28 ธ.ค. 2021 เวลา 01:00 • สิ่งแวดล้อม
อี.โอ.วิลสัน - เอ็ดเวิร์ด ออสบอร์น วิลสัน
“มนุษย์จะมีชีวิตรอดอยู่ไม่กี่เดือน หลังจากนั้นไม่นาน สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ สัตว์เลื้อยคลาน นก และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมก็จะค่อยๆ สูญพันธุ์”
“ตามมาด้วยพืชดอก พื้นผิวโลกจะถูกทับถมด้วยซากพืชซากสัตว์ที่ไม่ยอมย่อยสลาย พวกเห็ดราอาจเติบโตอย่างรวดเร็วในเวลาสั้นๆ แต่ไม่นาน พวกมันก็จะตายตามไป”
“โลกจะกลับไปสู่สภาพที่เคยเป็นเมื่อ 440 ล้านปีก่อน ที่บนพื้นดินจะมีแต่สิ่งมีชีวิตที่ยังคงเป็นกลุ่มก้อนของเซลล์ เช่น ฟองน้ำ หรือมอส รอเวลาที่กุ้งผู้กล้าจะมาเสี่ยงโชคบนแผ่นดิน”
ข้อความข้างต้นคัดมาจากความเห็นของ อี.โอ.วิลสัน นักกีฎวิทยาชื่อดัง ถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้น “ถ้าแมลงได้สูญพันธุ์ไปจากโลกใบนี้”
อี.โอ.วิลสัน หรือ เอ็ดเวิร์ด ออสบอร์น วิลสัน ศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ได้จากโลกนี้ไปอย่างสงบด้วยวัย 92 ปี เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2021 ที่ผ่านมา
“เอ็ดเวิร์ด วิลสัน ได้ทิ้งมรดกของการมีส่วนสนับสนุนทางวิทยาศาสตร์มหาศาลไว้ด้วยความทรงจำของชายผู้ใจดี ถ่อมตน และใจกว้าง ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์เป็นมงคลแก่ชีวิต” - ส่วนหนึ่งในแถลงการณ์ของ E.O. Wilson Foundation
อี.โอ.วิลสัน เกิดเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ปี 1929 ในเมืองเบอร์มิงแฮม รัฐแอละแบมา
ในวัยเด็กวิลสันมีธรรมชาติเป็นเพื่อน และสถานที่พักใจหลังวันที่พ่อแม่หย่าร้างกัน
เวลาส่วนใหญ่ในยามเยาว์แต่ละวันจึงถูกใช้ไปกับการสังเกตความเคลื่อนไหวของป่าไม้ ลำธาร สัตว์ป่า และสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ
อุบัติเหตุจากการตกปลาในวัยเด็ก ทำให้เขาเสียการมองเห็นด้วยดวงตาข้างขวาไป
แต่นั่นก็หาใช่อุปสรรคในการดำเนินชีวิต
ด้วยการมองจากสายตาเพียงข้างเดียว ทำให้วิลสันมุ่งความสนใจไปที่สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่เขาสามารถศึกษาอย่างใกล้ชิด อย่างเช่น มด ที่โฟกัสได้ง่ายกว่าการมองสัตว์ขนาดใหญ่ในระยะไกล
ซึ่งนั่นก็ทำให้วิลสันกลายเป็นผู้ค้นพบว่ามดสื่อสารกันผ่านสารฟีโรโมนในกาลต่อมา
และใช่มีแต่เรื่องของมดหรือแมลงเท่านั้นที่วิลสันสนใจ - ตลอดช่วงชีวิตเขายังศึกษาวิจัยและพัฒนาทฤษฎีเกี่ยวกับชีวภูมิศาสตร์และทฤษฎีด้านระบบนิเวศวิทยา
วิลสันมีผลงานการศึกษาด้านชีววิทยาสังคมทั้งของสัตว์และมนุษย์ โดยเฉพาะในประเด็นพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับยีนส์
แต่ผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง คือการเขียนหนังสือจากผลงานการค้นคว้าวิจัยของเขา ที่ตีพิมพ์ออกมาไม่ต่ำกว่า 30 เล่ม
โดยมีผลงานที่เด่นมากๆ อยู่ 2 เล่ม คือ On Human Nature ที่บรรยายเกี่ยวกับบทบาทของชีววิทยาในวิวัฒนาการของวัฒนธรรมของมนุษย์ และ The Ants ที่เขียนเกี่ยวกับพฤติกรรมของมด
ซึ่งทั้งสองเล่มทำให้ชื่อ อี.โอ.วิลสัน อยู่ในทำเนียบเจ้าของรางวัลพูลิตเซอร์ถึง 2 ครั้ง
National Geographic Society ได้ยกย่องวิลสันเป็น "นักธรรมชาติวิทยาชั้นแนวหน้าคนหนึ่งทั้งในด้านวิทยาศาสตร์และวรรณคดี" และมอบเหรียญ Hubbard Medal ให้กับเขาในปี 2013
แต่ก่อนหน้านั้น ในปี 1995 เขาได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งใน 25 บุคคลที่มีอิทธิพลมากที่สุดในอเมริกาโดยนิตยสาร Time
และในปี 1996 เขาเป็นหนึ่งใน 100 นักวิทยาศาสตร์ที่ทรงอิทธิพลที่สุดในประวัติศาสตร์
วิลสัน ยังได้รับการยกย่องในแวดวงวิชาการ และถูกขนานนามว่าเป็น “ชาร์ลส ดาร์วิน ยุคใหม่” หรือ “ชาร์ลส ดาร์วิน แห่งศตวรรษที่ 21” จากผลงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ต่างๆ ที่เขามีโอกาสเดินทางไปสัมผัสและศึกษา
ตลอดช่วงชีวิตจนถึงวันเกษียณ เขายังคงสื่อสารเรื่องความจำเป็นต่อการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพในการรักษาผืนป่า เพื่อดำรงไว้ซึ่งสิ่งสำคัญบนโลกใบนี้ ซึ่งก็คือคุณค่าของชีวิต
#IsLIFE #EOWilson #TheAnts #DrAnt
อ้างอิง
The Guardian : https://bit.ly/3FtuJhs
E.O. Wilson Foundation : https://bit.ly/3EJOeRX
National Geographic : https://on.natgeo.com/3FtISv4
Photo : NY Times
โฆษณา