Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
กฎหมายบริษัทและหลักทรัพย์
•
ติดตาม
12 ธ.ค. 2021 เวลา 15:08 • ธุรกิจ
ความผิดฐาน “ปั่นราคา” สินทรัพย์ดิจิทัลมีด้วยหรือ?
คุณสุนันท์ ศรีจันทรา แห่ง “ผู้จัดการออนไลน์” ในบทความชื่อ “คริปโต” ปั่นกันจริงไหม” เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2564 ได้รายงานว่า
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก siambitcoin
“KUB COIN พุ่งขึ้นจากราคาประมาณ 13 บาท ขึ้นมาแตะที่ 500 บาท ภายในเวลาประมาณ 2 เดือน
JFIN COIN เมื่อต้นปียืนอยู่ที่ 2.42 บาท แต่ถูกลากขึ้นมาสูงสุดที่ 245 บาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 10,000%
ส่วน SIX COIN จากราคา 0.0019 ดอลลาร์สหรัฐ ถูกลากขึ้นไปสูงสุดที่ 0.56 ดอลลาร์ ล่าสุดเคลื่อนไหวอยู่ที่ประมาณ 0.19 ดอลลาร์
สัปดาห์ก่อน คริปโตไทยทั้ง 3 สกุล กอดคอกันวิ่ง สร้างความตื่นตระหนกให้นักเก็งกำไร และเกิดการตามแห่เข้าไปซื้อขาย ก่อนราคาจะดิ่งลง โดย KUB COIN ล่าสุดเคลื่อนไหวอยู่ที่ประมาณ 6.83 ดอลลาร์ JFIN COIN เคลื่อนไหวอยู่ที่ประมาณ 77 บาท
แมลงเม่าที่แห่กันเข้าไปลุยคริปโตไทยในรอบนี้บาดเจ็บหนักกันถ้วนหน้า และยังไม่รู้ว่า ราคาเหรียญที่พุ่งขึ้นอย่างหวือหวาเป็นการซื้อขายตามกลไกตลาดโดยธรรมชาติ หรือมีใครอยู่เบื้องหลังการปั่นราคา”
ส่วนคุณ รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต. ก็ได้แถลงว่า ก.ล.ต. ได้ติดตามและตรวจสอบตามขั้นตอนว่ามีการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกิดขึ้นหรือไม่ โดยที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้ติดตามและพบว่าราคาของ 3 เหรียญ (KUB, JFIN, SIX) มีความผันผวนอย่างมาก ….หากมีการกระทำการปั่นกับสินทรัพย์ดิจิทัลที่ว่ามา จะเข้าข่ายเป็นการกระทำผิดกฎหมาย ซึ่ง ก.ล.ต. จะดำเนินการตามอำนาจหน้าที่
ในพระราชกําหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลฉบับแรกของประเทศไทย น้อยคนนักที่จะรู้ว่าในพระราชกำหนดฉบับนี้ก็มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการสร้างราคาสินทรัพย์ดิจิทัลหรืออีกนัยหนึ่งก็คือ “การปั่นราคา” นั่นเอง
ตามพระราชกำหนดฉบับนี้บอกไว้ว่า “สินทรัพย์ดิจิทัล” หมายความว่า “คริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัล” ซึ่งก็คือเงินดิจิทัลทั้งหลายและ Token ที่มาขายเวลาทำ ICO ซึ่งสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทใหม่คือ NFT ก็น่าจะอยู่ในความหมายนี้ด้วย
ในการซื้อขายเงินดิจิทัลหรือ Token ในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล มาตรา 46 ของพระราชกำหนดดังกล่าวก็ได้กำหนดว่า “ห้ามมิให้บุคคลใดกระทําการดังต่อไปนี้
(1) ส่งคําสั่งซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัล อันเป็นการทําให้บุคคลทั่วไปเข้าใจผิดเกี่ยวกับราคาหรือปริมาณการซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัล
(2) ส่งคําสั่งซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัล ในลักษณะต่อเนื่องกันโดยมุ่งหมายให้ราคาสินทรัพย์ดิจิทัลหรือปริมาณการซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นผิดไปจากสภาพปกติของตลาด”
