Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
2read
•
ติดตาม
18 ธ.ค. 2021 เวลา 11:32 • ประวัติศาสตร์
"สมัยสุโขทัยมีทาสแล้วหรือยัง?" เรื่องราวจากคอลัมน์ "รุ่นเก๋า...เล่าเกร็ด" บนแอป 2read
รุ่นเก๋า...เล่าเกร็ด ในเวอร์ชั่นบทความวันนี้ ผมขออนุญาตชวนคุยในประเด็นสั้นๆ หลังจากที่เราพูดถึงเรื่องยาวๆ ติดต่อกันมาหลายตอน
เป็นเรื่องของ “ทาส” ที่เคยมีอยู่ในบ้านเมืองโบราณของบ้านเราครับ
เรื่องของทาสในบ้านเรานี่นะครับ เรารู้จุดสิ้นสุดว่า มีการเลิกทาสในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ซึ่งถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ยิ่งใหญ่เหลือเกิน (คือไม่แน่ว่า ถ้าสมัยนี้ยังมีระบบทาสอยู่ ป่านนี้ผมอาจจะเป็นทาสอยู่ก็ได้)และการเลิกทาสในครั้งนั้น ก็ทำให้บ้านเมืองของเรามีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมครั้งยิ่งใหญ่ และสามารถพัฒนาบ้านเมืองได้รวดเร็วอย่างก้าวกระโดดเลยทีเดียว
กลับมาเรื่องของทาสในสมัยโบราณกันต่อครับ ... อย่างที่ได้บอกไป ตอนนี้เรารู้ว่า จุดสิ้นสุดของทาสในบ้านเราอยู่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ของกรุงรัตนโกสินทร์แต่ถ้าถามว่า แล้วจุดเริ่มต้นของการมีทาสในบ้านเมืองแถบบ้านเรานี่ มันเริ่มขึ้นเมื่อไรกันล่ะ ? ...อันนี้ผมตอบไม่ได้...
แต่ผมรู้แค่ว่า ถ้าเราลองพิจารณาจากข้อมูลที่เราพอจะมีอยู่ ย้อนกลับไปทีละสเต็ปมันก็พอจะช่วยคลายข้อข้องใจนี้ลงได้บ้าง
ย้อนกลับไปสเต็ปแรก ในสมัยอยุธยา... เรามีทาสแล้วแน่นอนเพราะในพระราชพงศาวดารหลายฉบับที่เรามีกันอยู่ ต่างก็มีการพูดถึงเรื่องข้าทาสบริวารกันแล้ว
หรืออย่างในบันทึกของชาวต่างชาติ เช่น นิโกลาส์ แชร์แวส หรือ ซิมง เดอ ลาลูแบร์ (ซึ่งบันทึกต่างชาติเหล่านี้ถือว่าเป็นเอกสารร่วมสมัยที่ทรงคุณค่าอย่างยิ่ง)ต่างก็พูดถึงเรื่องที่ชาวสยามติดการพนัน เป็นหนี้เป็นสินจนต้องขายลูกขายเมียเป็นทาสเพื่อใช้หนี้ จนแม้กระทั่งขายตัวเองเป็นทาสเพื่อใช้หนี้ แบบนี้ก็มีให้เห็นอยู่ถมถืดในสมัยอยุธยา ...และผมก็ได้เคยเขียนเล่าไปแล้วในตอนที่ 7 เรื่อง “ผีพนัน สมัยอยุธยา” ท่านสามารถย้อนกลับไปอ่านได้ทุกเมื่อครับ...
สรุปอีกทีว่า สมัยอยุธยามีทาสแล้วแน่ๆ
แล้วถ้าเราจะลองย้อนกลับไปให้นานกว่านั้นอีกหน่อยถ้าเป็นช่วงเวลาในสมัยสุโขทัยล่ะ บ้านเรามีทาสแล้วหรือยัง ?
เรื่องนี้ต้องขอยกเครดิตให้กับแฟนรายการของผมท่านหนึ่ง ซึ่งได้ส่ง Inbox ของแฟนเพจ Hoy Apisak Fanspace มาถามผมว่า
“ในสมัยสุโขทัย เขาเริ่มมีทาสหรือยัง?”
