22 ธ.ค. 2021 เวลา 06:23 • ธุรกิจ
#Knowledge รู้หรือไม่ว่าประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ภาวะขาดแคลนแรงงานในอีกไม่ช้า จากการมาถึงพร้อมๆ กันของ ‘สังคมผู้สูงวัยสมบูรณ์’ และอัตราการเกิดที่ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน ถึงขนาดที่สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์คาดว่า หากอัตราการเกิดยังไม่เพิ่มขึ้น “ในอีก 20 ปีประชากรไทยจะเหลือเพียง 36 ล้าน”
1
คำถาม คือ กำลังเกิดอะไรขึ้นกับสัดส่วนประชากรไทยกันแน่ ทำไมไทยถึงกำลังเข้าสู่ภาวะแรงงาน และสำคัญที่สุดคือทำไมคนไทยไม่อยากมีลูก
[ เกิดอะไรขึ้นกับสัดส่วนประชากรไทย ]
ถ้าหากย้อนกลับไปดูจะเห็นว่า สัดส่วนประชากรไทยในปัจจุบันเปลี่ยนไปจากเมื่อ 50 ปีที่แล้วมาก
ย้อนดูสัดส่วนประชากรไทยในปี 2513
อายุ 0-14 ปี สัดส่วน 45.1%
อายุ 15-59 ปี สัดส่วน 50%
อายุ 60 ปีขึ้นไป สัดส่วน 4.9%
เทียบกับสัดส่วนประชากรไทยในปี 2563
อายุ 0-14 ปี สัดส่วน 16.2%
อายุ 15-59 ปี สัดส่วน 64.4%
อายุ 60 ปีขึ้นไป สัดส่วน 17.6%
จะเห็นอย่างชัดเจนว่าเวลา 50 ปีที่ผ่านมา ประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมากเกินกว่า 4 เท่าจากสัดส่วน 4.9% เป็น 17.6% ในขณะที่ประชากรอายุ 0-14 ปี มีสัดส่วนน้อยลงเป็นเท่าตัวจาก 45.1% ลงเหลือเพียง 16.2% ยิ่งถ้าหากลองดูคาดการณ์สัดส่วนประชากรไทยในปี 2583 หรือในอีก 20 ปีข้างหน้า
อายุ 0-14 ปี สัดส่วน 12.8%
อายุ 15-59 ปี สัดส่วน 55.8%
อายุ 60 ปีขึ้นไป สัดส่วน 31.4%
ก็จะยิ่งเห็นว่า สัดส่วนของประชากรวัยชราที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปจะเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว ในขณะที่ประชากรวัยเด็กอายุ 0-14 ปี มีสัดส่วนลดลงเหลือเพียง 12.8% เท่านั้น สะท้อนปัญหาสัดส่วนประชากรที่จะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป
ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุสมบูรณ์แล้ว
แต่กลับมีอัตราการเกิดต่ำลงเรื่อยๆ ในทุกปี
สาเหตุสำคัญของ ‘ปัญหาสัดส่วนประชากร’ มาจาก ‘อัตราการเกิด’ ในประเทศที่เปลี่ยนแปลงไปมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จากเดิมเคยมีอัตราการเกิดของประชากรเติบโตราว 3% ต่อปี ตอนนี้โตในหลักต่ำกว่า 1%
