19 ธ.ค. 2021 เวลา 10:24 • ความคิดเห็น
รำพึงรำพรรณจากสามย่านถึงหัวลำโพง
สามย่านและหัวลำโพง - ที่มาโดยผู้เขียน
เนื่องจากการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือที่เรียกย่อ ๆ แบบไม่ให้คอแห้งว่า รฟท. เค้าประกาศมาว่าจะหยุดให้บริการสถานีหัวลำโพง วันที่ 24 ธันวาคมนี้ ฉันก็แอบใจหายเล็ก ๆ นะ เพราะบอกตามตรงว่ารู้สึกผูกพันกันสถานที่นี้มายาวนาน จำได้เมื่อครั้งยังเป็นวัยละอ่อนนั่งรถไฟสายใต้ไปลงหาดใหญ่ ใช้เวลาประมาณ 1 คืนกับอีกครึ่งวันก็ได้ไปกินบักกุ๊ดเต๋แถวตลาดกิมยงแล้ว ฉันกับสองศรีพี่น้องเลยตัดสินใจจัดทริปเฉพาะกิจไปเยี่ยมชมหัวลำโพงกัน
ตลาดสามย่าน - ที่มา: ผู้เขียน
ก่อนจะไปถึงหัวลำโพงพี่สาวเราตัดสินใจทำธุระแถวสามย่านมีเวลานั่งเรื่อยเฉื่อยอยู่เฉย ๆ เกือบ 2 ชั่วโมง จะช้าอยู่ใย ? ฉันในฐานะเด็กเก่าสามย่านตัดสินใจไปเดินเล่นแถวนั้น สิ่งที่พบเห็นยิ่งทำให้เราใจหายและนึกถึงสัจจะธรรมที่ว่า “ความแน่นอน คือ ความไม่แน่นอน” สามย่านวันนี้นอกจากตัวตลาดและแผงร้านค้าที่อยู่ด้านในที่ยังคงมีเค้าเดิมอยู่บ้าง แต่หลุดจากตลาดออกไป คือ โครงการก่อสร้างอาคารร้านค้าใหม่ ๆ ที่ขุดรากถอนโคนสามย่านในวันวานจนไม่เหลือเค้าเดิม...
แผงดอกไม้ในตลาด -ที่มา: ผู้เขียน
เริ่มจากย่านถนนบรรทัดทองที่เคยเป็นแหล่งขายเครื่องกีฬาและย่านขายอะไหล่เก่ารถยนต์ หรือ ที่รู้จักกันในชื่อ “ตลาดเชียงกง บรรทัดทอง” ตอนนี้อาคารเหล่านี้หลายส่วนปิดร้างรอการรื้อถอน ที่ยังคงอยู่ก็มีส่วนน้อย และทยอยย้ายไปค้าขายในทำเลแห่งใหม่
ร้านร้างรอรื้อ - ที่มา: ผู้เขียน
พอเดินถัดเข้ามายังแหล่งร้านค้าร้านอาหารที่ถือเป็นแลนมาร์คอย่างหนึ่งของสามย่าน ก็ต้องงงงวยกันไปอีกยกใหญ่ เพราะเราหาร้านเก่าไม่เจอ ? ตึกเก่าถูกทุบทิ้งแล้วสร้างเป็นคอมเพล็กซ์ใหม่หน้าตาโมเดิ๊น...โมเดิร์น พี่เราพยายามจะพาไปกินข้าวเช้าที่ร้านต้มเลือดหมูเจ้าเก่าแก่ใกล้สถานีดับเพลิง แต่ร้านเก่าถูกทุบไปแล้วไม่รู้ร้านใหม่อยู่ไหน ? ชื่อร้านก็ดันจำไม่ได้ แต่ก่อนที่จะถอดใจลองถามแม่ค้าขายไส้กรอกปิ้งแถวนั้นดู เค้าก็บุ้ยใบ้บอกทางจนในที่สุดเราก็หาร้านใหม่จนเจอ
ภาพอาคารสมัยใหม่ - ที่มา: ผู้เขียน
สภาพที่อธิบายมาข้างต้นกำลังเกิดขึ้นกับทุก ๆ ที่ในสามย่านและละแวกใกล้เคียงไม่เว้นแม้กระทั่งศาลเจ้าแม่ทับทิม หรือ โรงหนังสลาล่า สองสิ่งนี้แม้จะอายุไม่ถึงร้อยปี ไม่ถือว่าเป็นโบราณสถานของชาติ แต่มันก็สถานที่ ๆ บันทึกเรื่องราวที่รุ่งโรจน์ของสามย่าน และ สยามสแควร์ ในช่วงเวลาหนึ่งที่เดียว ผู้ใหญ่หลายคนในวันนี้ผ่านชีวิตวัยรุ่นที่นั่น มาถึงวันที่อดีตต้องหลีกทางให้ปัจจุบัน และอนาคตที่ใฝ่ฝันว่าจะสดใส แต่พวกเราอาจหลงลืมกันไป ว่าสิ่งที่แลกมากับปัจจุบันและอนาคตที่คิดว่าจะได้ คือ ความทรงจำอันแสนหวานของใครหลายคนที่ไม่มีวันหวนกลับมา หากหลานถามฉันว่า “สมัยน้าเป็นทีนเอจไปแฮงที่ไหน ? ก็คงต้องเสริจร์กูเกิ้ลให้มันดูไปหน่ะแหละ...
พวกเราออกจากสามย่านสู่จุดหมายใหม่ “สถานีหัวลำโพง” พี่ฉันหาที่จอดได้แถวที่ติดกับคลองผดุงกรุงเกษม แต่ก่อนจะทิ้งรถกันไว้ คนแถวนั้นก็กล่าวเตือนเราด้วยความหวังดี ว่า “น้อง ๆ ไปจอดรถที่อื่นเถอะ แถวนี้มันไม่ค่อยปลอดภัย ! “ พวกเราก็ว่าง่ายรีบขึ้นรถไปหาที่จอดใหม่ซึ่งก็ได้ที่จอดของการรถไฟ สะดวกปลอดภัย แม้ต้องเสียกะตังค์ แต่ก็ดีกว่าเสียรถไป จริงมั๊ยล่ะ !
หัวลำโพง ที่มา: ผู้เขียน
ความประทับใจแรกที่ฉันสัมผัสได้ที่หัวลำโพง คือ “ทำไมมันทรุดโทรมอย่างนี้หว่า ?? คือ แบบว่า สงสัยนะ...สงสัยว่าทำไมถึงปล่อยให้โทรมได้ถึงขนาดนี้ พื้นที่บริเวณทางเข้าสถานีด้านข้างที่เป็นที่รอเรียกรถแท็กซี่ มันมีคราบเขม่า ขี้ฝุ่นดำ ๆ อยู่ทั่วไปมองดูแล้วไม่สดใส ไม่ไฉไลเลยจริง ๆ แต่ไม่เป็นไรนี่มันแค่ข้างนอกฉันบอกตัวเองในใจ ก้าวเดินต่อไป “อุ๊แม่เจ้า !” สถานีรถไฟแห่งชาติของเราไฉนเลยมันถึงได้เก่าชราภาพได้ถึงขนาดนี้ !
ทางเข้าสถานี ที่มา: ผู้เขียน
เริ่มตั้งแต่พื้นหินขัดของสถานีที่มีคราบและรอยแตกร้าว ไฟส่องสว่างที่มีไม่พอทำให้บรรยากาศมันดูสลัว ๆ ชอบกล ร้านรวงในสถานีก็เปิดบ้างปิดบ้าง ที่ปิดก็มีคราบขี้ฝุ่นและหยากใย่ติดอยู่ที่ประตูดูไม่จืดจริง ๆ พอเดินผ่านประตูเข้าไปข้างในตรงที่รอผู้โดยสาร เหลียวมองเบื้องบนไปตรงกระจกสีบานใหญ่ตรงช่วงโค้งของหลังคา ฉันก็ต้องประหลาดใจ กระจกถูกทาสีไว้เป็นบางบาน สีที่ทาไว้ก็กระดำกระด่าง สิ่งนี้คืออะไรฉันไม่เข้าใจเลยจริง ๆ
ภาพภายในชานชลา ที่มา: ผู้เขียน
เข้าไปในชานชลาแล้วยิ่งท้อแท้เหลือบแลเห็นโบกี้รถไฟที่จอดเทียบชานชลา สีของมันดูด้าน ๆ บ่งบอกช่วงเวลาของอายุการใช้งาน บางโบกี้สีนอกกะเทาะหลุดลอกเห็นเนื้อในที่เป็นเหล็กเริ่มขึ้นสนิม...เออ...นี่สินะ...สนิมเหล็กเกิดแต่เนื้อในตน...
ความรู้สึกตื่นเต้นที่จะมาถ่ายรูปอำลาเพื่อนเก่าของฉัน ร่วงหล่นหายไปตามรางรถไฟ หลังจากที่ได้สัมผัสกับภาพบรรยากาศตามที่เล่ามา...
บรรยากาศภายในชานชลา ที่มา: ผู้เขียน
ด้วยความเคารพรฟท. และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่าน ฉันไม่ได้มีเจตนาจะต่อว่าหรือล้อเลียนแต่อยากพูดในสิ่งที่เห็นและรู้สึกจริง ๆ ฉันได้ยินจากข่าวอยู่เสมอว่า รฟท. มียอดขาดทุนมากมาย แต่ฉันอยากบอกว่าแสนเสียดายสมบัติของชาติชิ้นนี้ ฉันอยากวิงวอนและขอร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าทอดทิ้งหัวลำโพง - อย่าปล่อยให้ประวัติศาสตร์หน้านึงของชาติต้องเสื่อมสลายไปตามกาลเวลา แต่โปรดช่วยกันเก็บรักษาเอาไว้ให้คนรุ่นหลังต่อไปด้วยเถิด
โถงรอรถของผู้โดยสารม, หัวรถจักร ที่มา: ผู้เขียน
จบทริปของวันนี้ข้อคิดที่ได้ คือ การอนุรักษ์และพัฒนา ที่หนึ่งเร่งรัดพัฒนาจนอดีตบางส่วนหลุดลอยหายไป อีกที่หนึ่งคือการปล่อยวาง วางประวัติศาสตร์ไว้แล้วปล่อยให้กาลเวลาทำหน้าที่ของมัน
ในฐานะประชาชนคนธรรมดา หากเลือกได้ว่าฉันอยากให้มันเป็นเช่นไร ? ฉันอยากบอกว่าในประเทศที่เค้าโหยหาอดีต อย่างเช่นสหรัฐอเมริกา เค้าจะพยายามอนุรักษ์สิ่งที่เป็นของเก่า ๆ ไม่ว่าจะเป็น ตึกเก่า บ้านผุ ให้อยู่ในสภาพเสมือนเดิมให้มากที่สุด โดยพยายามให้เกิดการเปลี่ยนแปลงน้อยที่สุด เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เห็นว่า ปู่ ย่า ตา ยาย ท่านเหล่า
นั้นใช้ชีวิตสร้างบ้านสร้างเมืองกันมายังไง เพื่อส่งต่อให้คนรุ่นหลังได้สำนึกภาคภูมิใจ รักบ้านและถิ่นฐานของตน และอีกด้านหนึ่งมันคือเรื่องราวจากอดีตที่จับต้องได้จริงแบบที่นักท่องเที่ยวไม่ต้องเข้าไปหาดูในพิพิธภัณฑ์ ฉันอยากให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้บ้างในบ้านเมืองของเรา ตึกเก่าแม้มีอายุไม่ถึงหนึ่งร้อยปี แต่มันมีอดีตเรื่องราวและมีคุณค่าต่อใจ หากเก็บไว้
ได้บ้างก็คงดี...
1
สุดท้ายที่อยากฝากไว้ คือ การพัฒนาเพื่อเพิ่มพูนมูลค่าถือเป็นสิ่งที่พึ่งกระทำ หากแต่การจะได้อะไรมามันก็ต้องแลกที่จะเสียอะไรไป การแลกเปลี่ยนที่ว่าจะคุ้มค่าหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคน
โฆษณา