21 ธ.ค. 2021 เวลา 02:32 • กีฬา
งงไหมครับ ทำไม AFF Suzuki Cup ครั้งนี้ เล่นที่สิงคโปร์ทุกนัด ทั้งทัวร์นาเมนต์แท้ๆ แต่ดันต้องแข่งรอบรอง และรอบชิง 2 เลกเหมือนเดิม วิเคราะห์บอลจริงจังจะเล่าให้ฟัง
3
คือถ้าเป็นในสถานการณ์ปกติที่เล่นเหย้า-เยือนได้ การแข่ง 2 นัด ก็มีความหมายอยู่ เพราะจะมีเสียงเชียร์จากแฟนๆ บ้านใครบ้านมัน ทำให้บรรยากาศตื่นเต้น แต่ในซูซูกิคัพครั้งนี้ มันก็เล่นกันที่สิงคโปร์อย่างเดียว แล้วแบบนี้จะแข่ง 2 นัดไปทำไมให้เหนื่อยเปล่า เล่นสนามเดิมซ้ำสองรอบเนี่ยนะ สู้แข่งนัดเดียวจบไปเลยไม่ดีกว่าหรือ
3
และอีกประเด็นที่น่าสนใจเหมือนกัน คือพอจบ AFF Suzuki Cup ครั้งนี้แล้ว ครั้งต่อไปจะแข่งต่อปีหน้าเลยทันที (2022) หรือเว้นอีก 2 ปีค่อยแข่ง (2023)
คำถามทั้งสองข้อ มีความเชื่อมโยงอยู่ในคำตอบเดียวกัน ซึ่งวิเคราะห์บอลจริงจัง จะมาอธิบายให้ฟังในวันนี้ครับผม
ก่อนอื่นเลย เราต้องอธิบายก่อนว่า AFF (Asean Football Federation) เป็นองค์กรฟุตบอลประจำอาเซียน มีหน้าที่รับผิดชอบฟุตบอลในภูมิภาคของเราทั้งหมด
FIFA คือองค์กรใหญ่สุด จากนั้นก็แตกย่อยเป็น AFC ดูแลฟุตบอลเอเชีย แล้วก็แตกย่อยมาเป็น AFF ดูแลในอาเซียนอีกทีหนึ่ง
ถ้าสินค้าขายดีของ FIFA คือฟุตบอลโลก, สินค้าขายดีของ AFC คือ ASIAN CUP สำหรับ AFF ก็คือ AFF Suzuki Cup ที่จะจัดแข่งขัน 2 ปีครั้ง
AFF ได้เงินก้อนโตจาก ซูซูกิคัพนี่ล่ะ เอามาหล่อเลี้ยงองค์กร เอาไปเป็นเงินรางวัลให้การแข่งระดับเยาวชนชิงแชมป์อาเซียนทั้งหลาย
ในซูซูกิคัพหนนี้ AFF เซ็นสัญญากับบริษัทชื่อสปอร์ตไฟว์ ของประเทศเยอรมัน โดยขายลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด เป็นแพคเกจจำนวน 26 นัด โดยแบ่งเป็น รอบแบ่งกลุ่ม A 10 นัด, รอบแบ่งกลุ่ม B 10 นัด, รอบรองชนะเลิศ 4 นัด และ รอบชิงชนะเลิศ 2 นัด
1
โดย AFF ไปการันตีกับบริษัทสปอร์ตไฟว์ด้วยว่า ซูซูกิคัพทุกปี มียอดคนดูมหาศาล โดยเฉพาะในรอบรองกับรอบชิง เวลาแข่งเหย้า-เยือน บ้านใครบ้านมัน คนดูจะ Sold Out เสมอ เป็นบรรยากาศที่สุดยอดมาก ซึ่งปีที่ผ่านๆมา มันก็เป็นแบบนั้นจริงๆ
1
เมื่อดูจาก Performance ของรายการในปีที่ผ่านๆ มา ยอดคนดูในซูซูกิคัพจะเยอะเสมอ อย่างในซูซูกิคัพปี 2018 มีผู้ชมในสนามตลอดทัวร์นาเมนต์มากถึง 750,000 คน และมียอดคนดูทางโทรทัศน์มากถึง 200 ล้านคน นั่นทำให้บริษัทสปอร์ตไฟว์ ตอบตกลงที่จะจ่ายค่าลิขสิทธิ์เป็นราคาแพงให้กับ AFF
1
เมื่อเซ็นสัญญากันแล้ว ทางสปอร์ตไฟว์ ก็จะเอาลิขสิทธิ์ไปขายต่อให้สถานีโทรทัศน์ในประเทศอื่น เพื่อทำกำไรกันต่อไป
1