จารึกวัดศรีชุม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร
จารึกวัดศรีชุม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร
สารภาพตามตรงเลยนะครับ ในครั้งแรกที่อ่านข้อความนี้ ผมยังตอบไม่ได้ เพราะตอนนั้นผมยังไม่มีความรู้เลย
แต่ต่อมา เมื่อผมได้เข้าฟังการบรรยายเรื่อง “สุโขทัยคดีในมิติประวัติศาสตร์ จารึกศึกษา และนิรุกติประวัติ” โดย ดร.วินัย พงศ์ศรีเพียร เมธีอาวุโส สกว. ที่จัดโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
ในครั้งนั้นผมมีโอกาสได้อ่านเนื้อความในจารึกวัดศรีชุม (ศิลาจารึกหลักที่ 2) เป็นครั้งแรก
…แล้วก็ได้เห็นเนื้อความบางช่วงที่น่าสนใจ ซึ่งอาจจะมีความเกี่ยวกับประเด็นของการมีทาส...
จารึกวัดศรีชุม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร
ถึงตรงนี้ ผมขออนุญาตปูความรู้เพิ่มเติมกันสักหน่อย เผื่อจะมีผู้อ่านหลายท่านที่ยังไม่มีความรู้พื้นฐานในเรื่องนี้นะครับ...
จารึกวัดศรีชุม หรือ ศิลาจารึกหลักที่ 2 ตามประมวลศิลาจารึกของไทยเรา สร้างขึ้นโดยพระมหาเถรศรีศรัทธาราชจุฬามุนี ศรีรัตนลงกาทีปมหาสามีเป็นเจ้า ซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงของสุโขทัย (ท่านอยู่ในราชวงศ์ศรีนาวนำถุม หรือบางที่ก็เรียกราชวงศ์ผาเมือง ไม่ใช่ราชวงศ์ศรีอินทราทิตย์นะครับ เพราะสุโขทัยไม่ได้มีแค่ราชวงศ์เดียวอย่างที่เราเข้าใจกันในสมัยก่อน)พระมหาเถรศรีศรัทธาฯ พระองค์นี้ ทรงเป็น “หลานปู่” ของพ่อขุนศรีนาวนำถุม และน่าจะเป็น “หลานลุง / หลานอา” ของพ่อขุนผาเมือง ผู้เป็นสหายรักกับ พ่อขุนบางกลางหาว (ซึ่งต่อมาก็คือ พ่อขุนศรีอินทราทิตย์นั่นเอง)
พระมหาเถรศรีศรัทธาฯ ท่านได้ทำจารึกหลักนี้เพื่อเป็นเหมือน ๆ กับการบอกเล่าอัตชีวประวัติของตัวท่านเอง
ซึ่งแม้ในสมัยวัยรุ่นท่านจะมีความเก่งกาจเรื่องการรบราฆ่าฟัน สามารถทำการชนช้างกับ ขุนจัง ที่มาท้ารบต่อพระราชบิดาของท่าน (พระยาคำแหงพระราม) จนได้ชัยชนะอย่างงดงาม
แต่ในที่สุดท่านก็ตัดสินพระทัยทิ้งชีวิตสุขสบายในพระราชวังเพื่อออกผนวช มีการสร้างบารมี สะสมบารมีในแง่ต่างๆ แล้วเดินทางจาริกไปเล่าเรียนพุทธศาสนา ไปบูรณะพระบรมสารีริกธาตุถึงที่ลังกา ก่อนจะเดินทางกลับมายังบ้านเมืองในแถบบ้านเราอีกครั้ง
(แต่ในตำนานพื้นเมืองนครปฐมโบราณ มีการเล่าถึง “พระมหาเถรไหล่ลาย” เชื้อพระวงศ์สุโขทัยที่ถูกเฆี่ยน จนต้องหนีราชภัยไปบวชอยู่ที่ลังกา ก่อนจะอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากลังกา กลับมาประดิษฐานไว้ในพระประโทณเจดีย์ ซึ่งตอนนั้นเป็นศูนย์กลางของ นครพระกฤษณ์ หรือเมืองนครปฐมโบราณ - จะเป็นไปได้หรือไม่ว่า “พระมหาเถรไหล่ลาย” พระองค์นี้จะเป็นพระองค์เดียวกับ พระมหาเถรศรีศรัทธาฯ ผู้สร้างจารึกวัดศรีชุม ???)
