13 ธ.ค. 2021 เวลา 02:54 • กีฬา
เหตุการณ์ที่สร้างความอับอายที่สุดในวงการฟุตบอลอาเซียน คือการยิงเข้าประตูตัวเองแบบ "จงใจ" ของ มูซียิด เอฟเฟนดี้ นักเตะอินโดนีเซีย จนทีมตัวเองแพ้ทีมชาติไทย ในศึกไทเกอร์คัพ ปี 1998
2
การจะย้อนกลับไปเล่าประวัติศาสตร์เรื่องนี้ เราต้องแบ่งเป็น 3 ส่วน ถึงจะเห็นภาพชัดเจน คือส่วนเจ้าภาพเวียดนาม, ส่วนทีมชาติอินโดนีเซีย และ ส่วนทีมชาติไทย
สิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว แม้จะไม่สวยงาม แต่ไม่ใช่เรื่องที่ต้องปิดบัง การหยิบมาเล่าเป็นอุทาหรณ์ ควรทำได้เป็นปกติ ที่อินโดนีเซีย สื่อไปสัมภาษณ์เอฟเฟนดี้ คนยิงเข้าประตูตัวเองเลยด้วยซ้ำ ว่าทำไปทำไม
1
เรื่องนี้เป็นกรณีศึกษาที่ดีในวงการฟุตบอล เพราะผิดก็คือผิด ก็ยอมรับกันไปว่ามันเกิดขึ้นจริง จากนั้นก็ทำความเข้าใจและเรียนรู้ไปด้วยกัน
----------------------------
[ พาร์ท 1 - มุมเจ้าภาพเวียดนาม ]
ศึกชิงแชมป์อาเซียน ชื่อแรกสุดคือไทเกอร์ คัพ (เนื่องจากเบียร์ไทเกอร์ เป็นสปอนเซอร์หลัก) เริ่มขึ้นครั้งแรกในปี 1996 โดยใช้รูปแบบการแข่งคือ มีเจ้าภาพประเทศเดียว จัดแข่งตั้งแต่รอบแบ่งกลุ่ม จนถึงรอบชิง
ในปี 1996 เจ้าภาพประเทศแรกคือสิงคโปร์ ซึ่งการจัดแข่งก็ทำได้อย่างราบรื่นมาก เพราะสิงคโปร์เป็นประเทศเล็ก การเดินทางไปมาระหว่างการแข่งขัน ของทีมชาติที่เข้าร่วมก็ทำได้สะดวก
1
สิงคโปร์ใช้ 2 สนาม คือ จูรง สเตเดี้ยม และ สนามกีฬาแห่งชาติ ซึ่งทั้งสองสนามห่างกันแค่เดินทาง 30 นาที ดังนั้นจะต้องลงแข่งในสนามไหน ก็ไม่มีปัญหา
ไทเกอร์คัพครั้งที่ 1 ปี 1996 จบลงอย่างราบรื่น ไทยคว้าแชมป์สมัยแรกอย่างสวยงาม เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง ยิงประตูนัดชิงให้ไทยชนะมาเลเซีย 1-0 ขณะที่ เนติพงษ์ ศรีทองอินทร์ คว้าตำแหน่งดาวซัลโวด้วยผลงาน 7 ประตู
1
ความสำเร็จด้วยดีของไทเกอร์คัพครั้งแรก ทำให้มีการจัดต่อเนื่องในปี 1998 โดยคราวนี้เวียดนาม รับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพ และไทยก็เดินทางมาลงแข่งในฐานะเต็งหนึ่ง