ตามกำหนดการเดิม ซูซูกิคัพจะแข่งปี 2020 แต่ด้วยความที่ไวรัสยังคงระบาดรุนแรงอยู่เลยยังไม่สามารถแข่งได้ ต้องเลื่อนไปแข่งปี 2021 โดยใช้โมเดลเดียวกับศึกยูโร และโอลิมปิก
ในตอนแรกฝั่ง AFF ก็ประเมินแล้วว่า ปลายปี 2021 สถานการณ์น่าจะดีขึ้นมาก อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ภาพรวมก็ดีขึ้นบ้างจริง แต่ยังไม่ดีพอ ขนาดที่จะเดินทางไปมาระหว่างประเทศได้อย่างอิสระ เพราะก็มีไวรัสสายพันธุ์ใหม่โผล่มาเรื่อยๆ มีแค่ไม่กี่ประเทศเท่านั้น ที่เปิดประเทศให้บินไปมาได้แล้ว ดังนั้นการจะไปแข่งในหลายๆ ประเทศ แม้จะเป็นในอาเซียน เป็นเรื่องที่ยากลำบากมากเกินไป
AFF จึงต้องตัดใจ จัดแข่งแบบ Bubble ให้ทุกชาติรวมตัวกันในประเทศเดียว เพื่อลดการเดินทางให้มากที่สุด ขณะที่ในสนามแข่ง ก็จะจุผู้ชมได้สูงสุดไม่เกิน 20%
AFF เลือกสิงคโปร์ ที่มีความพร้อมมากที่สุด เป็นเจ้าภาพเดี่ยว โดยสิงคโปร์คอนเฟิร์มว่าจะใช้ 2 สนาม ในการแข่งขันคือ เนชั่นแนล สเตเดี้ยม ความจุ 55,000 คน (ขายตั๋ว 10,000 ที่นั่ง) และสนาม บิชาน สเตเดี้ยม ความจุ 6,000 คน (ขายตั๋ว 1,000 ที่นั่ง)
แน่นอน เมื่อ AFF เลือกจัดแบบเจ้าภาพประเทศเดียว และจัดแข่งแบบมีระยะ Social Distancing เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่เชื้อ มันทำให้พวกเขาผิดข้อตกลงกับสปอร์ตไฟว์ทันที ในแง่ของ Performance ของรายการ
กล่าวคือแทนที่จะได้คนดูเต็มสนาม บรรยากาศคึกคักตามที่สัญญากันไว้ กลับได้บรรยากาศโหรงเหรงของสนามแข่งที่ว่างเปล่า แล้วแบบนี้จะให้สปอร์ตไฟว์จ่ายเงินราคาเต็มกับ AFF ได้เหมือนเดิมอีกงั้นหรือ
แน่นอน เงื่อนไขไวรัส เป็นสิ่งที่ AFF ทำอะไรไม่ได้ แต่สปอร์ตไฟว์คือบริษัทที่ทำธุรกิจ และถ้าสนามคนดูไม่เต็ม บรรยากาศไม่ครึกครื้น แข่งในประเทศเดียว ยังไงกระแสก็สู้เหย้า-เยือนไม่ได้แน่ๆ ถ้าเป็นแบบนั้น แล้วเขาจะเอาไปขายต่อให้ได้ราคาได้อย่างไร
อารมณ์เหมือนแบรนด์โฆษณา ไปซื้อเวลากับสถานีโทรทัศน์เวลา 19.30 น. ที่เป็นเวลาทองเอาไว้ แต่ด้วยเหตุสุดวิสัย สถานีขอเลื่อนโฆษณาไปฉายตอน 02.00 น. แทน ที่แทบจะไม่มีคนดูเลย โดยอ้างว่ามี Breaking News แทรกเข้ามาพอดี ถามว่าแบรนด์ไหนจะไปยอมได้
นั่นทำให้ สปอร์ตไฟว์ ลดราคาค่าลิขสิทธิ์ลงจากเดิม ซึ่ง AFF ก็ต้องยอม คุณจะไม่ยอมได้ไงล่ะ
1
เมื่อเจรจากันเสร็จแล้ว สปอร์ตไฟว์ ก็ไปดีลกับสถานีต่างๆ ทั่วอาเซียน และขายลิขสิทธิ์แยกได้ครบทุกประเทศ ในไทยก็ช่อง 7, เวียดนามก็ Next Media, มาเลเซียช่อง Astro หรืออินโดนีเซีย ก็ช่อง RCTI เป็นต้น นอกจากนั้นยังขายชาติอื่นนอกอาเซียน เช่นฮ่องกง (ฮ่องกงเคเบิ้ลเทเลวิชั่น) และ เกาหลีใต้ (SBS) ได้ด้วย
2
