6 เม.ย. 2022 เวลา 03:22 • การศึกษา
โมฆะของชีวิต
ชีวิตในวันหนึ่ง ๆ ผ่านไปอย่างรวดเร็ว เหมือนสายน้ำที่ไหลผ่านเลยไป ไม่ไหลย้อนกลับ ทุกลมหายใจเข้าออกที่สูญเสียไป นั่นคือวันเวลาที่ลดถอยลงไปทุกที ประเดี๋ยววันประเดี๋ยวคืน ร่างกายของเราก็เข้าใกล้ความเสื่อมความชราไปทุกขณะจิต ช่วงเวลาของชีวิตนี้สั้นนัก เราทั้งหลายจึงควรเป็นผู้ไม่ประมาท พึงเร่งทำความเพียร หมั่นประพฤติปฏิบัติธรรม ทุก ๆ วัน เพื่อความบริสุทธิ์บริบูรณ์ มีจิตใจที่แน่วแน่จะมุ่งแสวงหาไปให้ถึงจุดหมายปลายทางของชีวิต มุ่งตรงต่อหนทางของพระนิพพาน เช่นเดียวกับพระอริยเจ้าทั้งหลาย
มีวาระพระบาลีใน โสมทัตตชาดก ความว่า.....
 
มตํ มริสฺสํ โรทนฺติ เย รุทนฺติ ลปนฺติ จ
ตสฺมา ตฺวํ อิสิ มา โรทิ โรทิตํ โมฆมาหุ สนฺโต
เหล่าสัตว์ผู้ร้องไห้คร่ำครวญ ก็ร้องไห้ถึงสัตว์ผู้ตายไปแล้ว และที่จักตาย เพราะฉะนั้นท่านฤๅษี ท่านอย่าร้องไห้เลย เพราะสัตบุรุษทั้งหลายเรียกการร้องไห้ว่า เป็นโมฆะ
การพลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รักทั้งหลายในโลก เป็นทางมาแห่งความทุกข์ แต่ความโศกนั่นแหละที่บัณฑิตนักปราชญ์ทั้งปวงกล่าวว่า เป็นโมฆะ หมายถึงว่าเป็นสิ่งที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อันใดกับผู้ที่เศร้าโศกเลย มีแต่จะแผดเผาทำให้สภาวะของใจอ่อนแอลงและสูญเสียความละเอียดภายใน ไม่มีผู้ใดในโลกนี้ที่มีจิตใจขุ่นมัว ถูกความทุกข์ครอบงำ แล้วบรรลุธรรมาภิสมัย มีแต่ผู้ที่ปลดปล่อยวางเรื่องราวต่าง ๆ ได้แล้ว คืนความสดชื่นให้กับจิตใจ มีใจผ่องใสสามารถทำใจหยุดใจนิ่ง ดิ่งเข้ากลางของกลางได้
สมเด็จพระบรมศาสดาของเราทั้งหลาย ทรงสรรเสริญผู้ที่ละความโศกได้แล้ว ทรงให้ความสำคัญและยกย่องผู้ที่สามารถปรับใจให้กลับคืนสู่สภาวะเดิมได้ หากพระองค์ทราบว่า มีพระสาวกรูปใดก็ตามที่ถูกความโศกครอบงำ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวอย่างใดอย่างหนึ่งที่บังเกิดขึ้นในชีวิต พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงเปี่ยมด้วยพระมหากรุณาธิคุณอย่างสูงสุด ไม่มีศาสดาองค์ใดในโลกเทียบได้ ก็จะเสด็จไปโปรดถอนลูกศร คือ ความโศกนั้น ให้กับพระสาวก เพราะพระพุทธองค์ทราบว่า ความโศกที่บังเกิดขึ้น เป็นสิ่งที่ขัดขวางหนทางของพระนิพพานอย่างแท้จริง