การแข่งขันแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่ม A ประกอบด้วย ไทย, อินโดนีเซีย, เมียนมาร์, ฟิลิปปินส์ กลุ่มนี้จะแข่งที่เมืองโฮจิมินห์
1
ส่วนกลุ่ม B มี เวียดนาม, สิงคโปร์, มาเลเซีย และ ลาว กลุ่มนี้จะแข่งที่เมืองฮานอย
ในทัวร์นาเมนต์นี้ เวียดนามในฐานะเจ้าภาพ ออกกฎประหลาดขึ้นมา 2 ข้อ
ข้อที่ 1 ในรอบแบ่งกลุ่ม "ทีมรองแชมป์กลุ่ม" จะได้อยู่เมืองเดิมต่อในรอบรองชนะเลิศ ส่วนทีม "แชมป์กลุ่ม" ต้องเดินทางไปอีกเมืองในรอบรองฯ อธิบายง่ายๆ คือ
อันดับ 1 กลุ่ม A - จากโฮจิมินห์ต้องเดินทางไปฮานอย
อันดับ 2 กลุ่ม A - อยู่ที่โฮจิมินห์ต่อ
อันดับ 1 กลุ่ม B - จากฮานอยต้องเดินทางไปโฮจิมินห์
อันดับ 2 กลุ่ม B - อยู่ที่ฮานอยต่อ
3
ฮานอยกับโฮจิมินห์ อยู่เหนือสุดกับใต้สุด ห่างกัน 1,600 กิโลเมตร ถามว่าใครจะอยากเดินทางไกลขนาดนั้น ทั้งต้องเหนื่อยล้า ต้องเปลี่ยนโรงแรมที่พัก ดังนั้นแต่ละทีมก็เลยตั้งเป้าอยากจะเป็นรองแชมป์กลุ่มก็พอ คือเป็นแชมป์แล้วได้อะไรล่ะ ได้แต่เหนื่อยฟรีน่ะสิ
ตามปกติเขามีแต่ใครเป็นแชมป์กลุ่มได้อยู่เมืองเดิมต่อ ดังนั้น นี่จึงเป็นกฎที่แปลกพิลึกอย่างมากจริงๆ
กฎประหลาดข้อ 2 คือ "นัดที่ 3 ในรอบแบ่งกลุ่ม จะแข่งไม่พร้อมกัน" โดยชาติเจ้าภาพเวียดนามจะแข่งเป็นทีมสุดท้ายของกลุ่ม B
ตามปกติในทัวร์นาเมนต์ระดับชาติ เกมสุดท้ายของรอบแบ่งกลุ่ม เขาต้องให้แข่งพร้อมกัน 2 สนาม เพื่อป้องกันการวางแผนล็อกผล แต่เวียดนามไม่ทำแบบนั้น
30 สิงหาคม 1998 นัดสุดท้ายของกลุ่ม B สิงคโปร์แข่งก่อน แล้วเอาชนะลาว 4-1 แข่งสามนัด ได้ 7 แต้ม ลูกได้เสีย +5 จากนั้นเวียดนามมาลงแข่งกับมาเลเซียในคู่สอง ซึ่งเวียดนามเล่นแบบประคองไปเรื่อยๆ ก่อนเฉือนชนะแค่ 1-0 ทำให้พวกเขามี 7 แต้ม ลูกได้เสีย +4
เวียดนามคำนวณมาอย่างดีแล้ว ทำให้พวกเขาจบอันดับ 2 ของกลุ่มแบบพอดีเป๊ะ ได้อยู่ที่ฮานอยต่อ รอแข่งในรอบรองชนะเลิศกับทีมอันดับ 1 ของกลุ่ม A ซึ่งจะเป็นทีมใดทีมหนึ่งระหว่าง ไทย กับอินโดนีเซีย ที่จะปะทะกันเองในวันรุ่งขึ้น
2
----------------------------
[ พาร์ท 2 - มุมของอินโดนีเซีย ]
อินโดนีเซีย ลงเล่นในรอบแบ่งกลุ่ม 2 เกมแรก และมีผลงานยอดเยี่ยม ชนะฟิลิปปินส์ 3-0 ตามด้วยชนะเมียนมาร์ 6-2 เท่ากับว่า พวกเขามี 6 แต้ม
