27 ธ.ค. 2021 เวลา 02:40 • หนังสือ
หนังสือเล่มนี้ไม่ได้ให้อะไรกับเราเลย
นอกจากคำถาม คำถาม และคำถาม
ที่เรานึกเอาเองว่า..เรารู้คำตอบอยู่แล้ว
เพราะเรามองโลกจากความเข้าใจของเราเท่านั้น
บางอย่างเราไม่เห็น แต่เราคิดว่ามันมีอยู่จริง เพราะผู้ใหญ่หรือหนังสือสอนเรามาแบบนั้น
เพราะเราเชื่อว่า เรารู้จักการรับรู้ มีสำนึก เราจึงเป็นสัตว์ชั้นสูง
เราบอกว่า..เรารู้ตัวว่ากำลังอ่าน กำลังคิดวิพากษ์วิจารณ์ แต่เมื่อคิดให้ดี มีหลายสิ่ง(และอาจจะเป็นส่วนมากเสียด้วย)ที่ดำเนินไปในตัวเราโดยที่เราไม่รู้ อย่างเช่นการทำงานอันเงียบงันของ ไต ปอด ตับ เม็ดเลือด ปลายประสาท และส่วนประกอบอื่นๆอีกนับล้านจุด
หรือแม้กระทั่ง..ใจ
เราบังคับใจเราได้แน่หรือ?
ขณะที่เราพลิกหน้าหนังสือ
ภาพ เสียง และสัมผัส ต่างใช้เวลาเดินทางมาถึงการรับรู้ของเราไม่เท่ากัน แต่เรากลับรับรู้มันในเวลาเดียวกัน ก็เพราะด้วยการประมวลผลในสมอง
แบบนี้ จะบอกได้ไหมว่า สิ่งที่เรารับรู้นั้นบิดเบี้ยวไปจากความจริง
ถ้าต่อไปมีหุ่นยนต์หรือเอไอที่รับรู้ได้ดีกว่าเรา หรืออัลกอริทึมที่ตัดสินใจได้แม่นยำกว่าเรา หุ่นยนต์ตัวนั้นหรืออัลกอริทึมนั้นจะมีความเป็นมนุษย์มากกว่าเราหรือไม่?
พูดถึงเรื่องเวลา เราเองก็ไม่อาจรู้ได้แน่ชัดว่า มีอยู่จริงไหม เพราะนักวิทยาศาสตร์เอาคำว่าเวลาไปผูกกับการเคลื่อนที่ของแสง
แล้วแสงคืออะไร?
มันคือคลื่นหรืออนุภาคก็ยังไม่มีใครระบุได้ หรือจริงๆมันคือสิ่งอื่น หรือมันอาจจะมีอยู่แค่การรับรู้ของมนุษย์
จุดใดในจิตใจ(หรือสมอง)ที่บ่งบอกว่าเรารู้สึก?
ความกลัว ความรักล่ะ คืออะไร?
มันเป็นแค่ความเชื่อหรือมีอยู่จริง?
แล้วคนที่สมองเสียหาย สูญเสียความรู้สึกล่ะ มิใช่มนุษย์อย่างนั้นหรือ?
หลายคนเชื่อในเจตจำนงเสรีว่า คือสัญลักษณ์แห่งความเป็นมนุษย์ เราคิด เราทำ ได้อย่างที่เราต้องการ
มีการวิจัยพบว่า เมื่อหนูติดเชื้อปรสิต'ท็อกโซพลาสม่ากอนดิไอ' เจ้าจุลชีพเหล่านี้จะสร้างถุงน้ำมากมายในสมองของหนู
โดฟามีนในตัวหนูจะสูงขึ้นจนไม่กลัวแมวและเดินออกมาให้แมวจับกิน เพื่อให้พวกมันเหล่าปรสิตสามารถย้ายเข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่มันสามารถแพร่ขยายพันธุ์ได้ดี ซึ่งก็คือ ในลำไส้ของแมว
คำถามที่ตามมาคือ แล้วคนที่มีปััญหาทางสมองที่เกิดจากจุลชีพบางอย่างเข้าไปก่อกวนทำให้สมองทำงานผิดเพี้ยนคล้ายกับปรสิตในหนูล่ะ เขาเหล่านี้มีเจตจำนงเสรีหรือไม่?