เหมือนเมื่อครั้งที่เคยเกิดเรื่องราวขึ้น ในขณที่พระพุทธองค์ประทับอยู่ที่พระเชตวัน ได้มีผู้เฒ่าท่านหนึ่ง ฟังธรรมของพระบรมศาสดาแล้วเกิดศรัทธา อย่างแรงกล้า ได้ออกบวชในยามที่ตนชรา บวชเป็นหลวงตาอยู่ที่พระเชตวันนั่นเอง แม้ว่าท่านจะบวชเมื่อแก่ แต่ก็มีข้อวัตรปฏิบัติ สีลาจารวัตรที่งดงามน่าเลื่อมใสเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากท่านตระหนักว่า เวลาแห่งการบำเพ็ญเพียร เพื่อแสวงหาโมกขธรรมของตนเหลือน้อยเต็มที เหมือนพระอาทิตย์ใกล้อัสดง ท่านจึงเป็นผู้ที่ไม่ประมาทในกิจวัตรที่สมณะควรปฏิบัติ ทำให้ท่านเป็นที่รักของญาติโยมทั้งหลาย
จนกระทั่งวันหนึ่ง ท่านได้ให้การบรรพชาสามเณรรูปหนึ่ง เมื่อสามเณรรูปนี้บวชแล้ว ได้อุปัฏฐากรับใช้หลวงตาเป็นอย่างดี ทั้งยังเป็นผู้ที่รักในการฝึกตนเอง รู้จักควรไม่ควร แม้จะถูกอบรมพร่ำสอนอย่างไร ก็เคารพเชื่อฟัง เป็นสามเณรที่ว่านอนสอนง่าย ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ใดก็ตาม ก็จะเป็นที่รักของครูบาอาจารย์ เพราะเขาจะมีคุณธรรมอย่างหนึ่งที่ติดตัวมา คือ เป็นคนที่อ่อนน้อมถ่อมตน คุณธรรมข้อนี้ เมื่อมีอยู่กับผู้ใดแล้ว ผู้นั้นจะเป็นที่รักของมนุษย์และเทวดา ทั้งหลาย สามเณรน้อยรูปนี้จึงเป็นที่รักของทุก ๆ คน
วันหนึ่ง สามเณรเกิดล้มป่วยกะทันหัน แล้วไม่สามารถรักษาได้ทันท่วงที ในที่สุดก็มรณภาพลง เมื่อเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น ทำให้หลวงตาผู้เป็นอุปัชฌาย์ไม่สามารถที่จะหักห้ามใจ ถึงแม้ว่าจะบวชมาหลายพรรษาแล้วก็ตาม ได้เดินร้องไห้คร่ำครวญอยู่ทั้งวัน
ฝ่ายภิกษุทั้งหลาย เห็นท่านเศร้าโศกเสียใจอย่างนั้น จึงพากันสนทนาในธรรมสภาว่า "ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หลวงตารูปนี้ เดินร้องไห้คร่ำครวญอย่างน่าสงสาร เพราะสามเณรอุปัฏฐากของท่าน ได้มรณภาพลงอย่างกะทันหัน สงสัยท่านจะไม่ได้เจริญมรณานุสติอย่างแน่นอน"
ต่อมา เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จมาถึงโรงธรรมสภา ได้สดับหัวข้อธรรมนั้นแล้วจึงตรัสว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ไม่เฉพาะแต่ในบัดนี้เท่านั้นที่เกิดเหตุการณ์อย่างนี้ แม้แต่ในอดีตชาติที่ผ่านมาก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ความโศกที่บังเกิดขึ้นนี้ ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรเลย"
เมื่อได้ฟังอย่างนั้น ภิกษุทั้งหลายจึงพากันทูลพระศาสดาว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เรื่องราวที่พระองค์ตรัสโดยย่อนั้น มีความเป็นมาอย่างไร ขอพระองค์โปรดแสดงเนื้อความเหล่านี้แก่พวกข้าพระองค์ด้วยเถิดพระเจ้าข้า เพื่อเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่การประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ของภิกษุทั้งหลาย" พระพุทธองค์จึงนำเรื่องในอดีตมาตรัสเล่าว่า...
