19 ธ.ค. 2021 เวลา 13:53 • หนังสือ
คุณคิดว่าประโยคใดต่อไปนี้ “จริง”? ระหว่าง “ถ้าเรามีเงินมากขึ้น เราจะควบคุมการเงินได้ดีขึ้น” หรือ “ถ้าเราควบคุมการเงินให้ดีขึ้น เราจะมีเงินมากขึ้น” คำถามคือตอนนี้คุณทำแบบไหนอยู่? แล้ววิธีที่ทำอยู่ทำให้คุณมีเงินออมหรือเงินลงทุนไหม?
1
สรุปหนังสือ 7 Strategies for Wealth and Happiness ตอนที่ 7
กลยุทธ์ที่ 1: ปลดปล่อยอำนาจของเป้าหมาย >> คุณได้รู้จักความหมายของคำสำคัญทั้ง 5 คำ เหตุผลที่เป็นแรงผลักดันให้คนเราตั้งเป้าหมาย วิธีการตั้งเป้าหมายทั้งระยะสั้นและระยะยาว รวมไปถึงการทำให้เป้าหมายต่างๆ ให้ทำงานเพื่อเรากันไปแล้ว
กลยุทธ์ที่ 2: แสวงหาความรู้ >> คุณได้เรียนรู้วิธีที่จะใช้ชีวิตให้มีประสิทธิภาพ และน่าตื่นเต้นอยู่เสมอ ผ่านการหาความรู้และพัฒนาตัวเองอยู่เสมอแล้ว
กลยุทธ์ที่ 3: เรียนรู้วิธีเปลี่ยนแปลง >> คุณได้เรียนรู้แล้วว่า เงินมีโอกาสที่จะวิ่งเข้ากระเป๋าของคนที่มีการพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ รู้จักเพิ่มคุณค่าให้ตัวเอง สร้างทรัพย์สินในขณะที่ร่างกายยังแข็งแรงอยู่ มีข้อจำกัดในการเริ่มทำสิ่งต่างๆ น้อย มั่นดูแลตัวเองทั้งทางร่างกายและจิตใจ มีวินัย และมีแรงกระตุ้นภายในตัวเองสูง
1
วันนี้แอดก็จะมาเล่าต่อถึงกลยุทธ์ที่ 4 ที่จะนำพาเราไปสู่ความมั่งคั่งและความสุข นั่นก็คือการควบคุมเงินของเรา และวิธีการที่จะทำให้เราบรรลุอิสรภาพทางการเงินในแบบฉบับของคุณจิม โรห์นกันค่ะ
เรามาเริ่มกันเลยค่ะ!!!
จิมเล่าว่า...เขาเคยพูดกับคุณชอร์ฟอาจารย์ของเขาว่า “ถ้าผมมีเงินมากขึ้น ผมจะมีการวางแผนที่ดีขึ้น” เขาตอบอย่างรวดเร็วว่า “ผมแนะนำว่า ถ้าคุณมีการวางแผนที่ดีขึ้น คุณจะมีเงินมากขึ้น”
มันไม่ใช่จำนวนที่สำคัญ มันคือแผนการที่สำคัญ มันไม่ใช่มากเท่าไหร่ที่คุณจัดสรรมันที่สำคัญ แต่มันคือคุณจัดสรรมันอย่างไรที่สำคัญ
ดังนั้น!!!
คุณควรจะตรวจสอบอย่างละเอียดถึงวิธีดำเนินชีวิตของคุณให้สัมพันธ์กับรายได้ของคุณ ถ้าคุณใช้จ่ายมากกว่าที่คุณหามาได้ คุณอาจจะกำลังฆ่าตัวตายทางด้านการเงินอย่างช้าๆ
“ของเล่น” ชิ้นต่อไปของคุณที่ซื้อมาด้วยเงินผ่อนสามารถเป็นได้ไม่น้อยไปกว่าขนาดของยาพิษอีกจำนวนหนึ่งที่เสิร์ฟให้คุณบนจานเงิน
จงตรวจสอบเครื่องบ่งชี้ทางการเงินเหล่านี้อย่างละเอียดก่อนที่มันจะสายเกินไป!!!
จิมให้คำจำกัดความของ “รวย” และ “จน” ไว้ว่า...
