15 ธ.ค. 2021 เวลา 09:06 • ธุรกิจ
ผู้นำยุคสุดท้าย
ตอน
เคหการเกษตร กับ แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า
เขียนโดย วิฑูรย์ สิมะโชคดี
“เคหการเกษตร” กำลังจะกลายเป็น “อดีต” ในขณะที่ “แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า” กำลังจะเป็น “อนาคต”
ใครที่เชื่อกันว่า “เกษตรกร คือ กระดูกสันหลังของชาติ” อาจจะเริ่มสงสัยกันบ้างแล้ว
เพราะวันนี้ เกษตรกรส่วนใหญ่ของเราก็ยังมีสภาพความเป็นอยู่เดิมๆ ทั้งที่ควรจะมี “คุณภาพชีวิต” ที่ดีขึ้นมากกว่านี้
แม้แต่ “เคหการเกษตร” ที่ออกเป็นรายเดือนมาตลอดเวลายาวนานถึง 45 ปี ก็ได้ประกาศ “ปิดตัว” ลงแล้ว โดย “คุณเปรม ณ สงขลา” บรรณาธิการวารสาร กล่าวคำอำลาผู้อ่านอย่างเป็นทางการเมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา
“เคหเกษตร” อยู่คู่กับสังคมเกษตรกรของไทยมายาวนานถึง 45 ปีแล้ว มากกว่า “อายุการทำงาน” ของคนคนหนึ่งด้วยซ้ำไป (ซึ่งใช้เวลาทำงานเฉลี่ย 40 ปี ตั้งแต่จบปริญญาตรีจนถึงวันเกษียณ)
สาเหตุหลักที่ต้องปิดตัวลง ก็คงจะเหมือนๆ กับ “หนังสือพิมพ์รายวัน” และ “นิตยสาร / วารสาร” ทั่วไป ที่ต้องต่อสู้กับโลกของการสื่อสารในปัจจุบัน (โลกโซเชียลและยุคดิจิทัล) ไม่ไหว ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วและไม่รู้จักจบสิ้น ดังเห็นได้จากระบบ 4G 5G 6G และเป็นยุคของ Metaverse ในปัจจุบัน ที่ทำให้วิถีการอ่านและการเรียนรู้ต่างจากเดิมมากมาย
แม้ทีมงานวารสารฯ จะได้นำเสนอข้อมูลทางวิชาการและข้อมูลเชิงลึกด้วยการย่อยจนนำไปสู่การปฏิบัติได้ง่ายก็ตาม แต่ก็ไม่ทันกับความต้องการ “ความใหม่สด” ของผู้อ่านได้ ทั้งๆ ที่การถ่ายทอดแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการและประสบการณ์ต้องใช้เวลากว่าจะตกผลึก แต่ก็ไม่มีใครใจเย็นที่จะคอยอ่าน
ว่าไปแล้ว วารสาร “เคหการเกษตร” ได้ร่วมพัฒนาวงการเกษตรไทยมาตั้งแต่ปี 2519 จนถึงปัจจุบัน ฉบับเดือน ธันวาคม 2564 ซึ่งเป็น “ฉบับสุดท้าย” ที่ยังคงอัดแน่นด้วยเนื้อหาสาระและบทความที่มีคุณภาพคับแก้ว อาทิ ผลไม้ไทยยุค (โลก) รวน เทคนิคการจัดทรงพุ่มไม้ผลสู่ไม้ประดับ ธาตุอาหารกับการสังเคราะห์แสงของพืช เห็ดทรัฟเฟิลขาวเพชรสยาม สาระจากงานทุเรียนนานาชาติ ถึงเวลาเกษตรไทยต้องเปลี่นโฉม ? และอื่นๆ อีกมากมาย
ในฉบับสุดท้ายนี้ ได้พูดถึง “สาระจากงานสัมมนาวิชาการเรื่อง Disruptive Change : เกษตรไทยต้องเปลี่ยนโฉม” ซึ่งมีบุคลากรระดับผู้นำและวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิในภาคการเกษตรหลายท่านเป็นผู้อภิปราย
ในงานสัมมนาดังกล่าว วิทยากรท่านหนึ่งกล่าวว่า บ้านเรามีเกษตรกร 3 ประเภท คือ (1) เกษตรกรที่ผลิตเพื่ออุตสาหกรรม จำพวกสับปะรด มันสำปะหลัง (2) ประเภทที่ผลิตในแนวเศรษฐกิจพอเพียงในกลุ่มนี้ เราควรให้ความสนใจอย่างจริงจังว่าจะทำอย่างไร และ (3) กลุ่มที่ในขณะนี้เราให้ความสนใจ ก็คือ เกษตรสมัยใหม่ ซึ่งมีความสำคัญมาที่หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ที่นอกจากจะมองทางด้านวิชาการแล้วจะต้องมองในด้านกลุ่มของผู้ผลิตเหล่านี้ด้วยไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีที่ใช้ หรือการเข้าหาผู้ผลิตโดยตรงจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง
การสัมมนายังได้กล่าวถึงประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับ “คน” ในภาคเกษตรกรรม ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้ “ผลิตภาพในภาคเกษตรไทย” เติบโตช้ามาก ซึ่งน่าเป็นห่วงสำหรับพัฒนาการด้านเกษตรไทยต่อไปในอนาคต
“เคหการเกษตร” ทำให้คนอ่านได้รู้และเข้าใจใน “วิถีการเกษตรของเกษตรกรไทย” มากขึ้น ทำให้รู้ถึงความเหนื่อยยาก ปัญหา อุปสรรค และโอกาสของเกษตรกรไทย ทำให้เรามองเห็นความจำเป็นต้องเปลี่ยนโฉมภาคการเกษตรกรรมในทุกมิติที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ ถึงปลายน้ำ โดยเฉพาะเรื่องต้นทุนการผลิตสินค้าทางการเกษตร กระบวนการผลิต คุณภาพและผลิตภาพของพืชผลทางการเกษตรที่จะต้องปรับเปลี่นพลิกโฉมให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก
ผมจึงได้แต่พลิกดูวารสาร “เคหการเกษตร” ฉบับสุดท้าย (คือ ปีที่ 45 ฉบับที่ 12 เดือน ธันวาคม 2564) ด้วยความสะท้อนใจและเสียดายอย่างยิ่งแทนผู้คนในภาคเกษตรกรรม ที่กำลังจะขาด “แหล่งความรู้และประสบการณ์” ที่มีค่ายิ่งต่ออาชีพเกษตรกร
แต่เมื่อวันอาทิตย์ที่ 12 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมานี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (ท่านสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ) ได้เป็นประธานเปิด “โรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน” สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (EV) และระบบกักเก็บพลังงานครบวงจร ของ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นโรงงานแห่งแรกในอาเซียน (ผมขอพูดถึงเรื่องนี้ในบทความตอนต่อไป)
โลกยุคดิจิทัลในวันนี้ ได้ทำให้สิ่งหนึ่งกำลังจะจบลง ในขณะที่อีกสิ่งหนึ่งกำลังจะเกิดขึ้น จึงได้แต่คิดถึงยุคที่รุ่งโรจน์ของภาคเกษตรกรรมของไทยในยุค “Thailand 1.0” มันจึงเป็นความรู้สึกที่บอกไม่ถูกจริงๆ ครับผม !
กรุงเทพธุรกิจ
วันที่: พฤหัสบดี 16 ธันวามคม 2564
คอลัมน์: ผู้นำยุคสุดท้าย:เคหการเกษตร กับ แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า
โฆษณา