ถ้าไม่ เขาเป็นมนุษย์หรือเป็นสิ่งใด?
ฟรานเชสโก ปาตรีซี (Francesco Patrizi) นักปรัชญาชาวอิตาเลียนในศตวรรษที่ 16 บอกว่า หรือจริงๆแล้ว จิตเป็นคุณสมบัติพื้นฐานของสสารทุกชนิด เขาเรียกความคิดนี้ว่า 'ทฤษฎีจิตครอบคลุม'
พูดให้เข้าใจง่ายๆก็คือ เขาเชื่อว่า ทุกสิ่งไม่ว่าคน สัตว์ สิ่งของ ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ นั้นประกอบไปด้วยส่วนประกอบพื้นฐานที่สุด เรียกเราอาจเรียกว่า 'วิญญาณ'
ความคิดนี้เริ่มเป็นที่สนใจของนักวิทยาศาสตร์ยุคใหม่ ซึ่งเริ่มค้นหามันด้วยรูปแบบอื่นแทนการใช้ประสาทสัมผัสอันจำกัดของมนุษย์ แบบเดียวกับที่นักวิทยาศาสตร์ใช้ในการค้นหา อนุภาคควาร์ก หรือ สนามพลังฮิกส์
คือคลับคล้ายคลับคลาว่า น่าจะมีอยู่ แต่มองไม่เห็น
ความเชื่อในเรื่องวิญญาณ(หรืออนุภาคพื้นฐานที่มีความรู้สึก) เคยโดนดูถูกและท้าทายจากความรู้ทางวิทยาศาตร์สมัยใหม่
แต่เป็นไปได้ไหมว่า ความรู้ที่เรามีอยู่ตอนนี้ มันก็เป็นมายาคติแบบหนึ่ง
การรับรู้ของมนุษย์ยังมีขอบเขตอันจำกัด แค่เรื่องการมีตัวตนและรู้ตัวของเรา ก็มีแง่มุมต่างๆ ให้สงสัย ทั้งในแง่ของปรัชญา ชีววิทยา ประสาทวิทยา
บอกแล้วว่า อ่านจบก็จะมีแต่คำถาม
แต่มันก็ทำให้คุณมองโลกไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
จิตรู้สำนึก / CONSCIOUS
A Brief Guide to the Fundamental Mystery of the Mind
ANNAKA HARRIS : เขียน
พรนริศร์ ลีลาอาภรณ์, แปล
***********************************
เพื่อนๆ Blockdit ครับ ผมมีเขียนลงทั้งหมด 3 เพจ แตกต่างกันตามแต่อารมณ์จะพาไป คือ
๏ 'Bear's Books'  = นำข้อคิดดีๆที่ได้จากการอ่านหนังสือแต่ละเล่มมาเล่า ชวนให้คิดตามกันไป
๏ 'Bear's Blog'  = จิปาถะ กับภาพถ่ายกับมุมมองของชีวิต ในรูปของ บทกลอน เรื่องสั้น หรือ ไฮกุ และ คอลัมน์ การ์ตูนกวนเมือง
๏ 'คิด อย่างสถาปนิก'  = เรื่องของสถาปัตยกรรมต่างๆจากสายตาสถาปนิก
ขอเชิญชวนให้เข้าไปแวะชมแวะชิมนะครับ
เผื่อจะมีบางข้อเขียนที่อาจถูกใจ
ฝากติดตาม หรือ แลกเปลี่ยนความคิดกันได้ครับ
หรือใครสนใจเฉพาะภาพถ่าย
ลองเข้าไปดูและกดติดตามได้ใน
ig : khanaad_photo  นะครับ
ขอขอบคุณและหวังว่า เราจะได้รู้จักกันนะครับ 🐻❤
โฆษณา