และในระหว่างที่อ่านเนื้อหาในจารึกวัดศรีชุม ผมก็ไปเจอเนื้อความท่อนนี้เข้า เป็นตอนที่เล่าถึงการสร้างสมภารบารมีของพระมหาเถรศรีศรัทธา ฯ ในโอกาสต่าง ๆ
ปรากฏอยู่ในจารึกวัดศรีชุม หน้า 1 บรรทัดที่ 107 - 109... ผมคัดลอกมาให้ดู ดังนี้ครับ
“... ลางแห่งเทตลาดซื้อสัตว์ทั้งหลายโปรส
อันเป็นต้นว่า
คนอีกแพะแลหมูหมาเป็ดไก่
ทั้งห่านนกหกปลาเนื้อฝูงสัตว์ทั้งหลาย
โปรสสัตว์ดีมีรูปโฉมงาม ...”
* (คำว่า โปรส เป็นภาษาเขมร แปลว่า ช่วยเหลือ สงเคราะห์ ปล่อยไป)
ดร.วินัย พงศ์ศรีเพียร ได้แปลความหมายไว้ในหนังสือประกอบการบรรยายในหัวข้อ สุโขทัยคดีฯ ว่า
“เมื่อเสด็จไปในที่ลางแห่ง ทรงเทตลาดซื้อสัตว์ ปลดปล่อยสัตว์ทั้งหลาย เป็นต้นว่า คน แพะ ไก่ หมู หมา ปลา เป็ด นกหก ฝูงเนื้อ บรรดาสัตว์ที่มีรูปดีโฉมงาม (ซึ่งเขามักซื้อไปฆ่ากิน)...”
ทีนี้ ท่านลองสังเกตดูให้ดีๆ นะครับ... เป็นจุดสำคัญเลยทีเดียว
ในบรรดา “สัตว์” ที่พระมหาเถรฯ ท่านเหมาซื้อจากตลาดเพื่อปล่อยให้เป็นอิสระนั้น มี “คน” อยู่ในลิสต์นั้นด้วย... เห็นไหมครับ ?
จะเป็นไปได้หรือไม่ว่า “คน” ที่พระมหาเถรฯ ทรงซื้อ หรือไถ่ตัวเพื่อปลดปล่อยให้เป็นอิสระนั้น จะหมายถึง “ทาส” ???
เพราะ “คน” ที่จะสามารถใช้เงินซื้อขายกันเพื่อ “โปรส” หรือไถ่ตัวได้นั้น ก็น่าจะเป็น “ทาส” (ในสมัยโบราณ ทาส ถือเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งของนายทาส สามารถนำมาซื้อขายกันได้)
และถ้าเป็นอย่างที่ผมเข้าใจจริง ก็น่าจะหมายความได้ว่าการซื้อขายทาสในบ้านเรานั้นมีขึ้นอย่างน้อยๆ ก็ในสมัยสุโขทัยแล้วหรือถ้าจะเจาะจงเรื่อง Timeline ไปลงอีกหน่อย พระมหาเถรฯ ท่านทรงมีพระชนม์ชีพอยู่ร่วมสมัยกับ พรญาฤาไท หรือ พระมหาธรรมราชาลิไท หรือ พระมหาธรรมราชาที่ 1นั่นจึงพอจะอนุมานได้ว่า ถ้าอ้างอิงจากหลักฐานชั้นต้น ซึ่งเป็นหลักฐานลายลักษณ์อักษรเท่าที่ผมพอจะมีข้อมูลอยู่ในมือแล้วละก็บ้านเมืองของเราน่าจะมีทาส อย่างน้อยที่สุดก็ในสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1 แห่งแคว้นสุโขทัย
ความจริงแล้ว มันอาจจะมีหลักฐานที่เก่าแก่กว่าอีกก็ได้นะครับ เช่น อาจย้อนไปได้ไกลถึงสมัยของบ้านเมืองในกลุ่มวัฒนธรรมทวารวดีเลยก็ได้ เพียงแต่ผมอาจจะยังไม่มีข้อมูลเหล่านี้ในมือเท่านั้นเอง
และในตอนสุดท้ายนี้ ผมก็ต้องขอย้ำอีกครั้งว่า เนื้อหาทั้งหมดในบทความนี้ มันเป็นเพียงข้อสังเกตเท่านั้นนะครับมันอาจจะผิดหมดเลยก็ได้ แต่ถึงยังไง ผมก็คิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจทีเดียว
::: อ้างอิง :::
ศิลาจารึกหลักที่ ๒ (จารึกวัดศรีชุม) เว็บไซต์ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)สุโขทัยคดี : ประวัติศาสตร์ จารึกศึกษา และนิรุกติประวัติ โดย ดร.วินัย พงศ์ศรีเพียร เมธีวิจัยอาวุโส สกว.
เรื่องและภาพ : หอย อภิศักดิ์
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย