22 ธ.ค. 2021 เวลา 08:06 • สิ่งแวดล้อม
ฉลามกับความสมดุลของทะเล 🦈
 
ฉลามคือหลักประกันความสมดุลของโครงสร้างประชากรปลาทะเล​ เพราะในฐานะนักล่าลำดับสูงสุด ฉลามทำหน้าที่กำจัดปลาที่เชื่องช้า ป่วย หรือใกล้หมดอายุตามวัย ช่วยคัดสรรสายพันธุ์ปลาอื่นๆให้แข็งแรง รักษาสมดุลประชากรปลากินพืชให้อยู่ในระดับพอเหมาะไม่สร้างความเสียหายให้กับถิ่นที่อยู่ ขณะเดียวกันยังควบคุมพฤติกรรมของปลากินเหยื่อขนาดรองๆลงมาให้อยู่กับร่องกับรอย ทำให้แบ่งสรรกันใช้ทรัพยากรได้อย่างพอเหมาะพอเจาะ ฉลามจึงมีความสำคัญต่อระบบนิเวศทางทะเลอย่างยิ่ง ไม่ต่างอะไรกับความสำคัญของการมีอยู่ของเสือในป่า
7
การที่ฉลามหมดไปจากระบบนิเวศจะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อห่วงโซ่อาหาร งานศึกษาความสำคัญของฉลามต่อแนวปะการังในคาริบเบียน พบว่าเมื่อผู้ล่าสูงสุดอย่างฉลามหายไปจำนวนผู้ล่าระดับรองๆ ลงมาเช่นปลาหมอทะเล จะเพิ่มปริมาณมากขึ้นจนผิดปกติ ทำให้เกิดการล่าปลากินพืชมากตามไปด้วย เมื่อปลากินพืชอย่างเช่นปลานกแก้วลดจำนวนลงมากๆ ก็จะส่งผลต่อการควบคุมปริมาณสาหร่าย ทำให้สาหร่ายในระบบนิเวศขยายตัวแย่งพื้นที่ปะการัง หรือขึ้นปกคลุมจนปะการังไม่สามารถแข่งขันได้ จนนำไปสู่สภาวะปะการังเสื่อมโทรม และเกิดการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศ​โดยรวม
ไม่เฉพาะแต่แนวปะการังเท่านั้นที่ต้องการฉลาม เพราะงานศึกษาจากฮาวายพบว่าแนวหญ้าทะเลที่มีฉลามเสือ ปรากฏตัวอยู่ ช่วยทำให้เต่าทะเลหากินแบบกระจายตัวกันไปทั่ว เพราะความระแวงฉลามเสือ พวกมันจึงไม่หากินเฉพาะที่ใดที่หนึ่งมากเกินไป ในทางกลับกันเมื่อฉลามเสือหมดไปจากพื้นที่ เต่าทะเลหากินในพื้นที่เดิมอย่างสบายใจโดยไม่ต้องระวังตัว
จนทำให้แนวหญ้าทะเลบางบริเวณเกิดความเสียหายได้
ความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศในท้องทะเลเป็นสายใยที่สลับซับซ้อน และฉลามคือหนึ่งในสิ่งมีชีวิตที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในการควบคุมให้ระบบนิเวศนี้ดำเนินต่อไปได้ หากวิวัฒนาการ 400 ล้านปีของฉลามต้องมาพบกับจุดจบในยุคมนุษย์ครองโลก เราน่าจะพอคาดเดาได้ว่าจุดจบของทะเลและสายพันธุ์มนุษย์จะเป็นอย่างไร
1
#ฉลองไม่ฉลาม
ขอบคุณรูปภาพ: WILDAID
โฆษณา