ส่วนไทย ลงเล่นในรอบแบ่งกลุ่ม 2 เกมแรก เสมอเมียนมาร์ 1-1 และ ชนะฟิลิปปินส์ 3-1 มี 4 แต้ม
เมื่ออินโดนีเซียเห็นผลการแข่งของกลุ่ม B รู้ว่าถ้าตัวเองเป็นแชมป์กลุ่ม A ต้องไปเจอเจ้าภาพเวียดนาม แถมต้องเดินทางไกล 1,600 กิโลเมตร ไม่เห็นจะมีประโยชน์อะไรเลยสักนิด ดังนั้นผู้จัดการทีม อาเดรีย อาเมียน และ เฮดโค้ชรัสดี้ บาฮาลวาน จึงออกคำสั่งกับนักเตะอินโดนีเซียว่า ให้ยอมแพ้ทีมชาติไทยซะ
มูซียิด เอฟเฟนดี้ กล่าวว่า "ผมรู้แต่แรกแล้วว่าแผนการณ์นี้ไม่ใช่เรื่องถูกต้อง แต่ในเมื่อคุณเป็นนักเตะทีมชาติ คุณก็ต้องทำตามคำสั่งโค้ช ผมจึงไม่ได้ประท้วงอะไร ตอนที่ทีมวางแผนว่าเราจะจงใจแพ้"
1
ฝั่งของอินโดนีเซีย คิดว่าถ้าไทยเล่นเอาจริงหน่อย ก็จะแกล้งแพ้แบบเนียนๆ ทำพลาดตามจังหวะฟุตบอล เพราะไทยยังไงก็เป็นแชมป์เก่า การที่อินโดนีเซียจะพลาดแพ้ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก แค่นี้ก็จะเป็นไปตามแผนทุกอย่าง
หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมนักเตะในทีมยอม เหตุผลที่พอจะอธิบายได้ คือเฮดโค้ชรัสดี้ บาฮาลวาน นอกเหนือจากจะเป็นโค้ชทีมชาติแล้ว ยังเป็นโค้ชของสโมสรเปอร์เซบาย่า สุราบาย่าด้วย ซึ่งในไทเกอร์คัพ 1998 มีนักเตะจากสโมสรนี้ถึง 11 คน จาก 22 คน ของทีมชาติอินโดนีเซีย
ดังนั้นนักเตะจึงอยู่ในคอนโทรลของโค้ช เพราะเป็นบอสใหญ่กันทั้งสโมสรและทีมชาติ โค้ชว่ายังไง นักเตะก็ว่าตามนั้น
----------------------------
1
[ พาร์ท 3 - มุมของทีมชาติไทย ]
ทีมชาติไทยในยุคนั้น มีนายกสมาคม คือ "วีเจ" วิจิตร เกตุแก้ว ส่วนผู้จัดการทีมคือถิรชัย วุฒิธรรม และ เฮดโค้ชคือวิทยา เลาหกุล
1
ในไทเกอร์คัพครั้งนั้น ผู้จัดการทีมถิรชัยไม่สามารถเดินทางไปด้วยได้ จึงเป็น "บิ๊กกาเซ็ม" เกษม จริยวัฒน์วงศ์ ไปทำหน้าที่แทน
ถามว่าผู้เล่นไทย เป็นชุดฟูลทีมหรือไม่ คำตอบคือ ไม่ใช่ เพราะเกียรติศักดิ์ เสนาเมือง, ตะวัน ศรีปาน, ดุสิต เฉลิมแสน และ ธวัชชัย ดำรงอ่องตระกูลไม่ได้ไปด้วย แต่ไทยก็ยังมีตัวเก่งๆ เพียบ เช่นเทิดศักดิ์ ใจมั่น, วรวุธ ศรีมะฆะ และ นที ทองสุขแก้ว คือก็ยังดีพอที่จะป้องกันแชมป์ได้นั่นล่ะ
1
[ Note : ณ เวลานั้นมีข่าวลือสองอย่าง อย่างแรกคือ พวกคีย์แมนถูกเก็บไว้เพื่อรายการเอเชียนเกมส์ 1998 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ จึงทดลองผู้เล่นคนอื่นบ้าง และอย่างที่สองคือ สมาคมฯ กลัวว่า พวกเกียรติศักดิ์, ตะวัน ที่ไปแข่งรายการ u-19 ชิงแชมป์เอเชีย ถ้ามาแข่งไทเกอร์คัพด้วย จะโดน AFC จับได้ว่าในรายการ u-19 จริงๆ อายุเกินแล้ว ดังนั้นจึงขอโค้ชเฮงไม่ส่งนักเตะเหล่านี้ไป แต่ก็ไม่มีหลักฐานรองรับทั้งสองข่าวลือ ]
1
หลังไทยเห็นผลของกลุ่ม B ว่าเจ้าภาพเวียดนามรออยู่ที่ฮานอย ฝั่งเราก็คิดเหมือนอินโดนีเซีย คืออยากจบเป็นอันดับ 2 ของกลุ่มมากกว่า จะได้ไม่ต้องเดินทาง
1
จริงๆ ถ้าคิดง่ายๆ ว่าบินเครื่องบินจากโฮจิมินห์ไปฮานอย มันจะยากอะไร 2 ชั่วโมงก็ถึงที่หมายแล้ว แต่ในยุคนั้น (23 ปีที่แล้ว) มีข่าวว่า ไม่สามารถหาไฟลท์บินภายในประเทศได้ในระยะเวลากระชั้นชิด ดังนั้นนักเตะและโค้ชจึงมีทางเลือก 2 อย่างคือ เดินทางด้วยรถบัส (30 ชั่วโมง) หรือ รถไฟ (42 ชั่วโมง)
1
นัดสุดท้ายของกลุ่ม A จะแข่งจบ 31 สิงหาคม แล้วรอบรองชนะเลิศจะแข่ง 3 กันยายน แปลว่ากว่าจะนั่งรถ 30 ชั่วโมงถึงที่หมาย ก็ไม่ได้ทำอะไรกันพอดี นักเตะนั่งรถกันข้ามวันข้ามคืน จะฟื้นฟูสภาพร่างกายให้สมบูรณ์ก่อนจะแข่งคงเป็นไปได้ยาก
1
ยิ่งไปกว่านั้น วันที่ 2 กันยายน คือวันชาติเวียดนาม บรรยากาศคงพีกสุดขีด เพราะคนเวียดนามคลั่งฟุตบอลมาก นักเตะไทยไม่มีใครอยากเจอประสบการณ์แบบนัดชิงซีเกมส์ปี 1997 ที่อินโดนีเซียอีกแล้ว ที่แฟนบอลปิดล้อม แถมขว้างปาข้าวของ มันเสี่ยงตายเกินไป
ดังนั้นคิดตามคอมม่อนเซนส์ก็คงปลอดภัยกว่า ถ้าได้ปักหลักที่โฮจิมินห์ แล้วรอรับมือกับสิงคโปร์แทน แล้วค่อยไปเจอเวียดนามนัดชิงเกมเดียวพอ ชนะปั๊บแล้วกลับบ้านเลย
2
ดังนั้นไทยก็ไม่อยากชนะในนัดนี้เหมือนกัน (แต่ก็ไม่อยากแพ้) กลยุทธ์ก็ใช้แนวทางเดียวกับอินโดนีเซียนั่นแหละ คือเล่นไปเรื่อยๆ อินโดปล่อยหลุดยังไง ก็ไม่ต้องบุก เคาะไปมา แบบเนียนๆ ให้จบแบบเสมอ แค่นี้ก็เข้ารอบเป็นอันดับ 2 แล้ว
1