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก binance
ลักษณะการกระทำความผิดตามมาตรานี้แบ่งออกเป็น 2 กรณีคือ
1. ส่งคำสั่งซื้อหรือขาย หรือทำการซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัลในลักษณะที่เป็นการทำให้คนทั่วไปเข้าใจผิดเกี่ยวกับราคาหรือปริมาณการซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น ซื้อสินทรัพย์ดิจิทัลในปริมาณมาก ๆ หรือซื้อสินทรัพย์ดิจิทัลในราคาที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยไม่มีเหตุผล
2. ส่งคำสั่งซื้อหรือขาย หรือซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัลในลักษณะต่อเนื่องกัน(continuity) คือไม่ใช่การซื้อขายเพียงครั้งหรือสองครั้ง การซื้อขายต่อเนื่องนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ราคาหรือปริมาณการซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นผิดไปจากสภาพปกติของตลาด
ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 46 (1) ก็จะต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับตั้งแต่ 5 แสนบาทถึง 2 ล้านบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ส่วนใครที่ฝ่าฝืนมาตรา 46 (2) ก็ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 1 ล้านบาทถึง 5 ล้านบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
นอกจากนี้ กฎหมายยังได้ให้บทสันนิษฐานไว้ในมาตรา 48 ว่าการซื้อขายอย่างไรที่เป็นกรณีที่คนทั่วไปจะเข้าใจผิดเกี่ยวกับราคาหรือปริมาณการซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัล หมายความว่า ถ้าใครทำการซื้อขายที่เข้าลักษณะที่กฎหมายสันนิษฐานไว้แล้ว ก็จะถือก่อนว่าบุคคลนั้นกระทำความผิด แล้วบุคคลนั้นมีหน้าที่พิสูจน์ตัวเองว่าไม่ได้กระทำ เป็นการยกภาระการพิสูจน์จากฝ่ายโจทก์(คือฝ่ายรัฐ)มาเป็นของฝ่ายจำเลยแทน
โดยในมาตรา 48 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าการกระทําดังต่อไปนี้ เป็นการกระทําอันเป็นการทําให้ตามมาตรา 46(1) หรือ 46(2) แล้วแต่กรณีคือ
(1) ซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัลซึ่งในที่สุดบุคคลที่ได้ประโยชน์จากการซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัลยังคงเป็นบุคคลคนเดียวกัน ซึ่งก็คือ Wash trading นั่นเอง
(2) ส่งคําสั่งซื้อสินทรัพย์ดิจิทัลโดยรู้อยู่แล้วว่าตนเองหรือบุคคลซึ่งร่วมกันกระทําการได้สั่งขายหรือจะสั่งขายสินทรัพย์ดิจิทัลเดียวกัน ในจํานวนใกล้เคียงกัน ราคาใกล้เคียงกัน และภายในเวลาใกล้เคียงกัน
(3) ส่งคําสั่งขายสินทรัพย์ดิจิทัลโดยรู้อยู่แล้วว่าตนเองหรือบุคคลซึ่งร่วมกันกระทําการ ได้สั่งซื้อหรือจะสั่งซื้อสินทรัพย์ดิจิทัลเดียวกัน ในจํานวนใกล้เคียงกัน ราคาใกล้เคียงกัน และภายในเวลาใกล้เคียงกัน
กรณี (2) กับ (3) เป็นลักษณะเดียวกัน ต่างกันตรงที่ “ซื้อ: กับ “ขาย” คือ อาจจะตนเองหรือบุคคลที่ร่วมกันจะสั่ง “ขาย” หรือ “ซื้อ” อยู่อีกด้านหนึ่ง วิธีการนี้เรียกกันว่า Matching Orders ความผิดนี้อาจจะทำคนเดียวหรือร่วมกับผู้อื่นก็ได้
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก varchev
