31 ธ.ค. 2021 เวลา 04:59 • หนังสือ
Predictably Irrational, Dan Ariely
เล่มสุดท้ายของ 2021 ปีนี้อ่านแนวนี้น่าจะสัก 3-4 เล่มแล้วมั้ง แม้จะยังรู้สึกว่าสนุกอยู่จากที่ได้เห็น insight ต่างๆ ของมนุษย์มากขึ้น แต่ก็แอบรู้สึกว่าเล่มหลังๆ ความสนุกมันเหมือนจะน้อยลง อาจเพราะเนื้อหาบางส่วนมันไปซ้ำกับอะไรที่เคยอ่านไปแล้วก่อนหน้านี้
เล่มนี้ก็คล้ายกับหลายเล่มที่เคยอ่านมาตรงที่เป็นการนำเสนอแง่มุมเกี่ยวการตัดสินใจของมนุษย์ที่ดูจะไร้เหตุผลแต่เกิดขึ้นจริง (แถมยังมีรูปแบบที่คาดเดาได้ด้วย) แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกเรื่องในเล่มจะเหนือความคาดหมายเพราะหลายๆ เรื่องก็เป็นอะไรที่ค่อนข้าง make sense อยู่แล้ว
เนื้อหาส่วนใหญ่อ้างอิงจากการทดลองของ Ariely เป็นหลัก ทีนี้เวลาอ่านมันจะมีการเอาความคิด ประสบการณ์ตัวเองใส่ลงไปในสถานการณ์นั้นๆ ด้วย ต้องบอกว่าหลายตอนพออ่านแล้วก็...เออใช่ กูนี่ล่ะ...โง่แบบนี้เลย แต่บางตอนก็แบบไม่นะ ปกติไม่ทำแบบนี้นะ แต่โอเคเข้าใจว่าการในทดลองกับเหตุการณ์จริงมันมีปัจจัยมากระทบแตกต่างกัน
ในหนังสือมีทั้งหมด 15 ปัจจัย แต่อยากจะสรุปแค่บางเรื่องที่โดยส่วนตัวเห็นว่าน่าสนใจ จาก 2 เหตุผลส่วนตัว คือหนึ่งเป็นเนื้อหาที่ยืนยันแนวคิดที่เคยคิดเอาไว้ และสองคิดว่าเป็นปัจจัยค่อนข้างครอบพฤติกรรมส่วนใหญ่ของมนุษย์แล้ว
1. ความคิดเชิงสัมพัทธ์ มนุษย์เราชอบเปรียบเทียบ เพราะมนุษย์ไม่มีความสามารถมากพอที่จะประเมินมูลค่าสัมบูรณ์ของสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดดๆ ได้ การเปรียบเทียบเป็นการสร้างทางลัดในการตัดสินใจให้กับเราโดยเฉพาะในภาวะที่ขาดข้อมูลประกอบที่เพียงพอ
ประเด็นคือนิสัยแบบนี้อาจจะทำให้เราตัดสินใจผิดพลาดได้ จากการที่เรามักจะเลือกตัวเลือกเฉพาะที่มันสามารถเปรียบเทียบได้ เช่น ถ้ามีตัวเลือก A, A- (A- ด้อยกว่า A อย่างชัดเจน) และ B เรามีแนวโน้มที่จะเลือก A ทั้งๆ ที่ตัวเลือก B อาจจะเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด (decoy effect)
แต่ถ้าในสถานการณ์หนึ่งเรามีข้อมูลที่ค่อนข้างจะ irrelevant (คือไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบได้) มนุษย์จะมีทางออกอยู่สองทาง คือหนึ่งเลือก choice กลางๆ เช่น เรามักเลือกสินค้าที่ราคาไม่ถูกหรือแพงที่สุด (ในสินค้าประเภทเดียวกัน) อีกทางคือใช้ข้อมูลอื่นที่ไม่สัมพันธ์ (แต่ available) นั่นแหละมาประกอบการตัดสินใจอย่างไม่รู้ตัว (priming/anchoring/arbitrary coherence) เช่น คนที่รวยกว่ามีแนวโน้มที่จะให้ราคาสินค้าชิ้นหนึ่งมากกว่าคนที่จนกว่า
2. สายตาสั้น ทำไมคนจำนวนมากถึงชอบผัดวันประกันพรุ่ง นอนดู Netflix (and chill) ไม่ออกกำลังกาย เก็บเงินไม่อยู่ ใช้จ่ายในสิ่งที่ไม่จำเป็น คำตอบคือมนุษย์ส่วนใหญ่มีความสามารถที่จะ 'รู้สึกร่วม' กับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้เท่านั้น อะไรที่อยู่ห่างไกลออกไปเรามักจะไม่ค่อยอิน
ซึ่งความไม่อินกับประโยชน์ในระยะยาวนี่แหละเป็นสาเหตุที่เรามักจะล้มเหลวกับสิ่งดีๆ ที่เราตั้งใจจะทำ และทำให้พวก short-term benefit มีอิทธิพลต่อการกระทำของเรามากกว่า เช่น เราไม่เหนื่อยที่ต้องออกกำลังกาย (ในทันที) เราสนุกกับหนังที่ดู (ในทันที) เราได้ซื้อของที่อยากได้ ได้กินอาหารที่อยากกิน (ในทันที)
Ariely เสนอทางแก้ไขไว้ในหนังสืออยู่บ้าง เช่น 1) กำหนด deadline ให้กับสิ่งที่จะทำ 1 project ต่อ 1 deadline ไม่เอาทุก project มากองรวมที่ deadline เดียว และระยะเวลาต้องเหมาะสม ไม่มากหรือน้อยไป 2) ประกาศให้โลกรับรู้ว่าจะทำอะไร ให้เสร็จเมื่อไหร่ 3) สร้าง reward/punishment condition ในกรณีทำสำเร็จหรือล้มเหลว แต่วิธีเหล่านี้จะเวิร์คมั้ยแนะนำไปลองกันเอง
3. เจ้าข้าวเจ้าของ เรามักจะให้ค่าสิ่งที่เราครอบครองสูงกว่าปกติ (endowment effect) และทำให้การสูญเสียการครอบครองสิ่งใดสิ่งหนึ่งมักจะให้ผลทางอารมณ์ที่เข้มข้นกว่าการได้ครอบครองสิ่งนั้นๆ พูดง่ายๆ คือสุขจากการได้รับจะสู้ความทุกข์จากการสูญเสียไม่ได้ ถ้าคิดไม่ออกให้นึกภาพความปีติขณะที่เราซื้อ (หรือแม้กระทั่งได้มาฟรี) iPhone 13 Pro Max 256GB มา unboxing และในวินาทีต่อมาทำหล่นพื้นแหลกละเอียดไม่มีชิ้นดี
discrepancy ระหว่าง loss กับ gain นี้จะทำให้เราพยายามหลีกเลี่ยงการสูญเสีย (loss aversion) ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ในหลายครั้งมันมักจะนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาดได้ เช่น ดอยหุ้นไม่ยอมตัดขาดทุนเพราะคิดว่าราคาจะกลับมาที่เดิม (และพบว่าดอยที่ยืนอยู่ยิ่งสูงขึ้นไปเรื่อยๆ) เป็นต้น
endowment effect/loss aversion ยังถูกใช้ประโยชน์โดยเหล่านักการตลาดเพื่อล่อลวงเรานั่นคือการตลาดแบบ free trial กลไกคือเมื่อเราได้ลองใช้สินค้า/บริการหนึ่งๆ แล้วความเป็นเจ้าของจะเกิดขึ้นทันที (endowment effect) และเมื่อหมดช่วงโปรเราก็จะเกิดอาการยอมจ่ายเงินต่อเพื่อรักษาสถานะสินค้า/บริการนั้นไว้ (loss aversion) และนี่เป็นสาเหตุสำคัญที่คนจำนวนมากๆยังคงมี subscription ในหลาย platform ทั้งๆ ที่ก็ไม่ได้ใช้บริการสิ่งเหล่านี้เท่าไหร่เลย (โดนมากับตัวหลังจากที่ YT premium ขึ้นราคาก็ยังยอมจ่ายต่อ)
4. เงี่ยน=โง่ อันนี้เขียนเอามันนิดนึง ความจริงคือหนังสือพูดถึงการทดลองเกี่ยวกับความคิด/การตัดสินใจของตัวอย่างเพศชายขณะที่กำลัง ชตอ. (ฮั่นแน่!! อยากอ่านแล้วล่ะสิว่าทำการทดลองยังไง) ซึ่งมีแนวโน้มที่จะทำให้ตัดสินใจในการมีเซ็กซ์แบบประหลาดๆ รวมถึงผิดศีลธรรมด้วย เช่น มีเซ็กซ์กับภรรยาชาวบ้าน กับคนแก่ หรือ threesome (อันหลังอาจจะไม่ประหลาดแล้วมั้งสมัยนี้)
ที่ยกข้อนี้มาด้วยเพราะแม้ในการทดลองจะพูดแค่ว่า masturbation matter แต่แก่นจริงๆ คือสภาวะอารมณ์นั้นส่งผลต่อการตัดสินใจอย่างมากโดยเฉพาะอารมณ์พุ่งพล่านทั้งหลาย (สุขจัด โกรธจัด เคลิ้มจัด เครียดจัด) ภาวะเหล่านี้จะทำให้ความสามารถในการนำข้อมูลที่มีในมือมาตัดสินใจอย่างเป็นเหตุเป็นผลน้อยลง และมักทำให้เราตัดสินใจผิดพลาด
อาการหนึ่งที่อารมณ์เข้ามาควบคุมการตัดสินใจที่เห็นได้ชัดคือ FOMO (Fear of Missing Out) หรืออาการกลัวตกรถ เกิดความอิจฉาอยากได้อยากมีแบบคนอื่นเค้า อย่างปัจจุบันที่เป็นเทรนด์อยู่ก็คงจะเป็น crypto กับ metaverse การกระโดดเข้าร่วมวงสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ปัญหา ปัญหาคือเข้าไปด้วยอารมณ์ล้วนๆ ไม่หาข้อมูลประกอบให้รอบด้านก่อน อันนี้มีความเป็นไปได้ที่จะชิบหายตามมาได้
โดยสรุปการตัดสินใจของมนุษย์จริงๆ น่าจะถูกควบคุมด้วยสองอย่างหลักๆ เลยคือข้อมูลที่มี (availability heuristic) และสภาวะอารมณ์ ซึ่งสองอย่างนี้มักจะขัดกัน ถ้าอารมณ์ขึ้นการใช้ข้อมูลอย่างมีเหตุผลก็จะลดลง พูดง่ายๆ คืออารมณ์มาปัญญาดับ (ดูเข้าถึงทางธรรม) ซึ่ง 4 ข้อที่ยกมาก็จะคาบเกี่ยวอยู่ในสองส่วนนี้แหละ
สรุป เล่มนี้เปิดมุมมองเพิ่มเติมเกี่ยวกับมนุษย์ อ่านสนุก แต่ยืนหนึ่งจริงๆ ในแนวนี้ยังคงให้ Thinking Fast and Slow ของ Kahneman ส่วนเล่มนี้ให้ที่สองแล้วกัน
...สวัสดีปีใหม่ 2565..
โฆษณา