ฝั่งเวียดนามวางโปรแกรมทัวร์นาเมนต์ได้อย่างแปลกประหลาด ส่วนฝั่งอินโดนีเซียและไทย ไม่อยากชนะคู่แข่ง เท่ากับว่าองค์ประกอบทุกอย่างมันผลักดันให้เกิดเหตุอัปยศครั้งนี้ขึ้น
----------------------------
[ สิ่งที่เกิดขึ้น ]
1
การแข่งเริ่มต้นขึ้น ไลน์อัพทีมชาติไทย ประกอบด้วย สราวุธ คำบัว (GK),เสนาะ โล่งสว่าง, โชคทวี พรหมรัตน์, นที ทองสุกแก้ว, ใกล้รุ่ง ตรีจักรสังข์, โกวิทย์ ฝอยทอง, อนัน พันแสน, เทิดศักดิ์ ใจมั่น, สุรชัย จิระศิริโชติ, สุนัย ใจดี และ ชายชาญ เขียวเสน
เมื่อนกหวีดดัง ทั้งสองฝั่งก็เล่นแบบไม่มีใครอยากชนะ ครึ่งแรกจบ 0-0
1
ในช่วงพักครึ่ง มีนักข่าวไทยเล่าว่า เฮดโค้ชของเรา วิทยา เลาหกุล เตือนนักเตะว่าให้ระวังอินโดนีเซียยิงเข้าประตูตัวเอง แต่ตอนนั้นไม่มีใครเชื่อว่าจะมีคนกล้าทำจริงๆ
1
เข้าครึ่งหลัง เกมเริ่มน่าเกลียดขึ้นเรื่อยๆ เวลามีคนง้างเท้ายิง นายทวารก็ไม่พุ่ง หรือไม่ก็แค่แกล้งล้มเป็นพิธี ปล่อยให้ไหลเข้าไปง่ายๆ อย่างนั้นแหละ
นอกจากนั้นยังมีช็อตที่นายทวาร เฮนโดร คาร์ติโก้ ของอินโดนีเซียปล่อยหน้าโกล์ตัวเองว่าง แล้ววิ่งขึ้นมายิงประตู ในช่วงกลางครึ่งหลัง คือไม่ได้สนใจอะไรทั้งสิ้น จะโดนสวนแล้วโดนยิงก็ไม่เป็นไร
กล้า ปีนเกลียว นักข่าวจากฟุตบอลสยามที่อยู่ในสนามที่โฮจิมินห์วันนั้นด้วยเล่าว่า "การลงไปเล่นปรากฏว่าเราดันทำผิดพลาด เมื่อดันเล่นเอาเสมออย่างไม่แนบเนียน เจออินโดนีเซียที่อยากแพ้เหมือนกัน แล้วทำฟอร์มดันขึ้นสูงให้ด้านหลังโล่งไว้ ประตูชีลาเวิร์ตก็ทำซ่าขึ้นมาเหมือนอยากยิงประตู แต่พอเสียบอลแล้วโกล์ก็ไม่รีบลง กลายเป็นฟุตบอลตลกสุดๆ"
8
"นักเตะไทยแทนที่จะยืนแฝงตัวท่ามกลางกลุ่มคน ยืนให้ตัวติดคู่แข่งดูเหมือนพัวพัน ก็ดันไปยืนโล่งๆ แบบไร้คนประกบ พอ (นักเตะไทย) ได้บอลหลุดเดี่ยว ก็ไม่รู้ทำไง ต้องเลี้ยงวนกลับหลัง หมดสภาพไปอีก"
3
สุดท้ายโค้ชเฮงเห็นว่า ถ้าปล่อยไว้แบบนี้ ไทยหลุดเดี่ยวแล้วไม่ยอมยิงเอาแต่วน คงเป็นอะไรที่น่าเกลียดมากแน่ๆ จึงเปลี่ยนแผน สั่งให้เราเก็บบอลไว้กับตัวในแดนหลัง
2
เกมเสมอกัน 2-2 จนถึงช่วงทดเจ็บ ถ้าเป็นสกอร์นี้ ไทยจะจบอันดับ 2 เข้ารอบตามเป้าหมาย ปรากฏว่า อินโดนีเซียตัดบอลจากไทยได้ แล้วชิ่งบอลส่งกันไปมาอย่างรวดเร็ว แต่ไม่ใช่ชิ่งบุกไทยนะ ชิ่งใส่หน้าโกล์ฝั่งตัวเอง แน่ชัดว่าพวกเขาจะยิงเข้าประตูตัวเองแน่ๆ
4
นักเตะไทยจึงรีบเพรสซิ่งทันที เพื่อป้องกันไม่ให้อินโดนีเซียยิงเข้าประตูตัวเองได้ กลายเป็นภาพที่แปลกประหลาดมาก สุดท้ายนักเตะไทยกั้นไม่อยู่ บอลไปถึงเท้าของ มูซียิด เอฟเฟนดี้ ซัดเข้าประตูตัวเองไป ไทยนำ 3-2 โดยเอฟเฟนดี้คนยิงเข้าปรบมือพอใจ ที่ทำตามแผนที่วางไว้ได้สำเร็จ
7
พออินโดนีเซียยิง ให้ไทยนำปั๊บ ตัวสำรองของไทย วรวุธ ศรีมะฆะ รีบวิ่งไปหยิบบอลที่ก้นตาข่าย วิ่งมาตั้งที่จุดกลางสนาม หลายคนแซวว่า วรวุธจะรีบมาเขี่ยเพื่อยิงเข้าประตูตัวเองคืน แต่ในภายหลังวรวุธบอกว่า เขาเบลอจริงๆ เพราะนึกว่าไทยเสียประตูเลยรีบเอาลูกมาเขี่ย จะได้ไม่แพ้ แต่ลืมไปว่าคนยิงคือฝั่งอินโดนีเซียต่างหาก
จากนั้นกรรมการก็เป่านกหวีดหมดเวลา ไทยชนะอินโดนีเซียไป 3-2 ในเกมที่พิลึกพิลั่นที่สุด นักข่าวจากฟุตบอลสยามรายงานว่า "หลังจากเราชนะ 3-2 อย่างที่ไม่ต้องการ ทุกคนต่างสลด หน้าซีดกันเป็นแถวหลังเกม ทุกคนผิดหวังกันมาก" จนนที ทองสุกแก้ว ต้องปลอบใจเพื่อนๆ ว่า "ถ้ามันกล้าทำถึงขนาดนี้ก็ให้มันไปเถอะ"
8
ขณะที่คนยิงเข้าประตูตัวเอง เอฟเฟนดี้ ให้สัมภาษณ์ภายหลังว่า "ความจริงแล้วหน้าที่คนยิงประตูตัวเองไม่ใช่ผม แต่ต้องเป็นคุนโคโร่ กับ หรือ อาจิ ซานโตโซ่ แต่อาจิเดินมาบอกให้ผมเป็นคนจัดการ ถ้าคุณไม่เชื่อ ไปถามใครก็ได้ที่ยังมีชีวิตอยู่ได้เลย"
2
เมื่อผลการแข่งขันจบแบบนี้ ทีมชาติไทยจึงต้องเดินทางจากโฮจิมินห์ไปเวียดนาม 1,600 กิโลเมตร กว่าจะไปถึงฮานอยก็กรอบสุดๆ แล้ว และไม่แปลกใจที่แพ้เวียดนามขาดลอย 3-0
ยิ่งไปกว่านั้นแฟนบอลเวียดนามที่เข้ามาในสนาม ทำป้ายแบนเนอร์ขนาดใหญ่เขียนว่า THAILAND BE SHAMED (ประเทศไทยหน้าไม่อาย) ด่าทีมชาติเราอย่างหนักหน่วง
1
ขณะที่อินโดนีเซียก็โดนประณามจากทั่วสารทิศ แฟนบอลในบ้านเกิดก็อับอายและผิดหวังมาก ขณะที่แกรี่ ลินิเกอร์ ก็เอาภาพข่าวไปฉายในรายการโทรทัศน์ช่องบีบีซี พร้อมหัวเราะอย่างขบขันว่า ไม่เคยเจออะไรแบบนี้มาก่อนในชีวิต
1
ฝั่งอินโดนีเซียเอง แม้จะได้เล่นที่โฮจิมินห์ต่อ แต่สภาพจิตใจก็ย่ำแย่สุดๆ จากการโดนด่าเละเทะ สุดท้ายในรอบรองชนะเลิศ ก็พ่ายแพ้สิงคโปร์ไป 2-1