(4) ส่ง แก้ไข หรือยกเลิกคําสั่งซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัลในช่วงก่อนเปิดหรือช่วงก่อนปิดศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล โดยมุ่งหมายให้ราคาเปิดหรือราคาปิดของสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นสูงหรือต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลอาจมีการทำราคาเปิด(ราคาซื้อขายที่เป็นราคาแรกของวัน) หรือราคาปิด(ราคาซื้อขายที่เป็นราคาสุดท้ายของวัน)ได้ กฎหมายจึงได้กำหนดไว้ให้การทำราคาเช่นนี้เป็นความผิด
(5) ส่ง แก้ไข หรือยกเลิกคําสั่งซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัลในลักษณะที่เป็นการขัดขวางการซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัลของบุคคลอื่น ซึ่งมีผลทําให้บุคคลอื่นต้องส่งคําสั่งซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัล ในราคาที่สูงกว่าหรือต่ำกว่าที่ควรจะเป็น
นอกจากนี้ก็ยังมีบทสันนิษฐานตัวผู้กระทำความผิดไว้ในมาตรา 49 อีกว่า ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าใครกระทําการดังต่อไปนี้ก็จะถือว่าเป็น “ตัวการ” ในการกระทําความผิดตามมาตรา 46 คือ
(1) เปิดบัญชีธนาคาร บัญชีกับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล หรือบัญชีอื่นใดร่วมกันเพื่อการชําระราคาหรือรับชําระราคาที่เกี่ยวกับหรือเนื่องจากการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลเช่น เปิดบัญชีร่วมระหว่างนายดำกับนายแดง เพื่อใช้เป็นบัญชีเพื่อการจ่ายเงินซื้อหรือรับเงินที่ขายได้จากสินทรัพย์ดิจิทัล
(2) ยอมให้บุคคลอื่นใช้ประโยชน์จากบัญชีธนาคาร บัญชีกับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลหรือบัญชีอื่นใดของตนเพื่อการชําระราคาหรือรับชําระราคาที่เกี่ยวกับหรือเนื่องจากการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล
(3) ยอมให้บุคคลอื่นใช้บัญชีซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลของตน เช่น นายดำเปิดบัญชีซื้อขาย Token กับโบรกเกอร์ของสินทรัพย์ดิจิทัล แต่คนสั่งซื้อสั่งขายในบัญชีนั้นกลับเป็นนายแดง
(4) ชําระราคาหรือรับชําระราคาค่าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลแทนกัน
(5) นําเงินหรือทรัพย์สินอื่นมาวางเป็นประกันในการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลแทนกัน
(6) ยอมให้บุคคลอื่นรับประโยชน์หรือรับผิดชอบในการชําระราคาที่เกี่ยวกับหรือเนื่องจากการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลของตน หรือ
(7) โอนหรือรับโอนสินทรัพย์ดิจิทัลระหว่างกัน
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก siambitcoin
กฎหมายนี้มีบทสันนิษฐานอยู่หลายชั้น ใครที่ถูกกล่าวหาก็เหนื่อยหน่อยที่ต้องพิสูจน์ตัวเอง ฝ่ายรัฐก็คงสบายหน่อยที่ไม่ต้องพิสูจน์มาก ใครที่คิดจะมาปั่นราคาสินทรัพย์ดิจิทัลก็คงจะต้องเตรียมตัวพบกับกฎหมายนี้
คงต้องรอดูต่อไปว่า ทางการจะพบว่ามีผู้กระทำความผิดฐานปั่นราคาทรัพย์สินดิจิทัลหรือไม่?
"กฎหมายบริษัทและหลักทรัพย์"
ข่าว ความเห็น และข้อสังเกตเกี่ยวกับกฎหมายบริษัท(Corporate Law)และกฎหมายหลักทรัพย์(Securities Law)
ติดตามได้ที่
https://www.blockdit.com/pages/601376475c74760d00681326
2 บันทึก
3
2
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย