20 ธ.ค. 2021 เวลา 13:26 • ท่องเที่ยว
พลับพลา สถานีรถไฟบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
สถานีรถไฟบางปะอิน ตั้งอยู่ที่อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา .. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างทางรถไฟสายแรกจากกรุงเทพฯ ถึงนครราชสีมา ในปี พ.ศ. 2434 เมื่อถึงพุทธศักราช 2439 เส้นทางบางส่วนแล้วเสร็จพอที่จะเปิดบริการเดินรถได้
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรง รัชกาลที่ 5 พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาประกอบพระราชพิธีเปิดการเดินรถไฟหลวงสายแรกในราชอาณาจักรที่ย่านสถานีรถไฟกรุงเทพ
โดยทรงประทับตรงที่ที่ได้เทมูลดินซึ่งทรงขุดไว้เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2434 เมื่อเริ่มสร้างทางรถไฟ แล้วทรงกระทำพระฤกษ์ตรึงตะปูหมุดที่รางทองรางเงิน ส่วนด้านเหนือให้ติดกับหมอนไม้มะริดคาดเงินมีอักษรจารึก ส่วนทางใต้สมเด็จพระบรมราชินีนาถเป็นผู้ตรึง แล้วได้โปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการช่วยกันตรึงต่อไปจนแล้วเสร็จ
หลังจากนั้นเสร็จพระราชพิธีแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จประทับรถไฟพระที่นั่งไปยังจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อขบวนรถไฟพระที่นั่งหยุดจอดที่บางปะอินได้เสด็จลง ณ พลับพลาที่ประทับซึ่งได้จัดสร้างไว้ข้างทางรถไฟเพื่อเปิดพลับพลา ณ สถานีรถไฟบางปะอิน ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพลับพลานี้ เพื่อเป็นที่ประทับรอรถไฟระหว่างเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานมาประทับ ณ พระราชวังบางปะอินเวลานั้น .. ทรงเสวยพระกระยาหารพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์และหมู่ข้าราชบริพาร สถานีรถไฟบางปะอินจึงนับเป็นสถานีรถไฟแรกในประวัติศาสตร์ที่ขบวนรถไฟพระที่นั่งได้หยุดจอด
นอกจากนี้ .. พลับพลาสถานีรถไฟบางปะอิน ยังเคยเป็นที่รับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเจ้า ลูกยาเธอ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอทุกพระองค์ในการเสด็จพระราชดำเนินทางรถไฟ
สถานีรถไฟบางปะอิน ซึ่งเปิดใช้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5-ปัจจุบัน .. ยังคงสภาพและเอกลักษณ์ความเก่าแก่ไว้คงเดิม ..
โดยมี “พลับพลาสถานีบางปะอิน” .. เป็นจุดเด่นของสถานีแห่งนี้ และกรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานพลับพลาที่ประทับสถานีรถไฟบางปะอิน ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 104 ตอนที่ 18 วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2530 พื้นที่โบราณสถานประมาณ 2 งาน 20 ตารางวา
อีกทั้งยังได้รับรางวัล อาคารควรค่าแก่การอนุรักษ์ ปี 2540
พลับพลาสถานีรถไฟบางปะอิน .. ลักษณะทางสถาปัตยกรรม เป็นอาคารไม้สักชั้นเดียวตามแบบสถาปัตยกรรมตะวันตก หันหน้าไปทางทิศตะวันตก
… ผังพื้นอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสมีมุขยื่นเป็นซุ้มสำหรับทางเข้า มีเสารองรับน้ำหนักจำนวน 4 ต้น พื้นที่ด้านบนระหว่างหัวเสาและหลังคาประดับแผ่นไม้ฉลุลายทั้งสามด้านยกเว้นด้านที่ติดกับผนัง
ภายในอาคาร .. เมื่อเปิดเข้าไปเราทุกคนต่างตลึงกับควางดงามเมื่อแรกเพ่งพิศ สิ่งที่เราเห็นพ้องต้องกันว่า “นับเป็นบุญตาที่ได้มาเห็น” หลังจากนั้นหลายคนยืนนิ่งๆด้วยความประทับใจ ก่อนจะเริ่มหมุนตัวมองไปรอบๆ พิจารณาและซึมซับความงดงามที่ผ่านเข้ามาในสายตา ก่อนจะส่งผ่านความรู้สึก “จับใจ” ไปยังสมองและหัวใจ .. ตามมาด้วยความ “ภาคภูมิใจ” ในอาคารหลังเล็กๆ สถาปัตยกรรมทางประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่กว่าขนาด
โถงโล่งของอาคาร ปูพื้นด้วยกระดานไม้สัก .. ผนังอาคารเป็นผนังทึบยกเว้นส่วนผนังด้านทิศเหนือและทิศใต้ทำเป็นมุขหกเหลี่ยมยื่นออกมาจากตัวอาคารพลับพลาฯ ..
