Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
The Wissensdurst
•
ติดตาม
21 ธ.ค. 2021 เวลา 02:25 • ปรัชญา
วิทยาศาสตร์กับการใช้เหตุผลแบบอุปนัย
หากถามว่า ศาสตร์ใดที่คนเราส่วนมากให้ความไว้วางใจในฐานะที่มาแห่งความรู้อันน่าเชื่อถือ, เชื่อได้ว่า คำตอบคงหนีไม่พ้นวิทยาศาสตร์. ประโยคที่หลายคนมักหยิบยกมาพูดเวลาต้องการโน้มน้าวใครสักคนให้เชื่อตามก็เช่น “เรื่องนี้ได้รับการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์แล้ว” แต่เราแน่ใจอย่างนั้นได้อย่างไร?
1
วิทยาศาสตร์เป็นแหล่งที่มาของความรู้อันมิอาจสั่นคลอนจริงหรือไม่?
การใช้เหตุผลเป็นหนึ่งในวิธีการที่มนุษย์ใช้เพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้. วิทยาศาสตร์เองก็แสวงหาความรู้ผ่านการใช้เหตุผลซึ่งมีลักษณะจำเพาะของมัน; กล่าวคือ , การใช้เหตุผลในการแสวงหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์นั้นเป็นการใช้เหตุผลแบบอุปนัย (induction).
การใช้เหตุผลแบบอุปนัยเป็นเช่นไร?
ลองพิจารณาตัวอย่างต่อไปนี้: สมมติเรามีโอกาสได้เห็นควายเป็นครั้งแรก และควายตัวแรกที่เราเห็นมีสีดำ. ต่อมาเราได้เห็นควายตัวที่สอง สาม สี่ และห้า, ซึ่งก็มีสีดำเหมือนกันหมด. เราจึงสรุปว่า ควายทุกตัวมีสีดำ. การใช้เหตุผลแบบอุปนัยเป็นเช่นนี้: เป็นการสังเกตหรือการทดลองอะไรบางอย่างซ้ำๆ จนเราเชื่อหรือแน่ใจได้ว่าว่าในคราวต่อๆ ไปเราจะสังเกตเห็นหรือทดลองได้ผลเหมือนเดิม.
พวกเราต่างคุ้นเคยกับการใช้เหตุผลแบบอุปนัยเป็นอย่างดี. ทำไมเรามักสั่งเมนูอาหารจานเดิมในร้านอาหารแห่งเดิม? นั่นเป็นเพราะการใช้เหตุผลแบบอุปนัยบอกเราว่า เราเคยมากินข้าวที่ร้านแห่งนี้มาก่อน, คราวที่แล้วเราสั่งเมนูนี้กินอร่อยดี. มาคราวนี้, มาร้านเดิม, แม่ครัวก็คนเดิม; เมนูนี้ก็น่าจะยังอร่อยอยู่เหมือนคราวก่อนเราเลยตัดสินใจสั่งเมนูเดิม.
แต่เราแน่ใจได้อย่างไรว่า อาหารเมนูเดิมจากร้านนี้จะยังอร่อยเหมือนคราวก่อน?
หรือเวลาที่เราเลือกเดินทางกับสายการบินหนึ่งเพราะเห็นว่าเครื่องบินของสายการบินนี้ไม่เคยตกเลยสักครั้ง, มันจึงต้องปลอดภัยแน่ๆ - เราแน่ใจได้อย่างไรว่า เที่ยวบินของเราจะเดินทางไปถึงจุดหมายอย่างปลอดภัย?
เช่นเดียวกันกับตัวอย่างแรก, เราแน่ใจได้อย่างไรว่า ควายตัวที่ 107 ที่เรายังไม่เคยเห็นจะมีสีดำ?
ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ถูกวางอยู่บนการใช้เหตุผลแบบนี้. ยารักษาอาการเจ็บคอสูตรใหม่ถูกนำไปทดสอบกับอาสาสมัครผู้มีอาการเจ็บคอจำนวน 5,000 คน. หลังจากได้รับยา, อาสาสมัครทุกคนหายเจ็บคอหมด. การทดสอบนำไปสู่ข้อสรุปว่า ยาชนิดนี้มีประสิทธิภาพในการรักษาอาการเจ็บคอ. แต่นี้เป็นการสร้างข้อสรุปโดยอาศัยข้อมูลที่เรามีอยู่อย่างจำกัด, เป็นข้อมูลเพียงน้อยนิดที่เราเก็บได้.
