26 ธ.ค. 2021 เวลา 12:14 • ประวัติศาสตร์
เก็บตก 5 รายละเอียดจากหน้าประวัติศาสตร์จริง ที่ไม่ถูกกล่าวถึงในภาพยนตร์เรื่อง Black Hawk Down
ภาพยนตร์เรื่อง Black Hawk Down ที่ออกฉายเมื่อปี ค.ศ.2001 เป็นหนึ่งในภาพยนตร์แนวสงครามที่ได้รับรางวัลออสการ์ และได้รับความนิยมอยู่พอสมควรสำหรับคอหนังแนวสงคราม
2
มาร์ค โบว์เดน ผู้เขียน หนังสือ Black Hawk Down : A Story of Modern War
โดยภาพยนตร์เรื่องนี้อ้างอิงมาจากหนังสือเรื่อง 'Black Hawk Down: A Story of Modern War' ที่เขียนโดย มาร์ค โบว์เดน นักข่าวและนักเขียนชาวอเมริกัน เมื่อปี ค.ศ.1999 ที่ได้เขียนถึงภารกิจจับกุมตัวขุนศึก โมฮัมเหม็ด ฟาร์รา ไอดิด จนนำมาสู่การสู้รบระหว่างหน่วยรบพิเศษของสหรัฐฯ และทหารบ้านโซมาเลีย ที่โมการ์ดิชู และจบลงด้วยความล้มเหลวเมื่อปี ค.ศ.1993
ภาพทหารสหรัฐฯ จากกองพันที่ 2 กรมทหารราบที่ 14 ดูฝูงบินเฮลิคอปเตอร์เหนือกรุงโมกาดิชูเมื่อวันที่ 3 ต.ค. ค.ศ.1993 และภายหลังพวกเขาได้ตามเข้าไปเพื่อช่วยเหลือเพื่อนทหารที่ติดอยู่ในวงล้อมทหารบ้านโซมาเลียกลับออกมา
และนี่คือเกร็ดสาระน่ารู้ ที่หลายคนอาจคาดไม่ถึงจากยุทธการ Black Hawk Down ที่ไม่ได้เอ่ยถึงในภาพยนตร์ ที่เราได้รวบรวมมาให้ทุกคนได้อ่านกันครับ
1. จุดเริ่มต้นของความขัดแย้ง
เฮลิคอปเตอร์ลำเลียงพลรุ่น Black Hawk จำนวน 2 ลำ ถูกยิงตกเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ค.ศ.1993 จนทำให้ลูกเรือบางส่วนเสียชีวิต รวมไปถึงทหารที่เข้ามาช่วยลูกเรือ และนำมาสู้การสู้รบติดพันระหว่างหน่วยรบพิเศษของสหรัฐฯ อย่างหน่วยเรนเจอร์และหน่วยเดลต้าฟอร์ซ และทหารบ้านโซมาเลีย จนทำให้มีทหารสหรัฐฯ บางส่วนที่เสียชีวิต ถูกทหารบ้านโซมาเลียนำมาแห่ประจานในที่สาธารณะ
หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อนว่า นั่นไม่ใช่ความสูญเสียครั้งแรกที่เกิดขึ้นของฝ่ายสหรัฐฯ ในความเป็นจริง ฝ่ายสหรัฐฯ สูญเสียมาอย่างต่อเนื่องก่อนเหตุการณ์ในภาพยนตร์
ภาพซากรถจีปที่กำลังลุกไหม้ รถจีปคันดังกล่าวถูกติดตั้งระเบิดแสวงเครื่องโดยทหารบ้านโซมาเลีย จนเป็นเหตุให้ทหารสหรัฐฯ จำนวน 3 นาย ได้รับบาดเจ็บ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ค.ศ.1993
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 25 กันยายน ค.ศ.1993 เฮลิคอปเตอร์ของกองทัพสหรัฐฯ ถูกยิงตกด้วยจรวดประทับบ่า จนทำให้ลูกเรือทั้งสามคนเสียชีวิต และนั่นเป็นครั้งแรกที่เฮลิคอปเตอร์ของฝ่ายสหรัฐฯ ถูกสอยร่วงในกรุงโมการ์ดิชูของประเทศโซมาเลีย ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ค่อยถูกพูดถึงนัก
1
และอีกหนึ่งสัปดาห์ต่อมา ทหารสหรัฐฯ 3 นาย และทหารปากีสถาน 3 นาย ถูกซุ่มโจมตีจนได้รับบาดเจ็บขณะกำลังปฏิบัติหน้าที่
ไม่เพียงเท่านี้ ย้อนเวลากลับไปอีก เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ.1993 ทหารสหรัฐฯ จำนวน 4 นายถูกลอบสังหารเมื่อยานพาหนะของพวกเขาชนกับทุ่นระเบิดที่สั่งกดรีโมตจากระยะไกลโดยกองกำลังติดอาวุธของโมฮัมเหม็ด ฟาร์รา ไอดิด
ภาพเฮลิคอปเตอร์ UH-60 Black Hawk ขณะกำลังบินอยู่เหนือชายฝั่งนอกกรุงโมการ์ดิชู ประเทศโซมาเลีย
2. ที่ปรึกษาของไอดิด
ออสมัน อาลี อัตโต คือที่ปรึกษาด้านการเงินของไอดิด ที่ปรากฎตัวในช่วงแรกของภาพยนตร์เรื่อง Black Hawk Down โดยเขาถูกหน่วยรบพิเศษของสหรัฐฯ ยิงเข้าที่ฝากระโปรงรถ ขณะกำลังเดินทางอย่างที่ได้เห็นในภาพยนตร์
1
จากการสัมภาษณ์ อัตโต กล่าวว่า ในเหตุการณ์จริง ไม่ได้มีขบวนรถถึง 3 คัน อย่างที่ได้เห็นในภาพยนตร์ จะมีเพียงแค่รถคันเดียวที่เขานั่งโดยสารมาเท่านั้น
2
ต่อมาอัตโตได้กล่าวว่า เฮลิคอปเตอร์ของฝ่ายสหรัฐฯ ที่ออกมาปฏิบัติภารกิจเพื่อจับกุมตัวไอดิด ได้ทำให้ชาวโซมาเลียจำนวนมากได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต และรถที่เขานั่งมามีหลักฐานว่าถูกชนไม่น้อยกว่า 50 ครั้ง และเพื่อนร่วมงานของอัตโตที่นั่งมาด้วยก็ได้รับบาดเจ็บที่ขาทั้งสองข้าง
1
ไม่ใช่แค่อัตโตเท่านั้น แต่ยังมีชาวโซมาเลียคนอื่น ๆ ที่ต่างออกมาพูดเป็นเสียงเดียวกับว่า ภาพยนตร์เรื่อง Black Hawk Down ทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศโซมาเลียดูแย่เกินความเป็นจริง
ออสมัน อาลี อัตโต (ตัวจริง) ที่ปรึกษาด้านการเงินของ โมฮัมเหม็ด ฟาร์รา ไอดิด ขุนศึกผู้ทรงอำนาจในโซมาเลีย
3. โซมาเลียถูกพูดถึงในทางที่ไม่ถูกต้องนัก
1
กล่าวกันว่าชาวโซมาเลียจำนวนไม่น้อยรู้สึกว่าภาพยนตร์เรื่อง Black Hawk Down เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับชาวโซมาเลียด้วยความไม่เป็นธรรม กล่าวคือ ฮอลลีวูดทำให้ชาวโซมาเลียดูเป็นตัวแปลกประหลาดมากกว่ามนุษย์ปุถุชนที่มีเลือดเนื้อ มีหัวใจ
1
พวกเขากล่าวว่า ฮอลลีวูดไม่ได้บอกความจริงทั้งหมด ในตอนนั้น ชาวโซมาเลียจำนวนไม่น้อย ไม่ได้ต่อสู้เพื่อไอดิด พวกเขาแค่ต่อสู้เพื่อปกป้องบ้านเกิดของพวกเขา เพราะพวกเขาคิดว่ากองทัพสหรัฐฯ กำลังโจมตีบ้านเกิดของพวกเขาเท่านั้น
ไม่มีใครทราบจำนวนผู้เสียชีวิตของฝั่งโซมาเลียที่แน่ชัด แต่คาดว่าน่าจะมีผู้เสียชีวิตทั้งฝ่ายพลเรือนและกองกำลังติดอาวุธไม่ต่ำกว่าหนึ่งพันคน
ซากเฮลิคอปเตอร์แบบ UH-60 Black Hawk ที่ถูกทหารบ้านโซมาเลียใช้จรวดประทับบ่าสอยร่วง และภายหลังก็ถูกหน่วยรบพิเศษของสหรัฐฯ
เหนือสิ่งอื่นใดเลย ก่อนภารกิจ Black Hawk Down ที่เรารู้จักกันดี ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม ค.ศ.1993 หน่วยรบพิเศษของสหรัฐฯ พยายามจะลอบสังหารไอดิด ขณะที่เขากำลังเข้าร่วมประชุมกับเหล่าบรรดาขุนศึกชนเผ่าต่าง ๆ ในโมกาดิชู และที่สำคัญ มีผู้นำสายกลางเข้าร่วมประชุมในครั้งนั้น โดยไอดิดและตัวแทนจากชนเผ่าต่าง ๆ ต้องการหารือเพื่อเจรจากับฝ่าย UN เพื่อหาทางออกร่วมกันอย่างสันติ