คนจนใช้เงินของพวกเขาแล้ว เมื่อเหลือจึงเก็บไว้ คนรวยเก็บเงินของพวกเขาไว้แล้วใช้ส่วนที่เหลือจากการเก็บ มันคือเงินจำนวนเดียวกัน เพียงแต่ปรัชญาแตกต่างกัน
1
20 ปีที่แล้ว คนสองคนต่างคนต่างหาเงินได้เดือนละ 1,000 ดอลลาร์ และพวกเขาแต่ละคนหาเงินได้เพิ่มขึ้นเท่าๆ กันตลอดทั้งปี คนหนึ่งมีปรัชญาของการใช้เงินแล้ว เมื่อเหลือจึงเก็บไว้ อีกคนหนึ่งมีปรัชญาของการเก็บเงินไว้ก่อนแล้วใช้ส่วนที่เหลือจากการเก็บเงิน
ในวันนี้ ถ้าคุณได้รู้จักพวกเขาทั้งสองคน คุณจะเรียกคนหนึ่งว่าจน และเรียกอีกคนหนึ่งว่ามั่งคั่ง
1
แต่การเก็บเงิน ก็เช่นเดียวกับรูปแบบอื่นๆ ของวินัย มีผลกระทบที่ยากแก่การเข้าใจ เมื่อสิ้นสุดวันหนึ่ง สัปดาห์หนึ่ง หรือเดือนหนึ่ง ผลแทบจะไม่เห็นชัดเจน แต่ลองปล่อยให้เวลาผ่านไป 5 ปี แล้วความแตกต่างจะกลายเป็นส่ิงที่สามารถเห็นได้ชัดเจนเมื่อสิ้นสุดปีที่ 10 ความแตกต่างคือส่ิงที่น่าประหลาดใจ
จิมบอกว่า...มดมีลักษณะพิเศษเฉพาะตัวด้วยเหตุผล 2 ประการ
1.มดจะไม่เคยยอมแพ้
ถ้ามันมุ่งหน้าไปยังที่บางแห่งแล้วคุณวางสิ่งกีดขวางทางของมันไว้ มันจะพยายามที่จะปีนไปบนสิ่งกีดขวาง หรือไม่ก็ไปข้างใต้ หรือไม่ก็ไปรอบๆ สิ่งกีดขวาง ถ้าคุณวางสิ่งกีดขวางอีกอันหนึ่งลงไปในทางของมัน มดจะมองหาหนทาง ทั้งข้างบน ข้างใต้ หรือรอบๆ
มดจะพยายามติดต่อกันนานเท่าไหร่น่ะหรือ? จนกระทั่งมันตายนั่นแหละ มดจะไม่เคยยอมแพ้
2.มดวางแผนสำหรับฤดูหนาว
1
ทายซิว่ามดจำนวนมากแค่ไหนที่จะรวมตัวกันในฤดูร้อนเพื่อเตรียมตัวสำหรับฤดูหนาว? “ทั้งหมด” ที่มันสามารถรวมกันได้นั่นแหละ!
คุณจำนิทานเกี่ยวกับตั๊กแตนได้ไหม? ตั๊กแตนหัวเราะเยาะมดที่เก็บเมล็ดข้าวไว้ตลอดฤดูร้อน ในขณะที่มันเอาแต่กระโดดไปแถวหญ้าสูงๆ โดยไม่สนใจเรื่องเกี่ยวกับอนาคต เมื่อฤดูหนาวที่โหดร้ายมาเยือน มันก็อดอาหารตาย ในขณะที่มดมีอาหารอันอุดมสมบูรณ์
รวยหรือจน...คุณหาเงินมาได้มากเท่าไหร่ ไม่ได้ทำให้เกิดความแตกต่างมากเท่ากับคุณใช้เงินที่คุณหามาได้อย่างไร ทางเลือกเป็นของคุณ
คำถามคือ ตอนนี้คุณเป็น “มด” หรือ “ตั๊กแตน”? คุณมีเสบียงสำหรับฤดูหนาวเพียงพอหรือยัง?
จิมเริ่มต้นด้วยการถามเราว่า...เศรษฐศาสตร์ในทุกวันของชีวิต มีใครเคยบอกคุณถึงวิธีที่จะฉลาดที่สุดในการจัดสรรเงินทุกบาทที่คุณหามาได้หรือเปล่า?
เขาบอกว่าตัวเขาเองก็ไม่ได้ถูกสอนสิ่งใดเลยเกี่ยวกับเรื่องนี้ จนกระทั่งคุณชอร์ฟอาจารย์ของเขา จูงมือเขาไปแล้วอธิบายมันให้เขาฟัง
@ภาษี
จิมบอกว่า...ตลอดชีวิตของเราไม่ว่าหนุ่มสาวหรือแก่เฒ่า เราก็ต้องเรียนรู้ถึงความจำเป็นในการจ่ายภาษี และทันทีที่ลูกๆ ของเรามีเงิน ไม่ว่าเงินใดๆ ก็ตาม พวกเขาก็ต้องเรียนรู้ว่าเมื่อพวกเขาจ่ายเงินไป พวกเขาจะกลายเป็นผู้บริโภคทันที และผู้บริโภคสินค้าและบริการทุกคน ก็ต้องจ่ายภาษี
จิมเน้นย้ำว่า ความเข้าใจในเรื่องภาษีเป็นสิ่งสำคัญ ลูกๆ ของเราต้องเรียนรู้ในเรื่องนี้ เราเองก็ต้องเรียนรู้เรื่องนี้ด้วย
คำถามคือ ใครเป็นผู้ได้รับมันและมันถูกใช้ไปเพื่ออะไร?
เขาอธิบายหลักการของระบบภาษีไว้ว่า...เพราะว่าเราทั้งหมดตกลงที่จะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน เราเรียกตัวเองว่า “สังคม” และเพื่อให้สังคมทำงานได้อย่างเหมาะสม จึงมีบางสิ่งที่เราไม่สามารถทำเพื่อตัวเราเองโดยลำพังได้
ยกตัวอย่างเช่น เราแต่ละคนไม่สามารถสร้างถนนสายหนึ่งได้ ดังนั้นเราจึงมีรัฐบาลและรัฐบาลก็ประกอบไปด้วยประชาชนซึ่งทำสิ่งต่างๆ เพื่อเราในสิ่งที่เราไม่สามารถหรือไม่ต้องการที่จะทำด้วยตัวของเราเอง เช่น ถนน ทางเดินเท้า สถานีตำรวจ และสถานีดับเพลิง เป็นต้น ทั้งหมดต้องใช้เงินในการดำเนินการ เราจึงตกลงกันที่จะเพิ่มเงินบางส่วนเข้าไปทุกครั้งที่เราซื้อของบางอย่างและให้มันแก่รัฐบาล
คุณชอร์ฟอาจารย์ของจิม
แนะนำให้เขาเป็นผู้ชำระภาษีที่มีความสุข จิมบอกว่าเขาต้องยอมรับว่ามันใช้เวลาสักพักหนึ่ง แต่ในที่สุดเขาก็กลายเป็นผู้ชำระภาษีที่มีความสุขคนหนึ่ง ส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นเมื่อเขาเริ่มต้นเข้าใจการทำหน้าที่ของภาษี และมันถูกต้องสำหรับทุกคน ที่จะจ่ายส่วนแบ่งที่เหมาะสมของเขาหรือเธอ
ดังนั้นเมื่อทุกๆ อย่างได้ถูกคำนวณแล้ว การลดหย่อนตามกฎหมายทั้งหมดได้ถูกหักออกไปแล้ว และคุณมาถึงบรรทัดสุดท้ายบนแบบฟอร์มชำระภาษีเงินได้ของคุณ ไม่ว่ามันจะเป็นจำนวนเท่าใด จงจ่ายมัน และจ่ายมันไปด้วยความสุข
@กฎ 70/30
จิมบอกว่า...หลังจากที่คุณจ่ายส่วนแบ่งภาษีที่เหมาะสมของคุณไปแล้ว “คุณต้องเรียนรู้ที่จะดำรงชีวิตอยู่ด้วยเงิน 70% ของรายได้หลังหักภาษีแล้ว” นี่เป็นเรื่องสำคัญ เพราะมันเป็นวิธีที่คุณจะจัดสรรเงินที่เหลืออีก 30% ของคุณ