ผนังมุขนี้ทำเป็นช่องหน้าต่างประดับกระจกแผ่นยาววางตัวในแนวตั้งเรียงกัน ๑๐ บาน กรุด้วยกระจกหลากสี (Stained glass )สีสันสดจากอิตาลี ลวดลายช่อดอกไม้ ที่สวยงามจับตาเมื่อสะท้อนแสงแดดยามสาย
มีประตูทั้งทางด้านทิศตะวันตกซึ่งเป็นทางเข้าหลักและด้านทิศตะวันออก เป็นบานประตูไม้ประดับด้วยกระจกสีลายดอกไม้
ถัดขึ้นไปด้านบนส่วนที่ติดกับฝ้าเพดานประดับกระจกสีรูปสี่เหลี่ยมและรูปวงกลมลวดลายไม่ซ้ำกัน เช่น รูปนก รูปแจกันดอกไม้ รูปเรือ และรูปบุคคล เป็นต้น
ส่วนบริเวณผนังที่ไม่ได้กรุกระจกสี เป็นผนังไม้เรียบตีซ้อนกันเป็นเหลี่ยมมุม เดินทอง .. ด้านบนของผนังตกแต่งเป็นลายซุ้มโค้งเรียงต่อกัน ภายในซุ้มมีพระปรมาภิไธย จปร
ถัดขึ้นไปบนสุด ประดับด้วยสัญลักษณ์ “พระเกี้ยว” บนผนังเหนือประตู และหน้าต่าง .. พวกเราเหล่านิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่างระลึกถึงสัญลักษณ์เดียวกันที่วางอยู่บนหมอนสีชมพู ซาบซึ้งและน้อมรำลึกถึง พระคุณของแหล่งเรียนมา
ฝ้าเพดาน เมื่อแหงนมอง .. จะเห็นการตกแต่งลายช่อดอกไม้ในกรอบสี่เหลี่ยมทั่วทั้งพื้นที่ ล้อมรอบลายฉลุรูปกลีบดอกไม้ทรงกลม บริเวณกึ่งกลางฝ้าเพดาน มีดาวสีทองประดับบนพื้นสีฟ้าดูพร่างพราย
หลังคาอาคารและหลังคามุขทั้งสามด้านเป็นหลังคาเป็นทรงปั้นหยามุงด้วยกระเบื้องซีเมนต์รูปว่าว ใต้ฝ้าโดยรอบอาคารมีระแนงไม้เป็นช่องระบายอากาศชายหลังคาประดับด้วยไม้ฉลุ มองดูเหมือน “บ้านติดลูกไม้” งดงามตามแบบ “บ้านขนมปังขิง” ที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ 5
สิ่งหนี่งที่เราสัง้กตุเห็นก็คือ .. อาคารประวัติศาสตร์หลังนี้แม้จะได้รับการดูแลจากเจ้าหน้าที่ของสถานีรถไฟบางปะอินสม่ำเสมอ ในฐานะเสมือนปู่โสมเฝ้าทรัพย์ของแผ่นดิน แต่เนื่องจากเป็นอาคารเก่าอายุนับร้อยปี จึงเริ่มจะมีร่องรอยของการทรุดโทรมปรากฏชัด บางจุดกระจกมีรอยแตกร้าว
การเป็นอาคารโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียน .. โดยปกติจะดัดแปลง ปรับปรุง รื้อถอนตามใจชอบไม่ได้ ต้องรอกรมศิลปากร ซึ่งทราบว่าปัจจุบันมีงานล้นมือ จนอาจจะไม่มีทรัพยากรเพียงพอที่จะให้ความใส่ใจหรือดูแลอย่างทันท่วงที
เราก็ได้แต่หวังว่า ความทรุดโทรมจากจุดเล็ก จะไม่กลายเป็นเรื่องใหญ่โคจนแก้ไข อนุรักษ์ไม่ทันการณ์
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปทั่วโลกกับพี่สุ … รวม link บทความที่เขียนในเพจ ..
***เมืองไทย ไดอารี่ by Supawan
***Supawan’s colorful world
***สถานีอร่อย by Supawan
โฆษณา