18 ธ.ค. 2021 เวลา 02:00 • บ้าน & สวน
บ้านหลังนี้ได้รับรางวัล 10 บ้านน่าอยู่ประจำปี 2564 ในหมวดวัสดุสร้างสรรค์
ด้วยสีสันของพริกแกงและรูปลักษณ์ของครก คือองค์ประกอบสำคัญที่ผู้ออกแบบนำมาตีความหมายผ่านการเลือกใช้วัสดุสองชนิดคือ ใช้ไม้เก่าที่มีโทนสีคล้ายพริกแกงในฝั่งโรงงาน และใช้อิฐบล็อกโทนสีเทาเป็นตัวแทนของครกซึ่งเป็นเครื่องมือสำหรับการโขลกพริกแกงอิฐบล็อกและไม้เก่ามาจากอาคารเดิมที่เคยอยู่ตรงนี้ก่อนรื้อสร้างใหม่ โดยเรียงร้อยเป็นเรื่องราวผ่านวัสดุ รูปทรง และการแบ่งสัดส่วนพื้นที่ได้อย่างน่าสนใจ
6
“บ้านพริกแกง” เป็นบ้านไม้กึ่งอิฐที่เป็นงานออกแบบชิ้นล่าสุดจาก BodinChapa Architects ที่พวกเขานำอิฐบล็อกและไม้เก่าจากอาคารเดิมก่อนรื้อสร้างใหม่ มาเติมชีวิตที่สองให้บ้านกึ่งโรงงานผลิตเครื่องแกงในจังหวัดสระบุรีหลังนี้ ที่เพียงแค่เห็นภาพเบื้องหน้าก็สัมผัสได้ถึงรูป รส กลิ่น เสียง ที่เกิดขึ้นทุกวี่วันในพื้นที่เหล่านั้น โดยที่ยังไม่ทันได้ก้าวขาย่างกายเข้าสู่ภายในบ้านเลยเสียด้วยซ้ำ
2
จากเดิมบ้านหลังนี้เคยเป็นอาคารไม้ขนาด 2 ชั้นครึ่ง รวมถึงมีอาคารประกอบด้านข้าง ทำหน้าที่เป็นโรงงานผลิตพริกแกงมาหลายต่อหลายรุ่น ซึ่งความตั้งใจครั้งนี้ของเจ้าของอาคาร คือการปรับปรุงพื้นที่อาคารเดิมซึ่งมีสภาพค่อนข้างทรุดโทรม ให้สามารถกลายมาเป็นพื้นที่ที่เอื้อสำหรับการอยู่อาศัยไปพร้อมรองรับธุรกิจครัวเรือนในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
1
ถึงแม้ว่าโครงสร้างเดิมของอาคารและพื้นบางส่วนนั้นจะผุพังจากทั้งปัญหาปลวกแทะไม้ เรื่อยไปจนถึงการใช้งานมาอย่างยาวนาน แต่สถาปนิกก็ยังคงตั้งใจที่จะเลือกเก็บวัสดุเดิมมาใช้กับการก่อสร้างอาคารใหม่ให้ได้มากที่สุด โดยการลงสำรวจเก็บข้อมูลพื้นที่และโครงสร้างอาคารเดิมอย่างละเอียด ไปพร้อมวางแผนการทำงานก่อสร้างควบคู่ไปด้วยกัน เนื่องจากระหว่างการก่อสร้างนั้นต้องมีพื้นที่รองรับการทำงานของโรงงานพริกแกงที่ไม่สามารถหยุดทำการผลิตได้ไปด้วยนั่นเอง
1
ข้อจำกัดนี้เองสร้างความท้าทายทั้งในการทำงาน และการก่อสร้างของทีมช่างเป็นอย่างมาก แต่ถึงกระนั้น ผู้ออกแบบก็อธิบายว่า ในกระบวนการออกแบบของพวกเขาจึงต้องคิดพื้นที่อาคารเผื่อไว้สำหรับการวางแผนการก่อสร้างโดยแบ่งออกเป็น 2 เฟส ทำให้พื้นที่ภายในบ้านถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน เพื่อแก้ไขปัญหาด้านการก่อสร้างไม่ให้กระทบกับกระบวนการผลิตตามที่ตั้งใจ และเป็นข้อจำกัดที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้โดยสิ้นเชิง
