16 ธ.ค. 2021 เวลา 06:41 • หนังสือ
📚วรรณกรรมแปล
ทาร์ตตาแต็งแห่งความฝัน
タルト・タタンの夢
Un rêve de Tarte Tatin
ทาร์ตตาแต็งแห่งความฝัน
“ เขาหลับตาละเลียดรสชาติของมันช้า ๆ สีหน้าดูมีความสุขมากเสียจนพวกผมที่มองอยู่สามารถจินตนาการความอร่อยตามไปด้วยได้ “
🍀🍀🍀
“ คนเราจะรู้สึกชอบคนที่ตัวเองเอื้อมไม่ถึงได้มากขนาดนั้นเชียวเหรอ “
“ อาจเพราะรู้ว่าไม่มีวันเอื้อมถึงก็ได้ ถึงสามารถคลั่งไคล้ได้ขนาดนั้น “
“ อาหารเพื่อความเพลิดเพลินที่กินเพื่อปัดเป่าความทุกข์ใจในแต่ละวัน แต่ไม่อาจเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันได้ เพราะหากกินติดต่อกันทุกวันคงเบื่อ ร่างกายก็คงย่ำแย่ อาหารที่กินเพื่อความเพลิดเพลินย่อมไม่สามารถทดแทนอาหารที่หล่อเลี้ยงชีวิตในแต่ละวันได้ “
“ ชีวิตคนเรานั้นมีทางแยกอยู่นับไม่ถ้วน บางครั้งเราอาจเดินเรื่อยเปื่อยตามอำเภอใจไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งวันหนึ่งจึงรู้สึกตัวว่าได้เดินผ่านทางแยกมา หรือบางครั้งก็อาจรู้ได้อย่างชัดเจนว่า “อ้อ ตอนนี้เรากำลังอยู่บนทางแยก ”
นับว่าเป็นหนังสือวรรณกรรมแปลที่อ่านไป ได้ความสุนทรีย์ไป และหิวไป (หัวเราะ) นิยายแนว cozy mystery ชวนให้เราดื่มด่ำไปกับ mood and tone โดยมีสถานที่หลักคือร้านอาหารที่พ่วงมาพร้อมกับเรื่องราวที่ให้ชวนให้ฉงนแบบเบา ๆ ตามสไตล์ของนักเขียน เรื่องแนวเดียวกันก็เช่นหนังสือเรื่อง คาเฟ่ลูส เมนูที่รักจากการเดินทาง (พิมพ์เมื่อปี 2019)
‘Bistro Das Pasmal’ (บิสโทรเดอปามาล) ร้านอาหารฝรั่งเศสขนาดเล็ก ตั้งอยู่ในย่านร้านค้าเขตชุมชนเก่า รังสรรค์อาหารฝรั่งเศสสไตล์โฮมคุกกิ้ง โดยเชฟมิฟุเนะพร้อมกับพนักงานอีกสามคน (ชิมุระรับหน้าที่ผู้ช่วยเชฟ, คาเนโกะเป็นซอมเมอลีเยหรือผู้แนะนำไวน์ และทาคัตสึกิเป็นบริกร)
タルト・タタンの夢 by Fumie Kondo
โดยอาหาร ขนม และเครื่องดื่มสไตล์ฝรั่งเศสเหล่านั้นที่เป็นตัวเชื่อมโยงระหว่างผู้คนที่แวะเวียนมารับประทานพร้อม ๆ กับการไขข้อข้องใจของลูกค้าแต่ละคน ซึ่งมีเชฟเป็นตัวตั้งตัวตีในการคลายปมให้กระจ่าง เนื้อเรื่องทั้งหมดเล่าผ่านมุมมองของทาคัตสึกิที่เป็นบริกรนั่นเอง
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของหญิงสาวผู้ไม่อยากให้นักแสดงคนโปรดต้องลาเวทีการแสดง ซึ่งมี ‘ทาร์ตตาแต็ง’ เป็นตัวช่วย, ชายผู้เลือกกิน โดยมี ‘โรญงเดอโว’ เป็นตัวตัดสินให้เลขาของเขาตัดสินใจบางสิ่ง, ผู้ช่วยเชฟที่ซ่อนความลับไว้ใน ‘กาเล็ตเดรัว’, ความบาดหมางของคู่รักจากเหตุ ‘อ็อตโซ-อีราติ’ ชายผู้อยากเซอร์ไพรส์วันเกิดแฟนสาวด้วย ‘กาซูเล’ และร้านช็อกโกแลตที่ตั้งชื่อประหลาด ก่อนจะรู้ว่ามีความหมายแฝงซ่อนอยู่
ส่วนตัวรู้สึกว่าหนังสือถ่ายทอดเรื่องราวได้มีความลื่นไหล ในหนังสือประกอบด้วยเรื่องราวแต่ละเรื่องที่กล่าวไป ซึ่งนักเขียนใช้อาหาร เครื่องดื่ม หรือขนมแต่ละอย่างมาเป็นตัวชูโรงให้กับเรื่องแต่ละแบบฉบับแต่ละปม
และในขณะที่อ่านจะสะดุดกับชื่อของเมนูหรือส่วนประกอบ ทำให้ต้องนำชื่ออันไม่คุ้นเคยเหล่านั้นไปเสิร์จหาว่าหน้าตาเป็นอย่างไร (ถ้าเป็นคนขี้สงสัยแบบแอดมินเพราะไม่ค่อยมีความรู้ในเรื่องนี้เท่าไหร่) เพราะสำหรับคนที่เชี่ยวชาญหรือรู้เรื่องอาหารฯ มาบ้าง ก็คงจะอ่านได้เพลิน ๆ ไม่สะดุด
สรุปแล้วคือได้ความเพลิดเพลิน เหมาะกับการอ่านชิลล์ ๆ ในวันหยุดสบาย ๆ พร้อมกับละเมียดละไมของอร่อยไปด้วย คงจะฟินสุดไม่น้อย พร้อมกับได้ความรู้เมนูฉบับฝรั่งเศส กระตุ้นให้แอดมินนึกอยากจะไปเสาะหาร้านอาหารแบบนี้และลองไปนั่งดูสักครั้ง และสั่งเมนูเหมือนในหนังสือ ไม่แน่ อาจจะพบปริศนาบางก็เป็นได้ (ไม่ใช่และ555)
นักเขียน : ฟูมิเอะ คนโดะ
นักแปล : กนกวรรณ เกตุชัยมาศ
สำนักพิมพ์ : ซันเดย์ อาฟเตอร์นูน
โฆษณา