คราวนี้มีประเด็นใหม่เพิ่มขึ้นมา คือเรื่องรอบรองชนะเลิศ กับ รอบชิงชนะเลิศ หลายๆ ชาติ ที่เข้าร่วมแข่งขันก็ตั้งคำถามว่า โอเค เมื่อคุณแข่งแบบ Bubble ในสิงคโปร์แล้ว งั้นสรุปรอบรอง กับรอบชิง ก็แข่งนัดเดียวจบพอนะ คือจะแข่ง 2 นัดไปทำไม ถ้าต้องเตะที่สนามเดิม
ใจจริง AFF ก็คงอยากให้แข่งนัดเดียวจบเหมือนกันนั่นแหละ ตามคอมม่อนเซนส์แล้วจะบ้าไปแข่งเหย้า-เยือนทำไม แต่ปัญหาคือ AFF ขายลิขสิทธิ์ให้สปอร์ตไฟว์ เป็นแพคเกจ 26 นัดไปแล้ว ถ้าหากลดจำนวนนัดลงอีก ก็โดนลดราคาลงอีก
ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติของการซื้อลิขสิทธิ์กีฬา อย่างพรีเมียร์ลีกจะแข่งฤดูกาลละ 380 นัด เวลาเขาเอาไปขายให้สถานีโทรทัศน์ ก็ต้องทำตามคำสัญญาว่า จะมีการแข่งขันเกิดขึ้น 380 นัดจริงๆ ถ้ามีน้อยกว่านี้เมื่อไหร่ ก็ถือว่าผิดข้อตกลง
นั่นทำให้ในซีซั่น 2019-20 แม้จะมีวิกฤติโควิดหนักแค่ไหน อังกฤษก็ไม่ยอมตัดจบแบบลีกอื่น แต่ต้องแข่งให้ครบ 380 นัดเท่านั้น เพื่อที่จะได้รักษาเงินค่าลิขสิทธิ์เอาไว้
ในหลักการเดียวกันซูซูกิคัพ ถ้าเล่นรอบรอง และรอบชิงแค่นัดเดียว ก็จะมีจำนวนแมตช์ทั้งหมด แค่ 23 นัด ก็ไม่ใช่ 26 นัดตามที่ดีลกันไว้อีกนั่นแหละ
เมื่อไม่สามารถทำให้ค่าลิขสิทธิ์ลดลงไปได้มากกว่านี้แล้ว ทาง AFF ก็เลยต้องแข่งตามกำหนดการเดิม คือรอบรองชนะเลิศ 2 เลก และ รอบชิงชนะเลิศ 2 เลก แม้ว่าทุกเกมจะเล่นที่สิงคโปร์ทั้งหมดก็ตาม แต่มันก็ไม่มีทางเลือกอื่นอีกแล้ว
และเมื่อตัดสินใจเล่นรอบรองชนะเลิศ 2 เลก และรอบชิงชนะเลิศ 2 เลก ทำให้โปรแกรมการแข่ง ไม่สามารถแข่งจบได้ในปี 2021 แต่ต้องลากยาวต่อไปจนถึงวันที่ 1 มกราคม 2022 เป็นเกมนัดชิงเลกที่ 2
ถ้าพูดตรงๆ ก็ใจร้ายกับนักเตะที่เข้ารอบชิงเหมือนกัน เพราะแทนที่ จะได้ Countdown กับครอบครัว ต้องมาเข้าแคมป์ทีมชาติ เผลอๆ วันที่ 31 ธันวาคม อาจจะไมได้ Countdown ด้วย เพราะต้องรีบนอนเร็ว จะได้มีแรงแข่งนัดชิงเลกที่ 2 วันรุ่งขึ้น
1
ถ้าอด Countdown แต่สุดท้ายทีมได้แชมป์ซูซูกิคัพก็คงโอเคอยู่หรอก แต่ถ้าลงเอยด้วยความพ่ายแพ้อีกล่ะก็ จะเป็นการเริ่มปีใหม่ที่เซ็งสุดๆไปเลย
สำหรับอีกประเด็นที่ต่อเนื่องกัน คือซูซูกิคัพครั้งต่อไป จะแข่งในปี 2022 หรือ 2023
ลูปเดิมของซูซูกิคัพ คือ "ปีเลขคู่" 2014, 2016, 2018 ตามจริงครั้งนี้ก็ต้องแข่งปี 2020 แต่ถูกเลื่อนไปเพราะโควิด เลยแข่งปี 2021 แทน
ถ้าตามธรรมเนียมเดิม ก็ต้องเป็น AFF Suzuki Cup 2022 แต่ถ้าทำแบบนั้น ก็แปลว่า คุณจะแข่งซูซูกิคัพสองปีติดเลยหรือ? ปีนี้ก็แข่ง ปีหน้าก็แข่ง ไม่ถี่ไปเรอะ