แล้วเราแน่ใจได้อย่างไรว่า ยาชนิดนี้จะรักษาอาการเจ็บคอของอาสาสมัครคนที่ 5,001 ได้?
เราอาจตั้งคำถามเดียวกันกับกฏทางวิทยาศาสตร์อย่างเช่นกฏแรงโน้มถ่วงของนิวตันได้เช่นกันว่า เราแน่ใจได้อย่างไรว่า วัตถุทุกชิ้นจะตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของมัน?
เดวิด ฮูม (David Hume, 1711-1776) นักปรัชญาในคริสต์ศตวรรษที่ 18 เป็นคนแรกที่มองเห็นปัญหาของการใช้เหตุผลแบบอุปนัย (problem of induction).
ฮูมตั้งคำถามว่า “เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่า พรุ่งนี้พระอาทิตย์จะยังขึ้น?” เรามักตอบโดยอาศัยการใช้เหตุผลแบบอุปนัยว่า เราสามารถมั่นใจได้ว่า พระอาทิตย์จะยังคงขึ้นในวันพรุ่งนี้เพราะมันขึ้นมาแล้วเป็นเวลาหลายล้านปี และเราเชื่อในความสม่ำเสมอของธรรมชาติ (uniformity of nature). เราให้เหตุผลว่า มันเคยขึ้นมาอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องในอดีตก็ย่อมแปลว่ามันจะยังคงขึ้นต่อไปในอนาคต. แต่สำหรับฮูม, นี่ไม่ใช่เหตุผลที่มีน้ำหนักเพียงพอ!
ฮูมบอกว่า เราไม่เคยเห็นความสม่ำเสมอ (ถ้ามีอยู่จริง) ทั้งหมดของธรรมชาติ. เราสังเกตเห็นแค่เพียงชั่วระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น. สิ่งนี้จึงทำให้การสรุปว่าธรรมชาติมีความสม่ำเสมอไร้น้ำหนัก และการที่ในอดีตเหตุการณ์ในอนาคตเป็นเหมือนเหตุการณ์ในอดีตไม่ได้เป็นหลักประกันว่าในอนาคตเหตุการณ์ในอนาคตจะเป็นเหมือนเหตุการณ์ในอดีต. การที่พระอาทิตย์ขึ้นต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายล้านปีไม่ได้ยืนยันว่าพรุ่งนี้มันจะยังคงขึ้น.
เช่นเดียวกัน ควายตัวที่ 107 อาจมีสีส้ม อาหารเมนูเดิมอาจไม่อร่อยเหมือนก่อน ยาแก้เจ็บคออาจรักษาผู้ป่วยคนที่ 78, 525 ไม่ได้ และอาจมีวัตถุบางชิ้นที่ไม่ประพฤติตัวไปตามแรงโน้มถ่วง.
นี่ย่อมหมายความว่า วิทยาศาสตร์มีโอกาสผิดได้ แล้วอย่างนี้ มันจะเป็นแหล่งที่มาของความรู้อันเที่ยงแท้ได้อย่างไร?
หรือแท้จริงแล้ว ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถผิดได้ และเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอเป็นธรรมชาติของมันซึ่งทำให้เราเข้าใกล้ความจริงเกี่ยวกับโลกและจักรวาลขึ้นเรื่อยๆ.
อ้างอิง
Ladyman, J. (2002) Understanding Philosophy of Science, London: Routledge.
Okasha, S. (2002) Philosophy of Science: A Very Short Introduction, Oxford: Oxford University Press.
หมายเหตุ - บทความนี้ของผู้เขียนเคยปรากฏอยู่ใน เพจ FB อาจวรงค์ ป๋องแป๋ง จันทมาศ.
2 บันทึก
4
1
2
4
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย