28 ธ.ค. 2021 เวลา 17:01 • ความคิดเห็น
ระเบิดเวลา …หรือ “ยากระตุ้นเศรษฐกิจ”
ก่อนสิ้นปี “ครม.ลุงตู่” ใจป้ำสวมบท “ซานตาครอส” เทกระจาดของขวัญแจกคนไทยถ้วนหน้า นอกจากสารพัดของขวัญในนามรัฐบาลแล้ว แต่ละกระทรวงก็แจกแบบไม่อั้น เอาเฉพาะกระทรวงเศรษฐกิจอย่างกระทรวงคลังที่บอกว่าแจกเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจก็เพียบแล้ว
2
เริ่มจากมาตรการ “เพิ่มกำลังซื้อ” ให้แก่ประชาชน ได้แก่ มาตรการ “ช้อปดีมีคืน” วัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นการบริโภคในประเทศ ช่วยเหลือผู้ประกอบการ และมาตรการ “ลดค่าธรรมเนียม” จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อยู่อาศัย โดย ลดค่าธรรมเนียมการโอนจาก 2% เหลือ 0.0% และลดค่าธรรมเนียมการจำนองจาก 1% เหลือ 0.01% สำหรับที่อยู่อาศัยและอาคารพาณิชย์ที่มีราคาซื้อขายไม่เกิน 3 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการ “ลดภาระ” ผู้ประกอบการและประชาชนอีกหลาย ๆ มาตรการ รวมถึงในวันอังคารนี้ กระทรวงคลังเตรียมเสนอครม.ออกมาตรการจูงใจประชาชนใช้รถยนต์ไฟฟ้าโดยรัฐยอมเฉือนเนื้ออุดหนุนคนซื้อรถไฟฟ้าคันละ 3-4 แสนบาทเลยทีเดียว ส่วนมาตรการที่รัฐบาลภูมิใจนักหนาว่าเป็นผลงานชิ้นโบว์แดง อย่าง “คนละครึ่งเฟส 4” ต้องยืดออกไปก่อนจะเริ่มเดือนมีนาคม ปี 2565
ในการร่างรัฐธรรมธรรมนูญฉบับนี้ ยังจะกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญว่า หากรัฐบาลใดใช้นโยบายประชานิยมจะต้องระบุให้ชัดว่าจะนำเงินมาจากไหนและจะหารายได้อย่างไร เป็นการตีกันนักการเมืองที่หากินกับประชานิยม ผลพวงจาก รัฐบาลคสช. ไม่ยอมใช้นโยบายประชานิยม ทำให้ราคาพืชผลเกษตรทั้งข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ราคาตกต่ำอย่างมาก ในที่สุดในปี 2558 ก็ต้องปัดฝุ่นโยบายที่เคยรังเกียจมาใช้ผ่านโครงการต่าง ๆ ซึ่งก็ใช้มาต่อเนื่องจนทุกวันนี้และเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ
1
ยิ่งในช่วงโควิด-19 แพร่ระบาด ยิ่งมีสารพัดโครงการ ไม่ว่าจะเป็น ช้อปดีมีคืน ยิ่งใช้ยิ่งได้ เราเที่ยวด้วยกัน เป็นต้น เฉพาะอย่างยิ่งโครงการ “คนละครึ่ง” ออกมาเป็นเฟสที่ 3 แล้ว เฟส 4 กำลังจะตามมา แค่เฟส 3 เฟสเดียว มีผู้ใช้สิทธิสะสม 26.22 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสม 184,823.7 ล้านบาท แบ่งเป็นส่วนที่ประชาชนจ่ายสะสม 93,934 ล้านบาท และรัฐร่วมจ่ายสะสม 90,889.7 ล้านบาท
รัฐบาลอ้างว่าเพื่อเป็นการเยียวยาผู้เดือดร้อนจากโควิด-19 คนต้องตกงาน คนยากจนไม่มีรายได้ อีกทั้งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการบริโภค แต่หากดูจำนวนคนเข้ามาใช้สิทธิ์และในความเป็นจริงแล้ว ส่วนใหญ่ไม่ใช่คนจน แต่จะเป็นกลุ่มคนชั้นกลางขึ้นไป ส่วนคนรากหญ้ายากจนจริง ๆ ได้ใช้น้อยมาก เพราะเงื่อนไขให้ต้องเติมเงินคนละครึ่งทุกวันเป็นข้อจำกัด
1
นโยบายประชานิยมอาจจะทำให้รัฐบาลได้รับความนิยมทางการเมือง ชาวบ้านอาจจะเพลินกับการจับจ่ายใช้สอยที่รัฐบาลเข้ามาช่วยจ่าย แต่การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการบริโภคเช่นนี้จะได้ผลช่วงสั้น ๆ แล้วก็วูบหายไปเหมือนไฟไหม้ฟาง แต่จะทำให้ศักยภาพที่จะเติบโตของประเทศต้องหมดสิ้นไป
1
นโยบายประชานิยมไม่ใช่การส่งเสริมเศรษฐกิจระยะยาว ไม่ทำให้เกิดความเข้มแข็งในภาคเศรษฐกิจ เพราะไม่ใช่การสร้างรายได้เพิ่มจากผลผลิต รวมไม่มีการพัฒนานวัตกรรม เปรียบเสมือนกับการต่อไฟฟ้าลัดวงจร ซึ่งทำระยะเวลานานไม่ได้เพราะจะเป็นภาระทางการคลังในอนาคต
เคยมีนักวิจัยจากต่างประเทศยกตัวอย่างเปรียบเทียบอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจกับระยะเวลาการใช้นโยบายประชานิยมว่า ประเทศที่ใช้ประชานิยมจะมีตัวเลขจีดีพีต่ำลงประมาณ 1% ต่อปี หลังจากที่ประชานิยมเข้ามามีอำนาจเมื่อเทียบกับอัตราการเติบโตก่อนหน้านั้น
ที่สำคัญจะส่งผลให้หนี้สาธารณะและอัตราเงินเฟ้อพุงพรวด เรื่องนี้สอดคล้องกับหนี้สาธารณะของไทยที่พุ่งถึงกว่า 10% เมื่อเทียบปี 2563 กับปี 2562 คิดเป็น 52.13% ของจีดีพี กระทั่งในปี 2564 กระทรวงคลังต้องขยายเพดานหนี้สาธารณะจากร้อยละ 60 เป็นร้อยละ 70 ต่อจีดีพีเพื่อเปิดช่องให้รัฐบาลกู้เงินมาใช้เพิ่มขึ้น
ตัวเลขล่าสุด หนี้สาธารณะไทยสิ้นเดือนสิงหาคมอยู่ที่ 57.01% มูลค่ากว่า 9 ล้านล้านบาท คาดสิ้นปีงบ 2565 อยู่ที่ 62.69% แม้ว่าจะยังไม่มีการเปรียบเทียบให้ชัดเจนว่าหนี้ที่พอกพูนเกี่ยวข้องกับนโยบายลด แลก แจก แถมของรัฐบาลหรือไม่ก็ตาม
ตัวอย่างในอดีตของหลายประเทศก็มีให้เห็นว่านโยบายประชานิยมนั้นสร้างความเสียหายให้กับประเทศในระยะยาว แทนที่จะเป็น “ยากระตุ้นเศรษฐกิจ” กลับกลายเป็น “ระเบิดเวลา” ที่พร้อมจะระเบิดได้ทุกนาที
2
แต่ก็ไม่ปฏิเสธว่าบางครั้งก็มีความจำเป็น แต่ต้องถูกที่ถูกเวลาถูกคน ไม่ใช่หว่านแหเพื่อหวังคะแนนนิยมทางการเมืองอย่างที่เคยทำกันมา
ติดตามสตอรี่ดี ๆ จาก The Story Thailand ได้ตามช่องทางเหล่านี้
Instagram:
LINE TODAY: TheStoryThailand
#TheStoryThailand #เดอะสตอรี่ไทยแลนด์ #สตอรี่ดีๆ
โฆษณา