แต่ฝ่ายสหรัฐฯ กลับเลือกที่จะใช้มาตรการรุนแรง ด้วยการโจมตีด้วยเฮลิคอปเตอร์และอาวุธหนักเข้าไปในบ้านที่เป็นที่ประชุมของฝ่ายโซมาเลีย จนทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 50 คน และสื่อตะวันตกได้นิยามเหตุการณ์ในครั้งนี้ว่า 'วันจันทร์สีเลือด' (Bloody Monday) ซึ่งเป็นการกระทำที่สมควรถูกประณามอย่างยิ่ง
2
แม้แต่สื่อตะวันตกเองก็ยังออกมาตำหนิฝ่ายสหรัฐฯ ว่าการกระทำในครั้งนี้ เป็นความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวง และยังถือว่าเป็นอาชญากรรมสงคราม และกระทำผิดต่อหลักมนุษย์ธรรมอย่างร้ายกาจอีกด้วย
ในภาพยนตร์ Black Hawk Down จะแสดงให้เห็นถึงความโกรธแค้นของเหล่าบรรดาชาวบ้านในโซมาเลีย ซึ่งแท้จริงแล้วพวกเขาเองก็ไม่ได้นิยมชมชอบในตัวของไอดิดนัก แต่พวกเขาโกรธแค้น ที่สหรัฐฯ มาโจมตีและทำร้ายผู้คนของพวกเขาต่างหาก
4. ไม่ได้มีแค่เรนเจอร์และเดลต้า
1
ในเหตุการณ์ Black Hawk Down นอกเหนือจากทหารหน่วยเรนเจอร์และหน่วยเดลต้าที่เสียชีวิตระหว่างการสู้รบ ยังมีทหารจากหน่วยอื่นที่เสียชีวิตระหว่างที่เข้าไปช่วยเหลือหน่วยรบพิเศษของสหรัฐฯ ออกจากวงล้อมของทหารบ้านโซมาเลีย เช่น สิบตรี เจมส์ มาร์ติน และ จ่าสิบเอก คอร์เนลล์ ฮูสตัน จากกองพลภูเขาที่ 10 ซึ่งในภาพยนตร์ไม่ได้กล่าวถึงพวกเขาแต่อย่างใด
ภาพถ่าย กองพลภูเขาที่ 10 (10th Mountain Division) ในกรุงโมกาดิชู ของโซมาเลีย ที่ภายหลังได้ถูกส่งเข้าไปพร้อมกับทหารมาเลเซียและทหารปากีสถานเพื่อช่วยหน่วยเรนเจอร์และเดลต้า ที่ติดอยู่ในวงล้อมของทหารบ้านโซมาเลีย
ขณะเดียวกัน ก็ยังมีวีรกรรมที่น่ายกย่อง ที่ในภาพยนตร์อาจไม่ได้พูดถึงมากนัก เช่นเรื่องราวของ จ่าสิบเอก ทิม วิลกินสัน ที่ได้รับเหรียญกล้าหาญ Air Force Cross หลังจากโรยตัวลงไปช่วยเหลือลูกเรือเฮลิคอปเตอร์ Black Hawk ที่ถูกสอยร่วง เช่นเดียวกับ จ่าสิบเอก สก็อตต์ เฟลส์ ที่ได้เหรียญกล้าหาญ Silver Star หลังจากที่เขาร่วมมือกับวิลกินสันช่วยเพื่อนทหารที่ได้รับบาดเจ็บ โดยที่ตัวเองก็ได้รับบาดเจ็บที่ขา
จ่าสิบเอก แกรี กอร์ดอน และ จ่าสิบโท แรนเดลล์ ชูการ์ต สองนายทหารที่เสียชีวิตจากการขออาสาลงไปคุ้มกัน ไมค์ ดูแรน นักบิน ฮ. UH-60 Black Hawk ที่ได้รับบาดเจ็บเบื้องล่าง โดยภายหลังทั้งคู่ได้ถูกเสนอชื่อให้รับเหรียญกล้าหาญ Medals of Honor ซึ่งเป็นเหรียญกล้าหาญชั้นสูงสุดของกองทัพสหรัฐฯ ซึ่งเราน่าจะได้เห็นในภาพยนตร์กันแล้ว
นอกจากนี้ก็ยังมี พันจ่าโท เจฟฟรีย์ เบรย์ ที่ได้รับเหรียญกล้าหาญ Silver Star หลังจากปฏิบัติการเสี่ยงชีวิตด้วยการโยนไฟแฟลชอินฟราเรดในตอนกลางคืนเพื่อใช้เป็นเป้ายิงให้กับหน่วยสนับสนุนทางอากาศ ตลอดทั้งคืนในวันที่หน่วยรบพิเศษของสหรัฐฯ ตกอยู่ในวงล้อมของทหารบ้านโซมาเลียในกรุงโมกาดิชู
และยังต้องมอบเครดิตให้กับชาติพันธมิตรของสหรัฐฯ ที่ได้ส่งกำลังเข้าไปช่วยเหลือหน่วยรบพิเศษของสหรัฐฯ ที่ติดอยู่ในวงล้อมของทหารบ้านโซมาเลีย อย่างทหารมาเลเซีย ที่เสียชีวิตไป 2 ราย และบาดเจ็บอีก 7 ราย และทหารปากีสถานได้รับบาดเจ็บอีก 2 ราย
ไมค์ ดูแรน นักบิน ฮ. UH-60 Black Hawk ที่ ถูกทหารบ้านโซมาเลีย จับกุมตัวเป็นเชลยศึก
5. ผลกระทบทางการเมืองที่คาดไม่ถึง
เรื่องราวดังกล่าวไม่ได้ถูกพูดถึงในภาพยนตร์ และหลายคนอาจไม่รู้ว่า หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจ Black Hawk Down ที่ล้มเหลวในครั้งนั้น ได้ส่งผลกระทบต่อแวดวงทางการเมืองของสหรัฐฯ อย่างกว้างขวาง
เลส แอสพิน รัฐมนตรีกลาโหมของสหรัฐฯ ในขณะนั้นถูกบีบบังคับให้ลาออก หลังจากที่เขายอมรับว่าตัวเองได้ปฏิเสธคำขอจากนายพลที่ปฏิบัติหน้าที่ในโซมาเลียเรื่องที่ขอให้ส่งรถถังและยานเกราะเพื่อช่วยสนับสนุนในภารกิจของหน่วยเรนเจอร์และเดลต้าฟอร์ซ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ค.ศ.1993 ที่ภายหลังฝ่ายสหรัฐฯ ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้เนื่องจากประเมินความสามารถของทหารบ้านโซมาเลียไว้ต่ำเกินไป
เลส แอสพิน รมต.กลาโหม สหรัฐฯ ในเวลานั้น เขาเป็นผู้ปฎิเสธคำขอรถถังและยานเกราะสนับสนุนในภารกิจจับกุมไอดิด จนเป็นเหตุให้เกิดความผิดพลาดครั้งใหญ่หลวง
พร้อมกันนี้ ยังมีรายงานจากวุฒิสภาที่ระบุว่า พลเอก คอลลินน์ พาวเวลล์ ประธานคณะเสนาธิการร่วมของสหรัฐฯ และลูกน้องใต้บังคับบัญชาของเขาปฏิเสธเรื่องการส่งเครื่องบิน AC-130 เพื่อช่วยสนับสนุนในภารกิจอีกด้วย
นอกจากนี้ ภาพของทหารสหรัฐฯ 2 นาย ที่ถูกแห่ประจานไปตามที่สาธารณะ ได้ทำให้ บิล คลินตัน ปธน.สหรัฐฯ ในขณะนั้นตัดสินใจถอนกำลังทหารออกจากโซมาเลีย ซึ่งเป็นไปได้ว่าความล้มเหลวในโซมาเลียนี่เอง ที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดาเมื่อปี ค.ศ.1994
พลเอก คอลลินน์ พาวเวลล์ ปธ.คณะเสนาธิการร่วมสหรัฐฯ ในขณะนั้น เขาและผู้ใต้บังคับบัญชาถูกโจมตีกรณีที่ปฎิเสธคำขอเครื่องบินสนับสนุน AC-130
ต่อมา โมฮัมเหม็ด ฟาร์รา ไอดิด ขุนศึกชาวโซมาเลียที่สหรัฐฯ ต้องการตัว ได้เสียชีวิตจากอาการหัวใจล้มเหลวกหลังถูกลอบยิงเมื่อปี ค.ศ.1994
อย่างไรก็ตาม ในอีกไม่กี่ปีให้หลัง กองทัพสหรัฐฯ ได้ส่งทหารจำนวน 800 นาย กลับเข้าไปในโซมาเลีย พร้อมกับกองกำลังสนับสนุนทางอากาศ เพื่อช่วยเหลือกองกำลังรัฐบาลโซมาเลีย ในการต่อสู้กับกองกำลังหัวรุนแรง อัล-ชาบับ
โมฮัมเหม็ด ฟาร์รา ไอดิด ขุนศึกผู้ทรงอิทธิพลของโซมาเลีย ที่ถูกทางการสหรัฐฯ หมายหัว
ข้อมูลจาก : MILITARYTIMES.COM
โฆษณา