เท่ากับว่าทั้งไทยและอินโดนีเซีย พยายามที่จะไม่ชนะคู่แข่ง แต่บทสรุปคือ ก็เข้าไปแพ้คู่แข่งพร้อมกันในรอบรองชนะเลิศอยู่ดี
----------------------------
[ สิ่งที่ตามมา ]
ฟีฟ่า สั่งปรับเงินทั้งไทยและอินโดนีเซีย ข้อหาเล่นฟุตบอลอย่างไร้สปิริต ชาติละ 40,000 ดอลลาร์ และสั่งลงโทษเอฟเฟนดี้ คนยิงเข้าประตูตัวเอง ด้วยการห้ามเล่นเกมระดับนานาชาติตลอดชีวิต แต่นักเตะยังเล่นในประเทศได้
1
อัซวาร์ อานาส นายกสหพันธ์ฟุตบอลอินโดนีเซีย ประกาศลาออก เช่นเดียวกับโค้ชรัสดี้ บาฮาลวาน ก็ลาออกเช่นกัน ขณะที่ของไทย นายกฯ วิจิตร เกตุแก้ว ยังอยู่ในตำแหน่งต่อ ส่วนโค้ชเฮง วิทยา เลาหกุล ต้องรับผิดชอบด้วยการโดนแบนไป 3 ปี
ความน่าสนใจของเรื่องนี้คือ ใครกันแน่ ที่เป็นคนวางแผนให้ไทย เล่นแบบไม่หวังชนะ จนสร้างความอับอายไปทั้งโลกแบบนี้ คือว่ากันตรงๆ ถ้าอินโดนีเซียอยากจะแพ้ เราก็ไม่เห็นต้องไปทำตามเขา
1
ในเรื่องนี้วิทยา เลาหกุล เคยให้สัมภาษณ์ว่า "ผมเชื่อว่ากฎแห่งกรรมมีจริง คนที่ล้มบอลก็ได้รับกรรมไปแล้ว ทุกวันนี้บอลไทยไม่เจริญเพราะอะไร บอกได้เลยว่าไทเกอร์คัพ ที่เวียดนาม นัดสุดท้ายของรอบแรก นายวิจิตร นี่แหละที่เป็นคนโทรศัพท์ทางไกลไปบอกให้เล่นแค่เสมอ ทั้งที่ใจของโค้ชทุกคนต้องการชนะในทุกนัดที่ลงสนาม"
1
เป็นการเปิดหน้าแลกซัดกับสมาคมฯ ในยุคของวิจิตร เกตุแก้วอย่างดุเดือด แต่สุดท้ายไม่มีพยาน-หลักฐานใดๆ มารองรับ ทำให้วิจิตร เกตุแก้วลอยตัว และได้เป็นนายกสมาคม ต่ออีก 10 ปี จนลาออกจากตำแหน่งในปี 2008 โดยเป็นวรวีร์ มะกูดี เข้ามาเสียบตำแหน่งแทน
1
ตลอดชีวิตการทำงานของวิทยา เลาหกุล ประเด็นไทเกอร์คัพ ในปี 1998 เป็นดราม่าต่อเนื่องตามมาไม่รู้จบ
ตัวอย่างเช่นในปี 2013 วรวีร์ เคยแซะว่า วิทยาควรอยู่เงียบๆ แล้วไปดูแมตช์อัปยศไทเกอร์คัพ ซึ่งเรื่องนี้ทำให้อรรณพ สิงห์โตทอง รองประธานสโมสรชลบุรีออกมาตอบโต้ว่า "กรณีนั้นต้องไปถามว่าใครเป็นคนดูแลทีม ใครเป็นคนสั่ง และที่สำคัญสมัยนั้นตัววรวีร์ ก็นั่งตำแหน่งเลขาสมาคมฯ อยู่ด้วย ทำไมไม่ขัด จะมาบอกว่าเอาความดีความชอบแชมป์ซีเกมส์ 8 สมัย ใส่ตัวอย่างเดียวมันไม่ได้ เพราะไทเกอร์คัพครั้งนั้น วรวีร์ก็อยู่ในสมัยอัปยศนั้นด้วย ทำไมไม่รับความผิดไปด้วย"
