16 ธ.ค. 2021 เวลา 13:18 • ประวัติศาสตร์
เปิด “เก๋งนุกิจราชบริหาร” สถาปัตยกรรมจีนในวังหน้า ชมจิตรกรรม “ห้องสิน” หนึ่งเดียวในไทย
พลาดไม่ได้สำหรับ Night at the Museum เปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร อดีตพื้นที่ "วังหน้า" แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ให้เข้าชมฟรีทุกห้องจัดแสดงยามค่ำคืน (16.00-20.00 น.) ตั้งแต่วันที่ 17-19 ธันวาคม และ 25-26 ธันวาคม 2564 โดยไฮไลต์นอกจากเป็นการเปิด พระตำหนักแดง หลังจากที่ปิดปรับปรุงครั้งใหญ่แล้ว Night at the Museum ยังเซอร์ไพรส์ด้วยการเปิด “เก๋งนุกิจราชบริหาร” ให้เข้าชมหลังจากที่ปิดมานานร่วม 20 ปี
“เก๋งนุกิจราชบริหาร”
“เก๋งนุกิจราชบริหาร” เป็นสถาปัตยกรรมจีนหนึ่งเดียวในพื้นที่วังหน้า สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระองค์โปรดให้พระวิสูตรวารี (มลิ) สร้างขึ้น แต่พระองค์เสด็จสวรรคตก่อนสร้างเสร็จ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงสร้างต่อจนเสร็จ และถึงแม้จะเป็นเก๋งจีนหลังเล็กแต่ด้านในอัดแน่นด้วยรายละเอียดของจิตรกรรมภาพเขียนจีนเรื่อง “ห้องสิน” ซึ่งมีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย
ด้านใน  “เก๋งนุกิจราชบริหาร”
ห้องสิน เป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ขนาดยาวของจีน สันนิษฐานว่าประพันธ์ขึ้นในสมัยราชวงศ์หมิง โดยประวัติผู้แต่งเรื่องห้องสินนั้นแบ่งออกเป็นสองกระแส ฉบับพิมพ์ในสมัยราชวงศ์หมิง เขียนว่าผู้แต่ง คือ สวีจ้งหลิน ผู้มีสมญาว่า จงซานอี้โส่ว หรือ “เฒ่าสำราญแห่งเขาจงซาน”
แต่ก็มีบางข้อมูลที่กล่าวว่า ห้องสินเป็นผลงานการประพันธ์ของ ลู่ซีซิง นักพรตเต๋าสมัยหมิง โดยเนื้อหาห้องสินเกี่ยวเนื่องกับสงคราม ความวุ่นวายในบ้านเมืองจนต้องมีการเชิญเทวดาลงมาร่วมรบ ซึ่งภาพห้องสินที่ปรากฏอยู่บนผนังด้านในของเก๋งนุกิจราชบริหารนั้นเป็นภาพวาดการสู้รบเต็มผนังทั้ง 4 ด้าน พร้อมชื่อภาษาจีนของเทพแต่ละองค์กำกับไว้ตามธรรมเนียมการเขียนภาพของจีน ที่คนไทยคุ้นเคยกันดีคือ “นาจา” และแม้จะมีบางภาพรางเลือน แต่ความคมชัดของลายเส้นและสีของภาพที่เหลืออยู่ยังคงชัดเจนและสวยงามมาก
ภาพ "นาจา"
ในเอกสารงานค้นคว้าเรื่อง “งานจิตรกรรมเรื่องห้องสิน ภายในเก๋งนุกิจราชบริหาร พระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า)” โดย “แพร มัธยธนา” ได้มีข้อเสนอว่าจิตรกรรมห้องสิน ที่เก๋งนุกิจราชบริหารอาจมีการวาดเครื่องแต่งกายตามแบบอุปรากรจีน หรืองิ้ว ซึ่งสังเกตได้ชัดเจนจากลักษณะของเครื่องหัวส่วนการลำดับภาพนั้น รศ. ดร. ศานติ ภักดีคำ ได้ศึกษาแล้วพบว่าน่าจะเป็นการเขียนภาพแบบเวียนซ้าย ตามความนิยมของช่างจีน และถ้าถามว่าห้องสินเขียนโดยช่างจีนหรือช่างไทย ในงานศึกษาของ “แพร มัธยธนา” ได้มีการศึกษาเปรียบเทียบกับจิตรกรรมเรื่องสามก๊ก ในวัดประเสริฐ สุทธาวาส และเสนอว่าห้องสินมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นผลงานการเขียของช่างชาวจีน
แต่สำหรับคนที่ไม่มีความรู้ด้านวรรณกรรมจีนก็ไม่ต้องกังวล เพราะด้านใน “เก๋งนุกิจราชบริหาร” ได้จัดทำข้อมูลแบบทัชสกรีนให้ได้อ่านเรื่องราวของห้องสินได้อย่างสนุกมาก
อ้างอิง : “งานจิตรกรรมเรื่องห้องสิน ภายในเก๋งนุกิจราชบริหาร พระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า)” โดย “แพร มัธยธนา” มหาวิทยาลัยศิลปากร (2560)
โฆษณา