ในส่วนของ 30% ที่ไม่ได้ใช้ จิมบอกว่า... 1 ใน 3 ควรจะถูกให้ไปเพื่อการกุศล การกุศลคือการกระทำของการให้กลับคืนสู่สังคมซึ่งคุณได้รับเพื่อที่จะช่วยเหลือคนซึ่งต้องการความช่วยเหลือ
เขาเชื่อว่าการบริจาคเงิน 10% ของรายได้หลังหักภาษีเป็นจำนวนที่ดีที่ควรพยายามทำ อาจจะมากกว่าหรือน้อยกว่านี้ขึ้นอยู่กับแผนการของเราด้วย
คนบางคนชอบทำกุศลผ่านทางโบสถ์ วัด หรือองค์กรในสังคมของเขา คนอื่นๆ ชอบที่จะให้เป็นรายบุคคลมากกว่า แต่ไม่ว่าคุณจะบริหารจัดการมันด้วยตัวคุณเอง หรือให้เงินของคุณแก่สถาบันเพื่อบริหารจัดการก็ตาม จงแน่ใจที่จะกัน % รายได้ของคุณออกมาสำหรับการให้
เขาบอกว่า...การให้ควรจะถูกสอนตั้งแต่เด็ก เวลาที่ดีที่สุดที่จะสอนเด็กคนหนึ่งถึงการทำกุศล คือเมื่อเขาได้รับเงินดอลลาร์แรกของเขา จงพาเขาไปเยี่ยมชมสถานที่ต่างๆ ให้เห็นด้วยตา พาเขาไปเยี่ยมชมสถานที่ซึ่งผู้คนไร้ที่พึ่งอย่างแท้จริง เพื่อที่เขาจะได้เรียนรู้ความเมตตาสงสาร ถ้าเด็กคนหนึ่งเข้าใจ เขาจะไม่มีความลำบากใดๆ เลยในการบริจาคเงินสิบเซ็นต์ เด็กๆ มีความเมตตาสูง
เงิน 10% ต่อไปของรายได้หลังหักภาษีของคุณ คุณจะใช้มันสร้างความมั่งคั่ง นี่คือเงินที่คุณจะใช้ซื้อ ปรับปรุง ผลิตหรือขาย ความสำคัญคือการเข้าไปเกี่ยวข้องในธุรกิจ
1
คุณจะเริ่มต้นสร้างความมั่งคั่งด้วยเงิน 10% ของรายได้ของคุณได้อย่างไร?
จิมบอกว่ามีหนทางมากมาย เช่น
- งานอดิเรกที่ทำนอกเวลางาน คุณอาจสามารถเปลี่ยนสิ่งเหล่านี้เป็นธุรกิจที่ให้ผลกำไรได้
- คุณอาจเรียนรู้ที่จะซื้อผลิตภัณฑ์ชิ้นหนึ่งในราคาขายส่ง แล้วนำมันมาขายปลีก
- ลงทุนในฐานะเจ้าของโดยวิธีซื้อหุ้น
จิมบอกว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้สามารถเริ่มต้นได้เลย
จิมบอกว่า... 10% สุดท้ายควรจะถูกจัดสรรเพื่อการเก็บออมไว้ เขาบอกว่าเงินส่วนนี้มีไว้เพื่อให้ความสงบทางด้านจิตใจแก่คุณ โดยการเตรียมพร้อมไว้สำหรับ “ฤดูหนาว” ของชีวิต ก็คือเงินที่เรากันไว้สำหรับเวลาฉุกเฉินนั่นเองค่ะ
จิมเล่าว่าไม่นานหลังจากที่เขาพบคุณชอร์ฟอาจารย์ของเขา คุณชอร์ฟถามว่า “จิม คุณมีงบการหรือเปล่า?” จิมถามกลับว่า “งบการเงินคืออะไร?”
คุณชอร์ฟอธิบายอย่างไม่ลดละว่า...