3
หลายคนเห็นด้วยกับโค้ชเฮง ว่าถ้าไม่มีคำสั่งจากผู้ใหญ่ใครเลยจะกล้า ระบบอำนาจของประเทศไทย คงปฏิเสธไม่ได้หรอกว่ามีอยู่จริง
แต่บางส่วนก็วิจารณ์เช่นกันว่า ต่อให้โดนสั่งจากเบื้องบน แต่ในฐานะที่โค้ชเคยเป็นนักเตะมาก่อน ก็ต้องรู้สิว่าเรื่องแบบนี้มันยอมรับไม่ได้ มันไม่สามารถหลบหนีความรับผิดชอบได้แน่
เรื่องราวก็จบลงตรงนี้ นี่ถือเป็นจุดตกต่ำของทั้งวงการฟุตบอลไทยและอินโดนีเซีย ต้องใช้เวลาอีกพอสมควรกว่าจะกู้หน้ากันขึ้นมาได้
ของไทยยังพอพูดได้ว่า "ไม่อยากแพ้ แต่ก็ไม่อยากชนะ" สังเกตได้จากตอนโดนอินโดนีเซียยิงนำ 2 รอบ เราก็ตีเสมอตามทั้ง 2 หน คือไทยพอดูรู้ว่าอยากให้จบเสมอ แต่ของฝั่งอินโดฯ คือ "อยากแพ้" ซึ่งความรุนแรงมันมากกว่ากันอยู่แล้ว
1
จากนั้นมา รายการชิงแชมป์อาเซียนจึงเปลี่ยนกฎ โดยไทเกอร์คัพปี 2000 กำหนดให้รอบรองชนะเลิศ ทั้ง 2 สนาม เล่นสนามเดียวกันไปเลยเพื่อตัดปัญหาไป ก่อนจะมาเปลี่ยนกฎอีกครั้งในปี 2004 ให้รอบรอง และรอบชิงชนะเลิศใช้การเหย้า-เยือนแทน
[ บทสรุป ]
นี่เป็นแผลเป็นในประวัติศาสตร์ของฟุตบอลอาเซียนอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ที่น่าสนใจมากก็คือ เราแทบจะหาข้อมูลเรื่องเหล่านี้ไม่ได้แล้ว ทั้งวีดีโอฟูลแมตช์ หรือแม้แต่รายชื่อ 11 ตัวจริง ของทั้งสองทีมในเกมนั้นยังหาได้ยากมาก
ในปี 1998 ถ้าเราอยากดูไลน์อัพของเกมฟุตบอลโลกที่ฝรั่งเศส เราสามารถหาได้ง่ายมาก แต่กับเกมนัดนี้เป็นอะไรที่ยากเย็นจริงๆ
ทางฝั่งอินโดนีเซีย ยังมีการหยิบมาพูดถึงบ้าง ตัวคนยิงประตูตัวเองยังออกมาเล่ามาเปิดใจ แต่ฝั่งของไทยคือมีแต่จะเงียบหายไปตามกาลเวลา
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผมเชื่อเสมอคือประวัติศาสตร์ใดๆ เมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว ก็คือเกิดขึ้นแล้ว เราควรทำความเข้าใจกับมัน เพื่อดูว่าสิ่งต่างๆ มันเกิดขึ้นได้เพราะอะไร และจะได้ทำความเข้าใจเพื่อไม่ให้รอยแผลแบบเดิมเกิดซ้ำอีกรอบ
 
#ASEANSCANDAL
3
โฆษณา