ในอดีตย้อนกลับไปเมื่อ 60 ปีก่อน (2503) มีสัดส่วนเด็กต่อผู้หญิงไทย 1:6 หรือผู้หญิงไทย 1 คน มีลูกเฉลี่ยราว 6 คน แต่ในปัจจุบันสัดส่วนอยู่ที่ 1:1.5 คนเท่านั้น ทำให้อัตราการพึ่งพิงของประชากรสูงอายุต่อประชากรวัยแรงงานเพิ่มขึ้น จากเดิมผู้สูงอายุ 1 คนถูกดูแลจากประชากรวัยแรงงาน 3.6 คน ปัจจุบัน ผู้สูงอายุ 1 คนจะถูกดูแลจากประชากรวัยแรงงาน 1.8 คนเท่านั้น
[ ทำไมคนไทยมีลูกน้อยลง ]
จุดเริ่มต้นของความเปลี่ยนแปลงในสัดส่วนประชากรไทยเริ่มต้นในช่วงปี 2513 ที่ประเทศไทยเริ่มนโยบายวางแผนครอบครัว ส่งเสริมการคุมกำเนิดและแนะนำให้ประชาชนมีลูกน้อยลง
1
เมื่อนโยบายบริหารครอบครัวประสบความสำเร็จ สอดคล้องกับพัฒนาการทางด้านสาธารณสุข รวมทั้งการเข้าถึงการรักษาพยาบาล ทำให้อายุขัยของคนไทยขยับขึ้นจาก 50-60 ปี มาเป็น 80 ปี หรือทำให้ผู้สูงอายุไทยมีอายุขัยยืนยาวนานมากขึ้น
นอกจากนั้น รศ.ดร.ศศิวิมล วรุณศิริ ปวีณวัฒน์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ยังอธิบายว่า ‘เศรษฐกิจ’ ก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจมีลูกของคนไทย เนื่องจากต้นทุนการเลี้ยงเด็ก 1 คนต้องใช้เงินจำนวนมาก คู่แต่งงานจึงตัดสินใจชะลอการมีลูกหรือลดจำนวนลูกที่ต้องการจะมีลง
ที่สำคัญ คือ ยังมีงานวิจัยเกี่ยวกับปัญหา Parenthood wage penalty หรือผลกระทบเชิงลบที่มีต่อค่าจ้างของคนเป็นพ่อแม่ ที่สะท้อนความเป็นจริงว่า ‘ค่าจ้างของคนเป็นพ่อแม่’ น้อยกว่า ‘ค่าจ้างของคนที่ไม่ได้เป็นพ่อแม่’ และยิ่งมีแนวโน้มที่ความต่างของรายได้ระหว่างคนที่มีลูกและไม่มีลูกจะถ่างขยายขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เทียบปี 2534 กับปัจจุบัน
ความต่างของค่าจ้างผู้หญิงที่มีลูกกับไม่มีลูก เพิ่มขึ้นจาก 10% เป็น 20-25%
ความต่างของค่าจ้างผู้ชายที่มีลูกกับไม่มีลูก เพิ่มขึ้นจาก 5% เป็น 15%
ทำให้ประชากรวัยแรงงานทั้งหญิงและชายตัดสินใจมีลูกยากมากขึ้น
[ แรงกดดันต่อผู้หญิงก็มีผลต่อการตัดสินใจเป็นโสด ]
รศ.ดร.ศศิวิมล ยังเสริมด้วยว่า ปัจจุบัน ประเทศแถบเอเชียมีค่านิยมและความคาดหวังกับผู้หญิงค่อนข้างสูงให้ทำงานทั้งในและนอกบ้าน ทำให้ผู้หญิงประเทศแถบเอเชีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รวมถึงไทยเลือกแต่งงานและมีลูกน้อยลง
1
โดยมีสถิติชัดเจนว่า ผู้หญิงที่เกิดในช่วงปี 2494 จะมีสัดส่วนคนโสดราว 50% แต่ผู้หญิงที่เกิดในช่วงปี 2529 มีสัดส่วนคนโสดเพิ่มขึ้นเป็นราว 60% และผู้หญิงในทุกระดับการศึกษาเลือกมีลูกน้อยลง ทำให้อัตราการมีลูกของผู้หญิงในทุกระดับการศึกษาโดยเฉลี่ยน้อยลงด้วย
[ สวัสดิการไม่มี การเลี้ยงดูลูกก็ยาก ]
สุดท้ายอีกปัจจัยสำคัญ คือ ‘ขาดแคลนสวัสดิการในการดูแลเด็ก’
รศ.ดร.ศศิวิมล ได้อธิบายในรายการ TOMORROW ‘คนไทยไม่อยากมีลูก จุดเริ่มต้นวิกฤตขาดแคลนแรงงาน’ ว่า ประเทศไทยในปัจจุบันขาดแคลนการดูแลในวัยเด็กจากภาครัฐ โดยขาดแคลนทั้งสถานเลี้ยงดูเด็ก ขาดความยืดหยุ่นของเวลาทำงานของพ่อแม่ ขาดการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูลูก รวมถึงยังมีการกีดกันแบ่งแยกในการทำงานสำหรับคนมีลูก ปัจจัยเหล่านี้ทำให้คนที่ตัดสินใจมีลูกน้อยลง
โดยหากเปรียบเทียบกับนโยบายเพิ่มประชากรในระดับโลกจะเห็นว่าหลายประเทศมีนโยบายจริงจังและครบวงจรทั้งในประเทศที่ประสบและไม่ประสบกับปัญหาอัตราการเกิดของประชากรต่ำ
อาทิ สิงคโปร์ที่มีนโยบายครบวงจร ตั้งแต่การหาคู่ ซื้อบ้านหลังแรก เงินช่วยเหลือ ไปจนถึงโบนัสสำหรับคนมีลูก หรือในแถบสแกนดิเนเวียที่มีการให้เงินช่วยเหลือ จัดสถานเลี้ยงดูเด็ก ลดชั่วโมงการทำงาน จัดให้ชั่วโมงการทำงานยืดหยุ่น
“ส่วนตัวมองว่าตอนนี้วิกฤตแล้ว ต้องจริงจังและเร่งด่วน เพราะเราจะประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างแน่นอน”
1
“สี่ห้าปีที่ผ่านมาเราพูดถึงการขาดแคลนแรงงานกันเยอะมาก แต่ก็เงียบหายไป ถ้าเราต้องการปรับโครงสร้างประชากรจริงๆ มันต้องใช้เวลานาน ไม่ได้ทำได้ในวันสองวันหรือปีสองปี สมมติเรามีลูกคนหนึ่งเกิดวันนี้ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 15-20 ปีกว่าเขาจะกลายเป็นแรงงานคนหนึ่ง ถ้าเรายังไม่เริ่มทำวันนี้จะมีปัญหา”
“รัฐต้องทำให้คนรุ่นใหม่ไม่ลังเลใจที่จะมีลูก ทั้งสภาพแวดล้อมในการทำงาน การดูแลลูก หรือแม้แต่สถานเลี้ยงเด็กในที่ทำงาน รัฐจำเป็นจะต้องเป็นผู้ริเริ่ม ให้เอกชนเป็นผู้ทำตาม ให้ส่วนลดภาษีในที่ทำงานที่มีสถานที่สำหรับเลี้ยงดูเด็ก เพราะไทยเรามีค่อนข้างน้อย เรามีลดภาษี มีเงินช่วยเหลือที่น้อยมากๆ เมื่อเทียบกับประเทศอื่น”
ที่มา รายการ TOMORROW EP.96 | คนไทยไม่อยากมีลูก จุดเริ่มต้นวิกฤตขาดแคลนแรงงาน
1
#TODAYBizview
#workpointTODAY
#สาระความรู้เพื่อวันนี้
ติดตาม TODAY Bizview จากทีม workpointTODAY
ไม่พลาดข่าวธุรกิจ การตลาด การเงิน เทคโนโลยี
กับเพจ TODAY Bizview https://bit.ly/3picIeS
ติดตามรายการ TOMORROW เทรนด์สำคัญของโลกเพื่อวันพรุ่งนี้
ทาง YouTube https://bit.ly/3prjBfI
ติดตามรายการของ workpointTODAY
ทาง YouTube https://bit.ly/2YDfyiK
ติดต่อโฆษณาอีเมล advertorial@workpointnews.com
โฆษณา