มันจำเป็นมากที่จะรู้อย่างแน่ชัดว่าคุณอยู่ที่จุดไหนโดยปราศจากการหลอกตัวเอง เมื่อคุณรู้ว่าคุณอยู่ที่จุดไหนเท่านั้นจึงจะเป็นไปได้ที่คุณสามารถมีแผนที่ดีสำหรับการก้าวไปข้างหน้าสู่จุดที่คุณต้องการจะเป็น
มันไม่ยากที่จะทำ คุณเพียงแต่บันทึกรายการมูลค่าทรัพย์สินของคุณบนด้านหนึ่งของแผ่นกระดาษ และรวมราคาสิ่งที่คุณเป็นเจ้าของทั้งหมดหรือหนี้สินบนกระดาษอีกด้านหนึ่ง จากนั้นโดยการหักหนี้สินของคุณออกจากทรัพย์สินของคุณ คุณจะได้จำนวนซึ่งประกอบเป็นค่าสุทธิทางการเงินของคุณ
ถึงตอนนี้มันไม่ได้บอกคุณว่า คุณมีค่าเท่าไหร่ในฐานะคนคนหนึ่ง มันเพียงแต่บอกว่าคุณมีค่าเท่าไหร่ในเงื่อนไขทางการเงิน
จิมพูดกับคุณชอร์ฟว่า “งบการเงินของผมจะไม่ดูดีมากนัก” เขาพูดว่า “มันไม่สำคัญว่ามันดูดีอย่างไร สิ่งสำคัญอยู่ที่ว่าคุณได้ทำงบการเงินออกมา”
เริ่มต้นรักษาสมุดบัญชีที่ดีของรายได้และค่าใช้จ่ายของคุณไว้ด้วยงบการเงินของคุณ คุณเคยได้ยินคำพูดนี้หรือเปล่า “ผมไม่รู้ว่ามันไปไหนหมด?” อย่าเป็นคนหนึ่งที่พูดประโยคนี้ จากนี้เป็นต้นไป ให้ถือเป็นเรื่องสำคัญในการรู้อย่างถ่องแท้ว่ามันไปไหนหมด และมันทั้งหมดมาจากไหน
ถ้าคุณไม่ใช่ผู้มีอิสรภาพทางการเงินเมื่ออายุ 40 หรือ 50 ปี มันไม่ได้หมายความว่าคุณอาศัยอยู่ในประเทศที่ไม่เหมาะสม มันไม่ได้หมายความว่าคุณอยู่ในสังคมที่ไม่เหมาะสม อีกทั้งมันไม่ได้หมายความว่าคุณเป็นคนไม่เหมาะสม “มันหมายความว่าคุณมีแผนการที่ไม่เหมาะสมเท่านั้น”
บางครั้งบางคราวเราต้องดำเนินการแก้ไขกลางเส้นทางของเราเองด้วยเช่นกันถ้าเราต้องการเป็นผู้มีอิสรภาพทางการเงิน
คุณคิดถึงอะไรเมื่อคุณนึกถึงคนแก่? คุณเห็นภาพคนซึ่งค่อนข้างไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ หรือคนซึ่งมีชีวิตอยู่ด้วยกำลังทรัพย์อันจำกัด?
มันจะไม่วิเศษกว่าหรือถ้าเราสามารถเปลี่ยนภาพนั้นได้?
จิมบอกว่าคำจำกัดความใหม่ของสิ่งที่ปู่ย่าตายายควรจะเป็นคือ...บทบาทของการเป็นผู้สั่งสอนลูกหลานของพวกเขาถึงวิธีที่จะมั่งคั่ง วิธีที่จะมีความรู้กว้างขวางทั้งทางด้านวิชาการและศิลปะ และวิธีที่จะมีความสุข “เหมือนกับเราทีเดียว”
ปู่ย่าตายายไม่ควรจะต้องพูดว่า “ฉันทำงานมาตลอดชีวิตและตอนนี้ฉันต้องการความช่วยเหลือ” พวกเขาควรจะสามารถพูดว่า “ฉันทำงานมาตลอดชีวิต ตอนนี้ฉันสามารถให้ความช่วยเหลือได้”
1
“จงเป็นนายเหนือสิ่งที่คุณมี และสิ่งที่คุณเป็น”
ชีวิตไม่เต็มใจที่จะหยิบยื่นความมั่งคั่งและความรับผิดชอบให้แก่ใครบางคนซึ่งไม่สามารถจัดการกับเงินเดือนของเขาหรือของเธอให้เรียบร้อยได้ แต่ด้วยการรับภาระหน้าที่ในการเก็บคะแนนชีวิตทางการเงินของคุณไว้ แล้วคุณจะเริ่มต้นก้าวสำคัญไปสู่การได้รับมอบชีวิตที่มั่งคั่งให้ดูแล
จบแล้วค่ะสำหรับ “วิธีการควบคุมเงินของเรา” ในแบบฉบับของจิม โรห์น แอดก็หวังว่าจะมีประโยชน์ต่อลูกเพจของแอดบ้างไม่มากก็น้อยนะคะ โพสต์นี้ยาวหน่อยนะคะ เรื่องการเงินเป็นเรื่องสำคัญค่ะ^^
สำหรับแอดเอง แอดคิดว่า...ชีวิตคนเราไม่แน่นอน เราไม่รู้หรอกว่าเราจะมีโอกาสได้กลายเป็นคนแก่หรือไม่ แต่ถ้าชีวิตให้โอกาสนั้นแก่แอด แอดก็อยากจะเป็นคนแก่ที่ดูแลตัวเองได้ เป็นตัวเอย่างของผู้ประสบความสำเร็จทางการเงินให้แก่ลูกหลานของแอดค่ะ
โฆษณา