Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ตงฮั้วเดลี่
•
ติดตาม
19 ธ.ค. 2021 เวลา 13:48 • ประวัติศาสตร์
รถไฟฟ้าพาไปวัดมหาพฤฒาราม
เดินออกตามป้ายมาตามทางออกหมายเลข 1
จะเจอถนนมหาพฤฒาราม ซึ่งเป็นถนนสายสั้น ๆ จากแยกหัวลำโพงบริเวณหน้าสถานีรถไฟหัวลำโพง เลียบคลองผดุงกรุงเกษมไปทางทิศใต้ และไปสิ้นสุดที่ถนนเจริญกรุงบริเวณเชิงสะพานพิทยเสถียร หน้าโรงเรียนสตรีมหาพฤฒาราม ซึ่งตั้งอยู่ติดกับวัดมหาพฤฒารามที่เป็นที่มาของชื่อถนน
คลองผดุงกรุงเกษมเป็นคลองขุดที่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.4) ได้โปรดให้ขุดขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2394 เพื่อขยายพระนครตามความเจริญที่เพิ่มขึ้น โดยมีสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นแม่กอง โดยขุดถัดจากคลองรอบกรุงออกไปทางชานพระนคร
เริ่มขุดจากปากคลองริมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณวัดเทวราชกุญชร ย่านเทเวศร์ มีแนวขนานไปกับคลองคูเมืองเดิม ผ่านย่านหัวลำโพง ตัดผ่านคลองมหานาคไปทะลุแม่น้ำเจ้าพระยาอีกด้านหนึ่งบริเวณวัดแก้วแจ่มฟ้า สี่พระยา ซึ่งในอดีตไม่ได้มีที่ตั้งเช่นในปัจจุบัน แต่วัดแก้วแจ่มฟ้าเดิมตั้งอยู่ตรงบริเวณโรงแรมรอยัลออร์คิดเชราตัน ซึ่งก่อนหน้าเคยเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ธนาคารฮ่องกง-เซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ของเอกชนแห่งแรกในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.2431 (ค.ศ.1888) นับเป็นหนึ่งในกลุ่มธนาคารที่เก่าแก่ที่สุดในโลกสมัยใหม่ เป็นธนาคารที่มีชื่อเสียง ก่อตั้งขึ้นและมีฐานอยู่ในฮ่องกง นับแต่ พ.ศ.2408 (ค.ศ. 1865) เมื่อครั้งยังเป็นอาณานิคมของจักรวรรดิอังกฤษ
เป็นวัดโบราณที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยายังเป็นราชธานี ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของคลองผดุงกรุงเกษม และในสมัยกรุงธนบุรีและสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เดิมรู้จักในชื่อวัดท่าเกวียน เนื่องจากในอดีตบริเวณนี้เป็นที่พักแรมของกองคาราวานเกวียนที่เข้ามาค้าขายในกรุงเทพ ซึ่งใกล้กับท่าเรือสำเภาที่อยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณที่ปัจจุบันรู้จักกันในชื่อตลาดน้อย ซึ่งในอดีตเป็นย่านการค้าเก่าแก่ เป็นเมืองท่าแห่งแรกของกรุงเทพมหานคร เป็นถิ่นที่อยู่ของชาวจีนโพ้นทะเลและชาวไทยเชื้อสายจีนที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งนอกเหนือจาก เยาวราชและสำเพ็งที่รู้จักกันดี แต่ต่อมาชาวบ้านเรียก “วัดตะเคียน” สันนิษฐานว่าเนื่องจากบริเวณนี้มีต้นตะเคียนขึ้นอยู่หนาแน่นรอบบริเวณวัดที่อาณาบริเวณกว่า 14 ไร่
เมื่อครั้งที่สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.4) ยังผนวชอยู่ได้เคยเสด็จมาพระราชทานผ้าป่าที่วัดนี้ และเจ้าอาวาสในขณะนั้นคือพระอธิการแก้ว ได้ทูลถวายพยากรณ์ว่าท่าน “จะได้ขึ้นเป็นเจ้าชีวิตในเร็ว ๆ นี้” พระองค์จึงมีรับสั่งว่า “ถ้าได้ครองแผ่นดินจริงจะมาสร้างวัดให้อยู่ใหม่” ดังนั้นเมื่อได้ทรงขึ้นครองราชย์จึงโปรดให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัต บุนนาค) เป็นแม่กอง สร้างพระอารามใหม่ใช้เวลาก่อสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ.2397-พ.ศ.2409 โดยให้ภิกษุสามเณรในวัดย้ายไปพำนักที่วัดปทุมคงคา และเมื่อการก่อสร้างพระอารามแล้วเสร็จ จึงโปรดให้สถาปนาวัดเป็นพระอารามหลวง และพระราชทานนามว่า “วัดมหาพฤฒาราม” ส่วนพระอธิการแก้ว ทรงโปรดพระราชทานสมณะศักดิ์เป็น พระมหาพฤฒาจารย์ สิ่งที่น่าสนใจจะแวะเข้าไปเยี่ยมชมและศึกษาสำหรับวัดแห่งนี้มีหลาย ๆ อย่างคือ
จิตรกรรมฝาผนังในอุโบสถวัดมหาพฤฒารามมี 2 เรื่อง คือเรื่อง “ธุดงควัตร13” ภาพอยู่ระหว่างช่องหน้าต่าง
และเรื่องการสังคายนาพระไตรปิฎก ภาพจะอยู่เหนือช่องประตูหน้าต่าง แตกต่างจากวัดส่วนใหญ่ที่นิยมเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องทศชาติชาดก หรือพุทธประวัติของพระพุทธเจ้า จิตรกรรมฝาผนังที่นี่ได้รับอิทธิพลศิลปะตะวันตกผสมผสาน ซึ่งเป็นแบบที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ 4 มีเกร็ดเล่าว่ามูลเหตุแห่งการวาดเรื่องธุดงควัตรสิบสาม เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.4) ทรงมีศรัทธาในพระอธิการแก้วเป็นอย่างมาก เนื่องจากท่านเป็นผู้ทรงวิปัสสนาญาณชั้นสูงมากและปฏิบัติตามธุดงควัตรสิบสามอย่างเคร่งครัดทุกประการ
บานประตูและหน้าต่างของพระอุโบสถ เป็นรูปวัวลาก หมายถึง ชื่อเดิมของวัดท่าเกวียน
พระอุโบสถสร้างเป็นรูปโถงตลอด หลังคาลด 2 ชั้น ประดับช่อฟ้า ใบระกา หน้าจั่วเป็นสัญลักษณ์พระมงกุฎวางอยู่บนพานสองชั้นในบุษบก ซึ่งตั้งอยู่บนช้างสามเศียร หมายถึง เจ้าฟ้ามงกุฎ (รัชกาลที่4) ผู้ครองสยามประเทศ ทรงเป็นผู้สร้างอุโบสถหลังนี้ และรูปช้างหมายถึงพระอธิการแก้ว
พระปรางค์ 4 องค์ ในบริเวณวัดสร้างขึ้นเพื่ออุทิศถวายแด่พระพุทธเจ้าทั้ง 4 พระองค์ที่ปรินิพพานไปแล้ว โดยมีขนาดใหญ่เล็กเรียงกัน ตั้งอยู่ระหว่างอุโบสถกับวิหารเหนือ
“ต้นพระศรีมหาโพธิ์” ต้นไม้แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ที่ยืนต้นสยายร่มใบในบริเวณวัด เป็นต้นโพธิ์ที่ทางวัดนำหน่อมาจากต้นศรีมหาโพธิ์ เมืองอนุราธปุระ ประเทศศรีลังกา ในสมัยรัชกาลที่ 4 คนส่วนใหญ่นิยมเรียกต้นโพธิ์ต้นนี้ว่าต้นโพธิ์ลังกา
เป็นสะพานที่สร้างขึ้นเพื่อข้ามคลองผดุงกรุงเกษม ในบริเวณพื้นที่ตลาดน้อย สะพานแห่งนี้สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.4) โดยมีสมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นแม่กอง โดยสร้างเป็นสะพานโครงเหล็กคู่กับ สะพานดำรงสถิต เรียกว่าสะพานเหล็กล่าง ส่วนสะพานดำรงสถิต ซึ่งตั้งอยู่บริเวณคลองโอ่งอ่าง ในพื้นที่แขวงวังบูรพาภิรมย์ เรียกสะพานเหล็กบน เดิมสะพานเหล็กล่างไม่สามารถเปิดได้ แต่ในสมัยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.5) ได้โปรดให้กรมโยธาธิการสร้างสะพานขึ้นใหม่ในปี พ.ศ.2442 ให้เป็นสะพานโครงเหล็กที่เปิดได้เช่นเดียวกับสะพานดำรงสถิต และพระราชทานนามว่า “สะพานพิทยเสถียร”
ชื่อสะพานพิทยเสถียร ถูกตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ พระองค์เจ้าโสณบัณฑิต ซึ่งเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และได้รับพระราชทานนามว่า พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา ซึ่งมีที่ประทับอยู่ใกล้ๆ บริเวณดังกล่าว เรียกว่า “วังตลาดน้อย” ซึ่งรัชกาลที่ 4 ได้โปรดให้สร้างวังตลาดน้อยขึ้นที่ถนนเจริญกรุง เพื่อให้เป็นที่ประทับของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา ซึ่งเดิมประทับอยู่ที่วังปากคลองตลาด บ้านเดิมของมารดาคือ เจ้าจอมมารดาวาด ซึ่งท่านทรงประทับอยู่ที่วังแห่งนี้ตลอดพระชนม์ชีพ ปัจจุบันวังตลาดน้อย ได้ถูกรื้อถอนออกไปแล้ว เหลือเพียงซากกำแพงที่ยังปรากฏอยู่ให้เห็น เรียกว่ากำแพงวังตลาดน้อยหรือกำแพงโปลิศสภา
ลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่สำคัญ
• เป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กที่มีลักษณะของศิลปกรรมแบบยุโรป มีคานล่างเป็นรูปโค้ง มีลวดลายตกแต่งประณีตงดงาม
• เสาลูกกรง เสาโคมไฟฟ้าทั้ง 8 ต้น
• ลายหัวสิงห์ที่ปลายรอดสะพาน
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย