครปฐม
ชิ้นส่วนสถูปมีจารึก พุทธศตวรรษที่ 14-15 จากจังหวัดนครปฐม
แผ่นหินบด พบที่ข้างวัดพระประโทน นครปฐม
เครื่องประดับสถาปัตยกรรม (ซุ้ม) พุทธศตวรรษที่ 13-14 ขุดพบที่เมืองโบราณคูบัว ราชบุรี
ส่วนศิลปกรรมเนื่องในศาสนาพุทธมหายาน อาทิ ภาพปูนปั้นพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร จะพบปะปนอยู่ในรูปเคารพของศาสนาพุทธนิกายเถรวาท ทั้งในบริเวณภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉีนงเหนือ ส่วนในบริเวณภาคใต้ ซึ่งพบศิลปกรรมร่วมสมัยกับศิลปกรรมสมัยทวาราวดีร จะสร้างขึ้นในพุทธศาสนานิกายมหายาน และศาสนาพราหมณ์เป็นหลัก
สถาปัตยกรรมในสมัยทวาราวดี .. คงเหลือไว้เพียงศาสนสถาน ซึ่งมีทั้งที่อยู่ในถ้ำ และกลางแจ้ง ซึ่งส่วนที่อยู่กลางแจ้งนั้น ส่วนบนมักจะถูกทำลายและเหลืออยู่เพียงส่วยฐาน วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง คือ อิฐสอด้วยดิน ก้อนอิฐมีลักษณะพิเศษเฉพาะทั้งขนาดและส่วนผสม
แผนผังของอาคารศาสนสถาน อยู่ในผังสี่เหลี่ยม และนิยมทำภาพประติมากรรมปูนปั้นประดับที่ฐาน เป็นภาพเล่าเรื่องต่างๆ ซึ่งประกอบไปด้วยบุคคล คนแคระ เทวดา และสัตว์ ทั้งที่มีอยู่จริง และสัตว์ในจินตนาการ
สำหรับงานประติมากรรม .. มีการแบ่งรูปแบบออกเป็น 3 สมัย ซึ่งระยะแรก (พุทธศตวรรษที่ 11-12) พระพุทธรูปมีต้นเค้ามาจากพระพุทธรูปศิลปะอินเดียแบบอมราวดี คุปตะและหลังคุปตะ
ต่อมาในช่วงยุคกลาง (พุทธศตวรรษที่ 11-กลางศตวรรษที่ 15) .. ศิลปกรรมได้พัฒนาจนเกิดเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของศิลปะทวาราวดีอย่างแท้จริง โดยวิวัฒนาการดังกล่าวปรากฏอยู่ในรูปแบบประติมากรรมที่มีท่ายืนแบบสมมาตร การแสดงมุทรา (ปาง) สองพระหัตถ์ ..
พระพุทธรูปสำริดประทับยืน .. พุทธศตวรรษที่ 13-15 พบที่วัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย เมื่อ พ.ศ.2469
ภาพจำหลักศิลาแลง แสดงพุทธประวัติตอนพระพุทธเจ้าแสดงยมกปาฏิหาริย์ พุทธศตวรรษที่ 13-15 พบที่วัดจีน อยุธยา
ภาพศิลาจำหลักพระพุทธรูป พุทธศตวรรษที่ 13-15
พระพุทธรูปสำริดประทับยืน .. พระหัตถ์แสดงปางแสดงธรรม (วิตรรกมุทรา) พุทธศตวรรษที่ 14-15 ขุดพบที่วัดเชิงท่า ตำบลท่าทราย นนทบุรี และจากลพบุรี
พระพุทธรูปปางต่างๆ
ประติมากรรมเศียรพระพุทธรูป .. พุทธศตวรรษที่ 14-15
ใบเสมาหินสลักพระพุทธรูปปางเสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พุทธศตวรรษที่ 15 พบที่เมืองฟ้าแดดยาง จังหวัดกาฬสินธุ์
ก่อนวัฒนธรรมทวาราวดีจะสิ้นสุดลงในช่วงตอนปลาย (ราวกลางพุทธศตวรรษที่ 15-16 และ 17-18) ซึ่งเป็นช่วงที่วัฒนธรรมทวาราวดีเสื่อมลงแล้ว จึงทำให้รูปแบบศิลปกรรมมีความแตกต่างกันออกไปหลายกลุ่ม ทั้งนี้เนื่องจากได้รับการผสมผสานกับวัฒนธรรมพื้นถิ่น รวมถึงวัฒนธรรมจากเขมรที่แพร่กระจายเข้ามาในบริเวณที่เคยเป็นที่ตั้งของวัฒนธรรมทวาราวดีเดิมมากขึ้น
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปทั่วโลกกับพี่สุ … รวม link บทความที่เขียนในเพจ ..
***เมืองไทย ไดอารี่ by Supawan
***Supawan’s colorful world
***สถานีอร่อย by Supawan
โฆษณา