แม้จะดูแปลก แต่คำตอบที่ AFF แจ้งกับสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย คือซูซูกิคัพครั้งต่อไป จะแข่งปี 2022 นะครับ ปีต่อปีกันเลย สมาคมฯ เป็นคนยืนยันกับผมเองครับ
1
ฟีฟ่ากำหนดชัดเจนอยู่แล้วว่า ห้ามเกมทีมชาติลงแข่งขันในช่วงที่ฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายเตะอยู่ ดังนั้นพอบอลโลกที่กาตาร์จบรอบชิงในวันที่ 18 ธันวาคม 2022 โปรแกรมซูซูกิคัพก็ลุยต่อทันที โดยจะแข่งควบปีกัน ธันวาคม 2022 ถึง มกราคม 2023
แปลว่านักกีฬาทีมชาติไทย ที่ถูกเรียกตัวติดทีมในปีหน้า ก็จะอด Countdown อีกหนึ่งรอบ ก็ทำใจล่วงหน้าได้เลย แต่ก็นะ ถ้าแลกกับการรับใช้ชาติเป็นเกียรติประวัติก็คงจะคุ้มค่าอยู่
1
สาเหตุที่ AFF ต้องจัดในปี 2022 เหตุผลข้อแรกคือ มันจะไปทับกับ Loop ของซีเกมส์ในอนาคต ซีเกมส์เป็นการแข่งขันปีเลขคี่อยู่แล้ว ดังนั้นรักษาช่องว่างเอาไว้เหมือนเดิมดีกว่า เลขคู่-ซูซูกิคัพ เลขคี่-ซีเกมส์ มันก็ชัดเจนดี
และอีกเหตุผลหนึ่งคือ ซูซูกิคัพเป็นรายการใหญ่ ที่ทำเงินให้ AFF มากพอที่จะหล่อเลี้ยงองค์กรได้เป็นระยะเวลา 2 ปีเต็ม
ตัวอย่างเช่น รายได้ที่ AFF ได้จากซูซูกิคัพปี 2016 ก็สามารถเอามาเลี้ยงองค์กร จ่ายค่าใช้จ่ายทั้งหลายได้ในปี 2017 และ 2018 เป็นต้น
ถ้าหากเปลี่ยน Loop จะมี Gap หนึ่งปี ที่ AFF ไม่มีรายได้เลย ซึ่งพวกเขาไม่ต้องการให้เป็นแบบนั้น สุดท้ายจึงตัดสินใจเข้า Loop เดิมดีที่สุด
นี่คือคำอธิบายในประเด็นรอบรองชนะเลิศ ที่หลายคนอาจจะยังสงสัยกันอยู่ครับ ผมเองก็อยากรู้เหมือนกันนะ เลยไปหาคำตอบมาให้ครับผม
มีอีกหลายเรื่องมาก เกี่ยวกับ ซูซูกิคัพที่น่าสนใจ ไว้ก่อนจบทัวร์นาเมนต์ ยังมีอีกหลายโพสต์ที่ผมจะเล่าให้ฟังนะครับ
สุดท้ายนี้ ผมว่าซูซูกิคัพครั้งนี้สำคัญ เพราะมันจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีมาก ของทีมชาติชุดใหญ่ ในเจเนเรชั่นต่อไป เราลองไปดูโปรแกรมนะครับ
ธันวาคม 2021 - ซูซูกิคัพ 2020
มิถุนายน 2022 - เอเชียนคัพ รอบคัดเลือก
ธันวาคม 2022 - ซูซูกิคัพ 2022
มิถุนายน 2023 - เอเชียนคัพ รอบสุดท้าย
กันยายน 2023 - ฟุตบอลโลก 2026 รอบคัดเลือก
ถ้าเราเปิดหัวได้ดีในรายการแรกสุดเลย คือ ซูซูกิคัพ 2020 ที่กำลังแข่งกันอยู่ตอนนี้ มันจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีมาก ในการต่อยอดไปสู้รายการอื่นๆ เป็นลูกโซ่ต่อไปในอนาคตอันใกล้
ด้วยรายการสำคัญที่รอเราอยู่อย่างอัดแน่นแบบนี้ ซูซูกิคัพ 2020 จึงไม่ใช่เวลามาลองตัวใหม่ มาเทสต์ผู้เล่น แต่เรามีเป้าหมายเดียวเท่านั้น คือความสำเร็จ
ดังนั้น ซูซูกิคัพ ในเวลานี้ เป้าหมายเดียวคือแชมป์ ต่ำกว่านี้สำหรับผมคือล้มเหลวครับ
#ONLYGOAL
โฆษณา