21 ธ.ค. 2021 เวลา 13:00 • ไลฟ์สไตล์
สูตร (ไม่) ลับตั้งเป้าหมายในปี 2022 อย่างไรไม่ให้เฟล
เหลืออีกไม่กี่วันก็จะหมดปี 2021 แล้ว จำได้ไหมว่าตั้ง ‘เป้าหมาย’ อะไรไว้ในตอนต้นปีบ้าง แล้วทำสำเร็จเหมือนที่วางไว้หรือเปล่า หากคุณทำสำเร็จเราก็ขอแสดงความยินดีด้วยนะ เก่งมากๆ เลย!
แต่ถ้าหากคุณเป็นอีกคนที่ต้องพูดว่า ‘ปีหน้าเอาใหม่’ ก็อย่าเพิ่งท้อใจไป
3
ข้อมูลจาก U.S. News & World Report ในปี 2015 บอกว่า มีคนเพียง 20% เท่านั้นที่สามารถทำตามเป้าหมายที่ตัวเองวางไว้ได้ ส่วนอีก 80% ล้มเลิกความตั้งใจไปตั้งแต่เข้าสัปดาห์ที่สองของเดือนกุมภาพันธ์ในปีใหม่แล้ว จะเห็นได้ว่า เราก็ไม่ได้เป็นเพียงคนเดียวที่ไปไม่ถึงเป้าหมาย
อย่างไรก็ตาม พอเห็นแบบนี้หลายคนที่กำลังจะเขียนลิสต์เป้าหมายในปี 2022 ก็คงจะกังวลแล้วว่าเราจะทำสำเร็จไหม จะเป็นอีกปีที่เราต้องพูดว่า ‘ปีหน้าเอาใหม่’ หรือเปล่า วันนี้ Mission To The Moon เลยมีสูตร ‘ตั้งเป้าหมาย’ ปีหน้ามาฝากกัน ว่าตั้งเป้าหมายอย่างไรถึงจะไม่เฟลแบบปีก่อนๆ
1) เยอะไปก็ไม่ดี!
หลายคนมีสิ่งที่อยากทำมากมายในชีวิต อันนั้นก็อยากทำ อันนี้ก็อยากพัฒนาตนเอง ช่วงต้นปีเลยเขียนลิสต์ออกมาซะยาวเหยียด การเป็นคนทะเยอทะยานไม่ใช่เรื่องผิด แต่เรารู้หรือไม่ว่าการตั้งเป้าหมายไว้เยอะๆ ไม่ได้ทำให้เราดูขยัน ดูแอคทีฟ แต่กลับทำให้เรารู้สึกท่วมท้น (Overwhelmed) อยู่ในใจ จนสุดท้ายก็อาจทำไม่สำเร็จสักอย่าง เพราะทุกเป้าหมายดูสำคัญไปหมดจนเราเลือกทำไม่ถูกเลย
ยิ่งไปกว่านั้น การมีเป้าหมายเยอะทำให้เราไม่ค่อยโฟกัส เมื่อเราเริ่มรู้สึกเบื่อเป้าหมายที่ทำอยู่ มีแนวโน้มว่าเราอาจหันไปทำเป้าหมายอื่นแทนอย่างกะทันหัน เพราะตัวเลือกเราเยอะ แต่การเปลี่ยนเป้าหมายแบบฉับพลันแบบนี้มีราคาที่ต้องจ่าย ซึ่งก็คือ ‘เวลา’ และ ‘สมาธิ’ ที่เราเคยทุ่มเทไว้กับเป้าหมายอันแรก
ดังนั้น ก่อนจะตั้งเป้าหมายให้ไตร่ตรองและถามตัวเองดีๆ ว่าเป้าหมายที่สำคัญที่สุดคืออะไรลิสต์ออกมาแค่พอประมาณ สัก 3-5 ข้อก็พอ
2) เริ่มต้นจากก้าวเล็กๆ
เมื่อเราดูเป้าหมายที่อยู่ในลิสต์ของเรา หลายครั้งเราเริ่มคิดว่า “เป้าหมายนี้ดูยิ่งใหญ่เกิน เราจะทำได้สำเร็จไหม” ซึ่งความคิดนี้จะวนเวียนอยู่ในหัวจนเรารู้สึกเฟล แล้วอาจจะจบที่เราเลิกพยายามทำตามเป้าหมายไปเลย
ทีนี้ เราลองดูเป้าหมายนั้นอีกครั้ง แล้วมองหาขั้นตอนเล็กๆ ที่นำไปสู่เป้าหมายนั้น เช่น ในปีหน้า เราจะนอนก่อนห้าทุ่ม แน่นอนว่า เราไม่สามารถบังคับร่างกายให้หลับอย่างง่ายดายเหมือนเวลาเรากดชัตดาวน์คอมพิวเตอร์ได้
เราจะต้องเริ่มจากการปรับพฤติกรรมทีละเล็กทีละน้อย เช่น เราจะปิดโทรศัพท์มือถือก่อนห้าทุ่ม งดดื่มชาหรือกาแฟหลังหนึ่งทุ่ม อ่านหนังสือก่อนนอน ทำสมาธิให้ใจสงบ ซึ่งก้าวเล็กๆ เหล่านี้จะช่วยให้เราทำเป้าหมายสำเร็จแบบไม่บังคับตัวเองมากไป
3) ตั้งเป้าหมายแบบ “3 ควรทำ 1 อยากทำ”
แบ่งเป้าหมายที่เราลิสต์เอาไว้เป็นสองหมวด หมวดแรกคือ เป้าหมาย 3 ข้อที่เราควรทำ ซึ่งเป็นสิ่งที่เรามองว่าสำคัญและส่งผลต่อชีวิตเรามากที่สุด เช่น เรียนรู้โปรแกรมหรือซอฟต์แวร์ใหม่ๆ ที่จะช่วยให้เราทำงานได้ง่ายขึ้น
ต่อมาคือ เป้าหมายที่เราอยากทำ แม้จะเป็นแค่ความอยาก แต่เป้าหมายนี้ก็ยังสำคัญต่อใจเรา เพราะมันอาจช่วยให้เรามีความสุขกับชีวิตมากขึ้น เช่น เรียนวาดรูป แต่เราอาจจะต้องคำนึงถึงสถานการณ์อื่นๆ เพิ่มเติม รวมถึงผลกระทบหากเราไม่ได้ทำ ซึ่งบางเป้าหมายอาจเลื่อนระยะเวลาออกไปก่อนก็ได้
1
4) ทำเป้าหมายให้ง่ายและสนุกไปกับมัน
หลายครั้งที่เป้าหมายในหมวด “ควรทำ” มีแต่เรื่องยากๆ มีแนวโน้มที่เราจะท้อจนทำไม่สำเร็จ สถิติจากเว็บ Statista ในปี 2019 แสดงให้เห็นว่า ผู้เข้าร่วมแบบสอบถามส่วนใหญ่มักล้มเลิกเป้าหมายที่ตั้งใจในช่วง 2-4 เดือนหลังเริ่มทำ และมีเพียง 9% เท่านั้นที่สามารถทำได้สำเร็จ
แต่ถ้าเป้าหมายในหมวดนี้มีความสำคัญต่อชีวิตเรามากๆ วิธีแก้ไขที่พอทำได้ก็คือ “ทำให้มันสนุกสิ” โดยเราจะเลือกสิ่งที่เราอยากเปลี่ยนแปลงจริงๆ ไม่ก็เป็นสิ่งที่เราอยากทำอยู่แล้ว และเลือก “ตัวกระตุ้น” ให้เรามีใจอยากทำ และอาจลงมือทำแบบไม่รู้ตัว ซึ่งตัวกระตุ้นนี้สามารถเป็นการกระทำที่อยู่ในชีวิตประจำวัน เช่น เวลาลุกไปเข้าห้องน้ำ ตื่นนอน หรือกำลังจะเข้านอน เปิดโทรทัศน์
เทคนิคนี้เรียกว่า “Temptation Bundling” ซึ่งเป็นการทำเป้าหมายที่ยากให้สนุกขึ้นด้วยการผนวกสิ่งที่เราชอบเข้าไป เช่น ถ้าเราชอบดูโทรทัศน์ แล้วปีหน้าเราอยากออกกำลังกายให้มากขึ้น เราอาจตั้งไว้ว่า ทุกครั้งหลังเราเปิดโทรทัศน์ เราอาจจะออกกำลังกายท่าง่ายๆ สักท่าขณะรอโทรทัศน์ติด เช่น แกว่งแขนสัก 10 ครั้ง เป็นต้น
5) ใช้แผน 4W เมื่อต้องตั้งเป้าหมายยากๆ
หากหาตัวกระตุ้นก็แล้ว ลองทำให้สนุกก็แล้ว แต่ก็ยังรู้สึกว่าเป้าหมายยังยากเกินกว่าจะอยากลุกไปทำ ลองหันกลับมาคิดและทบทวนตัวเองอีกครั้งผ่าน "แผน 4W" กันดีไหม!
Why: ทำไมเราต้องทำเป้าหมายนี้ และมีจุดประสงค์อะไร นี่จะช่วยให้เราเกิดความมุ่งมั่นที่จะทำเป้าหมายให้สำเร็จ และไม่ย่อท้อไปก่อน
1
Who: มีใครเป็นผู้ร่วม บางครั้งเราไม่จำเป็นต้องเป็นคนทำเป้าหมายที่ตั้งไว้คนเดียวสักหน่อย ลองชวนคนรอบข้าง หรือเพื่อนๆ ที่สนิทมาร่วมกันทำเป้าหมายให้สำเร็จ ไม่ใช่แค่เราสามารถเคลียร์แผนที่วางไว้ ยังสามารถเพิ่มความสนิทสนม ความสัมพันธ์ให้มากขึ้นอีกด้วย
What: เราต้องใช้อุปกรณ์หรือเครื่องมืออะไรบ้างถึงจะบรรลุเป้าหมาย การมองหาเครื่องมือไว้แต่แรกจะช่วยให้เราทำตามเป้าหมายได้ดีขึ้น เช่น เราอยากลดน้ำหนักโดยการวิ่ง แต่การจะออกไปวิ่งข้างนอก หรือไปที่ฟิตเนสเราจะต้องสวมหน้ากากอนามัยไว้ตลอด ทำให้ออกกำลังกายไม่สะดวก ดังนั้น เราอาจจะต้องมองหาลู่วิ่งไฟฟ้าไว้ที่บ้านสักเครื่องแทน
1
How: เราจะบรรลุเป้าหมายนั้นได้อย่างไร บางเป้าหมายคือการเพิ่ม Soft Skill ซึ่งมาจากการฝึกนิสัยตัวเอง เราจึงต้องวางแผนว่า เราจะใช้วิธีอะไรให้เรามีทักษะที่ต้องการ เช่น เราอยากมีทักษะความคิดสร้างสรรค์เพิ่มขึ้น เราจะต้องหาวิธี Input ข้อมูลหรือเรื่องราวน่าสนใจจากสิ่งรอบตัวให้มากขึ้น รวมถึงฝึกตัวเองให้คิดนอกกรอบ อย่าปล่อยให้ตัวเองจมอยู่กับข้อบังคับ
เมื่อเรารู้วิธีตั้งเป้าหมายแบบทำได้จริงแล้ว ก็ได้เวลาหันกลับไปเช็กลิสต์เป้าหมายที่เราเขียนไว้ แล้วเลือกสิ่งที่อยากจะทำ หรือหากยังไม่ได้เขียน ลองนำสูตรไม่ลับนี้มาใช้ตั้งเป้าหมาย เพื่อให้เรามีกำลังใจทำตามเป้าหมายปี 2022 เพิ่ม Self-esteem ให้ตนเอง และหลังเราทำเป้าหมายสำเร็จ อย่าลืมให้รางวัลตัวเองด้วยล่ะ
เนื้อหาอื่นๆ ที่น่าสนใจ:
- เหนื่อยกับการไปถึงเป้าหมาย ทำอย่างไรดี?: https://bit.ly/33zsH1j
- 8 กลยุทธ์เล็กๆ ที่จะช่วยให้คุณบรรลุเป้าหมายได้เร็วขึ้น: https://bit.ly/3ISwerC
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#softskill
โฆษณา