1
อีกหนึ่งข้อจำกัดคือบริบทโดยรอบของบ้านถูกปิดล้อมมุมมอง และส่งผลถึงระบบการระบายอากาศที่ดี ผู้ออกแบบจึงใช้วิธีการทะลายความคุ้นชินเดิม ๆ ของการสร้างบ้านที่มักออกแบบพื้นที่หน้าบ้านเป็นมุมรับแขก แล้วผลักตำแหน่งครัวในผังไปไว้หลังบ้านเหมือนปกติทั่วไป
3
สังเกตไหมว่ารูปลักษณ์ของบ้านละม้ายคล้ายคลึงกับสิ่งใด? สีสันของพริกแกง และรูปลักษณ์ของครก คือองค์ประกอบสำคัญที่ผู้ออกแบบนำมาตีความหมายให้งานสถาปัตยกรรมผ่านการเลือกใช้ชนิดของวัสดุ และการแบ่งสัดส่วนพื้นที่ใช้สอยฝั่งโรงงานและบ้านด้วยโทนสีของวัสดุ
ผู้ออกแบบเลือกใช้ไม้เก่าจากอาคารเดิมที่มีโทนสีของพริกแกงในฝั่งโรงงาน และเลือกใช้วัสดุอิฐบล็อกโทนสีเทาจากที่แทนค่าครกซึ่งเป็นเครื่องมือสำหรับการโขลกพริกแกงในครัวไทยมาตั้งแต่สมัยอดีต ผู้ออกแบบคิดเผื่อไปถึงการใช้งานในอนาคตไว้ว่า สีของพริกแกงในโรงงานช่วยให้รอยเปื้อนที่เกิดจากกระบวนการผลิตกลมกลืนไปกับตัวสถาปัตยกรรมได้เป็นอย่างดีนั่นเอง
1
บ้านพริกแกง บ้านกึ่งโรงงานบนพื้นที่ใช้สอย 220 ตารางเมตร คือผลลัพธ์ของการตีความหมายให้ตัวสถาปัตยกรรมเกิดภาพจำถึงรูปลักษณ์ภายนอก ผู้ออกแบบเลือกใช้สัจจะวัสดุที่เรียบง่ายและผลิตขึ้นในตัวจังหวัดสระบุรีมาเป็นกรอบอาคาร เพื่อเป็นการแทนค่าโทนสีของพริกแกงและครกซึ่งเป็นอุปกรณ์การทำพริกแกงในรูปแบบบ้านๆ อย่างน่าสนใจ
2
นอกจากนี้การออกแบบโดยลดทอนเหลี่ยมมุมของวัสดุ เพื่อสร้างเส้นสายให้ตัวอาคารเกิดความรู้สึกที่ลื่นไหลต่อเนื่อง กลมกลืนชุมชนอย่างเป็นมิตร เลือกโทนสีธรรมชาติที่เกิดจากตัววัสดุโดยไม่ต้องปรุงแต่งอะไรมากมาย ช่วยบอกเล่าเรื่องราวของครอบครัวได้ดีและมีมิติที่น่าสนใจ ให้สัมผัสถึงรูป รส กลิ่น เสียง ที่ลงตัวประหนึ่งการโขลกพริกและเครื่องแกงให้กลืนเป็นเนื้อเดียวกับตัวสถาปัตยกรรม
1
เจ้าของ: คุณอมรวรรณ ธาราสุข
ออกแบบ: BodinChapa Architects โดยคุณบดินทร์ เมืองลือ และคุณพิชชาภา โล่ห์ทอง
วิศวกรรมโครงสร้าง: Papop Mora
ก่อสร้าง: Studio Chieng-neur
อ่านเพิ่มเติมได้ที่: https://bit.ly/3szoJNf
ภาพ: shootative / Witsawarut Kekina
คลังสาระความรู้เรื่องบ้านและพรรณไม้ยังมีอีกมากมาย อ่านเนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่ www.baanlaesuan.com
โฆษณา