เมื่อครั้งที่พระบรมโพธิสัตว์ เกิดเป็นท้าวสักกะ เสวยทิพยสมบัติในดาวดึงสเทวโลก ในสมัยนั้น มีพราหมณ์คนหนึ่งที่มีฐานะค่อนข้างดีอาศัยอยู่ในกาสีนิคม เมื่อเขาได้ครองเรือนมายาวนาน เกิดเห็นโทษของการครองเรือนว่าเป็นทางมาแห่งธุลีกิเลส ควรที่จะแสวงหาหนทางแห่งความหลุดพ้น จึงตัดสินใจละทิ้งความสุขสบายทางฆราวาสวิสัย ได้ออกบวชเป็นฤๅษี บำเพ็ญเพียรอยู่ในป่าหิมพานต์ อยู่อย่างสงบและสันโดษ มีเพียงหัวมันและผลไม้ในป่าเท่านั้นเป็นอาหาร และยังเป็นผู้มีข้อวัตรปฏิบัติที่เคร่งครัดมาก
วันหนึ่ง พระฤๅษีได้ออกเดินไปรอบ ๆ บริเวณที่พักอาศัย เพื่อแสวงหาผลไม้ตามปกติ ได้เห็นลูกช้างตัวหนึ่งที่อยู่อย่างเดียวดายไม่มีแม่คอยดูแล ก็เกิดความรักประดุจว่าเป็นลูกของตนเอง จึงได้นำมาเลี้ยงที่อาศรม เลี้ยงดูเหมือนกับว่าเป็นลูกของตนเอง ได้ตั้งชื่อให้ว่า โสมทัตตะ ให้กินหญ้าและใบไม้ในป่าใกล้อาศรมนั้น ฝ่ายลูกช้างเมื่อได้รับการเลี้ยงดูอย่างดีเช่นนั้น ก็โตวันโตคืน จนกระทั่งมีรูปร่างที่สูงใหญ่สง่างามกว่าช้างทั้งหลาย
วันหนึ่ง โสมทัตตะได้กินมากเกินไปจนอาหารไม่ย่อย จึงได้อ่อนกำลังลง ขณะนั้นดาบสเองได้ออกไปหาผลาผล เมื่อกลับมาถึงอาศรมไม่เห็นโสมทัตตะออกมารับเหมือนทุก ๆ วัน ก็สงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น จึงได้ออกตามหา ไปพบโสมทัตตะนอนแน่นิ่งไม่เคลื่อนไหว ครั้นพบว่าช้างลูกรักของตนนอนสิ้นชีวิตเสียแล้ว จึงร้องไห้คร่ำครวญว่า "ลูกรักของเรา บัดนี้เจ้าต้องมานอนตายอย่างน่าอนาถ เจ้านอนตายอย่างนี้ เหมือนยอดเถาย่านทรายที่ถูกเด็ดทิ้ง โสมทัตตะยอดกุญชร เจ้าได้จากไปแล้ว"
เมื่อพระฤๅษีร้องไห้คร่ำครวญอยู่อย่างนี้ สมเด็จพระอมรินทร์บรมโพธิสัตว์ ผู้เป็นใหญ่ในสวรรค์ ชั้นดาวดึงส์ กำลังตรวจดูสัตวโลกอยู่พอดี จึงเห็นเหตุการณ์นั้นทั้งหมด แล้วดำริว่า "ดาบสนี้อุตส่าห์ทิ้งลูกทิ้งภรรยาออกบวช มาบัดนี้ก็ยังมาคร่ำครวญถึงลูกช้าง เราจะทำให้ดาบสนี้ได้คิด แล้วกลับมาบำเพ็ญเพียรต่อไป"
เมื่อดำริอย่างนี้ พระโพธิสัตว์ เจ้า จึงลงมาจากเทวโลกตรงไปที่อาศรมของพระดาบส แล้วกล่าวกับดาบสว่า "ท่านดาบส ตัวท่านเองสละทุกสิ่งทุกอย่างมาแล้ว การที่ท่านเศร้าโศกถึงสิ่งที่ล่วงลับไปแล้ว เป็นการไม่เหมาะกับนักบวชอย่างท่านเลย"
ด้วยความที่กระแสแห่งความโศกกำลังไหลเชี่ยว ทำให้ฤๅษียังไม่ได้คิด จึงตอบสวนไปทันทีว่า "ท่านท้าวสักกะ ความรักใคร่ย่อมเกิดขึ้นในดวงใจของมนุษย์หรือแม้แต่สัตว์เดียรัจฉาน เพราะการมีโอกาสได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันของเราทั้งสองนั้น ทำให้อาตมาภาพไม่สามารถที่จะหักห้ามความโศกนี้ได้"
ด้วยหัวใจยอดกัลยาณมิตร ปรารถนาที่จะให้ฤๅษีหักห้ามความเศร้าโศกให้ได้ จึงตรัสว่า "สัตว์ทั้งหลายมีมากมายที่ร้องไห้ถึงคนที่ตายไปแล้ว แต่ท่านรู้ไหม การร้องไห้เศร้าโศกนั้น สัตบุรุษกล่าวว่า เป็นโมฆะของชีวิต ทำให้ชีวิตและจิตใจมัวหมอง หากท่านปรารถนาที่จะให้ใจผ่องใส จงหักห้ามความโศกเถิด"
1
เมื่อพระฤๅษีได้ฟังถ้อยคำที่เป็นสุภาษิตเช่นนี้ ใจที่กำลังทุกข์ระทมก็กลับผ่องใสขึ้นมา เหมือนกระจกที่ขุ่นมัวด้วยฝุ่นละอองถูกขัดเช็ดทำความสะอาด ทำให้กลับสดใสแวววาวดังเดิม พระฤๅษีจึงกล่าวขอบคุณพระโพธิสัตว์ว่า "ข้าแต่องค์อมรินทร์ ชีวิตของอาตมาที่รุ่มร้อนทุกข์ระทม ได้หายไปเหมือนเอาน้ำเย็นราดรดไฟฉะนั้น ใจของอาตมาไม่ขุ่นมัวอีกก็เพราะคำของท่าน"
เมื่อท้าวสักกะประทานโอวาทแล้วก็เสด็จกลับ ตั้งแต่บัดนั้นมา ความโศกไม่เคยเข้ามากล้ำกรายหัวใจของพระฤๅษีได้อีกเลย ทำให้ชีวิตของท่านอยู่ในเพศสมณะอย่างมีความสุข
จะเห็นได้ว่า ความโศกเศร้าเพราะพลัดพรากจากคน สัตว์ หรือสิ่งของอันเป็นที่รัก อาจเกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่สำหรับสัตบุรุษผู้มุ่งแสวงหาความบริสุทธิ์หลุดพ้นเยี่ยงพระโพธิสัตว์ทั้งหลายแล้ว ท่านจะมองความโศกเศร้านี้เป็นเรื่องที่ไร้สาระ เป็นโมฆะของชีวิต เพราะจะทำให้ชีวิตสูญเสียกำลังใจไปเปล่าๆ เสียทั้งเวลาทั้งอารมณ์และความละเอียดของใจ หากเรายังไม่สามารถที่จะปลดปล่อยความเศร้าโศกได้ การที่จะก้าวไปสู่ความบริสุทธิ์ของใจนั้นก็ยาก
ดังนั้น เราจำเป็นต้องปลดปล่อยวางเรื่องราวต่าง ๆ แล้วหมั่นฝึกใจให้หยุดนิ่งกันทุก ๆ วัน ใจจะได้หนักแน่น ชีวิตของเราจะได้มุ่งไปให้ถึงฝั่งแห่งพระนิพพานกันทุก ๆ คน
จากหนังสือธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๖ หน้า ๓๕๘ – ๓๖๗
อ้างอิง.......พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ (ภาษาไทย)
โสมทัตตชาดก เล่ม ๕๙ หน้า ๓๗๓
โฆษณา